Yusei Kato | ก้าวข้ามกำแพงภาษากับภาพยนตร์ไร้บทพูดของยูเซ คาโต้
สารบัญ
- Q: ทำไมถึงเลือกมาทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์
- Q: ทำไมถึงต้องเป็น Silent Manga?
- Q: ความยากง่ายของการทำภาพยนตร์เรื่องนี้
- Q: ในภาพยนตร์เรื่องนี้ผู้เขียนการ์ตูนและผู้กำกับ เป็นคนสัญชาติเดียวกันเลยหรือเปล่า
- Q: ทราบมาว่าได้ทำงานกับผู้กำกับไทยอย่างคุณอุ๋ย-นนทรีย์ นิมิตรบุตร ด้วย เป็นอย่างไรบ้างเล่าให้ฟังหน่อย
- Q: เห็นว่ามีภาพยนตร์สั้นถึง 5 เรื่อง อะไรคือสิ่งที่เชื่อมโยงทุกเรื่องเข้าด้วยกัน
- Q: ผู้ชมจะได้รับอะไรจากหนังเรื่องนี้บ้าง
Yusei Kato
..จากลายเส้นบนกระดาษ สู่ภาพเคลื่อนไหวบนจอภาพยนตร์
จากนักวาดและฝีมือการกำกับของคนไทย สู่ภาพยนตร์ญี่ปุ่น
จากภาพยนตร์มีเสียงสนทนา สู่ภาพยนตร์ไร้บทพูด
กลายเป็นภาพยนตร์ที่เล่าความงามของการสูญเสียได้ประทับใจที่สุด..
Angel Sign คือภาพยนตร์มิวสิคัลไร้บทพูดเรื่องแรกของ คาโต้ ยูเซ (Yusei Kato) โปรดิวเซอร์ที่ฝากผลงานแอนิเมชันและละครเวทีที่โด่งดังอย่างฤทธิ์หมัดดาวเหนือ (Fist of the North Star) และเพลงหมัดฟ้าคำราม (Fist of the Blue Sky)
ในเทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่นประจำปี 2563 (Japanese Film Festival 2020) ครั้งที่ 43 นี้ ภาพยนตร์เรื่อง Angel Sign ได้เป็น 1 ใน 14 เรื่องที่นำมาฉายในให้คนไทยได้ชมกัน โดยเรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับของโฮโจ ซึคาสะ (Tsukasa Hojo) ผู้สร้างการ์ตูนเรื่อง City Hunter และ Cat’s Eye ที่ได้ลองเปลี่ยนจากการจับปากกาวาดการ์ตูนมาทำภาพยนตร์เป็นเรื่องแรก ทั้งยังถ่ายทอดเรื่องราวที่ตนถนัดอย่างเรื่องความรักความผูกพันที่ไม่ว่าใครก็รู้สึกตามได้ไม่ยาก
ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากการตัดต่อร้อยเรียงภาพยนตร์สั้นทั้งหมด 5 เรื่อง และอีก 1 เรื่องที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงทุกเรื่องเข้าด้วยกัน โดยภาพยนตร์สั้นทั้งหมดนำเค้าโครงเรื่องมาจาก Silent Manga Audition โครงการประกวดการ์ตูนไร้บทพูดที่มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมทั้งหมดรวม 6,888 ผลงานจาก 108 ประเทศ คัดเลือกจนได้ผู้ชนะทั้ง 5 ผลงาน ซึ่งมีผลงานของนักวาดไทยนามปากกา Prema-Ja ในการ์ตูนเรื่อง Sky Sky อยู่ด้วย รวมทั้งมีนักวาดจากประเทศบราซิล เวียดนาม และเยอรมนี
ผลงาน Silent Manga ทั้ง 5 เรื่อง ได้แปลงเป็นภาพยนตร์โดยใช้คนแสดงจริง (Live Action) แต่ละเรื่องได้ผู้กำกับทั้ง 5 คนที่เลือกแล้วว่าเหมาะสมที่จะถ่ายทอดเรื่องราวสุดประทับใจนี้ เราตาลุกวาวทันทีเมื่อรู้ว่ามีผลงานผู้กำกับไทยอย่าง คุณอุ๋ย- นนทรีย์ นิมิตรบุตร รวมอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย
เมื่อเรารู้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีแค่ภาพ เสียงเพลง และเสียงบรรยากาศก็เล่นเอาอยากชมตั้งแต่ตอนนั้น ทั้งตื่นเต้นและสงสัยว่าความแปลกใหม่ของเรื่องนี้จะนำเราไปสู่ความรู้สึกแบบไหน แต่ที่ตื่นเต้นมากไปกว่านั้นคือวันนี้เราจะได้พูดคุยอย่างเป็นกันเองกับโปรดิวเซอร์ของเรื่องนี้แบบเอ็กซ์คลูซีฟ ไปทำความรู้จักโปรดิวเซอร์ฝีมือดีคนนี้กัน!
Q: ทำไมถึงเลือกมาทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์
Kato: ตอนแรกผมเป็นโปรดิวเซอร์รายการข่าวมาก่อนครับ แล้วมีโอกาสสัมภาษณ์บริษัทที่ทำเกี่ยวกับแอนิเมชันเลยเกิดความสนใจในกระบวนการ ทำให้ย้ายเข้ามาทำงานอยู่ในบริษัทนี้ เราจับมือกับอีกบริษัท ตกลงกันว่าจะลองทำภาพยนตร์ที่มีเค้าโครงจากการ์ตูนดูกัน บริษัทที่เราทำสัญญาด้วยมีคนที่อยู่ในแวดวงการการ์ตูนและแอนิเมชันหลายคน ไอเดียนี้จึงมีคนสนใจมาก
นอกจากเราจะอยากทำภาพยนตร์แล้ว อีกสาเหตุหนึ่งก็คือตอนนี้ที่ญี่ปุ่นเด็กน้อยลง คนที่วาดการ์ตูนในญี่ปุนก็น้อยลง เราก็อยากหาคนวาดการ์ตูนจากทั่วโลก เลยทำให้เกิดการโปรเจกต์ Silent Manga Audition ขึ้นมา จึงเป็นจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้ครับ
Q: ทำไมถึงต้องเป็น Silent Manga?
Kato: Silent Manga คือการ์ตูนที่ไม่มีบทพูด พอไม่มีบทพูดเราจะได้เห็นถึงความสามารถในการถ่ายทอดความรู้สึกหลายอย่างของผู้เขียนจริงๆ เป็นการวัดฝีมือของผู้เขียนด้วย และพอไม่มีบทพูดไม่ว่าคนประเทศไหนก็ดูได้ ไม่ต้องอาศัยถ้อยคำ ไม่มีกำแพงของการสื่อสาร เราประกาศรับสมัครการประกวดนี้ขึ้นมา ใช้เวลาทั้งหมด 7 ปี ในการรวบรวมผลงาน มีคนส่งเข้ามาจาก 108 ประเทศรวมทั้งหมด 6,888 ผลงานเลยนะครับ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกประหลาดใจมากๆ คือ การ์ตูนแต่ละเรื่องที่ส่งมาจะมีวิธีเขียนแบบญี่ปุ่น และวิธีการเขียนภาพหรือเส้นบางอย่างก็จะคล้ายๆ กับการ์ตูนญี่ปุ่นสมัยก่อนด้วยเลยรู้สึกว่าวัฒนธรรมการ์ตูนของญี่ปุ่นนี่ได้กระจายไปทั่วโลกเลย
เราคัดเลือกผลงานทั้งหมดโดยผู้เชี่ยวชาญในการ์ตูนญี่ปุ่น เลือกออกมาได้ 5 เรื่อง และตั้งใจจะนำมาเล่าให้เชื่อมโยงกัน โดยมีโฮโจ ซึคาสะ ผู้กำกับของเรื่องนี้สร้างบทเริ่มและบทจบให้ รวมทั้งหมดเป็น 6 เรื่อง นอกจากเราอยากทำภาพยนตร์แล้วอีกความตั้งใจหนึ่งคืออยากให้เห็นโอกาสของการ์ตูน นอกจากจะเป็นการ์ตูนที่เราอ่านบนกระดาษ มันยังสามารถมาดัดแปลงให้เป็นภาพยนตร์หรืออื่นๆ ได้ เราอยากบอกคนรุ่นใหม่ว่าการ์ตูนไม่จำเป็นจะต้องอยู่บนกระดาษหรือในแอนิเมชันเสมอไป และเป็นครั้งแรกของบริษัทเราที่นำการ์ตูนมาทำให้เป็นภาพยนตร์แบบ Live Action (ใช้คนแสดงจริง) ก็เป็นความท้าทายของเราเหมือนกันครับ
Q: ความยากง่ายของการทำภาพยนตร์เรื่องนี้
