Once in a lifetime in Hiroshima | ฮิโรชิม่ารำลึก
Once in a lifetime in “Hiroshima”
“ไม่มี ไม่มี ไม่มีที่ไหนเลย…”
เป็นเสียงแหบๆ ของเก้าอี้ไม้ทรงกลมตัวเล็กๆ ที่ลากขาเข้าไปในบ้านร้างอย่างเศร้าๆ
ใช่แล้ว คุณอ่านไม่ผิด ในบางครั้งวรรณกรรมเยาวชนของญี่ปุ่น อย่างเช่นเรื่องนี้ คือเรื่อง “เก้าอี้กับเด็กหญิงอีดะ” ก็ใช้วิธีการบรรยายแบบเหนือจริง จนสามารถสร้างบรรยากาศความหลอนหวาดหวั่น ชวนให้ขนลุกได้ แม้จะเป็นเรื่องอ่านสำหรับเด็กก็ตาม เก้าอี้ทรงกลมตัวนี้กำลังตามหาเด็กหญิงคนหนึ่งที่หายไปในวันที่เกิดระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิม่า แต่มันไม่เคยหาเจอเลย ทั้งคุณตา ทั้งเด็กหญิง แต่ทั้งครอบครัว…ไม่เคยมีใครกลับมาเลย
วันนี้เมื่อฉันมาเยือนฮิโรชิม่า (Hiroshima) พร้อมเพื่อนชาวญี่ปุ่น ชาวเมืองตัวจริงที่อาสาพาเที่ยว ทำให้ฉันนึกถึงหนังสือเล่มนี้ที่เคยอ่านตอนเด็กๆ ขึ้นมา “เก้าอี้กับเด็กหญิงอีดะ” เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่ได้รับรางวัลแอนเดอร์เสนนานาชาติปี 2522 เขียนโดย มัตสุทานิ มิโยโกะ แปลโดย ผุสดี นาวาวิจิตร และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ
ตอนเด็กๆ แม้จะไม่มีประสบการณ์ตรง แต่ฉันก็รับรู้ได้ถึงความสูญเสีย ความน่ากลัว และความเจ็บปวดจากพิษร้ายจากระเบิดปรมาณูจากหนังสือเล่มดังกล่าวได้อย่างชัดเจน แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างวาระเวลา ต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม แต่ความโหดร้ายบางอย่างก็เป็นสากล
ฮิโรชิม่าในวันนี้สะอาดเรียบร้อยงดงาม ยากที่จะจินตนาการถึงภาพในวันที่ 6 สิงหาคม ปี 2488 ก็เกิดระเบิดขึ้น มีแสงสว่างจ้าและเสียงสนั่น แล้วทุกคนในฮิโรชิม่าก็เหมือนตกนรกทั้งเป็น ผู้บาดเจ็บจำนวนมากที่ต้องเดินไปตามทางที่เต็มไปด้วยเพลิงไหม้ ก๊าซพิษ ในสภาพกระหายน้ำ มองไม่เห็นหนทาง อดอยากและหิวโหย…
แม้บางคนอาจจะยังไม่ตายในทันที แต่พิษของระเบิดปรมาณูก็ทำให้เป็นมะเร็งในภายหลัง…
ฮิโรชิม่าในวันนี้ ตามถนนยังมีรถรางแบบดั้งเดิมวิ่งอยู่ เป็นหนึ่งในไม่กี่สิบเมืองในโลกที่ยังมีรถรางใช้ ซากอาคารโดมทรงกลมสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่สวยงามที่ถูกทำลายจากระเบิดปรมาณู หรือที่เรียกว่า A-Bomb Dome ก็ยังคงถูกทิ้งไว้แบบนั้น เคยได้ยินว่า หากเป็นที่ประเทศอื่นๆ ก็อาจจะโดนรื้อทำลายซากไป เพราะถือเป็นสิ่งที่ไม่จรรโลงจิตใจ พาลจะทำให้นึกถึงเรื่องที่เศร้า แต่ญี่ปุ่นต้องการให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงความโหดร้ายของสงครามและของระเบิดปรมาณู จึงยังคงเหลือเศษซากเอาไว้ ทุกวันนี้ฮิโรชิม่าได้อีกชื่อหนึ่งว่าเป็นเมืองแห่งสันติภาพ แม้ว่าจะมีความหลังที่น่าเศร้าที่ขัดแย้งกับชื่อก็ตาม
