KAMONCHANOK PANUWED | May&Clay Ceramics Studio
สารบัญ
- Q. เสน่ห์ของงานเซรามิก
- Q. ทำไมถึงเลือกทำธุรกิจงานเซรามิก
- Q. สไตล์งานปั้นละ
- Q. คอนเซปต์งานปั้นที่อยากสื่อให้ผู้รับได้รู้
- Q. ผลงานที่ชื่นชอบ
- Q. มีความมั่นใจอะไรที่คิดว่าธุรกิจนี้สามารถไปต่อได้
- Q. กรอบที่ว่าคืออะไร
- Q. ไปฝึกงานที่ญี่ปุ่นได้ยังไง
- Q. ไปฝึกงานที่เมืองไหน
- Q. ได้อะไรจากการไปฝึกงานที่อะริตะบ้าง
- Q. คิดว่างานศิลปะของญี่ปุ่นกับไทยต่างกันมั้ย
- Q. แล้ววงการศิลปะประเภทเซรามิกของญี่ปุ่นล่ะ
- Q. ตอนนี้แบรนด์ May&Clay Ceramics Studio ทำอะไรบ้าง
- Q. สไตล์งานเริ่มตอบโจทย์ลูกค้าและการใช้งานมากขึ้นหรือ
- Q. จุดร่วมของสองงานนี้คืออะไร
- Q. ศิลปินญี่ปุ่นที่ชื่นชอบ
- Q. คิดอย่างไรต่อความคิดเห็นที่ว่า งานไทยชอบเลียนแบบงานเทศ
- Q. เมื่องานศิลปะและการตลาดต้องมาอยู่ด้วยกัน
- Q. อนาคตของ May&Clay Ceramics Studio
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบงานเซรามิก คุณอาจจะคุ้นตากับคาแร็กเตอร์เด็กผู้หญิงผมสั้นน่ารักๆ บนงานปั้น…ที่บางทีก็เอาไว้ประดับบ้านสวยๆ บางทีก็เอาไปใช้งานเพิ่มความคิ้วท์ให้ลอยฟุ้ง หรือบางทีก็…ไม่รู้แหละ ซื้อไว้ก่อน เพราะมันน่ารักเกินห้ามใจ
เรากำลังพูดถึงงานเซรามิกของ May&Clay Ceramics Studio แบรนด์เซรามิกสุดน่ารักที่ก่อตั้งโดยเมย์-กมลชนก ภาณุเวศย์ จากความชื่นชอบในงานปั้นสมัยเรียนอยู่ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สู่การทำธุรกิจเล็กๆ ที่เธอได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “งานศิลปะ” กับ “การตลาด” อยู่ร่วมกันได้ โดยให้เหตุผลว่า “เมย์มองว่าถ้าเป็นที่ไทย การที่เราจะเป็นศิลปินงานศิลปะประเภทเซรามิกเต็มตัว ถ้าเทียบกับต่างประเทศมันยังยากอยู่ เมย์ก็เลยแยกงานออกเป็นสองทาง คือทางที่เป็นศิลปะ และทางที่นำผลิตภัณฑ์ไปใช้งานได้จริง แต่ว่าทั้งสองทางก็จะมีความเป็นเราอยู่”
อ้อ คุณอาจจะไม่รู้ว่า…ขั้นตอนการปั้น ร่าง วาด ลงสี และเคลือบ เมย์ลงมือทำเองทั้งหมด เพราะฉะนั้นชิ้นงานแต่ละชิ้นจะเป็นลิมิเต็ดเอดิชั่นทุกชิ้นนะ
Q. เสน่ห์ของงานเซรามิก
ความยากค่ะ หมายถึงทุกขั้นตอนในการผลิต เพราะทุกวันนี้เราก็รู้สึกว่ายังยากอยู่ มันไม่ตายตัว เพราะถ้าพลาดไปแล้วมันก็คือพลาดไปเลย บางสิ่งมันก็อยู่เหนือการควบคุมของเรา แล้วบางทีความบังเอิญมันก็ทำให้เกิดสิ่งสวยงาม มันไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ค่ะ มันจะมีสักสิบเปอร์เซ็นต์ที่อาจจะเกิดอะไรที่เราแพลนไม่ได้ไว้
Q. ทำไมถึงเลือกทำธุรกิจงานเซรามิก
