กฏระเบียบใน สังคม ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น เป็น สังคม ที่มีกฏระเบียบเคร่งครัดและบางอย่างก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่หากชาวต่างชาติไม่ศึกษาก่อนมาก็อาจจะโชว์เก้อปล่อยไก่กันเต็มๆ และสิ่งที่มักจะตามมาคือได้รับ “สายตาพิฆาต” จนรู้สึกเขินอายไปบ้าง

ผมมองว่านี่อาจเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ที่เราจะได้เรียนรู้จากการไปเที่ยวต่างประเทศหรือในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยและวัฒนธรรมที่เราไม่เข้าใจ ไม่ได้เสียหายถึงขั้นคอขาดบาดตายอะไร เราไปโชว์เก้อที่โน่น ต่างชาติก็มาเก้อที่บ้านเรา แม้ตอนนี้ญี่ปุ่นเปิดรับนักท่องเที่ยวมากแล้ว แต่เมื่อเราไปเยือนบ้านเมืองเขาก็ควรจะรู้ทันไว้บ้าง และนี่คือ 10 เรื่องที่เรามักโชว์เก้อบ่อยๆ เวลาไปเที่ยวญี่ปุ่นครับ

 

01 แซงคิว

สังคม ญี่ปุ่น มีจุดต่อคิวในร้านสะดวกซื้อ

ใจเย็นๆ ก่อนครับ มันไม่ใช่ว่าคนญี่ปุ่นต่อคิวยาวเหยียดอยู่ดีๆ แล้วเราเดินไปแซงคิวเขาต่อหน้าต่อตาแบบนั้น แต่เพราะระบบต่อคิวในญี่ปุ่นเป็นแบบ “รวมศูนย์” ร้านค้าจำนวนไม่น้อยเลยที่ใช้ระบบนี้ ซึ่งก็คือก่อนถึงหน้าแคชเชียร์จะมีสัญลักษณ์รูปเท้าที่พื้น บ่งบอกว่าเป็นจุดให้ลูกค้าหยุดยืนรอ เมื่อแคชเชียร์ไหนว่าง คนที่ยืนรอตรงจุดนั้นก็ได้สิทธิ์จ่ายเงินก่อน

จุดยืนรอนั้นมักจะอยู่ห่างจากหน้าแคชเชียร์ระดับหนึ่ง เป็นการเว้นพื้นที่เพื่อให้ให้ลูกค้าคนอื่นเดินผ่านไปได้โดยไม่กีดขวางนั่นเอง

จุดยืนต่อคิวในร้านสะดวกซื้อที่ญี่ปุ่น

มันเป็นอย่างนี้ครับ นักท่องเที่ยวไทยอาจยังไม่คุ้นชินกับระบบนี้ เพราะที่เมืองไทยเมื่อเห็นบริเวณหน้าแคชเชียร์ว่างก็จะไปยืนต่อคิวข้างหลังคนที่กำลังจ่ายเงินอยู่ แต่ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่นการทำแบบนี้ เป็นการแซงคิวลูกค้าทุกคนที่ยืนรออยู่ตรงจุดรวมศูนย์นั่นเอง!

บางทีหางคิวหลบมุมอยู่หลังเชลฟ์จนไม่ทันสังเกต

 

02 ออนเซ็น

ออนเซ็นที่ญี่ปุ่นภาพ : iplayfukushima.com

ตอนไปเรามักจะได้รับ “ผ้าขนหนู” ผืนเล็กๆ ก่อนเข้าแช่ตัว ซึ่งอันที่จริงผ้านี้มีไว้ “แปะหัว” เวลาลงแช่ไม่ได้มีไว้ปิด “อวัยวะ” ช่วงล่าง

แต่แหม…ก็คนมันอายนี่! นักท่องเที่ยวไทยที่ไม่ชินจึงมักเอาผ้านั้นปกปิดช่วงล่าง ระหว่างเดินหรือระหว่างแช่ ซึ่งตามหลักเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง

