Church of the Light : เมื่อคอนกรีตต้องเงาสลัว
Church of the Light
สถาปัตยกรรมร่วมสมัยอาจไม่ใช่จุดหมายสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาญี่ปุ่น จุดหมายหลายที่เป็นวัด วัง ที่สร้างด้วยไม้ อายุหลายร้อยปีเสียส่วนใหญ่ ด้วยภาพจำของญี่ปุ่นคือเมืองวัฒนธรรมเก่าที่ผสานใหม่ที่น่าสนใจ แต่กับเหล่าสถาปนิก กล่องคอนกรีตรูปทรงเรียบง่ายแห่งหนึ่งกลับเป็นจุดหมายที่อยากมีประสบการณ์สักครั้ง
ในยามบ่ายของวันอาทิตย์ที่ฝนโปรยปราย ทำให้การเดินทางดูหนาว เฉอะแฉะกว่าที่ควรจะเป็น ผมก็พาตัวเองมาถึงโบสถ์แห่งแสง “Church of the Light” บนทางแยกในย่านชุมชนในเมืองอิบารากิ (Ibaraki) จังหวัดโอซาก้า โบสถ์คอนกรีตหลังเล็ก ฝีมือการออกแบบของ ทะดะโอะ อันโดะ (Tadao Ando) เป็นจุดหมายให้ผมมาเยี่ยมเยือน เพราะเป็น 1 ในศาสนสถานแห่งศตวรรษที่ 20 ที่ควรมาเยือน มันกลายเป็นกรณีศึกษาที่ผมใช้อ้างอิงเป็นประจำในวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม
เพื่อจะเข้ามายังโบสถ์แห่งแสง ต้องผ่านทางเข้าที่เป็นคอนกรีตโค้งเล็กน้อย ดูแคบจนยากที่รู้ว่ามีอะไรอยู่ภายใน บนทางแยกระหว่างทางซ้ายเพื่อเข้าไปโบสถ์แห่งแสง แยกขวาไปยังโรงเรียน ผมพาตัวเองไปลงทะเบียนที่โรงเรียนก่อน จากนั้นจึงเดินผ่านผู้คน ผ่านกรอบคอนกรีต เพื่อให้เห็นกางเขนแสงนี้ด้วยตาตัวเอง
สายตาผมปรับตามสภาพแสง จากสว่าง สลัว สู้มืด พลันนั้นภาพที่ว่างในโบสถ์คริสต์ที่คุ้นเคยแบบไม่ชินตาก็ปรากฏขึ้น ภาพจำของโบสถ์คริสต์คือโถงสูงที่ปลายทางเดินจะมีไม้กางเขนแขวนอยู่ แต่ที่นี่ปลายทางเป็นการเจาะช่องคอนกรีตเป็นรูปไม้กางเขนขนาดใหญ่จากพื้นจดฝ้าแทน มันให้ความรู้สึกสงัดและจำยอมไปกับขนาดของแสงที่เป็นตัวแทนพระเยซู
ในความมืด กล่องคอนกรีตต้องแสงสลัวจนเป็นที่ว่างศักดิ์สิทธิ์
โบสถ์แห่งแสงในแบบแรก โบสถ์แห่งแสงจะไม่มีหลังคา อันโดะเสนอแบบไม่มีหลังคาท่ามกลางความงุนงงของชาวบ้าน และชาวบ้านต่างก็มีคำถามมากมายถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นถ้าไม่มีหลังคา ทั้งแดด ทั้งฝน ทั้งหิมะ ที่จะกระหน่ำลงมาเวลาใช้งาน แต่ในท้ายที่สุดชาวบ้านในชุมชนต่างรวบรวมทุนทรัพย์จนเพิ่มหลังคาได้ในที่สุด
ในความบังเอิญ นับว่าเป็นโชคดี
อันโดะบอกถึงการออกแบบโบสถ์แห่งแสงว่า เขาเพียงสร้างกล่องแห่งความมืด จากนั้นเจาะช่องแสงบางให้แสงคม ก่อเกิดความสลัวที่ชัดเจน มันช่วยให้ความมืดมีค่าในปริมาตรของโบสถ์แห่งแสง แม้ว่าวัสดุหลักสร้างจากคอนกรีต แต่การรู้จักสร้างลูกเล่นกับแสง ทำให้ภายในดูไม่อึดอัด คอนกรีตหลายแผ่นดูลอยออกมาจากตัวมันเอง ผมสังเกตเหล่าผู้มาเยือน ทุกคนใช้เวลากับการเพ่งกางเขนแสง หลายคนดั้นด้นมาเสพความว่าง แสง และเงา
ผมลองถามเหล่าผู้ชมแสงว่า เป็นสถาปนิกหรือนักเรียนสถาปัตย์หรือไม่? ด้วยความสงสัย น่าแปลกที่ส่วนใหญ่ไม่ใช่สถาปนิก หรือนักเรียนสถาปัตย์ ทำให้ผมทึ่งกับการให้ความสำคัญของงานออกแบบในสังคมญี่ปุ่น
ออกจากโบสถ์แห่งแสงแล้ว ลองมาชม Sunday School ที่ตั้งอยู่ข้างกัน หลังจากที่อันโดะได้ออกแบบโบสถ์แห่งแสง จนสร้างเสร็จในปี 1989 ….10 ปีต่อมา อันโดะ ได้ออกแบบ Sunday School ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเติมข้างกัน อันโดะใช้วิธีถอยผนังให้เป็นฉากรับแสงจากด้านบนและด้านข้าง มันช่วยลดความกระด้างของคอนกรีตลง คานคอนกรีตที่พาดทะลุจากระนาบภายนอกสู่ในโรงเรียน ในเวลาราว 11:00-12:00 น. มันจะกลายเป็นเข็มเวลาให้กับที่ว่างภายใน ภายในโรงเรียนดูสว่าง แต่โบสถ์แห่งแสงดูสลัว มันกลายเป็นคู่ตรงข้ามที่ขนานกัน มันส่งเสริมกันเป็นอย่างดี
มันยากอยู่เช่นกันที่จะสร้างสถาปัตยกรรมที่มีจุดประสงค์หลักสำหรับกิจกรรมอื่น สุดท้ายมันกลับกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวจากหลายมุมโลกต่างก็อยากมาเยือน แต่มันเป็นสิ่งที่สถาปนิกไร้ปริญญาอย่างอันโดะทำได้
บันทึกของทางโบสถ์เล่าว่า เมื่ออันโดะมาถึงที่ตั้งพร้อมกับโมเดลงานนี้ เขาสดใสเหมือนเด็กชายกับของเล่นใหม่ให้กับอิบะระกิ.
ข้อมูลเพิ่มเติม:
ปล.1 การเข้าชมควรจองจากเว็บไซต์ของทางโบสถ์ ซึ่งจะระบุวันเวลาที่เข้าเยี่ยมชมได้ในแต่ละสัปดาห์ ควรจองล่วงหน้า 2-2 เดือนครึ่ง เพราะคิวยาว http://ibaraki-kasugaoka-church.jp/e-forvisitors.html
ปล.2 การเดินทางเริ่มจากสถานีรถไฟ ต่อด้วยรถเมล์สาย 2 เวลาเดินรถดูได้จากภาพตารางเวลาด้านล่าง
ปล.3 ที่โบสถ์จะมีโปสการ์ดภาพโบสถ์แสงจำหน่าย ถ้าเป็นแบบที่มีลายเซนอันโดะด้วย ราคา 1,000 เยน ขอแนะนำให้เหล่าสาวกอุดหนุนเพื่อความฟิน