ถัดจากซากตึกหลังคารูปโดมโค้งอันสวยงาม เราก็เดินมาถึงพิพิธภัณฑ์สันติภาพฮิโรชิม่ากัน เพื่อเยี่ยมชมด้านใน เราค่อยๆ เดินค่อยๆ ชมทีละจุด มีทั้งรูปถ่ายเหตุการณ์ รูปเมืองที่ถูกทำลายจากระเบิดเป็นวงกว้าง สิ่งของต่างที่หลงเหลือจากเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น นาฬิกาข้อมือที่หยุดเดินที่เวลา 8 โมง 15 นาที (เวลาระเบิดลง) สภาพขวดแก้วที่งอเมื่อโดนความร้อน โครงเหล็กของสะพานสำหรับรถข้ามที่อัดงอ หรือแม้แต่เงาของชายคนหนึ่งที่ยังติดอยู่บนหน้าบันไดธนาคารที่เขานั่ง แม้ร่างเขาจะปลิวหายไปเป็นเสี่ยงๆ แต่เงาของเขากลับไม่ลบเลือนและติดอยู่กับบันไดอยู่แบบนั้น
เพื่อนสาวชาวญี่ปุ่นของฉันที่มาเป็นไกด์พิเศษให้ในวันนี้ ที่ปกติเป็นคนร่าเริง ถึงกับซึมๆ ไป ระหว่างเดินชมพิพิธภัณฑ์ เธอปาดน้ำตาป้อยๆ แล้วบอกว่าตอนเด็กๆ โรงเรียนก็เคยพามาทัศนศึกษา แต่ว่าตอนนั้นยังไม่ค่อยรู้สึกอะไร พอมาดูตอนโตอีกทีครั้งนี้ กลับรู้สึกสะเทือนใจมากมาย
เราเดินออกมาข้างนอก ที่สวนสันติภาพฮิโรชิม่า เราเห็นนกกระเรียนกระดาษตัวเล็กๆ สีสันสดใสห้อยเรียงกันมาอย่างหนาแน่น บ้างก็เป็นสีขาวล้วน นกกระเรียนนี้มาจากเรื่องราวของเด็กหญิงซาดาโกะ ผู้มีชีวิตจริงอยู่ในตอนนั้น ตอนวันเกิดเหตุ เธอยังมีอายุแค่สองขวบ เธอถูกแรงลมระเบิดพัดกระเด็นไปไกลกว่า 3 เมตร และเปียกฝนกัมมันตรังสีระหว่างอพยพ หลังจากนั้นเธอเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรงเป็นปกติและเป็นถึงนักวิ่งตัวยงของโรงเรียน จนกระทั่งเมื่อเธออายุสิบขวบ จู่ๆ เธอเกิดอาการลำคอบวม ก้อนเนื้อไม่ยุบลง หมอได้วินิจฉัยว่าเธอเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว
นกกระเรียนนับพันตัวได้ถูกส่งมาจากนักเรียนชั้นมัธยมปลายในเมืองนาโกย่า เธอตื้นตันใจในความสวยงามนั้นและเริ่มพับนกกระเรียนบ้าง ชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อที่ว่า หากพับนกกระเรียนได้พันตัวคำอธิษฐานจะกลายเป็นจริง เธออยากจะกลับไปอยู่กับครอบครัวอีก เธอพับนกกระเรียนของเธอทีละตัวๆ ในโรงพยาบาล นกกระเรียนของเธอมีขนาดเพียงหนึ่งเซนติเมตร และพับด้วยปลายเข็ม อย่างไรก็ตาม ลมหายใจของเธอก็สิ้นสุดลงด้วยวัย 12 ปี หลังการเสียชีวิตของซาดาโกะ เพื่อนร่วมชั้นเรียนได้ช่วยกันเริ่มรณรงค์และเชิญชวนให้บริจาคเงินเพื่อสร้างรูปจำลองให้กับเด็กๆ ที่ตกเป็นเหยื่อระเบิดปรมาณู เราจึงได้เห็นรูปปั้นของเด็กหญิงซาดาโกะอยู่ในสวนแห่งนี้ด้วย
…
ที่สวนแห่งนี้มีคำกล่าวสลักไว้ถึงวิญญาณผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวว่า
“พักผ่อนให้สบายเถิด จะไม่เกิดความผิดพลาดเช่นนี้ขึ้นอีกแล้ว”
.
