MUJI อยู่ที่ใจ
ฉันสนใจเรื่องการออกแบบและตกแต่งบ้านมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมต้น จนในที่สุดก็เลือกเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบตกแต่งภายในในระดับมหาวิทยาลัย การสร้างบรรยากาศภายในบ้าน
หรือที่อยู่อาศัยนั้นอยู่ในความสนใจของฉันเสมอ ตอนเด็กฉันมีความสุขกับการจัดสรรพื้นที่เล็กๆ อย่างโต๊ะอ่านหนังสือ ชั้นหนังสือ เลยไปถึงการเลือกจานชามอย่างตั้งอกตั้งใจมาสร้างบรรยากาศในวันที่ครอบครัวมีมื้อพิเศษ ในวัยเด็กเราไม่รู้จัก “การซื้อ” กิจกรรมจัดบ้านตกแต่งบ้านจึงเป็นการเลือกจากสิ่งที่มีอยู่ในบ้านเท่านั้น เด็กคนอื่นชอบเล่นอะไรไม่รู้ แต่ฉันชอบเล่นแต่งบ้านและเล่นสร้างบรรยากาศ เป็นการเล่นอย่างอิสระปราศจากค่านิยมหรือเทรนด์อย่างสิ้นเชิง
ในวัยที่รู้สึกว่าโลกนี้ช่างกว้างใหญ่และมีความสวยงามมากมายหลากหลายรอให้เราค้นพบและเรียนรู้ ฉันเลือกที่จะเปิดหูเปิดตาและรับเอาแนวคิดความงามที่แตกต่างมากมายมาไว้กับตัวให้มากที่สุด เมื่อเรียนจบและได้ทำงานกับนิตยสารเกี่ยวกับการออกแบบตกแต่งบ้าน โลกการออกแบบก็ยิ่งแผ่ขยายออกไปราวกับไม่รู้จบ และที่นั่นเอง ย้อนกลับไปราว 20 ปีก่อนฉันได้รู้จัก MUJI (มูจิ) เป็นครั้งแรกจากผลิตภัณฑ์เรียบง่ายชิ้นหนึ่ง และจากการหาข้อมูลอย่างลึกซึ้งเมื่อได้รับมอบหมายให้เขียนบทความเรื่องมูจิลงในนิตยสาร หลังจากนั้นไม่นานฉันมีโอกาสไปที่ร้านมูจิสาขาสิงคโปร์ และสาขาลอนดอนที่ประเทศอังกฤษได้สัมผัสประสบการณ์การจ่ายเงินซื้อ “ของดีไม่ต้องมียี่ห้อ” ด้วยตัวเอง (ขณะนั้นยังไม่มีสาขาในประเทศไทย)ความรู้สึกจากการเข้าร้านมูจิครั้งแรกในวันนั้นคือแทนที่จะกระตุ้นให้ลูกค้าอยากซื้อทุกอย่างเพราะ “ไม่เคยเห็น” “ไม่เคยมี” มูจิกลับตั้งคำถามกับเราว่า “คุณจำเป็นต้องใช้ของชิ้นนี้หรือไม่” และ “สินค้านี้จะทำให้คุณมีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร” โดยไม่รู้ตัว แนวคิดแบบ “สวนทาง” ของมูจิได้เบี่ยงเบนค่านิยมในการมองและให้คุณค่างานออกแบบในทัศนะของฉันอย่างค่อยเป็นค่อยไปและถาวร
ทุกวันนี้เมื่อเอ่ยชื่อ มูจิ คงไม่มีใครไม่รู้จักแนวคิด“ของดีไม่ต้องมียี่ห้อ” หรือไม่มีแบรนด์ กลายเป็นแบรนด์ที่แข็งแรง สำหรับฉันการเข้าร้าน มูจิ ไม่ใช่แค่การเดินซื้อของ แต่เป็นการเรียนรู้วิถีชีวิตแบบมูจิที่แฝงอยู่ในผลิตภัณฑ์ ที่มาของวัตถุดิบ แนวคิดการ-ออกแบบ ไปจนถึงการจัดเรียงสินค้าบนชั้น และที่สำคัญที่สุดคือการสร้างบรรยากาศแบบมูจิ ทางร้านไม่สื่อด้วยคำพูดแต่ใช้องค์ประกอบทุกอย่างสื่อให้เรารู้สึกทุกครั้งที่ฉันเดินเข้าร้าน ค่อยๆ เดินดูสินค้าไปตามชั้นและแผนกต่างๆ ฉันมักรู้สึกถึงสิ่งที่เรียกว่า “ชีวิตที่ดี”
ที่มา: www.mujionline
