สวัสดีชาว KIJI ทุกท่าน ไหน ๆ ก็ได้พบกัน (ผ่านตัวอักษร) เป็นครั้งแรก ผมขอแนะนำตัวก่อนจะดีกว่า ผมเป็นคนญี่ปุ่น เกิดและเติบโตที่กรุงโตเกียว ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ

มีเหตุบังเอิญหลาย ๆ ประการที่ได้ประสบช่วงวัยรุ่น ทำให้ผมหันไปสนใจเรื่องภาษาไทย และเลือกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่มีสาขาวิชาภาษาไทย เรียนไป 4 ปี (บวกกับการได้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างมหาวิทยาลัยและไปเรียนที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยอีก 1 ปี) แต่รู้สึกยังไม่พอในการเรียน (หรือแค่ต้องการเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับสังคมนอกรั้วมหา’ลัย?) เข้าศึกษาระดับปริญญาโทด้านวรรณกรรมไทย เรียน 2 ปีก็ยังไม่เอมอิ่ม เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก (เลือกหัวข้อเดิม คือ วรรณกรรมไทยร่วมสมัย) ในขณะเดียวกัน เริ่มทำงานเป็นนักแปล ล่าม และอาจารย์สอนภาษาไทยให้แก่นักศึกษาญี่ปุ่นที่วิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ณ กรุงโตเกียว (และยังได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศไทยอีกรอบหนึ่ง ระยะเวลา 1 ปีเหมือนเดิม)

ที่เขียนมาข้างบนนี้ถือเป็น CV ฉบับย่อ (มาก ๆ) ของผมก็ได้ นับตั้งแต่ผมเริ่มเรียนภาษาไทยตอนอายุ 18 จนถึงปัจจุบัน (ที่อายุเพิ่งเข้าสู่เลข 3) เวลาได้ผ่านไป 10 กว่าปี ผมได้มีโอกาสเยือนประเทศไทยแทบทุกปี (บางปี บินไปสองสามครั้งภายในปีเดียวด้วยซ้ำ) รู้จักและพบปะพูดคุยกับคนไทยหลาย ๆ ท่าน แต่ยังมีหลายครั้งที่ได้ยินเสียงคล้ายเสียงอุทานว่า “คนญี่ปุ่นเรียนภาษาไทย?” หรือ “เป็นลูกครึ่งปะคะ?” อะไรทำนองนี้ พร้อมทำหน้าเหมือนติดค้างอะไรบางอย่างในใจ และส่อแววตากึ่งระแวงสงสัย (พวกเขาระแวงอะไรกันนั้นผมไม่เคยรู้และไม่เคยมีใครบอก)

ดูเหมือนว่า “คนต่างชาติ” ที่มีทักษะภาษาไทยระดับหนึ่งนั้น มักจะเป็นที่สนใจของผู้คนในสังคมไทย ผมเคยเห็นคลิปที่มีผู้ชายฝรั่งสองคนออกมาสอน ‘เว้าอีสาน’ หรือคลิปชุด Bangkok 1st time ที่มีคุณลุงเนลสันเป็นตัวเอก หรือคลิปที่ Beam Sensei สัมภาษณ์คนญี่ปุ่นที่พูดภาษาไทยคล่องมาก อะไรก็แล้วแต่ มีคนหัวเราะเฮฮาชอบใจดังสนั่น (ผมไม่ได้ยินเสียง แต่ผมเห็นเพียงตัวเลข 555566 หลายร้อยตัว) กดไลค์และแชร์กันแบบเทน้ำเทท่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าผมเองก็เคยใช้ “โปรโมชั่นคนต่างชาติ” นี้เหมือนกัน เพื่อเข้าไปคลุกคลีกับเพื่อน ๆ คนไทย (ไม่ว่าผมตั้งใจหรือไม่ได้ตังใจใช้โปรฯ นี้ก็ตาม)

แต่นี่เป็นเรื่องแปลกประหลาด พิลึกพิสดารขนาดนั้นเลยหรือที่มีคนต่างชาติพูดภาษาไทย? ถามว่าเฟ้นหายากไหมคนที่สนใจเรื่องไทยในญี่ปุ่น ก็ตอบได้เต็มปากเลยว่าไม่ยาก แม้ระดับและทิศทางของความสนใจนั้นจะแตกต่างกันก็ตาม

แล้วในแง่การเรียนการสอนภาษาล่ะ ก็มีคนสนใจเรียนและมีช่องทางมากมายให้เลือก (แต่กรุณาอย่าเทียบกับภาษาอังกฤษ ภาษาจีน หรือภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ที่มีคนสนใจเรียนจำนวนมหาศาล) เท่าที่ผมทราบ มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น (ทั้งของรัฐและเอกชน) ที่มีสาขาวิชาภาษาไทยนั้น อย่างน้อยมี 3 แห่ง ยกตัวอย่างของมหาวิทยาลัยที่ผมเคยไปเรียน ก็มีนักศึกษารุ่นเดียวกันประมาณ 15 คนแทบทุกปี นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เปิดวิชาภาษาไทยให้นักศึกษาเลือกเรียนได้ มีวิทยาลัยหรือโรงเรียนสอนภาษาไทย หรือยังมีหลายคนที่รับหน้าที่เป็นติวเตอร์ส่วนตัวที่สอนภาษาไทยให้แก่ผู้ที่สนใจ ถ้าไปร้านหนังสือใหญ่ ๆ ก็จะเห็นปกหนังสือตำราหรือพจนานุกรมภาษาไทยเรียงรายกันหลายเล่ม หรือยังมีเว็บไซต์และเว็บบล็อกหลาย ๆ แห่งที่มีคอนเทนต์ว่าด้วยภาษาไทย

นี่คือความจริงที่คนญี่ปุ่นสนใจภาษาไทยเห็นกันอยู่ แต่ความจริงนี่แหละที่ทำให้ผมหนักใจเช่นเดียวกัน เมื่อทางบ.ก. KIJI รบเร้าให้ผมเขียนคอลัมน์นี้ ผมไม่รู้จะเขียนอะไร และไม่มีความมั่นใจด้วยซ้ำว่า จะเกิดประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านได้บ้างหรือไม่ เพราะสำหรับผมแล้ว สิ่งที่เล่ามาข้างบนนี้ (และสิ่งที่ผมจะเล่าในตอนต่อ ๆ ไป) ล้วนเป็นสิ่งสามัญธรรมดา ไม่มีอะไรแปลกใหม่ แต่ทางบ.ก. อนุญาตให้ผมเล่าประสบการณ์ส่วนตัว ในฐานะและด้วยสายตาของคนญี่ปุ่น ถ้าจะมีประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านก็คงจะในแง่ของการบันทึกชีวิตประจำวันของ ‘ชาวนิปปอน’ คนหนึ่งที่ใคร่รู้เรื่องภาษาไทย วรรณกรรมไทย ฯลฯ เท่านั้น ก็ลองดูกันต่อเถิด

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