The Westernization of Japan : รากฐานตะวันตกสู่ความรุ่งโรจน์ของญี่ปุ่นในยุคปัจจุบัน
พลเรือจัตวา Matthew C. Perry แห่งกองทัพสหรัฐยกกองเรือมาขู่บังคับให้ญี่ปุ่นเซ็นสนธิสัญญา(ที่ไม่เป็นธรรม) และบังคับให้เปิดประเทศเมิ่อปี 1853 การมาเยือนครั้งนั้นคือจุดเปลี่ยนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ ที่ทำให้ญี่ปุ่นรู้ซึ้งถึงศักยภาพทางทหารของอเมริกาที่เหนือชั้นกว่ามาก และเริ่มต้นออกค้าขายเปิดโลกกว้างอย่างเป็นทางการ เมื่อมองโลกได้กว้างขึ้น ญี่ปุ่นจึงรู้ว่าตัวเอง ณ ขณะนั้นล้าหลังมากแค่ไหน (โดยเฉพาะกับชาติตะวันตก)
การมาเยือนของ Matthew C. Perry
ยุคนั้นหลายประเทศทั่วโลกตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่ง คนญี่ปุ่นท้องถิ่นโดนเอาเปรียบ ถูกสูบทรัพยากร จนไม่มีทางทำอะไรได้ เพราะเจ้าอาณานิคมเหนือกว่าแทบทุกด้าน(โดยเฉพาะกำลังทหาร) ญี่ปุ่นรู้ดีว่าทางเดียวที่จะอยู่รอดในระยะยาวและอย่างมีศักดิ์ศรีได้นั้น คือการเร่งพัฒนาตัวเองให้เทียบชั้นชาติตะวันตก เกิดคำที่เรียกว่า “Westernization” หรือ “เปลี่ยนให้เป็นตะวันตก” (西洋化-เซโยคะ) ขึ้นมา การถูกปกครองจากโชกุน Tokugawa 200 กว่าปี ทำให้อะไรๆ สงบและเป็นระบบมากขึ้น ส่งผลให้การ Westernization ประสบผลสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว
การศึกษา
การเปลี่ยนตัวเองให้เทียบชั้นชาติตะวันตกจะเปลี่ยนแค่ผิวเผินไม่ได้ ต้องเปลี่ยนมาจากข้างในที่ความรู้ของคน มีหนังสือแปลจำนวนมากถูกแปลมาเป็นภาษาญี่ปุ่นให้คนอ่านเข้าใจ ไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษแต่อีกหลากหลายภาษา อย่ามองข้ามนะครับ เพราะหนังสือแปลเหล่านี้มักมาพร้อม “องค์ความรู้” ที่เป็นรากฐานในเรื่องต่างๆ การได้เข้าถึงแหล่งความรู้นี้ ก็เหมือนได้อัพเกรดตัวเองไปอีกขั้นแล้ว
ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ที่มาภาพ: amazon.co.jp
ระบบการศึกษาญี่ปุ่นเริ่มถูกแบ่งเป็นชั้นประถม มัธยม มหาวิทยาลัย ฯลฯ รวมถึงกลุ่มครูอาจารย์และช่างฝีมือในด้านต่างๆ กว่า 3,000 คนถูกเชิญมาสอนให้ความรู้ในญี่ปุ่น University of Tokyo หรือโทได มหาลัยฯที่ทรงเกียรติและเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่นก่อตั้งเมื่อปี 1877 ก็เป็นอาณิสงค์จากผู้มีส่วนร่วมบุกเบิกการก่อตั้งอย่างนาย Ludwig Riess ซึ่งเป็น 1 ใน 3,000 คนนั้น มหาวิทยาลัยชั้นนำของญี่ปุ่นอื่นๆ ทั้งรัฐและเอกชนล้วนถูกก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลานี้ เช่น Waseda University เมื่อปี 1882, Kyoto University เมื่อปี 1897 สถาบันเหล่านี้ยังได้ว่าจ้างครูอาจารย์ชาวตะวันตกจำนวนไม่น้อย ครูเหล่านั้นมาพร้อมอิทธิพลตะวันตกทั้ง การแต่งกาย, แนวทางการสอน, แนวทางการคิดวิเคราะห์ ฯลฯ
University of Tokyo ที่มาภาพ: u-tokyo.ac.jp
ภายใน Hokkaido University