Kato: จริงๆ แล้ว การ์ตูนคือโครงเรื่องที่เป็นภาพของภาพยนตร์ เวลาเราเตรียมงานภาพยนตร์ก็ต้องวาดแบบประมาณนี้ก่อน โดยพื้นฐานมันไม่ได้ไกลห่างกันเท่าไร ซึ่งน่าจะเหมือนการทำภาพยนตร์อื่นๆ ด้วย ว่าเราจะสื่อสารกับคนดูอย่างไร ถ้าตัวกลางที่เราใช้สื่อสารมันเปลี่ยนไป ตรงนี้แหละที่เราอาจจะต้องมีการปรับเพื่อให้สามารถสื่อสารกับคนดูในรูปแบบที่เราต้องการได้ทั้งหมด
Q: ในภาพยนตร์เรื่องนี้ผู้เขียนการ์ตูนและผู้กำกับ เป็นคนสัญชาติเดียวกันเลยหรือเปล่า
Kato: มีทั้งสัญชาติเดียวกันและต่างสัญชาติครับ ในตอนแรกเราก็อยากไปถ่ายภาพยนตร์ในที่ที่ตัวการ์ตูนอยู่จริงๆ แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น เรื่อง Back Home เรื่องที่เกี่ยวกับสงครามเวียดนาม ในแง่ของสังคมเราก็ไม่สามารถไปถ่ายที่ประเทศเวียดนามได้ เราก็เลยคิดว่าถ้าต้องการบรรยากาศหรืออารมณ์ออกมาคล้ายๆ กัน เราจะถ่ายที่ไหนดี? เรื่องนั้นเราก็เลยถ่ายที่ประเทศอินโดนีเซีย แต่ระหว่างที่เราเลือกสถานที่ก็นึกขึ้นมาได้ว่าคอนเซ็ปต์ของภาพยนตร์เรื่องนี้มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่ ก็เลยมีเรื่องหนึ่งที่เป็นการ์ตูนของคนบราซิลแต่ถ่ายที่เมืองไทยและญี่ปุ่น นักแสดงเป็นคนญี่ปุ่น ผสมหลายๆ อย่างเข้าไปด้วยกันได้
Q: ทราบมาว่าได้ทำงานกับผู้กำกับไทยอย่างคุณอุ๋ย-นนทรีย์ นิมิตรบุตร ด้วย เป็นอย่างไรบ้างเล่าให้ฟังหน่อย
Kato: เราเริ่มถ่ายทำภาพยนตร์สั้นเรื่อง Sky Sky จากการ์ตูนฝีมือคนไทยเป็นเรื่องแรก โดยคุณอุ๋ย-นนทรีย์ นิมิตรบุตร เราไม่ได้ติดต่อคุณอุ๋ยโดยตรง แต่เราขอให้บริษัทผลิตภาพยนตร์ในไทยช่วยดูให้หน่อยว่าจะหากจะมีการสร้างภาพยนตร์เนื้อเรื่องประมาณนี้มีผู้กำกับคนไหนสนใจไหม และบังเอิญว่าคุณอุ๋ยเป็นแฟนคลับตัวยงของผู้กำกับโฮโจ ซึคาสะ เขาเลยอยากทำงานนี้มาก เลยเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานของคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กันครับ
Q: เห็นว่ามีภาพยนตร์สั้นถึง 5 เรื่อง อะไรคือสิ่งที่เชื่อมโยงทุกเรื่องเข้าด้วยกัน
Kato: ในเรื่องจะมีผีเสื้อสีน้ำเงิน (Blue Butterfly) ที่เราเห็นในโลโก้ของภาพยนตร์และจะมีเสียงเพลงที่ชื่อว่า Angel Sign ซึ่งทุกครั้งที่ผีเสื้อสีน้ำเงินปรากฎตัวและเพลงนี้ดังขึ้น จะแสดงให้เห็นว่ากำลังเกิดสิ่งมหัศจรรย์บางอย่างกับตัวละครเรื่องนั้นๆ อยู่ เป็นอีกสิ่งที่เชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน