ฉันรู้จัก Yayoi Museum และ Takehisa Yumeji Museum ซึ่งตั้งอยู่ในละแวกมหาวิทยาลัยโตเกียวจากการอ่านเว็บไซต์ Tokyo Art Beat เมื่อราวสิบปีก่อน ตอนเรียนภาษาอยู่ที่โตเกียว 

พิพิธภัณฑ์ขนาดกะทัดรัดทั้งสองแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน (สองตึกเชื่อมกัน) โดย Yayoi Museum จัดแสดงผลงานภาพประกอบและการ์ตูนจากปลายสมัยเมจิถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และนิทรรศการถาวรของทาคาบาตะเกะ คะโช (Kasho Takabatake) ส่วน Takehisa Yumeji Museum จัดแสดงผลงานของทาเคฮิสะ ยูเมจิโดยเฉพาะ  หลังจากนั้นฉันก็ติดตามดูผลงานของทาเคฮิสะ ยูเมจิเรื่อยมา นอกจากนี้งานของเขาก็ยังทำให้ฉันเริ่มสนใจเรื่องราวของหญิงสาวญี่ปุ่นและศิลปินคนอื่นในยุคที่ฉันยังไม่เกิดอีกด้วย

 

ผลงานศิลปะของ Takehisa Yumeji

 

ทาเคฮิสะ ยูเมจิ (ชื่อจริงคือ ทาเคฮิสะ โมจิโร, ค.ศ. 1884-1934) เป็นจิตรกร นักออกแบบ นักวาดภาพประกอบ และกวีที่มีชื่อเสียงในสมัยไทโช (ค.ศ. 1912-1926) ผลงานของเขากลายเป็นตัวแทนของแนวคิดและปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่เรียกว่า “ไทโช-โรมัน” หรือการผสมผสานความเป็นญี่ปุ่นกับตะวันตกเข้าด้วยกัน ผลงานที่โดดเด่นของเขามีหลากหลายประเภท เช่น รูปภาพแสดงอิริยาบถและกิจกรรมต่างๆ ของหญิงสาว นิทานภาพสำหรับเด็ก ไม่ก็การออกแบบตัวอักษร ปกหนังสือ และโปสเตอร์

 

ทาเคฮิสะ ยูเมจิ

 

จุดเด่นในผลงานของทาเคฮิสะ ยูเมจิ ที่ทำให้ฉันหลงใหลคือการเลือกใช้คู่สี การออกแบบตัวอักษรและแพทเทิร์น รวมทั้งการจัดองค์ประกอบของภาพที่ให้ความรู้สึกบาลานซ์ลงตัว ดูแล้วสบายใจ อย่างปกหนังสือหรือโปสเตอร์ที่เขาออกแบบไว้ตั้งแต่เมื่อหนึ่งร้อยปีก่อนนี่เรียกได้ว่ายังดู “คาวาอี้” อยู่เลย เขาจึงกลายเป็น “เซนเซ” (อาจารย์) กราฟิกดีไซเนอร์ญี่ปุ่นที่ฉันนับถือและสนใจที่จะย้อนไปดูงานน่ารักๆ (แบบเรโทร) ของเขาอยู่เสมอ

ที่บอกว่ายัง “น่ารัก” เนี่ย บางคนอาจจะมองว่าเป็นความเชยหรือล้าสมัยไปแล้ว แต่สำหรับฉันถึงจะเป็นดีไซน์จากยุคก่อนโน้นแต่ก็ยังรู้สึกได้ถึงความน่ารักที่ทำให้หลงใหลอยู่ (หมายถึงอยากได้ผลงานของเขามาครอบครอง) และมันก็คงไม่ใช่สิ่งที่ฉันคิดไปเองคนเดียวหรอก ดูเหมือนเขาจะยังมีแฟนๆ รุ่นใหม่ๆ ชื่นชมผลงานอยู่เสมอ 

ยิ่งพอได้อ่านหนังสือที่ได้มาจาก Takehisa Yumeji Museum แล้วก็ยิ่งประทับใจ เรื่องมีอยู่ว่าในปี ค.ศ. 1914 ทาเคฮิสะ ยูเมจิ วัย 30 เปิดร้านขายของกระจุกกระจิกที่ออกแบบลวดลายบนสินค้าต่างๆ เช่น กระดาษญี่ปุ่น ซองจดหมาย โอบิ (แถบคาดเอวของชุดกิโมโน) ฯลฯ ร้านของเขาอยู่ในย่านนิฮอนบาชิ (Nihonbashi) และในใบปลิวโฆษณาร้านของเขาก็ได้ใช้คำว่า “คาวาอี้” (Kawaii) ที่หมายถึงความ “น่ารัก” สำหรับการโปรโมตสินค้าภายในร้าน ซึ่งสาวน้อยสาวใหญ่ที่ชอบของกุ๊กกิ๊กต่างก็พากันลงความเห็นว่ามันน่ารักสุดๆ เขาก็เลยได้คำชื่นชมว่าเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานได้ “คาวาอี้” มาตั้งแต่ยุคนั้น

