YAYOI KUSAMA

ถ้าให้ย้อนรำลึกถึงช่วงสมัยก่อนความรุ่งโรจน์จะเกิดขึ้นกับชีวิตของ ‘คุซะมะ ยะโยอิ’ ศิลปินจากแดนอาทิตย์อุทัย หลายคนคงนึกภาพไม่ออกเท่าไหร่ว่าคุซะมะต้องเจออะไรมาบ้าง เพราะเบื้องหลังฉากความสำเร็จ ศิลปินต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากช่วงเวลาที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ ช่วงเวลาที่ไม่มีใครจดจำ คุซะมะต้องอดทนผ่านความเจ็บช้ำในวัยเด็ก ผ่านความหิวโหยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ควบรวมกับความปวดร้าวในวัยสาวที่เธอตัดสินใจจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อมุ่งสู่ความฝันบางอย่างที่คนในครอบครัวและสังคมญี่ปุ่นในยุคนั้นยังมิอาจยอมรับ

คำพูดอันเสียดแทงของแม่ที่บอกว่า เธอจะเป็นศิลปินไม่ได้และถ้าก้าวขาออกจากบ้านไปแล้วห้ามกลับมา ไม่สามารถรั้งคุซะมะ ยะโยอิ เอาไว้ได้ หญิงสาวออกเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 1957 ณ ตอนนั้นคุซะมะไปอยู่ที่เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ใจจริงเธออยากอยู่นิวยอร์กแทบแย่และอยากจัดงานนิทรรศการแสดงเดี่ยวที่นั่น ใครๆ ก็รู้ว่านิวยอร์กเป็นเมืองแห่งโอกาส แต่ในความเป็นจริง…ทุกอย่างไม่ได้เป็นไปได้ดั่งใจ คุซะมะจะดังเป็นพลุแตกภายในคืนเดียวไม่ได้ ความโด่งดังในยุคเก่าก่อนที่ยังไม่มีโลกออนไลน์ทำให้คุซะมะต้องดิ้นรนในขณะเดียวกันเงินดอลลาร์ที่มีอยู่ในกระเป๋าเงินก็ใกล้จะหมดลงทุกทีทุกที

ผู้เขียนได้มีโอกาศอ่านบทสัมภาษณ์ของคุซะมะ ปี 2014 ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ Telegraph เล่าถึงช่วงชีวิตตอนอยู่ซีแอตเทิลให้ฟังว่าอย่างกับตกอยู่ใน ‘นรก’ ที่นั่น…เธอเป็นหญิงต่างชาติชาวเอเชีย โดดเดี่ยวไม่มีใคร ใช้เวลาทั้งหมดคลุกตัวในสตูดิโอทำงานศิลปะอย่างบ้าคลั่ง จากนั้นเมื่อย้ายมาอยู่นิวยอร์กในปีต่อมา ย่านที่เธออยู่คือทางตอนล่างของแมนฮัตตัน ห้องพักของเธอมีลักษณะเป็น loft (ห้องใต้หลังคา) แฝงตัวอยู่ในอาคารแห่งหนึ่ง ด้วยความที่มีหน้าต่างชำรุดอยู่หลายบาน…ทำให้ในฤดูหนาวศิลปินสาวแทบนอนไม่ได้ เพราะทานทนความหนาวไม่ไหวและเครื่องทำความร้อนในตึกจะหยุดทำงานในเวลาหกโมงเย็น ความลำบากแสนเข็ญทำให้คุซะมะลุกขึ้นมาจากเตียง ทุ่มเทสร้างงานศิลปะจำนวนหลายต่อหลายชิ้น ต่อสู้กับความเจ็บปวดและโชคชะตาที่น่าเศร้า

ความรู้สึกนี้ทำให้เรานึกถึงผลงานกวีของเธอที่ถูกนำมาเรียบเรียงและแต่งเป็นเนื้อร้องใส่ทำนองประหลาด ชื่อเพลง Manhattan Suicide Addict มีท่อนหนึ่งที่เขียนไว้ว่า…Swallow antidepressants and it will be gone กลืนยารักษาอาการซึมเศร้าไปเสียแล้วมันก็จะหายไป การอ่านเรื่องราวและบทสัมภาษณ์ของเธอในสื่อต่างๆ ทำให้เราซึมซับความรู้สึกของศิลปินได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทำให้เรามองงานศิลปะลายจุดของเธอด้วยสายตาที่ต่างออกไป มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ กับคำว่า ศิลปะคือชีวิต เพราะชีวิตตอนนี้ของป้าก็อุทิศให้กับงานศิลปะ มิเช่นนั้นเธอคงแตกสลายและสิ้นลมหายใจไปนับแต่วันที่แม่ทำลายงานของเธอตั้งแต่วัยเยาว์ ในตอนนี้คุซะมะมีศิลปะที่เป็นเหมือน ‘ยารักษาโรค’ แม้บทเพลงยังคงขับขานถึงความรู้สึกเสพติดความตายก็ตาม

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