5 นิสัยแสนขัดแย้งในตัวเองของคนญี่ปุ่น
สารบัญ
ว่ากันว่าทุกสังคมล้วนมีความขัดแย้งในตัวเองอยู่เสมอ คนญี่ปุ่นเองก็เช่นกัน แต่บทความนี้ไม่ได้จะว่าร้ายสังคมญี่ปุ่นแต่อย่างใดนะ เพราะความขัดแย้งในตัวนี้อาจไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เปรียบเหมือน “หยินกับหยาง” ที่หลอมรวมอยู่ร่วมกันอย่างลงตัวนั่นเอง มาดูกันครับว่า หยินและหยางบางอย่างของคนญี่ปุ่นในชีวิตประจำวันนั้นมีอะไรบ้าง..
เสียงดัง x ความเงียบ
ภาพชินตาในที่สาธารณะต่างๆ ในญี่ปุ่น มักมีองค์ประกอบของ “ความเงียบ” แฝงอยู่ด้วยเสมอ สังเกตได้เวลาขึ้นระบบขนส่งมวลชนในญี่ปุ่น โดยเฉพาะบนรถไฟนี่เรียกได้ว่า ‘เงียบกริบ’ ใช้โทรศัพท์ได้แต่ห้ามพูดคุย ห้ามส่งเสียงใดๆ บนรถไฟ โฆษณาก็ยังห้ามมีเสียง ซึ่งน่าจะเป็นที่เดียวในโลกที่วัฒนธรรมนี้ช่างเข้มงวดมาก
แต่มันตรงกันข้าม เวลาเดินไปตามร้านค้าในท้องถนนโดยเฉพาะร้านที่ Sales ลดแลกแจกแถม มักจะมีพนักงานมายืนตะโกนอยู่หน้าร้านอย่างเอิกเกริก หรือเวลาเข้าร้านอาหารญี่ปุ่น ตามธรรมเนียมคือ พนักงานทั้งหมดในร้านจะ ‘ตะโกน’ ต้อนรับลูกค้าอย่างเปิดเผยดังลั่นทั่วร้าน (อิรัชชัยมาเสะ !!!…คุ้นไหมคำนี้? ทำให้สะดุ้ง ^^) ..แทนที่จะพูดต้อนรับลูกค้าเป็นรายคน
แถมเวลาซู้ดราเมนนี่กินกันเสียงดังมาก ซู้ดๆๆๆๆ เพราะคนญี่ปุ่นถือว่ายิ่งกินเสียงดัง หมายความว่า เอร็ดอร่อย ถือเป็นการให้เกียรติเชฟ (ถ้าเชฟยืนมองอยู่คงยิ้มน่าดู) ในขณะที่การกินเสียงดังลักษณะนี้ในเมืองไทยอาจดูเสียมารยาทไปได้
ร้านอิซากายะซึ่งเป็นร้านกินดื่ม ตาม common sense ก็ควรจะเป็นที่ๆ ใช้เสียงดังได้น่ะถูกแล้ว เพียงแต่อิซากายะอาจดังในระดับที่กลายเป็นที่ระบาย ถ้าเป็นการสนทนาแบบเนื้อหาสาระ อาจคุยกันลำบากหน่อย ฮ่าๆๆ (ณ อิซากายะ ทำให้รู้ว่าคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย ลึกๆ มีบุคลิกนิสัยเอะอะเสียงดังโวยวายมาก! ถ้าเทียบกับเวลาโหนรถไฟเงียบกริบ 555) เสียงดังระดับนี้กลับเป็นที่ยอมรับกัน (แถมสูบบุหรี่ในร้านได้ด้วย)
นี่ยังไม่รวมถึงเวลาหลัง 4 ทุ่ม ที่หลายคนเริ่มเมาได้ที่ และบางส่วนเริ่มเดินออกจากร้านเป็นหมู่คณะไปขึ้นรถไฟ ระหว่างทางก็จะส่งเสียงเอะอะโวยวาย ซึ่งนี่กลายเป็นภาพที่เห็นได้ตามปกติธรรมดาไปเสียแล้ว (เหมือนสังคมจะปล่อยวาง ให้ดูเป็นเรื่องปกติด้วย)
ความเขินอาย x กล้าเปิดเผย