ชนชั้นนำของญี่ปุ่นเริ่มส่งลูกหลานไปศึกษาที่ยุโรป เด็กเหล่านั้นบางส่วนกลายเป็นแกนนำสำคัญในหน้าประวัติศาตร์ในวงการต่างๆ ของญี่ปุ่นในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้นำทัพเรือยุคใหม่ และผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์
เทคโนโลยี
ญี่ปุ่นก้าวกระโดดอย่างมากในการเรียนรู้เทคโนโลยีจากตะวันตก ก่อนจะพัฒนาต่อเองในภายหลัง เช่น เมื่อปี 1877 หนึ่งปีหลังจาก Alexander Graham Bell ได้คิดค้นโทรศัพท์ มันก็ได้เริ่มถูกใช้งานในญี่ปุ่น (แม้ยังจำกัดแค่รัฐบาลและภาคธุรกิจบางส่วน) ก่อนจะแพร่หลายสู่สาธารณะในปี 1890 ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 รถยนต์ที่ผลิตในญี่ปุ่นเรียกว่าแทบจะเลียนแบบมาจากรถยุโรปและอเมริกัน Mitsubishi Model A นำแบบมาจาก Fiat A3-3 เมิ่อปี 1917 ขณะที่ Toyota AA นำแบบมาจาก Chrysler Airflow ในยุค 1930s ก่อนยุคหลังสงคราม จากนั้นที่ญี่ปุ่นพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น
คุณปู่ Toyota AA ที่มาภาพ: twitter.com/toyota_pr
กองทัพญี่ปุ่นโดยเฉพาะทัพเรือ ถูกเปลี่ยนเป็นตะวันตกแทบทั้งสิ้นตั้งแต่โครงสร้างบริหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ การฝึกสอน วัฒนธรรมพลทหาร ฯลฯ ในยุคแรกเรือรบถูกนำเข้ามาจากอังกฤษ พร้อมวิศวกรถ่ายโอนความรู้ ก่อนจะพัฒนาต่อเรือขึ้นเอง (และเริ่มรุกรานชาติอื่น…แบบที่ชาติมหาอำนาจเคยทำกับตน TT)
หนึ่งในการพัฒนาที่น่าประทับใจมากคือ “รถไฟ” รถจักรไอน้ำแห่งแรกของญี่ปุ่นถูกนำเข้ามาโดยชาวสกอตแลนด์เมื่อปี 1868 นอกจากนี้ ด้วยความช่วยเหลือของชาวอังกฤษและชาวยุโรปอื่นๆ กว่า 300 คน รถไฟแห่งแรกของญี่ปุ่นก็ถือกำเนิดขึ้นเริ่มให้บริการเมื่อปี 1872, รถรางแห่งแรกของญี่ปุ่นเกิดขึ้นที่เกียวโต เมื่อปี 1895, รถไฟใต้ดินแห่งแรกของญี่ปุ่นคือสาย Ginza Line เมื่อปี 1927
รถไฟยุคบุกเบิกหน้าสถานี Shimbashi ที่มาภาพ: compathy.net
ญี่ปุ่นไม่ได้ซื้อมาอย่างเดียว แต่มีการทำข้อตกลงให้ถ่ายทอดองค์ความรู้มาให้ชาวญี่ปุ่นด้วย เพื่อที่จะได้ศึกษาพัฒนาต่อยอดจนพึ่งพาตัวเองได้ในภายหลัง นำมาสู่การเป็นประเทศแรกในโลกที่ให้บริการรถไฟความเร็วสูง (Shinkansen) เมื่อปี 1964
พัฒนาจนมีของตัวเอง
ชีวิตประจำวัน
หากดูภาพถ่ายเก่าๆ การแต่งกายคือสิ่งที่เห็นเด่นชัดมาก ก่อนจบศตวรรษที่ 19 โดยเริ่มจากตัวจักรพรรดิเองในสมัยนั้นเผยโฉมชุดแต่งกายแบบตะวันตกเมื่อปี 1870 ต่อมาเหล่าบรรดานักการเมืองและศาลชั้นสูง เริ่มแต่งกายแบบตะวันตก และออกเป็นกฎระเบียบใหม่สำหรับการแต่งกายขึ้นมาในปี 1872 สำหรับงานพิธีการสำคัญต่างๆ (เป็นเสื้อคลุมยาว) การแต่งกายแบบตะวันตกเริ่มแพร่หลายในประชาชนทั่วไปช่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการติดต่อทางด้านธุรกิจที่ทุกคนมักใส่สูทรองเท้าหนังถือร่มกันแล้ว
การแต่งแบบตะวันตกยุค 1920s (เสื้อผ้าตะวันตก x ร่มญี่ปุ่น) ที่มาภาพ: haizukagakt.com
