10 สิ่งดีต่อใจ พบได้ในญี่ปุ่น
สารบัญ
- 1. การส่งลูกค้าผู้มาใช้บริการแบบที่ไม่เหมือนใคร สร้างความประทับใจแบบไม่รู้ลืม
- 2. กระเป๋าและสัมภาระที่สายพาน วางเรียงไว้ให้เรียบร้อยพร้อมยก เมื่อลงจากเครื่องบิน
- 3. เทปกาวปิดปากถุงใส่สินค้าที่พร้อมจะให้ลูกค้าเปิดออกได้อย่างง่าย
- 4. ห้องน้ำ มีมากกว่า ถังขยะ
- 5. ทำไมขวดแชมพูต้องมีขีดนูนๆ ที่ข้างขวดและตรงที่กดปั๊ม
- 6. การชำระเงินต้องวางเงินบนถาดรับเงินเท่านั้น
- 7. แพ็กเกจจิงดี๊ดี ที่คิดแทนผู้บริโภคมาให้แล้ว
- 8. ใช้เพลงสื่อความหมายในห้างสรรพสินค้าที่ญี่ปุ่น
- 9. โต๊ะอาหารสำหรับผู้พิการ โดยเฉพาะ
- 10. การแสดงความขอบคุณของรถบัสต่อรถที่ขับมาต่อท้าย เมื่อจอดรับผู้โดยสารที่ป้ายรถเมล์
ญี่ปุ่นได้ขึ้นชื่อถึงความละเอียดลออของการใส่ใจขั้นเทพแบบชนิดที่ว่าผู้ได้รับบริการต่างก็ชื่นชมยินดีและสิ่งที่ได้รับนั้นก็เกินความคาดหวังของผู้รับจริงๆค่ะ เพราะเขาคิดถึงเรื่องส่วนรวมต้องมาก่อนส่วนตัวและใส่ใจคนอื่นเสมือนคนในบ้านถึงแม้ว่าคนญี่ปุ่นมีความเป็นส่วนตัวค่อนข้างสูงแต่ความใส่ใจในการให้บริการไม่เป็นสองรองใครเลยค่ะ
นอกจากด้านการบริการแล้ว ยังมีสินค้าที่ถูกออกแบบมาชนิดที่ว่าคิดแทนผู้อื่น ใส่ใจผู้อื่น แบบหาตัวจับได้ยากเลยทีเดียวค่ะ วันนี้ TKLSสาวแซ่บแห่งไซตามะ จะพาเพื่อนๆ ไปดูกันนะคะว่า การใส่ใจระดับเทพ ที่ว่านั้น จะสะพรึงและสร้างความประทับใจขนาดไหน ไปอ่านต่อกันได้เลยค่ะ
–
1. การส่งลูกค้าผู้มาใช้บริการแบบที่ไม่เหมือนใคร สร้างความประทับใจแบบไม่รู้ลืม
ในส่วนของการให้บริการญี่ปุ่นเขาก็ไม่เป็นสองรองใครเหมือนกันนะคะ บริการด้วยใจอย่างเต็มที่ โดยมุ่งเน้นความพึงพอใจ ของลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งเรามักจะเห็นได้บ่อยๆเมื่อได้ไปใช้บริการตามที่ต่างๆ พนักงานจะเดินออกมาส่งยังหน้าประตูร้าน และโค้งคำนับอย่างสวยงาม จนกว่าลูกค้าจะเดินลับตาไป …. ไม่เว้นแม้แต่ที่สนามบินแห่งชาติ ถ้าสังเกตกันดีๆ จะเห็นว่าพนักงานที่สนามบินต่างก็ยืนเรียงแถว โบกมืออำลาผู้โดยสารให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ สร้างความประทับใจให้แก่ผู้มาเยือนได้เป็นอย่างดี …มันดีต่อใจเหลือเกินค่ะคุณ
–
2. กระเป๋าและสัมภาระที่สายพาน วางเรียงไว้ให้เรียบร้อยพร้อมยก เมื่อลงจากเครื่องบิน
