ทางเดินผู้พิการทางสายตาตามท้องถนน

สังเกตไหมครับ ทางเดินตามท้องถนนในญี่ปุ่น โดยเฉพาะในเขตตัวเมืองและรอบๆสถานีรถไฟ จะเป็นแถบเหลืองๆ ตามพื้นขนานไปกับฟุตปาธ สิ่งนี้เรียกว่าเดินทางสำหรับผู้พิการทางสายตา’ (Tactile Paving) หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกกันว่า 点字ブロック (Tenji Burokku)

ทางเดินนี้เป็นนวัตกรรมที่ชาวญี่ปุ่นนามว่าเซะอิชิ มิยะเกะ (Seiichi MIYAKE) เป็นผู้คิดค้นขึ้นเป็นแห่งแรกของโลก! เมื่อปี ค.. 1965  โดยแรกเริ่มนั้นได้ทดลองใช้แห่งแรกที่โรงเรียนสอนคนตาบอดแห่งหนึ่ง ที่เมืองโอะกะยะมะ (Okayama) เมื่อเห็นถึงผลลัพธ์ที่ดี ผู้พิการสายตาสามารถคลำหาทางได้จากผิวสัมผัสที่มีความนูนของทางเดินนี้ จากนั้นก็ขยายการใช้งานจากโรงเรียนไปสู่สถานที่สำคัญๆ เช่น สถานีรถไฟ และไปสู่ระดับเมือง ระดับภูมิภาค ก่อนแพร่หลายไปทั่วประเทศญี่ปุ่นดังทุกวันนี้ (รวมถึงหลายๆ ประเทศในโลกด้วย แต่ความครอบคลุมอาจน้อยกว่าญี่ปุ่น)

กำเนิดขึ้นเมื่อ 50 กว่าปีก่อน มาวันนี้ครอบคลุมไปหลายๆ ที่ในประเทศแล้ว 〜

โดยหลักๆ แล้วผิวสัมผัสนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ ได้แก่ แบบแท่ง (ทางเดินยาว)  กับแบบปุ่ม ซึ่งทำหน้าที่ต่างกันคือ แบบแท่ง = ตัวชี้นำทางเดิน สังเกตว่าใน 1 บล็อคจะมีเส้นนูนๆ อยู่ 4 ขีดด้วยกัน เมื่อวางติดๆ กันเป็นทางเดิน ก็สามารถนำทางได้

แบบแท่ง ชี้นำทางเดินไปตามท้องถนน

แถมช่องว่างระหว่างร่องของแบบแท่งนี้ สามารถวางล้อรถเข็นของผู้ใช้ Wheelchair ลงไปได้ด้วยช่วยอำนวยการเข็นสัญจรได้ระดับหนึ่งเลยล่ะ

วางล้อลงไป เข็นได้คล่องขึ้นนะ

ส่วนแบบปุ่ม = เตือนให้หยุด มักอยู่ห่างออกไปประมาณ 30 ซม.จากจุดที่ต้องการให้หยุดเช่นเมื่อเดินมาจะถึงทางม้าลาย

เตือนให้หยุด ห่างประมาณ 30 ซม. ก่อนถึงทางม้าลาย

อีกทั้งยังใช้ได้เมื่อถึงทางเลี้ยวเช่น (ภาพประกอบด้านล่าง) เป็นทางเดินตรงยาว และจู่ๆก็เลี้ยวขวา ก่อนเลี้ยวเราก็ต้องหยุดก่อนจะหันแล้วเลี้ยวยังไงล่ะ

ปุ่มหยุด ก่อนเลี้ยว
เลี้ยวไปเลี้ยวมา สนุกสนาน 〜

เมื่อพูดถึงประโยชน์ของทางเดินนี้ แน่นอนว่ามีไว้นำทางผู้พิการทางสายตาไปตามท้องถนน ให้พวกเขาสามารถออกมาใช้ชีวิตในบ้านเมืองที่ตนอยู่ได้ (จริงๆ ยังมีประโยชน์อำนวยไปถึงผู้อาวุโสที่สายตาเริ่มเสื่อมสภาพแล้วด้วย)

นำทางไปตามบ้านเมือง…ออกไปเดินเล่นกันเถอะ!