เมย์เรียนจบจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะสถาปัตย์ สาขาออกแบบอุตสาหกรรม เลือกเรียนเซรามิกตั้งแต่ปีสอง เพิ่งเริ่มมาชอบตอนปีหนึ่ง เพราะเราต้องเรียนพื้นฐานก่อน เพื่อให้รู้ว่าเราชอบอะไร จะได้เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบ เพิ่งมาสังเกตตัวเองคือตัดตัวเลือกไปเรื่อยๆ ว่าเราไม่ชอบทำเฟอร์นิเจอร์ ไม่ชอบทำคอมพิวเตอร์ แต่พอได้ทำเซรามิก เรากลับทำได้ทั้งวัน อยู่กับมันได้ทั้งวันเลย
Q. สไตล์งานปั้นละ
เป็นงานแนวคาแร็กเตอร์ ซึ่งเป็นคาแร็กเตอร์ที่มาจากตัวเอง เน้นผู้หญิงเป็นหลักค่ะ
Q. คอนเซปต์งานปั้นที่อยากสื่อให้ผู้รับได้รู้
อยากให้คนมองงานของเราแล้วมีความสุขค่ะ ถ่ายทอดความสุขของเราผ่านผลงาน ทุกชิ้นเราตั้งใจทำ อยากให้คนเห็นแล้วจดจำเราได้ด้วยเวลาที่งานเราไปอยู่ในบ้านเขาค่ะ
Q. ผลงานที่ชื่นชอบ
น่าจะเป็นงานชิ้นแรก เพราะเป็นงานที่มีความเป็นตัวเราอย่างแท้จริง ตอนที่ทำงานชิ้นนี้เป็นช่วงที่เราค้นหาตัวเองแล้วก็ยังติดอยู่ในกรอบของตอนที่เราเรียนมา เพราะตอนที่เรียน ไม่ได้ทำงานแบบนี้เลย ทำงานแนวขึ้นรูปด้วยปั้นหมุนคล้ายๆถ้วยชาญี่ปุ่น เมย์ไปฝึกงานที่ดอยดินแดงของอาจารย์สมลักษณ์ ปัญติบุล จะเป็นงานแนวญี่ปุ่น เลยยังไม่ชัดเจนซึ่งงานชิ้นนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เราเริ่มชัดเจน ทำตอนที่ไปทำงานกับพี่ติ้ว จึงเป็นคาแร็กเตอร์ของเราที่พูดถึงเรื่องราววัยเด็กของเมย์และน้องสาวค่ะ
Q. มีความมั่นใจอะไรที่คิดว่าธุรกิจนี้สามารถไปต่อได้
จริงๆ ความมั่นใจของเราสะสมมาเรื่อยๆ ตอนเรียนมีสมมติฐานว่า เราไม่ชอบทำงานอุตสาหกรรม ไม่ชอบงานที่มันออกมาเป๊ะๆ เป็นบล็อกๆ ออกมาเยอะๆ เพราะบางทีงานเราถึงมันจะเบี้ยว แต่มันก็ออกมาสวยงาม ก็อยากเอามาขาย แต่ด้วยกรอบสมัยเรียน อาจารย์เขาจะฝึกให้เรามีความประณีตและตั้งใจในงาน ก็เลยเกิดข้อสงสัยว่า ถ้าเราทำงานในแบบของตัวเอง มันจะเป็นไปได้มั้ย พอเรียนจบก็ไปทำงานกับพี่ติ้ว-วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ประมาณเกือบปี ตอนไปทำงานกับพี่ติ้วก็เหมือนเป็นช่วงจุดเปลี่ยน ที่เราได้ทลายกรอบของตัวเอง
Q. กรอบที่ว่าคืออะไร
กรอบที่ว่าเราจะทำแบบนั้นได้มั้ย ถ้ามันไม่เนี้ยบจะทำยังไง แต่พี่ติ้วเขาก็จะบอกว่า อยากทำอะไรก็ทำมาเลย สเกตช์มาเลย แล้วเขาก็ให้โอกาสเราในฐานะนักออกแบบของโรงงาน จะแสดงงานส่วนตัวของเราเองก็ได้ นั่นคือจุดเปลี่ยนและทำให้เราสะสมความมั่นใจ มีคนเริ่มสนใจและยอมรับผลงานของเรา ตรงนี้ยิ่งทำให้เพิ่มพูนความมั่นใจมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเราได้ไปฝึกงานที่ญี่ปุ่น เราก็ถืองานจริงของตัวเองไปให้เขาดูที่นั่นด้วย เพื่อเราจะได้รู้ว่าว่าเมื่อเขาเห็นงานเราแล้ว เขารู้สึกอย่างไร
Q. ไปฝึกงานที่ญี่ปุ่นได้ยังไง
