ทำไมถึงควรพาผู้สูงวัยไปเที่ยวญี่ปุ่น?

ก็เพราะว่าเป็นไปได้มากที่สุดแล้ว! เนื่องจากปัญหาใหญ่ที่สุดของคนแก่ในการเดินทางไปไหนมาไหนคือเรื่อง “สุขภาพ” แต่อย่างไรญี่ปุ่นมีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานจัดเต็มปูเสื่อรอให้เราไปเยี่ยมเยือน

แนวโน้มการท่องเที่ยวญี่ปุ่นยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขทำลายสถิติใหม่ทุกปีเป็นว่าเล่น บางคนไปครั้งแรกกับเพื่อนฝูงและติดใจก็อยากพา “ครอบครัว” ไปมีความสุขด้วยกัน แต่ก็กังวลว่า จะสะดวกรึเปล่านะถ้าพาผู้สูงวัยไปเที่ยวด้วยกัน เพราะพ่อแม่ปู่ย่าตายายหลายท่านเดินเหาะเหินไม่คล่องเหมือนเราๆ และสุขภาพที่อาจไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทางไกลเท่าไรนัก 

แต่มาถึงตรงนี้ ผมคงต้องบอกเลยว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เอื้ออำนวยแก่ผู้สูงวัยในระดับต้นๆ ของโลกแล้วครับ เพราะตัวสังคมญี่ปุ่นเองก็เป็น “สังคมผู้สูงวัยเต็มตัว” สภาพบ้านเมืองและ “สิ่งอำนวยความสะดวก” ต่างๆ ถูกคิดคำนึงถึงผู้สูงวัย ผู้ใช้รถเข็น และผู้พิการอย่างรอบคอบ (ในญี่ปุ่นมีผู้ใช้รถเข็นกว่า 2 ล้านคน และผู้พิการกว่า 3.5 ล้านคน) ในตัวอย่างข้างใต้นี้จะนำเสนอเคสที่ชัดเจนหน่อยอย่างการเป็นผู้ใช้รถเข็น ภาพรวมจะมีหน้าตาอย่างไรนั้น ไปดูกันๆ (เปิดให้พวกเค้าดูไปพร้อมๆ กันได้เลย ^^)

 

เครื่องบิน 

สะดวกสบายตั้งแต่ลงจากเครื่อง ผู้ใช้บริการรถเข็นสามารถแจ้งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ที่สนามบินให้คอยบริการกันตั้งแต่แลนดิ้งได้เลย

 

**ลงจากเครื่องบินก็ให้เจ้าหน้าที่มาช่วยได้เลย (หากนั่งรถเข็น)

 

รถไฟ

“ผู้ใช้รถเข็น” เมื่อจะโดยสารรถไฟ ก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยเข็นอำนวยความสะดวกกับเราได้ เจ้าหน้าที่สถานีในญี่ปุ่นจะถูกฝึกให้รับมือกับสถานการณ์นี้ รู้วิธีในการเข็นรถเข็น จุดลิฟต์ขึ้น-ลง (บางสถานีใหญ่โตมาก) ขั้นตอนต่างๆ มีการประสานงานไปยังเจ้าหน้าที่สถานีปลายทางให้มา “รอ” รับ

 

เจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์กำลังรอรับผู้โดยสารที่ใช้รถเข็น

 

แต่หากมากับครอบครัวกันเองและไม่อยากรบกวนเจ้าหน้าที่ ภายในสถานีส่วนใหญ่ก็มี “ลิฟต์” จากชั้นพื้นบนไปยังชั้นขายตั๋วและต่อเนื่องไปยังชั้นชานชาลา เมื่อจะกดซื้อตั๋วโดยสารกับตู้ขายตั๋ว (ถ้าเป็นผู้พิการจ่ายแค่ครึ่งเดียว) ระดับความสูงของตู้ก็อยู่ต่ำในระดับที่ผู้ใช้รถเข็นเอื้อมถึง บางแห่งแม้ไม่ได้เตี้ยมาก แต่ก็เรียกเจ้าหน้าที่มาช่วยได้

 

ลิฟต์ขึ้นลงจากชั้นพื้นดิน-ชั้นขายตั๋ว-ชั้นชานชาลา (แต่ขึ้นแยกลิฟต์กันนะ)
ถ้ายังสูงไป กดซื้อลำบาก เรียกเจ้าหน้าที่มาช่วยได้ตลอด

 

เมื่อจะสอดบัตรผ่านเครื่องตรวจตั๋ว จะมีด้านหนึ่ง(ติดกับห้องเจ้าหน้าที่) ออกแบบเผื่อไว้กว้างขวาง รถเข็นผ่านทางได้เสมอ และ “ช่องว่าง” ระหว่างตัวรถไฟกับผิวชานชาลา ก็แคบในระดับที่เข็นรถเข็นขึ้นรถไฟได้ (แม้จะยังไม่ครบทุกสถานีก็ตาม ปรับปรุงกันอยู่) นอกจากนี้ยังมี “ทางเดินผู้พิการทางสายตา” นำทางเราไปยังจุดต่างๆ ในสถานีอย่างครอบคลุม