ชีวิตที่ดีคืออะไร… ฉันในวัย 43 ซึ่งคลุกคลีกับงานออกแบบบ้านมามากมายตลอดชีวิตการทำงานทว่าหมดความสนใจกับงานออกแบบหวือหวาวูบวาบ หมางเมินกับเทรนด์งานดีไซน์ของโลก และไม่แคร์กับงานออกแบบที่ทำขึ้นเพื่อเรียกร้องความสนใจ ชีวิตที่ดีของฉันวันนี้จึงหมายถึงความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย บ้านที่สะอาด มีพื้นที่และสิ่งของเท่าที่ต้องการใช้งาน ชีวิตที่สามารถมีความสุขกับวันธรรมดาๆ ดำรงชีวิตปกติซ้ำๆ ได้โดยไม่รู้สึกเบื่อหน่าย และเห็นคุณค่าของข้าวของเครื่องใช้เดิมๆ โดยไม่ต้องการสิ่งใหม่ทดแทนหากไม่จำเป็น มูจิเปลี่ยนให้ฉันมีค่านิยมแบบนี้ไปเสียแล้ว เสื้อตัวแรกที่ซื้อเมื่อ 10 ปีก่อนยังใช้งานได้ดี รองเท้าหากไม่ขาดหรือซ่อมไม่ได้ฉันก็ไม่คิดจะทิ้งเพราะใช้งานได้ดีไม่มีล้าสมัย อุปกรณ์ในครัวที่ทำจากสเตนเลส แม้ราคาสูงแต่ไม่เคยขึ้นสนิม อย่างไรก็ตามฉันไม่ได้ซื้อสินค้าทุกชนิดของมูจิ แต่เลือกเฉพาะที่คิดว่าคุ้มค่าและตรงกับความต้องการใช้งานจริงๆ เท่านั้น
ก่อนที่โรคระบาดโควิด-19 จะมาเยือนแล้วทำให้แทบทุกคนต้องหยุดงานอยู่บ้าน ฉันเริ่มหมุกมุ่นกับช่องยูทูปที่นำเสนอภาพการทำงานบ้าน จัดบ้านของผู้หญิงคนหนึ่ง (เล่าไว้ในบทความก่อน) เมื่อการงานมีเหตุให้หยุดชะงักไป ฉันซึ่งปกติทำงานที่บ้าน มีเวลาอยู่บ้านมากอยู่แล้ว ยิ่งมีเวลาว่างในบ้านมากขึ้นอีก จึงคิดจัดบ้านใหม่ให้โล่งขึ้น สบายตาขึ้น จัดระเบียบข้าวของให้ถูกที่ถูกทาง รวมๆ คือเพื่อให้ทุกพื้นที่ในบ้านถูกใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง ระหว่างการนึกฝันอยากให้บ้านเป็นระเบียบน่ามอง ใจก็คิดถึงภาพร้านมูจิและอุปกรณ์จัดระเบียบต่างๆ เผลอคิดว่าถ้ามีอุปกรณ์สวยๆ จากมูจิมาช่วยจัดระเบียบบ้านก็คงดี แต่เมื่อย้อนคิดดูดีๆ จึงพบว่า แม้มีอุปกรณ์จัดระเบียบหรือของใช้ดีๆ จากมูจิในบ้านแล้วหลายชิ้นแต่บ้านของเราก็ยังห่างไกลจากบรรยากาศ “ชีวิตที่ดี” แบบมูจิอยู่ดี ฉันตั้งสติแล้วเริ่มต้นใหม่ เลือกที่จะยังไม่ซื้อแล้วลงมือ
ผ้าขนหนูผืนเก่านำมาตัดให้ขนาดพอเหมาะแล้วเย็บริมได้เป็นผ้าเช็ดในครัวผืนใหม่สะอาดน่าใช้จัดระเบียบภายในลิ้นชักเก็บของโดยแยกประเภทให้ชัดเจนเพื่อให้ข้าวของไม่กระจัดกระจาย หาง่ายและหยิบใช้สะดวก จัดการซอกมุมที่เคยเข้าถึงยากให้ทุกจุดในบ้านได้รับการทำความสะอาดเช็ดถูโดยสะดวกซ่อมแซมพื้นไม้ผนังไม้ภายนอกบ้าน เพิ่มกิจวัตรในการเช็ดพื้นผนังบริเวณอาบน้ำให้แห้งทุกครั้งหลังใช้งานเพื่อลดการเกิดคราบตะกรันน้ำที่ขัดออกยาก เคลียร์และจัดระเบียบตู้เย็นใหม่โดยใช้กล่องพลาสติกที่มีอยู่แล้วจัดเก็บอาหารแยกประเภท ฯลฯ เหล่านี้คือตัวอย่างของสิ่งที่ฉันทำเพื่อจัดระเบียบบ้านใหม่ เมื่อลงมือทำจริงจึงพบความสนุกจากการใช้ของเท่าที่มีในบ้านอย่างที่เคยเล่นสนุกในวัยเด็ก การจัดระเบียบบ้านครั้งล่าสุดนี้ ทำให้บ้านดูสบายตาขึ้นมาก ความโล่งช่วยให้ทำความสะอาดได้ง่ายและบ่อยขึ้น ฉันรู้สึกได้ถึงความรู้สึกสงบนิ่ง เมื่ออยู่ในบ้านที่เป็นระเบียบที่สำคัญฉันมีความสุขกับการทำความสะอาดบ้านซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย ดูแลบ้านให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง
หยุดยาวอยู่บ้านคราวนี้ฉันได้ค้นพบว่าสุดท้ายแล้ว มูจินั้นอยู่ที่ใจ หากเราเข้าถึงแนวคิดและปรัชญาที่แท้จริงแบบมูจิได้แล้ว เราก็สามารถจะมี “ชีวิตที่ดี” แบบมูจิได้ ไม่ว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ จะมีสินค้าของมูจิหรือไม่ก็ตาม