:::: MATCHA ESSENTIAL ::::

ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ฝนตก ฟ้ามืดครึ้มแทบทุกวันเลย ไปไหนมาไหนก็อย่าลืมเตรียมร่มหรือเสื้อกันฝนติดตัวไปด้วยนะคะ รักษาสุขภาพกันด้วยค่ะ ฮันนี่ก็ป่วยนิดๆ เหมือนกันค่ะ แต่แค่ไอเท่านั้น ไม่ถึงขั้นต้องไปหาหมอเข้าโรงพยาบาล แค่อยากหาอะไรอุ่นๆ ดื่มบ้าง สิ่งแรกที่ฮันนี่นึกถึงก็คือ “ชา” ถ้าได้ชาดีๆ อุ่นๆ มาดื่มสักถ้วยคงดี
ไม่น้อยเลย แต่พอนึกว่าอยากจะดื่มชาอะไรแล้วหันไปมองชั้นวางชาที่บ้านก็มีแต่ชาดำรสชาติหนัก และออกจะเข้มเกินไปสักหน่อยสำหรับดื่มตอนนี้ เลยเกิดความคิดว่าอยากจะดื่มชาใหม่ๆ ที่ไม่เคยลองมาก่อนบ้าง ชาที่ฮันนี่สนใจอยู่ตอนนี้คือ ชาเขียวญี่ปุ่นซึ่งเป็นชาที่คนทั่วโลกต่างรู้จักและขึ้นชื่อมากที่สุดของประเทศญี่ปุ่น แต่แท้จริงแล้วชาเขียวมีอยู่หลายชนิด และยังมีเรื่องราวอีกมากที่อยู่เบื้องหลังใบชาสีเขียวเล็กๆ แต่ละใบ

สำหรับ KIJI ฉบับนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับชาเขียวมัทฉะและชาเขียวชนิดต่างๆ อีก 4 ชนิดให้มากขึ้นด้วยกัน
ฮันนี่อยากแนะนำให้ทุกคนรู้จักร้าน Double Dogs Tea Room และ ร้าน Peace Oriental Teahouse สองร้านชาดี๊ดี ที่เสิร์ฟชามัทฉะทั้งแบบต้นตำรับดั้งเดิมแท้และแบบประยุกต์สมัยใหม่ให้ดื่มง่ายขึ้น จนถึงไอศกรีมมัทฉะแสนอร่อย ในสองบรรยายกาศทั้งแบบเก่ามีมนต์ขลังและสไตล์มินิมัลลิสต์ร่วมสมัย เหมาะไปนั่งสงบใจพักผ่อนเงียบๆ
คนเดียวหลบความว้าวุ่น หรือจะมีเพื่อน คนสนิทไปนั่งด้วยก็ล้วนดีต่อใจเช่นกัน

 

Matcha is green tea, but not all kinds green tea is Matcha.

“มัทฉะคือ ชาเขียว แต่ชาเขียวทุกชนิดไม่ใช่มัทฉะ” เนื่องจากชาเขียวเป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน จึงมีการคิดค้นผลิตชาเขียวให้มีความหลากหลายเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค เราสามารถแบ่งชาเขียวในท้องตลาดขณะนี้ได้เป็น 5 ประเภทใหญ่ๆ

 

 

1. เกียวกุโระ玉露

ยอดอ่อนใบชาเขียวคุณภาพสูง มีผลิตผลในแต่ละปีไม่มากนัก ราคาจึงสูงตามไปด้วย มีกรรมวิธีใช้ผ้าคลุมต้นชาประมาณ 20 วันก่อนเก็บเกี่ยว เพื่อไม่ให้ต้นชาได้รับแสงแดดมากเกินไป ต้นชาเขียวจึงผลิตสารคลอโรฟิลล์มากขึ้นเพื่อให้สังเคราะห์ด้วยแสงได้มากขึ้น ใบชาจึงมีสีเขียวเข้มจนถึงเขียวแก่จัดสวยงามดั่งมรกตน้ำดี รสชาติไม่ฝาด
มีความเข้มข้นเฉพาะตัว ในวงการชาเรียกกันว่า “รสอูมามิ”
รสชาติที่พบได้ทั่วไปในอาหารญี่ปุ่น โดยเฉพาะในสาหร่ายญี่ปุ่นที่ถือเป็นแก่นของอาหารญี่ปุ่น

 

