ผมได้มีโอกาสไปฟังเสวนาในสถานที่แห่งหนึ่ง (ในญี่ปุ่น) มีผู้บรรยายเป็นคนไทยคนหนึ่งรวมกับผู้บรรยายคนญี่ปุ่นและมีล่ามคนญี่ปุ่น ซึ่งมีท่าทางพร้อมเพรียงที่จะแปลสิ่งที่ผู้บรรยายคนไทยพูดเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่พอเสวนาเริ่มปุ๊บผมก็สงสัยขึ้นมาทันทีว่า “การแปลศัพท์ของล่ามคนนี้นี่ ฟังดูรู้สึกเหมือนไม่น่าไว้ใจยังไงไม่รู้” ผมก็เข้าใจว่าอาจจะเกิดการติดขัดในการแปลก็ได้ เมื่อผู้บรรยายใช้ศัพท์เฉพาะทางหรือคำยากๆ เพราะทุกคนก็มีความถนัดถนี่ของตน แต่คนที่มาเป็นล่ามในวันนั้น ข้าม หลีกเลี่ยง และไม่ได้แปลคำกิริยาและคำนามพื้นฐานง่ายๆ ถึงจะแปล ประโยคที่ไหลออกมาจากปากของล่ามนั้น ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ผมได้รับรู้จากเสียงภาษาไทย ถึงกับกลายไปเป็นความหมายและน้ำเสียงที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ผู้บรรยายพูดในบางจังหวะ แน่นอนว่าส่งผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อบทสนทนาระหว่างผู้บรรยาย และผลักผู้ฟังตกลงไปอยู่ในภาวะความตะลึงงงงัน ยิ่งการเสวนาดำเนินไป บรรยากาศมาคุยิ่งลอยเข้ามาปกคลุมสถานที่เสวนา รู้สึกทนไม่ไหวจริงๆ

ทำไมเหตุการณ์แบบนี้ถึงเกิดขึ้น? เหตุผลง่ายๆ คือ “ไม่มีใครสามารถตรวจสอบความถูกต้องและทักษะของภาษาไทยได้” นั่นเอง หากเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นๆที่มีคนเข้าใจภาษานั้นๆจำนวนมากพอ อาจมีใครสักคนพอจะรู้ความหมายของสิ่งที่ผู้บรรยายกำลังพูดและตรวจชี้ได้ว่ากำลังเกิดความคลาดเคลื่อนบางอย่างอยู่ แต่กรณีของภาษาไทยหรือภาษาอื่นๆ ที่มีคนพูดน้อย (ในญี่ปุ่น) นั้น ความคลาดเคลื่อนเหล่านั้นมักถูกมองข้ามเพราะไม่มีใครสังเกตเห็นและจับได้

นอกจากนี้แล้ว ไม่มีมาตรฐานใดๆที่ตรวจวัดระดับของความสามารถในการใช้ภาษาไทยได้ และเป็นที่รับรู้กันในสังคมญี่ปุ่น มีแบบทดสอบวัดระดับฯ ก็จริง แต่คนทั่วๆไปไม่รู้จักการมีอยู่ของข้อสอบเหล่านี้ (โอกาสหน้าผมจะเขียนถึงแบบทดสอบวัดระดับภาษาไทยสำหรับคนญี่ปุ่นนะครับ) ทางผู้จัดงานต่างๆ หรือบริษัทรับจัดหาล่ามและนักแปลเองก็ทำได้แค่ดูเอาและคาดคะเนจากประสบการณ์ของล่ามและนักแปล (ที่ระบุไว้ใน CV) หรือต้องพึ่งพาความสัมพันธ์ที่เคยมีมากับล่ามและนักแปลคนนั้นๆ (คือเลือกคนที่เคยทำงานร่วมกันนั่นเอง)

ที่จริงแล้ว ในกรณีของล่าม มีข้อสอบและใบอนุญาตเพื่อประกอบวิชาชีพมัคคุเทศก์และล่ามที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่น (ซึ่งผู้ใดทำงานเป็นมัคคุเทศก์และเป็นล่ามให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติในญี่ปุ่น จำเป็นต้องสอบผ่านและได้รับใบอนุญาตนี้ แต่ล่ามและนักแปลทั่วๆไปไม่จำเป็นต้องมี) ซึ่งเท่าที่ผมค้นข้อมูลดู คนที่มาเป็นล่ามในเสวนาวันนั้นก็ได้รับใบอนุญาตดังกล่าว (ผมรู้อยู่แก่ใจว่านิสัยนักส่องของผมช่างน่าเกลียดเหลือเกิน) แสดงว่าไม่สามารถนำใบอนุญาตนี้มาใช้เป็นมาตรฐานของการใช้ภาษาไทยได้ในทุกกรณี

หาใช่ผมพยายามอวดสำแดงว่าตัวเองมีความสามารถ (ของการชี้ความผิดของคนอื่น) แต่อย่างใด แน่นอนการที่เสนอตัวเข้าไปบอกแก่คนที่มาเป็นล่ามในวันนั้นว่าสิ่งที่คุณแปลไปมันผิดอย่างโน้นอย่างนี้นั้น ถือว่าเสียมารยาทและผิดกติกาสำหรับคนที่ทำอาชีพเป็นล่ามหรือนักแปล (ยกเว้นกรณีที่ได้รับมอบหมายให้ตรวจความถูกต้องของการแปล หรือกรณีที่ตัวเองกับคนคนนั้นสนิทสนมกันแบบคู่ซี้) เป็นประสบการณ์ที่ทำให้รู้สึกหงุดหงิด งุ่นง่าน และระส่ำระสาย แต่สิ่งที่ผมทำได้ก็มีไม่มาก ทำงานของตัวเองให้สัตย์ซื่อต่อไป และพยายามตระหนักและยินยอมถึงขอบเขตความสามารถของตน เพื่อสร้างบรรยากาศ สภาพแวดล้อม หรือภาพลักษณ์ที่ล้อมรอบคนที่ทำงานเป็นล่ามและนักแปลภาษาไทย ให้มีความน่าเชื่อถือและความน่าไว้วางใจ

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