เมย์ได้ทุนจากมูลนิธิ A&H Fujimoto Foundation ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยค่ะ แล้วก็ติดต่อกันมาเรื่อยๆ ส่งข่าวให้เจ้าของมูลนิธิอยู่เรื่อยๆ ว่าตอนนี้เราทำอะไรอยู่ อยู่ที่ไหน ช่วงที่ทำงานกับพี่ติ้วก็มีความคิดที่อยากไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นด้วย ก็เลยขอทุนท่านเป็นกรณีพิเศษ พอท่านเห็นความตั้งใจเรา ก็เลยให้เราลองไปฝึกงานก่อน จะได้รู้ว่าชอบแนวไหน เพราะหลังจากที่ท่านดูงานของเราแล้ว ก็บอกว่ามันออกไปทางแนวอาร์ตมากกว่า ก็ถามเราว่าจะไปเรียนที่มหาลัยจริงๆ เหรอ หรือว่าจะไปเรียนกับศิลปิน เป็นลูกศิษย์ของศิลปิน ทางญี่ปุ่นเขามีให้เลือก แต่เรายังไม่ค่อยมั่นใจ ท่านก็เลยยื่นข้อเสนอมาว่าลองไปฝึกงานดูก่อนมั้ย ก็เลยได้ไปฝึกงานที่นั่น
Q. ไปฝึกงานที่เมืองไหน
ไปอยู่ที่เมืองอะริตะ (Arita) จังหวัดซะงะ (Saga) ค่ะเป็นเมืองที่คนญี่ปุ่นรู้กันว่าเซรามิกที่นี่มีคุณภาพ แล้วด้วยรูปแบบงานที่เมย์ทำงานเพนท์บนเซรามิก ก็เหมาะกับเมืองอะริตะ เจ้าของมูลนิธิก็เลยส่งไปที่เมืองนี้ เมย์เคยไปดูเตาของคุณอิมะเอะมง (Imaemon) กับคุณคะกิเอะมง (Kakiemon) ด้วยค่ะ คือที่ญี่ปุ่นเขาจะมีประเพณีอย่างหนึ่ง สมมติคุณทำงานเซรามิกสไตล์นี้ รูปแบบนี้ ถ้าต้องสืบต่อคุณก็ต้องเปลี่ยนชื่อเป็นอิมะเอะมงตามคนรุ่นก่อน ดังนั้นพอเราพูดถึงอิมาเอะมง ก็จะรู้เลยว่าเขาทำงานเซรามิกสไตล์นี้สีเป็นแบบนี้ คือใครจะมาสืบทอดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนในครอบครัว แต่ต้องมีฝีมือ ฝึกฝนกันเป็นสิบยี่สิบปี จนได้รับการพิจารณาแล้วก็ส่งตำแหน่งให้สืบทอด เมย์ประทับใจประเพณีนี้มากเลย มันทำให้งานงานหนึ่งไม่หายไปจริงๆ ทำให้มันยังอยู่ค่ะ
Q. ได้อะไรจากการไปฝึกงานที่อะริตะบ้าง
ได้เห็นการทำงานของคนญี่ปุ่น อย่างคนคนหนึ่งเขียนเส้นเดียว เขียนมันอย่างนั้นเป็นสิบๆ ปีเลย เฉพาะทางจริงๆ คนญี่ปุ่นไม่ค่อยมีวัฒนธรรมการเปลี่ยนงานบ่อย คือสิบปีถือว่าน้อยนะ ลักษณะการทำงานของเขาจะแยกเป็นส่วนๆ เพื่อที่จะเอามารวมกันเป็นหนึ่งเดียวแล้วมันสมบูรณ์แบบค่ะ คนที่วาดเส้นก็คนหนึ่ง คนที่ลงสีเต็มใบก็คนหนึ่ง คนที่วาดโครงก็คนหนึ่ง สุดท้ายแล้วมันมารวมกันเป็นหนึ่งเดียว แล้วก็ในช่วงเวลาการทำงานเขาจะไม่รบกวนกัน หน้าที่ใครหน้าที่มัน ไม่ก้าวก่ายกัน ผู้หญิงผู้ชายเท่าเทียมกัน
อีกมุมหนึ่ง เราก็ได้พัฒนาตัวเองในหลายๆด้านด้วย คือมันไม่ใช่แค่เรื่องการทำงาน แต่ยังได้พัฒนาเรื่องการใช้ชีวิต ที่ฝึกให้รู้จักคิด รู้จักวางแผนด้วยตัวเอง เพราะเราไม่เคยไปต่างประเทศเลย ต้องเตรียมเอกสาร ต้องไปขอซ่าเพราะตอนนั้นเขายังไม่ยกเว้นให้ ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เรียกว่าต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเองหมดเลยค่ะ
เราต้องการถ่ายทอดผลงานออกมา