อย่างผีเสื้อสีน้ำเงินปรากฏตัวครั้งแรกตอนที่แฟนหนุ่มที่เป็นนักเปียโนเสียชีวิต บางคนเลยคิดว่าเป็นสัญลักษณ์ของวิญญาณของคนนั้น จริงๆ ก็แล้วแต่คนตีความเหมือนกัน ตัวเรื่องก็เป็นเรื่องน่าเศร้าเหมือนกันนะ (หัวเราะ) เรื่องมันอาจจะเศร้านิดนึง แต่จริงๆ เป็นแค่ความบังเอิญไม่ได้ตั้งใจ ผลงานต่อไปอาจจะกลายเป็นคอมเมดี้ก็ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกด้วยเลยเลือกที่จะเล่าถึงความมหัศจรรย์ของความรักความผูกพัน เรื่องที่ทำให้ประทับใจง่ายๆ คนทั่วไปก็น่าจะเข้าถึงง่ายเหมือนกัน
Q: ผู้ชมจะได้รับอะไรจากหนังเรื่องนี้บ้าง
Kato: จริงๆ เราอยากให้ทุกคนเปิดใจให้ผ่อนคลายกับภาพยนตร์เรื่องนี้ เราไม่อยากให้มีกำแพงของอะไรเลย ทุกคนดูอาจจะรู้สึกเหมือนกันหรือต่างกันก็ได้ คอนเซ็ปต์ในเรื่องนี้ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ “คุณเคยสูญเสียสิ่งสำคัญในชีวิตไปหรือเปล่า?” เนื่องจากเรื่องนี้ไม่มีบทพูด เราจะให้ความสนใจกับการแสดงอารมณ์ออกมาทางสีหน้าของนักแสดง ให้ความสนใจกับเสียง ทั้งเสียงเพลงและเสียงสิ่งแวดล้อมต่างๆ มากขึ้นด้วย
ถ้าอยากไปดูเพื่อรับรู้ความรู้สึกอะไรบางอย่างของเรื่องนี้ ก็อยากแนะนำให้ทุกคนไปดูกันครับ ความรู้สึกบางอย่างที่ขาดหายไปอาจจะย้อนกลับมาที่ตัวเราอีกครั้งก็ได้
——————————————————–
หลายคนยกให้ความรักความผูกพันธ์เป็นเรื่องสวยงามในชีวิต แต่บางครั้งความสวยงามก็อยู่บนความสูญเสียที่ไม่มีวันย้อนกลับ แต่ความสวยงามก็คือความสวยงามอยู่วันยันค่ำ
แล้วคุณล่ะ เคยสูญเสียสิ่งสำคัญในชีวิตไปบ้างไหม?
ชมตัวอย่างภาพยนตร์และอ่านการ์ตูนไร้บทพูดทั้ง 5 เรื่องได้ที่นี่
คอหนังชาวไทยที่อยากชมภาพยนตร์เรื่อง Angel Sign สามารถรับชมได้ที่ Japanese Film Festival 2020 เทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น 2563 ซึ่งจัดขึ้นที่
- โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ (6 – 16 ก.พ. 63)
- โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ ซีเนม่า เซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น (21 – 23 ก.พ. 63)
- โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เอ็กซ์ ซีเนม่า เมญ่า ไลฟ์สไตล์ ช็อปปิ้งเซ็นเตอร์ เชียงใหม่ (28 ก.พ. – 1 มี.ค. 63)
- โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เอ็กซ์ ซีเนม่า ศูนย์การค้า เซ็นทรัล ภูเก็ต (6 – 8 มี.ค. 63)