2. คาบูเซฉะかぶせ茶

ความคล้ายคลึงกับชาเกียวกุโระอย่างมาก เพราะมีกรรมวิธีใช้ผ้าคลุมต้นชาก่อนเก็บเกี่ยวเหมือนกัน แต่แตกต่างกัน
ที่ระยะเวลาในการคลุมผ้า ขณะที่ชาเกียวกุโระแม้คลุมผ้าประมาณ 20 วัน แต่ช่วงเวลาการทำใบชาคาบูเซฉะนั้น ต้นชาจะถูกคลุมผ้าเพียงระยะเวลาครึ่งเดียวของกระบวนการผลิตชาเกียวกุโระ หรือประมาณ 10 วันเท่านั้น ใบชาประเภทนี้จึงมีรสชาติอ่อนกว่าชาเกียวกุโระ

 

3. เซ็นฉะ煎茶

เมื่อพูดถึงชาเขียวทั่วไปโดยไม่เฉพาะเจาะจง มักจะหมายถึงชาเขียวประเภทนี้เพราะเซ็นฉะเป็นที่รู้จักกันมากและดื่มกันแพร่หลายที่สุด คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดมากกว่าครึ่งหนึ่งของชาเขียวทั้งหมดที่ผลิตได้ในแต่ละปี ด้วยราคาเข้าถึงง่าย กรรมวิธีปลูกและผลิตชาชนิดนี้เรียบง่าย ไม่ซับซ้อนเท่าชาเกียวกุโระและคาบูเซฉะ ราคาจึงไม่สูงนักและเข้าถึงได้ง่ายกว่า

 

4. บันฉะ 番茶

ใบชาเขียวที่เก็บนอกฤดูกาลหรือใบชาช่วงก่อนต้นชาแตกยอดใหม่ มักจะมีขนาดใบไม่ได้มาตรฐานหากนำใบชาเหล่านี้ไปขายก็มักได้ราคาต่ำเพราะสีของน้ำชาที่ชงได้ไม่ใช่สีเขียวสด แต่เป็นสีโทนเขียวอมเหลือง รสชาติและกลิ่นด้อยกว่าชาประเภทอื่นๆ นอกจากต้องยอมตัดใจขายเป็นใบชาราคาถูกแล้ว ยังมีอีกหนึ่งทางเลือกคือ แปรรูปใบชาเพื่อเพิ่มมูลค่า จึงเกิดเป็นชาข้าวคั่วกลิ่นหอมอย่างเก็นไมฉะ (Genmaicha) และชาคั่วด้วยความร้อนสูงจนมีสีน้ำตาลเข้ม กาเฟอีนต่ำ และรสชาติเอกลักษณ์เป็นโฮจิฉะ (Hojicha)

 

5. มัทฉะ | 抹茶

ผลิตมาจากเท็นฉะ (Tencha) ที่ผ่านกระบวนการปลูกแบบคลุมผ้าเช่นเดียวกับเกียวกุโระ แต่ต้นชาจะถูกคลุมผ้านานกว่า 20 วันขึ้นไป หลังจากเก็บเกี่ยวและนึ่งใบชาชนิดนี้แล้ว ใบชาจะถูกปล่อยให้แห้งโดยไม่ผ่านการนวด เมื่อ
ใบชาแห้งสนิทจะรูดจากก้านและเส้นกลางใบเหลือเพียงใบชาอย่างเดียว ก่อนถูกบดเป็นผงด้วยกระบวนการที่ทำให้เกิดความร้อนต่ำสุดจนเป็นผงละเอียดสีเขียวสดใส ทั้งนี้เพื่อคงสีเขียวของใบชาและรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ไว้ให้มากที่สุด

 

Peace Oriental Teahouse :

ร้านชาที่ควบรวมความร่วมสมัยและแนวคิดแบบเซน ไม่ฉาบฉวย มีความหมาย และมีประโยชน์ ในที่นี้ไม่เพียงแค่บรรยายกาศตัวร้านเท่านั้น แต่รวมถึงเมนูต่างๆ อีกด้วย คุณธีรชัยหรือคุณธีเจ้าของร้านก็ไม่หยุดพัฒนาและคิดค้นเมนูใหม่ๆ เสมอ เขาอยากให้คนเข้าใจคุณประโยชน์และหันมาดื่มชากันมากขึ้น ความตั้งใจดังกล่าวถูกส่งผ่านมาในชาแต่ละถ้วยที่ถูกชงขึ้นภายในร้านแห่งนี้

 

 

ในครั้งนี้ฮันนี่เลือก 4 เมนูชามัทฉะของที่ร้านมาแนะนำกัน เริ่มกันจากเมนูแรกเลยดีกว่า

Vegetal – Mellow Matcha (120 บาท) : ชามัทฉะสีสวยเย็นชื่นใจ ขอบอกเลยว่าดื่มง่าย และเหมาะดื่มในช่วงวันที่อากาศร้อนๆ หรือหลังอาหารกลางวัน สดชื่นไปได้ตลอดบ่ายและทำงานได้เต็มที่แน่เลย

 

 