เพื่อตอบสนองตัวเองด้วย และสะท้อนสังคมด้วย
โดยเน้นว่าคนที่ได้เสพงานเขาจะได้แนวคิดอะไรกลับไป
Q. คิดว่างานศิลปะของญี่ปุ่นกับไทยต่างกันมั้ย
แตกต่างกันค่ะ ที่ญี่ปุ่นเขาให้ความสำคัญเรื่องศิลปะมากกว่าบ้านเรา อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมที่แตกต่างกันด้วยค่ะ เมย์คิดว่าศิลปินไทยหลายคนมีฝีมือและมีคุณภาพนะคะ แต่ที่ญี่ปุ่นเขาให้การสนับสนุนด้านนี้ดีกว่า
เขามองว่า ไม่ว่าจะเป็นงานคราฟต์หรืองานอาร์ต ล้วนเป็นภูมิปัญญาที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ สิ่งเหล่านี้จึงมีคุณค่า จะเห็นได้ว่าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้การสนับสนุนเต็มที่ แต่ละงานที่จัดแสดงจึงดูยิ่งใหญ่มาก ซึ่งมันเป็นแบบนั้นจริงๆนะคะ เพราะเขาต้องการให้ภูมิปัญญาเหล่านี้สืบทอดต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน ประกอบกับตัวศิลปินเอง ก็มีความตั้งใจมาก แสดงฝีมืออย่างเต็มที่ที่จะทำผลงานชิ้นหนึ่งออกมาให้ดีที่สุด เพราะเขาให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพของงานมากกว่าเรื่องเงินเสียอีกค่ะ
Q. แล้ววงการศิลปะประเภทเซรามิกของญี่ปุ่นล่ะ
อย่างที่บอกว่าญี่ปุ่นให้ความสำคัญและสนับสนุนเรื่องนี้มาก รวมถึงคนญี่ปุ่นสนใจและและเสพงานศิลปะมากกว่าคนไทย ดังนั้น พิพิธภัณฑ์ศิลปะของเขาจะแยกเป็นหมวดหมู่ชัดเจนไปเลย เช่น ศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) ประติมากรรม (Contemporary Art) ฯลฯ นอกจากส่งเสริมให้มีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานแล้ว เขายังให้เกียรติและให้คุณค่าต่อศิลปินด้วย เลยทำให้ผู้คนได้สัมผัสและเข้าใจถึงรากเหง้าและจิตวิญญาณของงานค่ะ
Q. ตอนนี้แบรนด์ May&Clay Ceramics Studio ทำอะไรบ้าง
ตอนนี้ก็ทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นพวกเครื่องใช้บนโต๊ะ แล้วก็ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ตกแต่งเป็นหลัก
Q. สไตล์งานเริ่มตอบโจทย์ลูกค้าและการใช้งานมากขึ้นหรือ
ใช่ค่ะ เพื่อตอบโจทย์การเป็นแบรนด์และทั้งด้านการตลาดด้วย เมย์มองว่า เมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้ว การเป็นศิลปินงานศิลปะประเภทเซรามิกในเมืองไทยแบบเต็มตัวยังยากอยู่ เมย์เลยผลิตงานโดยแยกออกเป็นสองทาง แต่ว่าทั้งสองทางก็ยังมีความเป็นเราอยู่ คือทางที่เป็นศิลปะ และทางที่นำผลิตภัณฑ์ไปใช้งานได้จริงค่ะ
Q. จุดร่วมของสองงานนี้คืออะไร