ด้านวัฒนธรรมอาหารเริ่มจากค่านิยมที่ออกมากินข้าวนอกบ้านมากขึ้น จากเดิมที่มักกินแต่ปลา ก็เริ่มกินเนื้อสเต็ก เมื่อกินอาหารหลักแบบตะวันตกมากขึ้น ก็เริ่มเรียนรู้เครื่องดื่มต่างๆ ที่เป็นของคู่กัน เช่น ไวน์ เบียร์ ค็อกเทล ฯลฯ การผลิตเบียร์เล็กๆ แห่งแรกในญี่ปุ่นเกิดขึ้นในช่วงปี 1870 จากชาวต่างชาติในเมืองโยโกฮาม่า ก่อนที่กระบวนการผลิตนั้นจะถูกผู้ประกอบการญี่ปุ่นซื้อไปและพัฒนากลายมาเป็น Kirin Beer หนึ่งในเบียร์ชั้นนำของญี่ปุ่นในปัจจุบัน
ญี่ปุ่นปัจจุบันขึ้นชื่อในเรื่อง “ส้วม” ที่มีความไฮเทค แต่ส้วมนี้ก็มีรากฐานมาจากส้วมแบบตะวันตก เพราะเดิมสมัยก่อนส้วมญี่ปุ่นคือเป็นส้วมแบบ ‘นั่งยองๆ’ เมื่อยๆ ไม่มีฝารองนั่ง (คล้ายบ้านเราสมัยก่อน)
ศิลปะการตกแต่งแบบตะวันตก ศาสตร์การตกแต่งแบบ Symmetry ที่แพร่หลายในยุโรป ก็รับมาด้วยเช่นกัน ตามร้านอาหารฝรั่งหรู(หรือแม้แต่ญี่ปุ่น) เริ่มมีการนำ Chandelier มาตกแต่งเพิ่มความหรูหรา รวมถึงมารยาทการแต่งตัว มารยาทการรับประทานอาหารต่างๆ
สภาพบ้านเมือง
ตึกอาคารอิฐสูงและตึกที่มีสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกได้เกิดขึ้นทั่วประเทศญี่ปุ่น ทุกวันนี้ตึกเหล่านั้นมันได้ไปประจำอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเมืองต่างๆ จวบจนทุกวันนี้ เช่น สถานีรถไฟ Tokyo Station ที่ได้แบบมาจาก Central Station ที่อัมสเตอร์ดัม, ตึก Former Hokkaido Government Office Building สวยงามกลางเมืองซัปโปโร, ตึกอิฐแดง Yokohama Red Brick Warehouse, ย่าน Motomachi ในฮาโกดาเตะ, ย่าน Kitano ในโกเบ ฯลฯ ตึกเหล่านี้ได้รับการออกแบบจากสถาปนิกชาวตะวันตก มรดกตกทอดนอกจากจะเป็นแรงบันดาลใจในงานดีไซน์แล้ว ยังรวมถึงองค์ความรู้ต่างๆ ที่มากับการก่อสร้างด้วย
ตึก Former Hokkaido Government Office
อาคารสไตล์ฝรั่ง ย่าน Motomachi, Hakodate
Tokyo Station
ตามท้องถนนเริ่มมีการนำเสาไฟฟ้าส่องให้แสงสว่างแก่คนเดิน เสาไฟฟ้าทรง “Victorian” ตามแบบฉบับอังกฤษถูกพบเห็นได้ทั่วไป มีการนำศาสตร์การวางผังเมืองมาใช้ในการวางรากฐานเมือง ซัปโปโร (Supporo) คือตัวอย่างที่ชัดเจน ผังเมืองเป็นตารางหมากรุกทั้งหมดจากความช่วยเหลือของชาวอเมริกัน เริ่มมีการจัดโซนนิ่งแบ่งย่านธุรกิจ ย่านที่อยู่อาศัย ย่านโรงงาน สวนสาธารณะพื้นที่สีเขียวในเมือง ฯลฯ มีการก่อสร้างโครงข่ายถนนหนทางสำหรับรถยนต์และรถรางแทนที่รถม้า
โคมไฟข้างถนนสไตล์วิกตอเรียน
ผังเมืองซัปโปโรเป็นตารางหมากรุกทั้งเมือง
มีการเปลี่ยนแปลงตามแบบตะวันตกอีกมากมายที่สอดแทรกอยู่ในทุกอณูของการใช้ชีวิต หากถามคนญี่ปุ่นเมื่อมองย้อนกลับไปอดีตที่มีต่อการมาเยือนของ Matthew C. Perry บ้างก็ไม่ชอบเพราะทำให้ญี่ป่นอับอายตกเป็นเบี้ยล่าง บ้างก็เห็นดีแล้วที่ให้ญี่ปุ่นเปิดการค้าเสรีกับนานาชาติ หลากความเชื่อหลายความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม Westernization คือความจริงที่ปรากฎ และเป็นรากฐานการพัฒนาในยุคนั้นที่นำพาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ญี่ปุ่นจนกลายเป็นประเทศชั้นนำของโลกดังเช่นปัจจุบัน