จริงๆ แล้วคนญี่ปุ่นก็อาจไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้น (เพราะเห็นเป็นต่างชาติ) เพียงแต่ถ้าริจะมาออนเซ็นแล้ว การปฏิบัติให้ได้ตามวัฒนธรรมเค้าก็น่าจะเหมาะสมกว่า

 

03 รถไฟตู้ขบวน Women Only

สังคม ญี่ปุ่น จะมีรถไฟตู้ขบวนเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น

รถไฟในญี่ปุ่นจะสงวนสิทธิ์ตู้นึงสำหรับคุณสุภาพสตรีเท่านั้น และมักมีป้ายเขียนทำนองว่า “Women Only” ทั้งบนพื้นชานชาลา ตามเสาป้าย หรือไม่ตู้รถไฟนั้นก็อาจคาดแถบสีชมพูเป็นสัญลักษณ์ให้รู้

แต่บางทีนักท่องเที่ยวชายบางคนก็ไม่ทราบ ยิ่งบางเวลาคนเยอะๆ แน่นๆ ป้ายเป้ออะไรมองไม่เห็นหรอก จึงเข้าตู้ Women Only นั่นไปและอาจได้รู้จักกับ “สายตาพิฆาต” ของสตรีญี่ปุ่นเข้าไปตามๆ กัน

 

04 คุยเล่นกันบนรถไฟ

ใน สังคม ที่ ญี่ปุ่น ห้ามคุยเล่นกันบนรถไฟ

บนรถไฟญี่ปุ่นมีกฏอยู่ข้อหนึ่งที่ขอความร่วมมือจากผู้โดยสาร คือให้ช่วย “งดใช้เสียง” ขณะโดยสาร เพื่อไม่ให้รบกวนผู้โดยสารท่านอื่น

เสียงที่ว่านี้คือ เสียงทุกรูปแบบทั้งจากการพูดคุย เสียงเพลงจากสายหูฟัง เสียงคุยโทรศัพท์ แม้แต่จอโฆษณาบนรถไฟญี่ปุ่นยังเป็นแบบไร้เสียง หลายคนอาจไม่ทันสังเกตและคุยกับเพื่อนร่วมทางอย่างออกรสระหว่างทาง เสียงคุยที่เราคิดว่าปกติในสภาพแวดล้อมเงียบกริบ ก็อาจกลายเป็นเสียงดังรบกวนคนอื่นแทนได้

ในรถไฟที่ ญี่ปุ่น ห้ามคุยโทรศัพท์ ถือว่าเป็นเรื่องเสียมารยาทใน สังคมป้ายบอกให้ตั้งมือถือเป็นไร้เสียง

อาจเป็นข้อปฏิบัติที่ฝืนธรรมชาติไปหน่อย แต่ สังคม ญี่ปุ่น ให้ความเคารพความเป็นส่วนตัวของกันและกันมากโดยเฉพาะเวลาเร่งด่วน เราเข้าใจดี เวลาไปเที่ยวก็ต้องอยากพูดคุยแต่อดใจอีกนิดพอถึงสถานีเป้าหมาย ลงรถไฟค่อยคุยต่อดีกว่าเนอะ

 

05 ที่นั่ง Priority Seat

ในรถไฟที่ญี่ปุ่นมีที่นั่ง Priority Seat

ยังอยู่กันบนรถไฟ อีกเรื่องที่มักพลาดมักเผลอคือนั่งที่นั่ง Priority Seat ซึ่งสำรองไว้แก่บุคคลพิเศษ เช่น ผู้พิการ คนท้อง คนใช้ไม้เท้า ฯลฯ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมือใหม่ เพราะที่นั่งพิเศษบนรถไฟญี่ปุ่นไม่ได้ทำไว้ 1 ที่ชิดมุมแบบ BTS แต่สำรองไว้ทั้งล็อคเลย (มักอยู่ติดกับทางเชื่อมตู้ขบวน) บางทีป้ายอาจเล็กไปเมื่อรวมกับจำนวนคนแน่นขนัดจนอาจลืมสังเกตก็เป็นไปได้