 

ช่องที่ติดกับห้องเจ้าหน้าที่กว้างเป็นพิเศษ
ทางเดินผู้พิการทางสายตา (สีเหลือง) ภายในสถานีรถไฟ

 

รถบัส

รถบัสใหม่ๆ ในญี่ปุ่นล้วนเป็นประเภท “Non-Step Bus” หมดแล้ว คือไม่มีขั้นบันไดให้ต้องก้าวขึ้น-ก้าวลง และตัวรถสามารถลดระดับโน้มเอียงมารับ “ผู้ใช้รถเข็น” ได้อย่างง่ายดาย หรือหากยังไม่สะดวก คนขับรถจะออกมารับเราขึ้น โดยการนำแผ่นทางลาดเชื่อมผิวฟุตปาธกับตัวรถเองเลย ภายในรถก็จะมีพื้นที่สำหรับผู้ใช้รถเข็น กว้างๆ ใหญ่ๆ (ปุ่มกดให้รถเมล์หยุดป้าย ก็อยู่ระดับต่ำ เอื้อมถึงได้) แถมคนขับๆ อย่างสุภาพ ไม่ขับเร็ว รอให้ผู้โดยสารนั่งกันครบก่อนถึงค่อยออกตัว

 

ที่นั่งสามารถพับเก็บได้ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้รถเข็น
Priority Seat ก็มีนะ

 

ทางเท้า

ฟุตปาธในญี่ปุ่นถูกออกแบบมาอย่างรอบคอบคำนึงถึงคนเดินเท้า หากผู้สูงวัยนั่งรถเข็นก็ไม่มีปัญหา เพราะนอกจากผิวทางเท้าจะราบเรียบไม่ขรุขระแล้ว จุดตัดทางเชื่อมต่างๆ (เช่น จุดตัดรถเข้า-ออก ตึกอาคาร) ก็ทำเป็นสโลปทางลาด ไม่มีขั้นให้ต้องก้าวขึ้น-ก้าวลง (Stepless) “ทางลาด” ถือเป็นพื้นฐานครอบคลุมทั้งทางม้าลาย ทางเดินเข้าร้านค้า เข้าตึกอาคารต่างๆ (มีทั้งบันได และ ทางลาด)

 

ผิวเรียบ เดินไม่สะดุด ฝนตกน้ำไม่กระเฉาะ
Stepless ไร้ขั้นให้ต้องก้าว
ทางเข้าตึกอาคาร มีทั้งขั้นบันไดและทางลาด
บางแห่งก็ราบเรียบสนิท

 

ห้องน้ำ

“ทำไมคนแก่ปวดฉี่เข้าห้องน้ำบ่อยจัง” (TT) เชื่อว่านี่เป็นคำบ่น(ในใจ) ของเหล่าลูกๆ หลานๆ ที่มักจะถูกเบรคเวลาไปไหนมาไหนในญี่ปุ่นให้ต้องรอผู้ใหญ่เข้าห้องน้ำให้เสร็จสรรพก่อน 555+ แหม ระบบปัสสาวะคนเราก็เสื่อมไปตามอายุอ่ะเนอะ ^^’ แต่ไม่ต้องห่วงไป เพราะที่ญี่ปุ่นมี “ห้องน้ำให้เข้า” เยอะมาก

 

ห้องน้ำในร้านสะดวกซื้อ 7-11

 

หนึ่งในห้องน้ำที่พบเจอได้บ่อยที่สุดเห็นจะเป็นตาม “ร้านสะดวกซื้อ” อย่าง 7-11, Lawson, Family Mart เพราะมีสาขาอยู่เต็มเมือง ร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่น(เกือบทุกสาขา)จะมีห้องน้ำในตัว ลูกค้าร้านสามารถเข้าใช้ได้ อาจจะไม่ใช่ห้องน้ำที่ตกแต่งสวยงามอะไรมากมายนัก แต่ที่สำคัญคือ “สะอาด” หายห่วง (มีตารางเวรดูแลความสะอาด) อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ได้ตั้งใจมาซื้อ (แต่จำเป็นต้องเข้าจริงๆ) ตามมารยาทแล้วเราก็ควรจะ “ซื้อของเล็กๆ น้อยๆ” ติดไม้ติดมือกลับออกมาเสมอ (ก็แหม ห้องน้ำทำมาสำหรับลูกค้าร้านนี่นา)

 

สะอาดสะอ้าน (อย่าลืมซื้อของติดไม้ติดมือกลับหน่อยล่ะ ^^)

 