มาต่อกันด้วย Matcha Pastel (140 บาท) : ชงแบบเย็นใส่นมสด รสหอมมันนม คล้ายมัทฉะลาเต้ แต่เข้มข้นกว่า เพราะทางร้านนำถ้วยดินเผาไปแช่เย็นก่อนนำมาชงชาเสิร์ฟแทนการใส่น้ำแข็ง จึงได้รสแท้ๆ ไม่จืดจาง เผลอแป๊บเดียวก็ดื่มหมดถ้วยเลย

 

 

ลองไอศกรีม Koicha Cream (285 บาท) : ที่นิยมสั่งกันมากไม่แพ้ชาดีกว่า เมนูรูปลักษณ์เรียบง่ายแต่น่าหลงใหล เริ่มจากชง Koicha แบบข้น จากนั้นตักไอศกรีมนมสดเนื้อละเอียดที่ทางร้านทำสดใหม่ทุกเช้า และไม่ใส่สารสังเคราะห์ใดๆ  

 

 

เมนูสุดท้ายที่เกิดจากการหลอมรวมกันของศาสตร์และศิลป์ Matcha Extremist (285 บาท) : ดูเผินๆ อาจเหมือนโมจิแป้งชาร์โคลอยู่สักหน่อย คุณธีเล่าถึงที่มาที่ไปของเมนูนี้ว่า ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะตามกระแสการผสมชาร์โคลลงในอาหาร แต่เกิดจากความกังวลว่าลูกค้าที่สั่งเมนูนี้อาจได้รับกาเฟอีนมากเกินไป ชาร์โคลหรือผงถ่านมีสรรพคุณทางยาเรื่องการดูดซับสารพิษและสิ่งแปลกปลอมจึงถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของเมนูนี้ เพื่อลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการกินผงมัทฉะมากเกินไป

 

 

ถ้ามีเวลาว่างสักหน่อยฮันนี่แนะนำว่า ให้ลองไปนั่งสั่งชาดื่มในร้านแล้วชมการชงชาชนิดต่างๆ พูดคุยกับพนักงานและคุณธีเรื่องชาบ้าง ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง หรือนั่งอ่านหนังสือ ทำงานเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นการใช้เวลาว่างสักสองสามชั่วโมงที่ผ่อนคลายดีไม่น้อยเลยค่ะ

 

Info

Tel:
097-267-2626
Address: G Tower, Rama XI Rd.
Opening Hours: 8:00-21:00 (Everyday)
Facebook: peace.t.house

 

Tips : Koicha Cream เมื่อกินไอศกรีมหมดหากเหลือ Koicha อยู่ก้นถ้วย สามารถเติมนมดื่มต่อ อร่อยเป็น Matcha Pastel ต่อได้

 

 

Double Dogs Tea Room :

เมื่อพูดถึงเรื่องชาในย่านคนจีนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ อย่างย่านเยาวราช ตอนแรกฮันนี่คิดถึงแค่ชาจีน ร้านขายใบชาจีนเก่าแก่มีชื่อร้านภาษาไทยและภาษาจีนภายในป้ายเดียวกัน แล้วคงมีภาพอากงอาม่าผมขาวผมบางจนถึงผมหายไปหมด นั่งอยู่ริมทางเท้าจิบชาและพูดคุยกันเป็นภาษาจีน อย่างกับหลุดมาจากหนังที่เคยดูตอนเด็กๆ ทำให้หวนระลึกถึงสมัยเด็ก และเกิดความรู้สึกเหมือนกับว่าเราฟังเรื่องราวที่เขาคุยกันออก แต่พอตั้งใจฟังดีๆ กลับฟังไม่ออกเสียนี่ คงแทบไม่มีใครนึกถึงย่านนี้เวลาอยากดื่มชามัทฉะอย่างแน่นอน แต่ภายใต้บรรยายกาศกลิ่นอายความเป็นจีนนั้น มีหนึ่งร้านชาที่เสิร์ฟชามัทฉะและชาเขียวคุณภาพเยี่ยม โดยเจ้าของร้านและพนักงานที่มีความรู้เรื่องชาตะวันออกอย่างดี

 

 

ร้าน Double Dogs Tea Room เปิดมานานกว่า 6 ปีแล้ว บรรยายกาศในร้านมีมนต์ขลังแบบจีนเด่นชัดมาก ร้านนี้ขายเฉพาะใบชาและผงชาไม่แต่งกลิ่นหรือรสเพิ่มเติม ส่วนใหญ่เป็นชานำเข้าจากประเทศจีน ประเทศไต้หวัน และประเทศญี่ปุ่น ในราคาสมเหตุสมผล สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องชาตะวันออกก็สามารถบอกพนักงานได้ว่ากำลังมองหาชาแบบไหนหรือชาชนิดใด ไม่ว่าจะขมมาก ขมน้อย ชอบกลิ่นของดอกไม้ หรือกลิ่นผลไม้ พนักงานจะแนะนำชาที่คาดว่าเราน่าจะชอบมาให้เลือก