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าฮิโรชิม่าจะมีแต่เรื่องเศร้าเท่านั้น ธรรมชาติที่สวยงามและอาหารที่อร่อย ก็ยังรอคอยเราอยู่เช่นกัน เราจะพักบรรยากาศจากเรื่องเศร้าไปเที่ยวเกาะกวางกันสักครู่
เกาะกวางอันที่จริงก็คือ “เกาะมิยะจิมะ” ซึ่งแปลตรงตัวว่า “เกาะที่มีศาลเจ้า” ในสมัยโบราณ เกาะแห่งนี้รู้จักกันดีในอีกชื่อหนึ่งว่าเกาะ “อิสึกุชิมะ” ที่แปลว่า “เกาะต้องห้าม” เมื่อเอาชื่อทั้งสองมารวมกันจะได้คำจำกัดความง่ายๆของมิยะจิมะว่าเป็น “เกาะที่มีศาลเจ้าซึ่งห้ามคนเข้า” เกาะนี้เป็นเกาะที่ถูกพูดถึงในหนังสือเรื่อง “เก้าอี้กับเด็กหญิงอีดะ” อีกเช่นกัน ฉะนั้นฉันจะนับทริปนี้ว่าเป็นทริปตามรอยหนังสือเล่มดังกล่าวก็คงจะไม่ผิดนัก ที่คนจำได้เกี่ยวกับเกาะแห่งนี้ก็คือน้องกวางที่มีอยู่มากมาย พวกมันหน้าตาน่ารัก แต่ก็ดื้อ ซน และดุน่าดู พวกนักท่องเที่ยวจะต้องระวังสิ่งของไว้ให้ดี เพราะฉันก็โดนน้องกวางงับแผนที่ที่ในมือไปต่อหน้าต่อตา แม้จะพยายามยื้อแย่งกลับมา แต่น้องกวางก็เคี้ยวกร้วมๆ ส่วนหนึ่งของกระดาษเข้าไปเสียแล้ว จึงเหลือแผนที่เพียงครึ่งแผ่น… =________=;;
เกาะแห่งนี้นอกจากจะโด่งดังเรื่องกวางแล้ว ยังมี “ซุ้มโทริอิ” ซึ่งเป็นประตูสีแดงทำจากไม้ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่กลางทะเล ถือเป็นสัญลักษณ์ชื่อดังของจังหวัดและบางทีก็ถูกนำไปใช้โปรโมตการท่องเที่ยวญี่ปุ่นด้วย ด้วยความแปลกตา ชวนให้ฉงนว่า ทำไมซุ้มประตูจึงต้องไปตั้งอยู่กลางน้ำ และทำไมจึงจะต้องเป็นสีแดง ภาพซุ้มประตูสีแดงกลางน้ำนี้ติดอยู่ในใจฉันมานาน นับแต่แรกเห็นผ่านรูปภาพจนวันนี้จะได้มาเห็นด้วยสายตาตัวเองจริงๆ
เมื่อขึ้นมาบนเกาะแล้วก็จะเจอวัดและศาลเจ้าที่สร้างจากไม้สะพานโค้งที่ใครๆ ก็มาถ่ายรูป ลืมบอกว่าเราควรไปโทริอิสีแดงแห่งนี้ตอนช่วงเช้า เพราะหากไปสายเกินไป น้ำทะเลตรงรอบๆ โทริอิก็จะลด และโทริอิก็จะไม่ได้อยู่กลางน้ำอีก ก็จะดูธรรมดาไป หรือไม่อย่างนั้นก็รอดูภาพพระอาทิตย์ตกดินที่นี่เสียเลย ภาพเสาโทริอิของศาลเจ้าอิสึกุชิมะบนเกาะมิยะจิมะและท้องฟ้าสีส้มยามพระอาทิตย์ตกดินในช่วงเย็นย่ำมันช่างสวยจนแทบลืมหายใจ สมกับได้ชื่อว่าเป็นทิวทัศน์ที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น