“เดินๆ ไม่นานก็เหนื่อย อยากหาร้านนั่งพัก” งั้นก้ขอเชิญตามเชนร้านกาแฟ / เชนร้าน fast food อย่าง Doutor, Starbucks, McDonald’s, KFC, Mos Burgers ซึ่งมีสาขาอยู่เต็มเมือง แวะเข้าไปนั่งพักหาอะไรรองท้องได้ แถมในสาขาที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ก็มักจะมีห้องน้ำในตัวเสมอ และบางแห่งนี่บอกเลยว่าห้องน้ำทำออกมาได้หรูหราดีงามเกินหน้าเกินตาไปมาก (อย่างกับห้องน้ำในห้างหรู) เปิดประตูเข้าไป ฝาส้วมเด้งเปิดเอง มีปุ่มกดอัตโนมัติ ก๊อกน้ำเซ็นเซอร์พร้อมสบู่เหลวหอมๆ และที่สำคัญ…สะอาดสะอ้าน

 

ห้องน้ำที่ KFC !! o_O

 

หรือสวนสาธารณะเล็กใหญ่พร้อมม้านั่งที่มีกระจายอยู่ทั่วไปในเมือง ก็สามารถแวะนั่งพักได้ฟรีๆ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

 

สวนสาธารณะกระจายอยู่ทั่วไปในเมือง

 

นอกจากนี้ ตามสถานีรถไฟใหญ่ๆ ก็มักจะมีห้องน้ำให้เข้าด้วยนะ เพียงแต่บางแห่งอาจจะสร้างมานานแล้ว และยังเป็นส้วมประเภท ‘นั่งยองๆ’ อยู่ (บางแห่งปรับปรุงใหม่ ก็เป็นแบบนั่งปกติและสะอาดสะอ้านดี)

 

มาตรฐานห้องน้ำผู้พิการในญี่ปุ่นหน้าตาแบบนี้…พบเห็นได้ทั่วไป

 

ญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพของห้องน้ำ นั่นรวมถึง “ห้องน้ำสำหรับผู้พิการ” ด้วย ที่สะอาด พื้นที่กว้างขวาง อุปกรณ์ครบครัน มาตรฐานสูงมากๆ (น่าจะมากที่สุดในโลกแล้ว) ห้องน้ำผู้พิการจะถูกแยกออกมาต่างหาก ผู้สูงวัยที่อาจต้องให้คนช่วยเหลือก็สามารถเข้าไปด้วยกันได้

 

ซูเปอร์มาร์เก็ต

 

ภาคบริการในญี่ปุ่นเริ่มปรับตัวเพื่อผู้สูงวัยมากขึ้น

 

ตามที่เกริ่นไปแล้วว่าญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงวัยเต็มตัว ธุรกิจหลายแห่งโดยเฉพาะภาคบริการก็มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับผู้บริโภค อย่างซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งของญี่ปุ่น “เพิ่มความใหญ่ของตัวอักษร” ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อที่ผู้สูงวัย(ที่สายตาเริ่มเสื่อม) จะได้มองเห็นได้ง่ายขึ้น เป็นแนวคิดคลาสสิค “เอาใจเขา มาใส่ใจเรา”

 

ยังมีรถเข็นนั่ง wheelchair user และ รถเข็นเด็กเล็ก หน้าทางเข้าด้วยนะ

 

แท็กซี่

ในด้านของวัฒนธรรม ญี่ปุ่นก็เป็นสังคมที่ยึดถือความอาวุโสเคารพผู้สูงวัยเหมือนเรา จึงสามารถคาดหวังการบริการแบบสุภาพนอบน้อมกับพ่อแม่ของเราได้เลย อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ปลอดภัย สถิติอาชญากรรมถือว่าต่ำ เดินไปไหนมาไหนในเวลากลางคืนได้สบายใจ

 

ผู้ใช้รถเข็นไม่ต้องกังวลอีกต่อไป ขึ้นได้สบาย ที่มาภาพ – bit.ly/2HUWXER

 

หากขี้เกียจเดินแล้ว อยากจะโบก Taxi กลับไปพักที่โรงแรม แท็กซี่รุ่นใหม่ของญี่ปุ่นถูกออกแบบมารองรับผู้ใช้รถเข็นโดยเฉพาะ ประตูเป็นแบบสไลด์เปิด-ปิด มีแผ่นทางลาดรับผดส.ที่นั่งรถเข็นขึ้นได้ (หน้าตาคล้ายแท็กซี่ที่ London)

 

เป็นประเทศที่ “สะดวกสบาย” Friendly กับผู้สูงวัยในระดับที่หายห่วง

 

แม้ว่าจะยังมีข้อบกพร่องให้ต้องแก้ไขปรับปรุงอีกไม่น้อย แต่ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานมากมาย ถูกออกแบบถูกคิดมาเพื่อรองรับคนแก่ผู้สูงวัยในระดับที่ดีมากอันดับต้นๆ ของโลกแล้ว ขอให้โชคดี เที่ยวให้สนุกนะครับ ^^

 

TAGS

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