ที่นั่ง Priority Seat ที่ญี่ปุ่น

 

06 ลุกให้คนแก่นั่ง

ใน สังคม ญี่ปุ่น การลุกให้คนแก่นั่งเราอาจจะถูกปฏิเสธได้

เราคนไทยถูกปลูกฝังให้มีน้ำใจลุกให้ผู้สูงวัยนั่งเสมอบนรถไฟ แต่ความใจดีของเราอาจกลายเป็นการโชว์เก้อได้ เมื่อลุกแล้วคนแก่ญี่ปุ่น “ปฏิเสธ”

ที่ญี่ปุ่นคนแก่หลายคนแม้จะอายุมากแล้วแต่สุขภาพยังแข็งแรงอยู่ สามารถเดินเหินได้สบาย และบางคนมี “ทัศนคติ” ว่าการที่เราไปลุกให้เค้านั่ง เป็นการดูถูกหาว่าแก่! (แก่ก็จริง แต่ยังแข็งแรงอยู่)

เรามีคำแนะนำว่าถ้าอยากลุกให้ใครบางคนนั่งบนรถไฟญี่ปุ่น ก็ให้ลุกออกไปเลยครับ เค้าจะนั่งไม่นั่งว่ากันอีกที (กลายเป็นว่าซาลารี่แมนหนุ่มเสียบนั่งแทน ฮ่าๆ)

 

07 ยืนผิดฝั่งบนบันไดเลื่อน

การยืนบนบันไดเลื่อนใน สังคม ของ ญี่ปุ่น

เฉกเช่นอีกหลายประเทศ ญี่ปุ่นก็มีวัฒนธรรมยืนบนบันไดเลื่อนเหมือนกัน แต่แปลกตรงที่ไม่ได้ยืนฝั่งเดียวกันทั่วประเทศ เช่น ภูมิภาคคันโต-ยืนฝั่งซ้าย/ ภูมิภาคคันไซ-ยืนฝั่งขวา

แต่ใครจะไปจำได้หมด ยิ่งคนมีตั๋ว JR Pass นั่งรถไฟเดินทางทั่วประเทศ ก็ต้องมีสับสนหรือพลาดกันบ้าง (แต่ปัจจุบันการยืนบนบันไดเลื่อนในญี่ปุ่นเริ่มเปลี่ยนแล้วนะครับ หลายคนไปเลือกเดินบนบันไดปกติแทน เพราะมีการรณรงค์ให้ยืนทั้ง 2 ฝั่งบนบันไดเลื่อน)

 

08 เลี้ยวขวา

การขับรถเลี้ยวขวา ใน สังคม ญี่ปุ่น

ได้เจอนักท่องเที่ยวที่เช่ารถขับเที่ยวในญี่ปุ่นบ่นบ่อยมากว่าเวลาขับรถ “เลี้ยวขวา” ในญี่ปุ่นนี่วัดใจไม่น้อยเลย โดยเฉพาะช่วงวันแรกที่ขับออกถนนใหญ่ บ้างก็เกือบโดนชน (หรือไปชนตูดคนอื่น)

เพราะเวลาเลี้ยวขวาสี่แยกไฟแดงในญี่ปุ่นหลายจุดจะใช้ระบบแบบที่กล่าวมา คือเลี้ยวขวาไปได้เมื่อฝั่งตรงข้ามโล่งหรือรถทิ้งช่วง จึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ยังดีครับที่การฝ่าไฟแดงในญี่ปุ่นนั้นแทบไม่มีเลย มีส่วนช่วยตรงนี้ได้มาก

 

09 ปุ่มกดส้วมอัตโนมัติ

เชื่อเลยว่าทุกคนต้องเคยลองกดปุ่มส้วมอัตโนมัติสุดไฮเทคที่มีปุ่มให้กดมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็มักมาในภาษาญี่ปุ่นจนคนไทยเราอาจเดาไม่ถูก