 

 

หลังจากดูรายชื่อชาในเมนูก็เลือกไม่ถูกเลยทีเดียว ฮันนี่เพิ่งเริ่มลองดื่มชามัทฉะจึงสับสนพอสมควร ครั้นจะสั่งชา
มัทฉะแพงที่สุดมาลองดื่มดูภายใต้กรอบความคิดที่ว่า ของยิ่งแพงต้องยิ่งดี ก็เหมือนจะไม่เข้าท่าสักเท่าไร หากเราเลือกดื่มชาเพราะราคาเพียงอย่างเดียว เราอาจไม่มีวันรู้ว่า ทำไมชามัทฉะถ้วยนี้แพงกว่าถ้วยอื่นๆ ในร้าน ทั้งๆ ที่สีผงชามัทฉะก่อนชงและหลังชงเป็นน้ำชาแทบไม่ต่างกันเลย โชคดีที่ฮันนี่เจอคุณจงรักษ์หรือเฮียตี๋ เจ้าของร้านที่ศึกษาเรื่องชาอย่างจริงจังมากว่า 20 ปี จากการคิดจะมานั่งจิบชามัทฉะเฉยๆ จึงกลายเป็นการลงเรียนวิชา Introduction to Matcha: รหัสวิชา 101 แบบสนุกเพลิดเพลินและไม่น่าเบื่อ เสียดายที่ฮันนี่ไม่อาจเล่าเรื่องชาได้ครบถ้วน เพราะนั่งคุยกับคุณจงรักษ์นานกว่าสี่ชั่วโมง ฮันนี่คงสรุปให้ฟังบางส่วนเท่านั้น

 

 

ชามัทฉะมีลักษณะเฉพาะคือ เป็นชาที่จริงจัง จดจ่อ ซับซ้อน และเคร่งขรึม ชงดื่มได้ทั้งแบบบางและข้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพผงมัทฉะ ถ้าเริ่มหัดดื่มควรเริ่มจากชาชงแบบบางที่มีรสชาติอ่อนกว่าและดื่มง่ายกว่า และควรเริ่มดื่มจากชาราคาถูกไล่ขึ้นไปหาราคาแพง จะได้รู้ถึงความแตกต่างของรสชาติว่าเหตุใดราคาจึงต่างกัน ได้ยินอย่างนี้แล้ว ฮันนี่เลยลองดื่มชามัทฉะ 2 ชนิด คือ Aya No Mori (230 บาท) รสอ่อนกว่าและดื่มง่ายกว่า Hoshi No Hatsutaka (370 บาท) ซึ่งมีรสชาติหลากหลายและออกมันๆ เค็มนิดๆ หลังดื่มมัทฉะทั้งสองชนิดก็รู้สึกได้ถึงความซับซ้อนของรสชาติที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนเวลาดื่มชา เพราะในหนึ่งคำที่ดื่มจะมีรสขม รสหวาน รสอูมามิ รวมทั้งรสติดปลายลิ้นและลำคอหลังดื่ม แถมรสชาติเปลี่ยนไปทุกคำที่ดื่มตามอุณหภูมิน้ำชาหลังชงเสร็จอีกด้วย การได้ลองรสชาติชาที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็เพลินไปอีกแบบ แต่เราควรดื่มชามัทฉะทันทีหลังชงเสร็จจะดีที่สุด

 

 

หากใครก้าวเท้าเข้ามาในร้าน Double Dogs Tea Room แล้ว ไม่เพียงแต่ได้ดื่มชาดี ยังจะได้ความรู้เรื่องชากลับบ้านไปอีกด้วย ถ้าสนใจอยากลองชงชามัทฉะเอง ร้านนี้ก็มีเมนู Matcha DIY ราคา 380 บาทให้ลูกค้าได้ลองตี
มัทฉะด้วยตัวเอง แต่ถ้าจะเอาจริงเอาจังกับการชงมัทฉะมากขึ้น ก็สามารถซื้อเซตชงชามัทฉะกลับไปฝึกเองที่บ้าน หรือเลือกลงเรียนคอร์สการชงมัทฉะตั้งแต่ระดับเริ่มต้นไปถึงขั้นสูงได้ที่ร้านนี้ สามารถโทรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้เลยนะจ๊ะ

 

Info

Tel: 086-329-3075
Address: 406 Yaowarat Rd., Sampanthawong
Opening Hours: Tue.-Thu. 13:00-21:00, Fri.-Sun. 13:00-22:00
Close: Monday
Facebook: DoubleDogsTeaRoom  

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