 

ผลงานการออกแบบของทาเคฮิสะ ยูเมจิ (Takehisa Yumeji)

 

หลังจากการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโตปี ค.ศ. 1923 เมืองโตเกียวเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายเพื่อจะให้ผู้คนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสะดวกสบายและเพลิดเพลินเจริญใจมากขึ้น ในช่วงนั้นจึงมีเซมบิกิยะ (ร้านนำเข้าผลไม้เกรดพรีเมียม) คาเฟ่ ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์เพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เองทำให้ทาเคฮิสะ ยูเมจิ รับงานออกแบบประชาสัมพันธ์สถานประกอบการต่างๆ เหล่านี้ เรียกได้ว่าเขาเป็นกราฟิกดีไซเนอร์แบบแมนนวลในยุคที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์นั่นเอง 

ทาเคฮิสะ ยูเมจิ ชื่นชอบศิลปะแบบอาร์ตเดโค เขาจึงรับอิทธิพลนั้นมาใช้ในงานออกแบบ โดยใช้รูปทรงเรขาคณิตง่ายๆ เลือกใช้ไม่กี่สีที่เป็นสีตรงข้ามกัน (สีตัดกัน) การใช้พู่กันวาดและระบายสีทำให้แพทเทิร์นที่เขาดีไซน์มีความนุ่มนวลอ่อนโยน ผลงานของเขาจึงเป็นได้ทั้งงานศิลปะและงานโฆษณาที่สามารถเข้าถึงคนทั่วไปได้ไม่ยาก (ฉันชอบคอลเลคชั่นปกหนังสือโน้ตดนตรีของ Senow Gakfu ที่เป็นแพทเทิร์นมากๆ ดูโมเดิร์นไม่ตกยุคเลย) และในผลงานน่ารักอื่นๆ ของเขาก็มักจะมีโมทีฟมาจากทั้งต้นไม้ใบหญ้าและสัตว์ชนิดต่างๆ เช่น ดอกสึบากิสีแดง ดอกกุหลาบ เห็ด (ที่มีหมวกเห็ดเป็นสีแดงและมีสปอร์สีขาว) เชอร์รี่ ลูกนก กระต่าย ฯลฯ

 

 

นอกจากนี้ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือภาพหญิงสาวของทาเคฮิสะ ยูเมจิ ด้วยความหลงใหลในชุดกิโมโน ทำให้เขาวาดภาพหญิงสาวสวมใส่กิโมโนออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความงามแบบญี่ปุ่นที่มีเอกลักษณ์ (เรียกว่า “บิจินกะ”) ขณะเดียวกันภาพหญิงสาวที่สวมใส่เสื้อผ้าสไตล์ตะวันตกก็มีอยู่ไม่น้อย โดยเขาได้ต้นแบบมาจากนิตยสารของเยอรมันและฝรั่งเศส (ผู้หญิงชนชั้นสูงญี่ปุ่นเริ่มแต่งกายด้วยชุดตะวันตกตั้งแต่ปลายสมัยเมจิ ส่วนผู้หญิงทั่วๆ ไปสวมใส่กันอย่างแพร่หลายหลังจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโต) เช่น หญิงสาวที่ตัดผมบ๊อบสั้น สวมหมวก ใส่ชุดตะวันตก และแต่งหน้าเข้มๆ (ช่วงปลายสมัยไทโชถึงโชวะตอนต้นเรียกหญิงสาวในลุคนี้กันว่า “โมเดิร์นเกิร์ล” หรือ “โมกะ”) ก็ปรากฏอยู่ในภาพวาดของเขา และไม่เพียงแต่เสื้อผ้าเท่านั้น เครื่องประดับเล็กๆ น้อยๆ ของสาวๆ ที่เขาไม่เคยลืมนึกถึงรายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ก็ทำให้ทาเคฮิสะ ยูเมจิ ได้รับการชื่นชมในแง่การเป็นศิลปินที่เป็นผู้นำด้านแฟชั่นอีกด้วย

 

Takehisa Yumeji Museum

 

ฉันมองว่าการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ อย่างอิทธิพลตะวันตกมาผสมผสานกับความเป็นญี่ปุ่นนั้นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผลงานของทาเคฮิสะ ยูเมจิ มีลักษณะเฉพาะตัว และภาพของเขาที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวของยุคสมัยนั้น ทำให้เมื่อฉันเปิดดูทีไรก็ชวนให้จินตนาการถึงวันวาน ขณะเดียวกันก็สัมผัสได้ถึงความหัวก้าวหน้าและทันสมัยในตัวตนของเขาด้วยเช่นกัน 

Website : www.yayoi-yumeji-museum.jp

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