จากประสบการณ์การเดินทางไปต่างประเทศ หลายๆประเทศในโลก ญี่ปุ่นแทบจะเป็นประเทศเดียวเสียด้วยซ้ำที่มี การบริการเรื่องการวางกระเป๋าบนสายพานแบบเรียบร้อยสุดๆ โดยเจ้าหน้าที่จะคอยมารับกระเป๋าที่เคลื่อนผ่านมายังสายพานไม่ให้ตก และกระแทกบริเวณขอบที่กั้นของสายพาน ดีต่อใจอะไรเช่นนี้ แต่ก็ไม่ได้มีแค่เจ้าหน้าที่ที่จะมาคอยรับและจับกระเป๋าให้เท่านั้นนะคะ ยังมีเจ้าหน้าที่คอยจัดเรียงกระเป๋าวางบนสายพานให้ ชนิดที่ว่า ถ้าผู้โดยสารมาถึงก็พร้อมยกกระเป๋าและสัมภาระได้ทันที
–
3. เทปกาวปิดปากถุงใส่สินค้าที่พร้อมจะให้ลูกค้าเปิดออกได้อย่างง่าย
หากเคยได้มีโอกาสมาซื้อของหรือช็อปปิงตามห้างร้านต่างๆที่ญี่ปุ่น จะเห็นได้ว่าทางร้านค้าจะแพคสินค้าแบบเรียบร้อยสุดๆ และร้านส่วนใหญ่มักจะติดเทปกาวที่ปากถุง แต่ไม่ได้ติดเทปกาวแบบธรรมดานะคะ มีการพับปลายเทปกาว เพื่อให้เปิดปากถุงได้ง่ายๆ และสามารถนำถุงที่ใส่สินค้านั้นไปใช้ซ้ำได้อีกครั้ง รักษ์โลกไปอีก
–
4. ห้องน้ำ มีมากกว่า ถังขยะ
สำหรับใครๆ ที่กังวลเกี่ยวกับการเข้าห้องน้ำแล้วละก็ สบายใจได้ค่ะ เพราะที่ญี่ปุ่นห้องน้ำหาง่ายมาก สะอาด และก็เข้าฟรีด้วยค่ะ ยกเว้นแค่บางพื้นที่เท่านั้น แต่ก็มีแค่จำนวนน้อยมากที่ต้องเสียเงินเพื่อเข้าห้องน้ำ หากต้องการปลดทุกข์ครั้งใด สามารถหาห้องน้ำได้ตามร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาเก็ต สถานีรถไฟ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สวนสาธารณะ ฯลฯ เรียกได้ว่าพบห้องน้ำได้ทุกๆ 400 เมตรก็ว่าได้ แต่ในส่วนของถังขยะนั้น ยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรเสียอีกค่ะ เพราะด้วยเรื่องการทิ้งขยะแบบแยกประเภท และเพื่อระบบรักษาความปลอดภัยอันเข้มงวด ดังนั้นเราจึงไม่ค่อยเห็นถังขยะตามข้างทาง มากสักเท่าไหร่ ในบ้างครั้งก็ต้องนำขยะใส่กระเป๋ากลับมาทิ้งที่บ้านหรือที่โรงแรมแทน บ้านเมืองญี่ปุ่นถึงได้เป็นระเบียบและสะอาดมากๆ เลยค่ะ
–
5. ทำไมขวดแชมพูต้องมีขีดนูนๆ ที่ข้างขวดและตรงที่กดปั๊ม
เพื่อเป็นการแบ่งแยกระหว่าง ‘แชมพู’ กับ ‘ครีมนวดผม’ จะสังเกตได้ว่า แบรนด์ผลิตภัณฑ์แชมพูกับครีมนวดผมในญี่ปุ่นนั้น จะทำสัญลักษณ์เป็นขีดนูนๆที่บริเวณขอบของขวดและบริเวณหัวกดปั๊ม เพื่อให้ผู้ใช้สามารถแยกได้ว่าขวดไหนคือ ‘แชมพู’ และขวดไหนคือ ‘ครีมนวดผม’ ได้อย่างชัดเจน
โดยลองมานึกดูกับความเป็นจริงแล้ว ก็เป็นประโยชน์อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะถ้าคนที่มีสายตาสั้นมากๆ ผู้สูงอายุที่สายตาไม่ค่อยดี แม้แต่คนที่กำลังสระผมอยู่แล้วมีฟองเข้าตา หรือมองไม่เห็นก็จะสามารถหยิบขวดแชมพูใช้งานได้อย่างถูกต้อง ดี๊ดี
–
6. การชำระเงินต้องวางเงินบนถาดรับเงินเท่านั้น