ในสมัยก่อน นอกจากกวางที่เชื่อกันว่าเป็นผู้ส่งสารของเทพพระเจ้าที่เดินกันขวักไขว่แล้ว ก็แทบจะไม่มีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ย่างกรายเข้าไปในเกาะเลย เกาะมิยะจิมะนับเป็นเกาะศักดิ์สิทธิ์เพราะเป็นสถานที่ตั้งของศาลเจ้าและวัดชินโตสำคัญๆ หลายแห่ง คนญี่ปุ่นเชื่อกันว่าเขามิเซ็ง ภูเขาที่สูงที่สุดบนเกาะเป็นที่อยู่ของเทพพระเจ้าด้วย ฉะนั้น ในสมัยก่อนมนุษย์ที่อาศัยอยู่บนเกาะต้องตั้งบ้านเรือนให้ห่างออกจากบริเวณศาลเจ้า หญิงท้องแก่ใกล้คลอด และคนแก่ที่ใกล้ตายก็ต้องออกไปจากเกาะ เพราะการเกิดแก่เจ็บตายของมนุษย์จะทำให้เกาะอันบริสุทธิ์แปดเปื้อนมลทิน ในสมัยโบราณคนจากนอกเกาะที่ต้องการเดินทางมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธ์บนเกาะ สามารถมาได้เพียงทางเรือเท่านั้น และผู้มาเยือนต้องนั่งเรือลอดเสาโทริอิกลางน้ำเพื่อขึ้นเกาะทางศาลเจ้าอิสึกุชิมะและเดินตามทางขึ้นเขาไปเพื่อบูชาเทพพระเจ้าบนเขามิเช็ง
เสาสีส้มที่มีขาตั้งอยู่หกขา เพื่อรองรับน้ำหนักประมาณ 60 ตันของเสาโทริอิบนเกาะมิยะจิมะแห่งนี้ “ตั้ง” อยู่กลางน้ำ ไม่มีการเจาะเสาเข็มฝังดิน นับตั้งแต่สร้างเสาโทริอินี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 11 ตัวเสาก็สึกกร่อนไปตามเวลา และมีล้มไปหลายครั้งจากภัยธรรมชาติ แต่ทุกครั้งที่เสาโทริอิได้รับความเสียหาย มันจะได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ทุกครั้งโดยช่างฝีมือท้องถิ่นซึ่งได้รับความรู้ด้านการซ่อมแซมสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นสืบทอดมาจากรุ่นพ่อรุ่นปู่
แต่มิยะจิมะในวันนี้คึกคักเต็มไปด้วยร้านค้าขายขนม อาหาร และของที่ระลึก เราเดินกันเข้าไปจนถึงใจกลางเกาะ มีชุมชนบ้านคนที่อยู่อย่างเป็นกันเองและเงียบสงบ คุณลุงสองคนที่กำลังใช้สวิงเก็บลูกพลับอยู่ก็ใจดี แบ่งลูกพลับให้ฉันกับเพื่อนคนละลูกด้วย
พอตกตอนเย็น เพื่อนคนเดิมที่สนุกกันทั้งวัน และยังเป็นคนที่จะเป็นเจ้าบ้านให้ฉันไปพักด้วยในคืนนี้ ได้ต้อนรับอย่างดีด้วยการพาไปย่านใจกลางเมืองและพาไปรับประทานร้านโอโคโนมิยากิ อาหารขึ้นชื่อของฮิโรชิม่า และที่ดังกว่าโอโคโนมิยากิก็คือซอสสีดำรสชาติหวาน เปรี้ยว เค็มที่กลมกล่อมอย่างลงตัวนี่เอง ประสบการณ์การทำโอโคโนมิยากิด้วยตัวเองโดยใส่ผ้ากันเปื้อน และถือตะหลิว กลับด้านพิซซ่าญี่ปุ่นไปมานั้นทั้งสนุกและอร่อย เรากินเข้าไปกันเยอะมากจนพุงกาง