โดยพื้นฐาน บุคลิกนิสัยคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักเขินอาย ขี้เกรงใจ สงวนท่าทีหน่อยๆ รักษาความเป็นส่วนตัว พูดจาอ้อมๆ (ชัดเจนมากในโครงสร้างภาษาญี่ปุ่น) อาจไม่กล้าเสนอความคิดเห็นโต้แย้งแบบโฉ่งฉ่าง โดยเฉพาะสถานการณ์ ณ ที่ทำงาน เวลาผู้หญิงหัวเราะก็มักจะเอามือมาปิดปาก แม้แต่ในห้องน้ำยังมี ‘เสียงปลอม’ สร้างขึ้นมากดหลอกๆ เวลาเราตด จุดเหล่านี้ดูจะแตกต่างจากตะวันตกพอสมควร ที่มองว่าเป็นเรื่องปกติ
“ความเกรงใจเป็นสมบัติของผู้ดี” ซึ่งก็น่าจะถือเป็นข้อดี แต่ทางกลับกัน ในบางสถานการณ์ที่ดูเผินๆ น่าจะรู้สึกเขินอายหรืออึดอัด แต่คนญี่ปุ่นกลับทำได้อย่างปกติ ไม่ว่าจะการเข้าไปอัดเบียดเสียดแน่นบนรถไฟติดๆ กันเป็นปลากระป๋อง หน้าแทบจะชนกันอยู่แล้ว (ก้นนี่ชนกันเรียบร้อยไปแล้วจ้า 555)
หรืออย่างกาาร “แก้ผ้าลงแช่ออนเซ็น” (ข้อนี้ชัดเจนมาก) สามารถทำได้อย่างรู้สึกปกติ ไม่เขินอายแต่อย่างใด บางครอบครัวก็แก้ผ้าลงแช่พร้อมหน้าพร้อมตาในบ่อเดียวกันด้วยซ้ำ (กรณีที่ลูกยังเล็ก) สำหรับชาวต่าวชาติการแก้ผ้าลงแช่ออนเซ็นเปิดเผยทุกสัดส่วนกับคนแปลกหน้าเป็นอะไรที่ต้องอาศัยความกล้าหาญไม่น้อย ต้องฝ่าด่านแรกแห่งความเขินอาย 555
Modern x Tradition
เวลาเดินไปไหนมาไหนในญี่ปุ่น เราจะเห็นสภาพบ้านเมืองที่ทันสมัย หากสังเกต “รายละเอียด” ของการสร้างเมืองทุกสิ่งทุกอย่างจะมีเหตุผลรองรับเสมอ หุ่นยนต์ก็เป็นอีกหนึ่งภาพจำในความไฮเทคของญี่ปุ่นที่ชาวโลกเข้าใจ นี่ถือเป็นความทันสมัยที่มีเหตุผลรองรับและวิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ได้
แต่ที่ญี่ปุ่นก็ยังคงรักษา Tradition ขนบธรรมเนียมความเชื่อบางอย่างที่ดูเป็นนามธรรมควบคู่กันไปได้ อาจไม่มีหลักตรรกะเหตุผลสักเท่าไร วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ (ใช้ความรู้สึก) อย่างเช่น การกวักเอาควันธูปเข้าตัวเวลาจุดธูปหน้าศาลเจ้าต่างๆ เพราะเชื่อว่าทำให้โชคดี? (สามารถดูได้ที่วัดเซนโจจิ ย่านอาซากุสะ ในโตเกียว)
** ข้อนี้ไม่ได้จะลบหลู่หรือมองว่าแปลกแต่อย่างใด เพราะมนุษย์เราล้วนต้องการเหตุผลวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปกับสิ่งยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ เป็นส่วนผสมที่ลงตัว ^^ (รายละเอียดเรื่องนี้ หาอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ Homo Deus: A Brief History of Tomorrow)
ไม่มีศาสนา x แต่งงานตามพิธีทางศาสนา