หากเคยไปช็อปปิงที่ญี่ปุ่นจะทราบเป็นอย่างดีว่าการชำระเงินนั้นต้องวางเงินหรือบัตรเครดิตบนถาดรับเงินเท่านั้นและเวลาทอนเงินพนักงานก็จะยื่นเงินทอนให้ถึงมือของลูกค้าโดยตรงแต่ขั้นตอนการรับและทอนเงินนั้นเรียกได้ว่าโปร่งใสสุดๆเพราะเป็นการรักษาผลประโยชน์และป้องกันการคอรัปชั่นทั้งฝ่ายพนักงานและลูกค้าที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างไม่คาดคิดดังนั้นก็เลยมีการให้บริการออกมาอย่างที่เราได้เห็นกันค่ะ
แต่ถ้าการชำระค่าสินค้าในครั้งนั้น มีการจ่ายธนบัตรใบใหญ่ๆ มีค่าเยอะๆ เช่น 5,000 เยน หรือ 10,000 เยน พนักงานผู้รับเงินจะทวนคำว่าได้รับเงินมาจำนวนเท่าไหร่ พร้อมเรียกเพื่อนพนักงานที่อยู่เคาน์เตอร์แคชเชียร์ข้างเคียงให้มารับรู้ด้วยกัน โดยเฉพาะการทอนเงินนั้น พนักงานจะนับเงินทอน 2 รอบก่อนมอบเงินให้แก่ลูกค้าในรอบแรกจะทวนเงินโดยให้เพื่อนพนักงานช่วยกันดูว่าหยิบเงินทอนออกมาเป็นจำนวนเท่าไหร่และในรอบที่สองจะเป็นการนับทวนจำนวนเงินทอนอีกครั้งก่อนยื่นให้ถึงมือลูกค้าจากนั้นจึงค่อยทอนเงินเหรียญตามไปอีกครั้งประทับใจและโปร่งใสสุดๆไม่ต้องกลัวว่าจะมีการทุจริตเกิดขึ้นโปร่งใสอะไรเบอร์นี้
–
7. แพ็กเกจจิงดี๊ดี ที่คิดแทนผู้บริโภคมาให้แล้ว
อีกหนึ่งสิ่งที่ชื่นชอบมากนั่นก็คือ บรรจุภัณฑ์ที่มักจะเห็นได้ง่ายๆในญี่ปุ่น ที่มาพร้อมกับการคิดแทนผู้ใช้มาให้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ฝาปิดของโยเกิร์ต ที่คิดค้นวัสดุที่ไม่ทำให้โยเกิร์ตติดและเปรอะออกมากับฝา เวลาทิ้งก็ง่าย เวลารับประทานก็สะดวก ดี๊ดี
–
ซอสมะเขือเทศที่มาพร้อมกับมัสตาร์ดมาพร้อมกับแพ็กเกจจิงใช้งานง่ายบีบถนัดมือไม่เลอะและเข้าใจผู้บริโภคสุดๆ
–
หลอดยืดและหดได้ ที่มาพร้อมกับแพ็กเกจจิงเครื่องดื่มแบบ Ready in drink ใช้งานง่าย ทิ้งก็ง่าย แค่กดหลอดให้จมลมไปในภาชนะ ก็ทิ้งได้เลย ใช้งานสะดวกสุดๆ
–
ชีสแท่งที่แสนจะฉีกง่าย พร้อมรับประทานได้ทันทีและมือไม่เปื้อนอีกด้วย
–
ขวดซีอิ๊ว โชยุ ที่เหมาะสำหรับการรับประทานซูชิเป็นคำๆ ไม่ไหลออกมาในปริมาณมากจนเกินไป จึงทำให้คนที่ชอบกินซูชิ ฟินลืม… ถ้าเคยได้ไปรับประทานซูชิจานเวียนที่ญี่ปุ่น จะเห็นว่าในหลายๆร้านจะไม่มีถ้วยสำหรับใส่โชยุมาวางให้บริการ จะมีมาให้ก็แต่ขวดโชยุ เท่านั้น ดังนั้นเมื่อจะเทโชยุ เพียงแค่คว่ำขวด โชยุจะไม่ไหลออกมา นอกเสียจากว่าจะบีบขวด ทำให้เรากำหนดปริมาณของโชยุเองได้ ถ้าชอบมากก็ออกแรงบีบหน่อย ถ้าชอบน้อยๆ ก็บีบทีละนิด โอ้ว…ดีต่อใจจังเลยค่ะ แบบนี้ก็ได้รสชาติของเนื้อปลาแบบเต็มๆ
–
8. ใช้เพลงสื่อความหมายในห้างสรรพสินค้าที่ญี่ปุ่น