ก็คงเป็นคาแร็กเตอร์ แต่ถ้าเป็นงานศิลปะก็จะเน้นเรื่องความคิดความรู้สึกของเราได้เยอะกว่างานที่เป็นผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว ทัศนคติที่เรามีต่อสิ่งสิ่งหนึ่ง ก็ถ่ายทอดลงในงานที่เป็นแนวศิลปะ ไม่ต้องคำนึงเรื่องการใช้งาน แต่พอเป็นผลิตภัณฑ์ เราก็ดึงเอาคาแร็กเตอร์มาใช้กับงานที่มีฟังก์ชั่น เช่น กาน้ำชา แจกัน ซึ่งแจกันก็ได้รางวัลด้วย เราก็คิดให้ชิ้นงานมีฟังก์ชั่นด้วย แต่ฟังก์ชั่นก็ทำให้งานสวยมากขึ้น สมบูรณ์มากขึ้น พอเราเอางานศิลปะไปขายในงานที่เป็นผลิตภัณฑ์ ลูกค้าก็จะถามว่า แล้วมันใช้งานยังไง ดังนั้นพอมันเป็นผลิตภัณฑ์ ก็ต้องเน้นเรื่องการใช้งานด้วย
Q. ศิลปินญี่ปุ่นที่ชื่นชอบ
เมย์ชอบคุณมะโกะโตะ คะโงะชิมะ (Makoto Kagoshima) ค่ะ เมย์ชอบงานศิลปะของเขาที่เป็นกึ่งงานคราฟต์ ไม่หนักมาก และเข้าใจง่าย
Q. คิดอย่างไรต่อความคิดเห็นที่ว่า งานไทยชอบเลียนแบบงานเทศ
โลกเรามันเปลี่ยนไปแล้วค่ะ เมย์มองว่าเดี๋ยวนี้ไม่มีอะไรที่เป็นแบบดั้งเดิมแล้ว แต่มองว่างานแต่ละชิ้นเกิดจากส่วนผสมหลายๆอย่างที่ออกมาเป็นตัวเอง เพราะเมย์เชื่อว่าไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบงานคนอื่นได้เหมือนร้อยเปอร์เซนต์ (ถ้าเขาไม่คิดจะทำอย่างนั้นจริงๆนะคะ) การที่เราชอบงานของใครสักคนหนึ่ง ส่วนหนึ่งเกิดจากความชอบส่วนตัวหรือสไตล์ของเราอยู่แล้ว พูดง่ายๆก็คือเหมือนคนที่ชอบอะไรคล้ายๆกัน เมื่อคนกลุ่มนั้นผลิตงานออกมา คนที่ดูเพียงแค่ผิวเผิน และไม่ได้เข้าใจงานนั้นจริงๆ เขาก็อาจจะมองว่ามันคล้ายกัน แต่เมย์เชื่อว่า ถ้าเขามองแบบวิเคราะห์ให้มากขึ้น เขาจะรู้ว่ามันไม่เหมือนกันค่ะ
Q. เมื่องานศิลปะและการตลาดต้องมาอยู่ด้วยกัน
มันอาจจะเริ่มต้นที่ว่าเราไม่ได้หวังตัวเงินเป็นอันดับหนึ่ง คือเราคิดว่า เราต้องการทำงานออกมา ต้องการถ่ายทอดผลงานออกมาเพื่อตอบสนองตัวเองด้วย และสะท้อนสังคมด้วย โดยเน้นว่าคนที่ได้เสพงาน เขาจะได้แนวคิดอะไรกลับไปมากกว่าเรื่องเงิน แต่ถ้าถามว่าอยากขายได้มั้ย ก็อยากขายได้ แต่ว่าเราเข้าใจอยู่แล้วว่างานประเภทนี้จะมีคนเฉพาะกลุ่มที่ชอบ เพราะถ้าเขาชอบเขาก็ซื้อ มันอยู่ที่ความชอบของคนค่ะ
Q. อนาคตของ May&Clay Ceramics Studio
ตอนนี้อยากแตกไลน์ ด้วยความที่เป็นงานแนวคาแร็ก-เตอร์ ในส่วนของแบรนด์ก็อาจจะไปอยู่ในผลิตภัณฑ์อื่นบ้างวัสดุอื่นบ้าง พอเรามาพิจารณาตัวแบรนด์ของเราแล้ว นอกจากตัวแบรนด์และวัสดุ มันยังมีคาแร็กเตอร์ที่เด่นชัด ก็อาจจะดึงตรงนี้มาใช้ จากที่ไปต่างประเทศ ได้ไปดูงานของเมืองนอกเมย์สังเกตว่าศิลปินที่เขาทำงานคาแร็กเตอร์ เขาก็จะแตกไลน์ออกไปเป็นอย่างอื่น เพื่อตอบสนองการใช้งานต่อกลุ่มลูกค้ามากขึ้น แล้วก็เพื่อตอบสนองตัวเองด้วย (หัวเราะ) เพราะทำเซรามิกในส่วนที่เป็นผลิตภัณฑ์ไปนานๆ มันก็จะถึงจุดอิ่มตัวได้
ติดตามผลงานเพิ่มเติมได้ที่
Instagram: @mayandclay
Fanpage: May&Clay ceramics studio
Pinterest: May & Clay
ขอขอบคุณสถานที่: Li-bra-ry สุขุมวิท 24