ประสบการณ์ครั้งแรกของคนที่เจอส้วมประเภทนี้เป็นครั้งแรก ก็มักจะทดลองกดเล่นเลยโดยที่ยังยืนอยู่ ไม่ช้าแท่นฉีดน้ำก็โผล่ออกมาและฉีดขึ้นฟ้าจนเกือบเข้าหน้า บ้างหลบทัน บ้างเฉียดหน้าโดนแก้ม หรือเข้าเต็มๆ หน้าก็มี

บางคนนั่งลงส้วมแล้วค่อยกดเป็นวิธีการที่ถูกต้อง แต่ก็ดันลืมปรับความแรงและทิศทาง (เพราะไม่รู้วิธีการปรับ) ผลคือก็เข้าจุดเข้ารูไปเต็มๆ สะดุ้งเฮือกหลบเกือบไม่ทัน บางคนกลับรู้สึกจั๊กจี้ซะงั้น ฮ่าๆ

 

10 จ่ายเงินรถเมล์

การจ่ายเงินรถเมล์ที่ญี่ปุ่น

รถเมล์ในญี่ปุ่นไม่มีกระเป๋ารถเมล์ที่คอยเดินเก็บค่าโดยสาร แต่ตอนลงจากรถต้องลงด้านหน้าผ่านคนขับ ซึ่งก็ไม่ได้ยื่นเงินจ่ายกับคนขับโดยตรง แต่จะจ่ายที่เครื่องด้านข้างคนขับต่างหาก และที่ยากไปกว่านั้นคือเจ้าเครื่องนี้ไม่รับเงินแบงค์รับแต่เหรียญ เช่น ถ้าเรามีแบงค์ใหญ่ก็ต้องหยอดลงในช่องแลกเหรียญของเครื่องก่อน จากนั้นจึงค่อยหยอดเหรียญชำระค่าโดยสารอีกที

ถึงขั้นตอนนี้ถ้าไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน สื่อสารภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ คงมีอาการรนเล็กน้อยและต้องใช้เวลานานขึ้น

เครื่องจ่ายเงินอัตโนมัติบนรถเมล์ที่ญี่ปุ่น

เราขอแถมให้อีกหนึ่งข้อ สำหรับคนที่กำลังเรียนภาษาญี่ปุ่นขั้นพื้นฐานอยู่แล้วอยากลองวิชา เวลาไปเที่ยวญี่ปุ่น หลายคนจะฝึกท่องบทสนทนาง่ายๆ เช่น มาจากไทย, อาหารอร่อยมาก, มาโตเกียวเป็นครั้งแรก ประโยคที่เตรียมตัวมาจะเป๊ะมาก

พอเวลาจริงก็พูดได้เหมือนที่ท่องมา 100% สำเนียงเป๊ะเวอร์ หน้านิ่ง ได้ใจคนญี่ปุ่นไปเต็มๆ แต่นั่นก็ทำให้เขาคิดว่าเราพูดภาษาญี่ปุ่นได้! (ใช่ พูดได้…แค่นี้แหละ) จึงต่อบทสนทนาด้วยระดับภาษาที่ยากขึ้นจนบานปลายไปต่อไม่เป็นแล้ว สุดท้ายก็ตัดจบด้วย “wakarimasen” ที่แปลว่าไม่เข้าใจ ฮ่าๆ

และนี่ 10(+1) เรื่องที่นักท่องเที่ยวมักโชว์เก้อเมื่อไปเที่ยวญี่ปุ่น เป็นการรู้ไว้เพื่อ “เตรียมตัว” และ “ป้องกัน” ไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด เชื่อเถอะครับว่ารู้ไว้แล้วการท่องเที่ยวก็จะสนุกและเป็นไปอย่างราบรื่นขึ้นเยอะ

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