เป็นการบริการที่ดีต่อใจเหลือเกินสำหรับสิ่งนี้ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ชอบช็อปปิงในห้าง ถือได้ว่าเป็นบริการชั้นเยี่ยมของห้างฯ ในญี่ปุ่น เพื่อที่จะบอกให้แก่ลูกค้าที่เดินในห้างให้ทราบว่าภายนอกห้างฯ นั้นมีฝนตกลงมาอย่างกะทันหัน และนอกจากนี้ยังทำให้พนักงานภายในห้างได้ทราบว่าด้านนอกมีฝนตกและจะได้เตรียมพลาสติกเพื่อแพ็กถุงสินค้ากันฝนให้แก่ลูกค้าด้วย เพลงที่ใช้เปิดและคนญี่ปุ่นก็รู้กันดี นั่นก็คือ เพลง Raindrops Keep “Falling On My Head ของ BJ Thomas
ดีต่อใจเหลือเกินค่ะ ไม่ต้องป่าวประกาศเสียงตามสายให้เกิดความรำคาญ ใช้เสียงเพลงสื่อความหมายแทน มุ้งมิ้งขนาดไหนถามใจเธอดู … นี่ยังไม่รวมถึงเพลงที่บ่งบอกว่า กำลังมีขโมยเข้ามาในห้าง ซึ่งเขาจะเปิดเพลงของ The Pink Panther Theme song เพื่อเป็นการเตือนทั้งพนักงานให้ช่วยกันจับตามองลูกค้าที่เดินภายในห้าง และสำหรับลูกค้าเองก็ต้องระมัดระวัง ดูแลทรัพย์สินของตัวเองให้ดีอีกด้วยค่ะ…นี่ละค่ะ คือความใส่ใจตามแบบฉบับญี่ปุ่น จริงๆ เลย
–
9. โต๊ะอาหารสำหรับผู้พิการ โดยเฉพาะ
ก็แค่โต๊ะอาหารที่ดูแสนจะธรรมดาแต่บอกเลยว่า ไม่ธรรมดาค่ะ เป็นโต๊ะอาหารที่สร้างมาเพื่อผู้พิการที่ต้องนั่งรถเข็น และสามารถเข้ามาใช้บริการโดยใช้รถเข็นของตนเองเป็นที่นั่งได้อย่างสะดวกสบาย เพราะโต๊ะได้ถูกดีไซน์เอาไว้ สำหรับผู้พิการใช้รถเข็นโดยเฉพาะ ขอบโต๊ะมีความโค้ง เข้ามุม รับกันได้เป็นอย่างดีกับรถเข็น จะมีสักกี่คนที่จะใส่ใจ แต่ที่ญี่ปุ่นมีค่ะ โดยเฉพาะใน Food court ที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า เขามีโต๊ะเอาไว้บริการแก่ผู้พิการที่ต้องนั่งรถเข็น แบบที่คิดถึงใจของผู้พิการฯ ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียวค่ะ
–
10. การแสดงความขอบคุณของรถบัสต่อรถที่ขับมาต่อท้าย เมื่อจอดรับผู้โดยสารที่ป้ายรถเมล์
อย่างที่เราทราบกันค่ะ ถนนหนทางในญี่ปุ่นไม่ได้กว้างมากมายสักเท่าไหร่ และการขับรถในญี่ปุ่นนั้น ก็จะต้องทำตามกฎอย่างเคร่งครัดด้วย ดังนั้น การจะแซงรถคันหน้า ก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยมาก่อนเสมอ และในบางทีก็อาจจะไม่สามารถแซงรถคันหน้าได้เลยเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะถ้าต้องขับรถตามรถบัสที่จอดรับผู้โดยสายบริเวณป้ายรถเมล์ ก็อาจจะทำให้รถคันที่ตามมาเกิดความล่าช้า และต้องเสียเวลาเพื่อรอกัน ดังนั้น จะเห็นได้บ่อยๆ ว่า รถบัสที่ญี่ปุ่นมักจะแสดงความขอบคุณแก่รถคันที่ขับตามหลังมา ด้วยการกดไฟสามเหลี่ยม ให้กระพริบ 2-3 ครั้ง เพื่อต้องการบอกว่า “ขอบคุณนะที่เธอรอฉัน…” น่ารักละมุนละไมสุดๆ ไปเลย ชมคลิปภาพเคลื่อนไหวได้ที่นี่ค่ะ