“ร้านขนมแห่งความลับ” หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องขนมวากาชิ ที่ปลอบประโลมผู้คนด้วยรสชาติแห่งความใส่ใจ
“ร้านขนมแห่งความลับ” นิยายขายดีที่เราอ่านจบมานานแล้วแต่ก็หวนกลับไปอ่านซ้ำถึงสองรอบ เพราะรู้สึกว่าเจ้าปริศนาที่มีหน้าตาน่ากินชวนท้องร้องนี้ ไม่สามารถไขความลับจนกระจ่างได้ง่ายๆ น่ะสิ ซึ่งก็เป็นไปตามคำโปรยบนปกชวนอ่านที่ว่า “นิยายสืบสวนที่ไม่มีเลือดสักหยด!” พาเราท่องไปในโลกของวากาชิ (ขนมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม) ที่มีรูปลักษณ์แสนประณีตเคียงคู่ฤดูกาลของญี่ปุ่น หนังสือที่เปรียบได้เป็นพจนานุกรมขนมญี่ปุ่นขนาดย่อมที่อ่านได้อย่างสนุกสนานเหมือนดูซีรีส์ฟีลกู้ดดีๆ สักเรื่อง ซึ่งเราจะขอใช้ภาพประกอบจากฉบับมังงะ และรูปขนมต่างๆ มาประกอบการรีวิว เพื่อให้เพื่อนๆ เห็นภาพมากขึ้น
เรื่องนี้เชื้อเชิญให้เราร่วมสำรวจความลับของวากาชิไปพร้อมกับ อุเมโมโตะ เคียวโกะ (ชื่อเล่น อันจัง) เด็กสาวที่เลือกทำงานพาร์ทไทม์ในร้านวากาชิ “มัตสึยะ” แทนที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ชีวิตการทำงานของอันจังรายล้อมไปด้วยวากาชิแสนอร่อย พร้อมกับสารพัดปริศนาของขนมที่เชื่อมโยงถึงปัญหาของลูกค้าแต่ละคน ทั้งสาวออฟฟิศผู้ต้องการช่วยเหลือบริษัทให้พ้นภัย หรือชายหนุ่มที่รอคนรักกลับไปหา โดยพวกเขาเลือกใช้วากาชิที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าร้อยปี ทำหน้าที่เป็นสารลับสื่อแทนสิ่งที่ไม่อาจเอ่ยเป็นคำพูดได้
ร้านขนมแห่งความลับ ฉบับมังงะ (和菓子のアン)
อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่าเราอ่านเรื่องนี้ซ้ำถึงสองรอบ เนื่องจากในหนังสือมีเชิงอรรถค่อนข้างเยอะ ทั้งชื่อขนมที่มีการเปรียบเปรยรวมถึงรายละเอียดวัฒนธรรมต่างๆ ทำให้เวลาอ่านต้องหยุดสายตาย้อนมามองเชิงอรรถด้านล่างบ่อย แต่สีสันของตัวละครก็ช่วยคงความน่าสนใจของเรื่องไว้อย่างพอดีไม่ล้นเกินไป
หากให้พูดถึงใครสักคนในเรื่องที่ประทับใจก็คงเป็น “ทาจิบานะ” ชายหนุ่มมาดสุขุมผู้รอบรู้เรื่องวากาชิ และพร้อมพ่ายแพ้ให้กับสิ่งน่ารักนุ่มนิ่มบนโลกใบนี้ ตัวละครที่เผยด้านสาวน้อยที่ดูขัดกับภาพลักษณ์อันหล่อเหลาออกมาอย่างแฮปปี้ไม่เขินอาย จนดูเหมือนทั้งเราและอันจังผู้ตามหาตัวตนและความมั่นใจจะได้รับพลังแห่งความสดใสและความกล้ามาโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นใช้ชีวิตอย่างมีความสุขที่จะแสดงออกในสิ่งที่เป็นและรักเถอะ เหมือนทาจิบานะคุงจะบอกกับเราอย่างนั้นแหละ