ก่อนเข้าห้อง เพื่อนคงจะนิสัยชิลๆ เหมือนฉัน เราเห็นสวนสาธารณะกลางเมืองที่มีไฟประดับสวยงามหรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า ‘Illumination’ โชคดีที่ฉันมาเยี่ยมเยือนญี่ปุ่นในช่วงที่มีเทศกาลประดับไฟนี้พอดี ไม่เฉพาะที่เมืองฮิโรชิม่า แต่หลายเมืองก็มีเทศกาล illumination เช่น ที่โกเบที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ จนหากพลาดไปก็น่าเสียดาย เราถ่ายรูปกันนิดหน่อยพอสนุกสนาน อากาศในตอนนี้หนาวมากแล้วเราก็เดินกลับที่พักของเธอกัน
มาคิดดูแล้วเพื่อนฉันคนนี้ไม่ใช่คนเพอร์เฟ็ก ไม่ได้สนิทกันเท่าไหร่ แถมยังโดนเพื่อนฉันอีกคนบ่นน้อยใจคนๆ นี้มาอีก แต่ระหว่างที่เราได้ใช้เวลาด้วยกัน ฉันกลับรู้สึกว่าเธอจะเป็นคนอย่างไรไม่รู้ล่ะ แต่เรากลับรั่วๆ เข้ากันได้ดี เธอดูเป็นคนไม่คิดอะไรมากดี อยู่ด้วยแล้วก็สบายใจ ให้ฉันนึกย้อนกลับไป ถ้าให้ฉันเป็นเจ้าบ้านต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองแบบนี้บ้าง ฉันจะทำได้ดีเท่าเธอรึเปล่ายังไม่รู้เลย นึกย้อนกลับไป ฮิโรชิม่าเป็นทริปที่สนุกและสบายใจมากจริงๆ ต้องขอบคุณชิโอริ ฮาระ เพื่อนที่น่ารักมากมาด้วย ณ โอกาสนี้
ถ้าเธอมาไทยอย่าลืมบอกนะ..ฉันจะต้อนรับเธอให้เต็มที่เลยด้วยความขอบคุณและคิดถึง 🙂
เหตุการณ์นี้สอนฉันว่า เราไม่ต้องเชื่อที่คนอื่นพูดถึงใครคนหนึ่งก็ได้ เราควรเปิดใจสัมผัสเค้าด้วยตัวเองก่อน ไม่งั้นอาจพลาดโอกาสมีเพื่อนดีๆ ไปก็ได้
___
การเดินทาง :
ฮิโรชิม่า จากกรุงเทพฯ อาจต้องเปลี่ยนเครื่องอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ฉันเองเดินทางโดยนั่งเรือข้ามมาจากเกาหลี ที่เมืองพูซาน ข้ามมายังฟุกุโอกะแล้วนั่งบัสจากฟุกุโอกะ 4 ชั่วโมง มาลงที่ฮิโรชิม่า เที่ยวฮิโรชิม่าเสร็จแล้ว นั่งรถขึ้นไปเที่ยวเกียวโตก่อน ก่อนจะขึ้นชิงคันเซ็งไปหาน้องสาวที่โตเกียว จบทริปด้วยการบินกลับกรุงเทพฯค่ะ การเที่ยวแล้วแต่รูปแบบวัน เวลาและงบประมาณที่ทุกท่านสะดวกนะคะ