เวลาคนเรานับถือศาสนาใด ถือเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งในการเป็นศาสนิกชนที่ดี นำสิ่งที่สอนมายึดมั่นปฏิบัติ และเป็นไปได้สูงที่จะ “แต่งงาน” ที่เกี่ยวพันกับพิธีทางศาสนานั้นๆ ที่เราเชื่อ เช่นนับถือศาสนาคริสต์ ก็แต่งงานเข้าโบสถ์ (อาจรวมถึงประกอบพิธีทางศาสนาด้วย ไม่ใช่แค่ถ่ายรูป pre-wedding สวยๆ)
แต่สถิติบอกว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ “ไม่มีศาสนา” ที่ยึดมั่นถือมั่นจริงๆ จังๆ ก็ไม่ได้ผิดแต่อย่างใด ถือเป็นอิสรภาพทางความคิดและความเชื่อของคนเรามากกว่า (ผมมองว่าคนญี่ปุ่นออกจะไปในทาง spiritual มากกว่า religious ด้วยซ้ำ) เพียงแค่พอเวลาแต่งงาน มีคนญี่ปุ่นบางส่วนเลือกที่จะแต่งแบบมีพิธีรีตองตามศาสนา เช่น เข้าโบสถ์ เพราะออกมาสวย อิอิ (แม้ยามปกติ จะไม่ได้เข้าโบสถ์ทุกวันอาทิตย์)
อันที่จริง คนเราล้วนมีอิสระเสรีในการจัดงานแต่งงานตามแต่จินตนาการ จะจัดใต้ท้องทะเลก็ยังได้ (มีจริงนะ) ดูน่าสนใจไม่น้อยสำหรับคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาใด แต่กลับเลือกที่จะแต่งงานตามทางศาสนา
ความทางการ x น่ารัก
“คนญี่ปุ่นชื่นชอบความเป็นทางการ” พิธีรีตอง ต้องมีระเบียบแบบแผนปฏิบัติที่ชัดเจน ดูจริงจังเคร่งครัด ดูได้จากเวลาแลกนามบัตร ถ้าอยากให้เป็นมืออาชีพแล้วล่ะก็ จะมีขั้นตอนรายละเอียดเยอะมากๆ ไม่ใช่แค่ยื่นส่งมือเดียวจบ การทำงานในบริษัทก็ต้องใส่สูทให้ดูดีเสมอ ความสัมพันธ์ระหว่างสองคนอาจใช้ช่วงระยะเวลาหนึ่งกว่าจะสนิทสนมกัน (‘ภาษา’ ที่ใช้ก็จะเปลี่ยนตามด้วย)
แต่ขณะเดียวกัน ก็เปิดความน่ารัก ความ soft แบบไม่เป็นทางการในระดับที่สูงมาก ตัวอย่างง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เห็นได้จากการอธิบายสิ่งต่างๆ ด้วยภาพด้วยการ์ตูนน่ารัก / ถ่ายรูปชูสองนิ้ว (คนทำงานใส่สูทก็ชูสองนิ้วกันได้อย่างปกติด้วยนะ) / กรวยปิดถนนข้างทางที่เป็นลายการ์ตูนน่ารักๆ / ขนมของฝากที่ระลึกดีไซน์เก๋ๆ น่ารัก (แต่ราคาอาจไม่น่ารักนะ 55) / แต่การแสดงออกบางอย่างที่ดูแบ๊วมากเกินไป (สังคมตะวันตกบางคนอาจมองว่า ‘ทำตัวเป็นเด็ก’ ฮ่าๆๆ)
ทุกสังคมล้วนมีความขัดแย้งในตัวเองอยู่ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง การเห็นมุมหนึ่งของเขาแล้ว ‘เหมารวม’ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ อย่างที่บอกไปแล้วว่าความขัดแย้งกันเองนั้นเปรียบเสมือน “หยินกับหยาง” ที่ทำให้เกิดความ “สมดุล” ^^