ฉากอันจังกับทาจิบานะคุงโหมดแสนเนี้ยบจากในมังงะ
ใจความสำคัญของเรื่องยังตอบคำถามในใจเราว่า “ทั้งที่เป็นขนมโบราณแถมราคาสูงทำไมวากาชิยังมีคนกินอยู่ทุกวัน” กล่าวได้ว่าวากาชิมีการแข่งขันที่หนักพอควร เมื่ออยู่ท่ามกลางขนมตะวันตกอย่างเค้กหรือชูครีมซึ่งเป็นของหวานที่นิยมกินกันทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตามวากาชิก็ไม่เคยหายไปจากวงการขนมของญี่ปุ่น
นั่นคงเป็นเพราะชาวญี่ปุ่นไม่เคยตีกรอบขนมโบราณอย่างวากาชิว่าต้องเป็นแบบไหน แม้ภาพจำของวากาชิส่วนมากจะเป็นถั่วแดงหรือรูปลักษณ์ที่ไม่อิงตามเทรนด์ในปัจจุบัน แต่อันที่จริงวากาชิยังมีรสชาติอื่นที่ใช้ผลผลิตตามฤดูกาลที่เชื่อมโยงถึงเทศกาลต่างๆ อาทิ ส้มยูซุ บ๊วย ลูกพลับ อบเชยญี่ปุ่น ฯลฯ ยามกินจึงให้ความรู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของความอุดมสมบูรณ์ที่เต็มไปด้วยความหวานหอมของพืชพรรณ และปัจจุบันยังมีวากาชิสมัยใหม่ที่ผสมผสานเสน่ห์ของขนมญี่ปุ่นและตะวันตกเข้าด้วยกันเกิดขึ้นมากมาย
โปสเตอร์วากาชิประจำฤดูร้อน มีทั้งขนมหวานเย็นอันมิตสึ ไอซ์โมนากะ มิซุโยคัง และไดฟุคุ – ภาพ: www.lancers.jp
ขอยกตัวอย่างฉากน่ารักที่อันจังได้รับของขวัญคริสต์มาสจากทาจิบานะเป็น*โจนามะกาชิ ชื่อ “อินากายะ (田舎家)” แปลว่า กระท่อมน้อยปลายนา โดยปกติอินากายะจะมีรูปทรงเป็นสามเหลี่ยมคล้ายกระท่อมสอดไส้ด้วยถั่วแดงกวน แต่ทาจิบานะเพิ่มกิมมิกด้านบนด้วยลูกกวาดพร้อมกับสอดไส้สตรอว์เบอร์รี่กวนแทนถั่วแดงเพื่อให้เข้ากับคริสต์มาส แถมยังตั้งชื่อใหม่เป็นคันโรยะ (บ้านน้อยอันหอมหวาน) อีกด้วย
*วากาชิชนิดหนึ่ง แต่เป็นขนมที่ทำขึ้นตามฤดูกาลและเพื่อฉลองเทศกาลสำคัญ เรียกขนมกลุ่มนี้ว่าโจนามะกาชิ
หน้าตาของขนมอินากายะ โจนะมากาชิประจำฤดูหนาว – ภาพ: chino-ueda.sub.jp
สุดท้ายนี้เราคิดว่าวากาชิไม่ใช่เพียงขนมที่กินแล้วอร่อย แต่เป็นขนมที่กินแล้วสนุกไปกับความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับสีสันแห่งฤดูและเทศกาล ซึ่งเมื่อรวมเข้ากับกรรมวิธีทำแสนพิถีพิถันและความรู้สึกต่างๆ ของเหล่าคนซื้อที่ต้องการสื่อไปถึงใครสักคน ทำให้วากาชิยังมีรสชาติแสนละมุนที่สามารถปลอบประโลมหัวใจของผู้คนรวมอยู่ด้วย อีกทั้งความคิดสร้างสรรค์บวกความกล้าทดลองผสมสิ่งแปลกใหม่ลงไปในขนมแบบดั้งเดิมซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้วากาชิยังอยู่คู่กับสังคมของญี่ปุ่นได้อย่างทุกวันนี้นั่นเอง