นอกจากจะนำทางบนฟุตปาธตามท้องถนนแล้ว ยังพาข้ามทางม้าลายได้ด้วย โดยผิวสัมผัสต่างระดับที่พาข้ามทางม้าลายนี้ เรียกว่า ‘Escort Zone’ คือทางเดินจะพาดผ่านทางม้าลายไปเลย (ส่วนใหญ่จะเป็นสีออกเทาๆ กลมกลืนไปกับถนน)

‘Escort Zone’ ผิวต่างสัมผัสพาข้ามทางม้าลาย
มักมีสีออกเทาๆ กลมกลืนไปกับสีถนน

นำทางเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชน เช่น พาขึ้นลิฟต์ พาเข้าสู่ชานชาลารถไฟ พาไปรอขึ้น ณ ป้ายรถเมล์

พาขึ้นลิฟต์ ป้อนเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชน (ไม่หยุดบังหน้าลิฟต์ด้วยนะ)
รอขึ้นป้ายรถเมล์ ไปเที่ยวกันๆ

จุดหนึ่งที่น่าชื่นชมมากๆ คือตำแหน่งมักถูกออกแบบให้วางอยู่ชิดขอบด้านในของทางเดิน เพื่อความปลอดภัย โดยบางแห่งสามารถเรียงลำดับได้ดังนี้: ทางจักรยาน (บางแห่งอนุญาตให้ขี่บนทางเท้าได้)  ทางคนเดินเท้าปกติ  ผู้พิการทางสายตา (+ผู้ใช้รถเข็นต่างๆ)

ชิดขอบด้านในเพื่อความปลอดภัย (ได้หลบแดดไปในตัว อิอิ)

ส่วนสาเหตุที่เป็นสีเหลืองล่ะ? จริงอยู่ที่ว่าสีอาจไม่มีผลต่อผู้พิการทางสายตา แต่มีผลต่อผู้สูงวัยในญี่ปุ่นซึ่งมีอยู่มหาศาล! คนเราเมื่อแก่ชรา สายตาก็เสื่อมสภาพตามธรรมชาติ สีเหลืองนี้เป็นหนึ่งในสีที่สะดุดตามนุษย์มาก (+ให้ความรู้สึก Soft) และเป็นสีที่ตัดกับสีผิวฟุตปาธ (ซึ่งมักมีสีออกเทาๆ) ได้เตะตาดี แต่ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่พื้นที่เอกชนภายในอาคารสถานที่ต่างๆ เช่น ตึกออฟฟิศ โรงแรม ฯลฯ เพื่อความเหมาะสมของทั้งความสวยงามและการใช้งาน ทางเดินผิวต่างสัมผัสนี้จะถูกเปลี่ยนไปใช้วัสดุสแตนเลสสีเงินแทน (แต่มีอยู่ 4 ขีดเหมือนเดิม)

สะดุดตา เห็นชัดเจนไหม
เปลี่ยนไปใช้สแตนเลสสีเงิน เมื่อเข้าสู่ตัวอาคารต่างๆ

สำหรับคนทั่วไปแล้ว Tactile Paving ทางเดินผู้พิการทางสายตานี้ มีส่วนช่วยในการแต่งแต้มเพิ่มความสวยงามให้แก่สภาพแวดล้อมที่มันพาดผ่าน

องค์ประกอบเล็กๆ อย่าง สีเหลืองพาดผ่าน ก็เพิ่มความสวยลงตัวได้แล้ว

ทุกวันนี้ Tactile Paving มีมาตรฐานเดียวทั่วประเทศญี่ปุ่น และได้สร้างครอบคลุมในระดับหนึ่งแล้วโดยเฉพาะในเขตตัวเมืองรอบๆ สถานีรถไฟ สำหรับผมแล้ว มันคือเครื่องชี้วัดที่จับต้องได้ ว่าสังคม (หรือรัฐบาลญี่ปุ่น พยายามคิดคำนึงถึงผู้คนทุกประเภทพวกเขาให้ความสำคัญกับประชาชนแม้ว่าจะมีความแตกต่างกันทางด้านกายภาพก็ตาม เพราะทุกคนเท่าเทียมกัน!

 

 

 

 

 

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