ฉันชอบถ่ายภาพต้นไม้ดอกไม้ ชอบโดยไม่เคยนึกตั้งคำถามว่า “เพราะอะไร” จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้คนข้างตัวถามมา ฉันเลยลองพยายามหาคำตอบดู และพบว่าจริงๆ แล้วคำถามนี้ตอบไม่ยากเลย

ต้นไม้ ใบหญ้า ดอกไม้ เป็นสิ่งมีชีวิตที่สวยงาม จึงไม่น่าแปลกใจที่สิ่งที่มีชีวิตชีวาเหล่านี้จะเข้ามาอยู่ในหัวใจของใครหลายคนได้ง่ายๆ อย่างที่เราก็รู้กันดีดอกไม้เป็นสิ่งมีชีวิตหน้าตาดี กลีบดอกมีหลากสี บอบบาง แถมบางพันธุ์ยังดูน่ารัก ดอกไม้ดอกหญ้าเล็กๆ ที่ชูช่ออยู่ข้างทาง เมื่อต้องกับแสงแดดอ่อนๆ จะยิ่งมีเสน่ห์เป็นพิเศษ ต้นไม้แต่ละต้นไม่เพียงให้ร่มแต่ยังทอดเงาสวยๆ ให้เราด้วย การถ่ายภาพต้นไม้ดอกไม้ในสภาพแสงที่ต่างกันออกไปจึงให้อารมณ์ภาพได้หลากหลาย และทำให้รู้สึกเพลินเวลากดชัตเตอร์

นอกจากสภาพแสงที่ต่างกันในแต่ละช่วงเวลาของวันแล้ว ฤดูกาลก็มีผลกับต้นไม้ดอกไม้อย่างมาก ความสนุกในการถ่ายภาพธรรมชาติก็คือ เมื่อฤดูเปลี่ยน ภาพที่บันทึกได้ก็เปลี่ยนไปด้วย และนี่คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เหล่าช่างภาพต้องเลือกฤดูกาลที่จะออกเดินทางกันอย่างพิถีพิถัน อย่างไรก็ตาม มันไม่ใช่แค่เรื่องของการวางแผน แต่ในบางจังหวะก็เป็นเรื่องของโชค!

เรื่องโชค ไม่ใช่เรื่องที่จะกะเกณฑ์กันได้

บางคนเชื่อว่าโชคดีเกิดจากการเข้าวัดสักการะขอพร ฉันเองไม่มีความเห็นมากนักในเรื่องนี้ เพราะดูจะเกินพิสูจน์​ แต่โดยส่วนตัวรู้สึกชื่นชมวิธีการในการสักการะขอพรของชาวญี่ปุ่นอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อครั้งไปเที่ยวที่เมืองโคโตฮิระ (Kotohira) จังหวัดคางาวะ (Kagawa) ฉันเห็นชาวญี่ปุ่นจำนวนมากดั้นด้นเดินทางไปยังศาลเจ้าโคโตฮิรากู (Kotohiragu) ที่ตั้งอยู่บนเนินเขาสูงเพื่อสักการะเทพเจ้าแห่งท้องทะเล กว่าจะเดินขึ้นไปถึงศาลเจ้าด้านบนต้องเดินเท้าขึ้นบันไดไปถึง 1,368 ขั้นแน่ะ! ฉันว่าคนที่จะเดินได้ขนาดนี้ในเบื้องต้นจะต้องมีพลังศรัทธาสูงมาก

การเดินขึ้นบันไดสูงๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุและคนที่มีสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ พูดอย่างนี้อาจฟังดูสิ้นหวัง แต่เดี๋ยวก่อน ทุกปัญหามีทางออกเสมอ หนึ่งในทางออกที่ว่านี้มีพิกัดอยู่ที่โคนต้นไม้ที่ฉันกำลังจะเล่าถึงนี่เอง…

 

 

ต้นการบูรยักษ์ในภาพนี้เป็นต้นไม้เก่าแก่ที่หยั่งรากอยู่กลางลานโล่งภายในพิพิธภัณฑ์สาเกที่มีชื่อว่า “คินเรียว โนะ ซาโตะ” (Kinryo No Sato Sake Museum) ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล ตั้งอยู่ระหว่างทางเดินขึ้นศาลเจ้าโคโตฮิรากูนั่นเอง ตอนเห็นการบูรต้นนี้ครั้งแรก ฉันตกใจนิดหน่อย นึกไม่ถึงว่าในพิพิธภัณฑ์สาเกขนาดกะทัดรัดจะมีต้นไม้ใหญ่ยักษ์ขนาดนี้ (ตอนนั้นฉันไม่มีเลนส์มุมกว้างเลยเก็บภาพมาได้ไม่ครบทั้งต้น) เจ้าหน้าที่ของทางจังหวัดเล่าให้ฟังว่า สำหรับผู้ที่เดินขึ้นศาลเจ้าด้านบนไม่ไหว ที่โคนต้นไม้จะมีศาลขนาดย่อมเป็นจุดสักการะทดแทน โอ้โห อินดี้มาก คือที่นี่แอบเสนอทางเลือกเล็กๆ ให้ผู้คนบางส่วน ดูเป็นไอเดียที่น่ารักและใจดีจัง

รู้มาว่าเจ้าของสถานที่เขาตั้งใจใช้ลานต้นการบูรยักษ์นี้เป็นจุดพักผ่อน ให้นักเดินทางได้ใช้เวลากลับเข้าสู่ความสงบ ได้ฟังเสียงใบการบูรเสียดสีกับสายลมและรื่นรมย์กับร่มเงา ความเผื่อแผ่นี้ทำให้ฉันรู้สึกขนลุกนิดๆ และนึกอยากสักการะกราบไหว้เจ้าของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นมา อยากขอบคุณในความใจกว้าง ขอบคุณที่แบ่งปันร่มเงาและมอบพลังชีวิตให้กับผู้คนที่ผ่านเข้ามาที่นี่ รวมถึงขอบคุณที่ได้ช่วยเก็บรักษาและดูแลเอาใจใส่ต้นไม้เก่าแก่ต้นนี้ให้มีอายุยืนยาว

เกี่ยวกับการอนุรักษ์ต้นไม้ในญี่ปุ่น ฉันเคยอ่านเจอมาว่าในสถานีรถไฟแห่งหนึ่งในเมืองโอซาก้าก็มีต้นการบูรเก่าแก่อีกต้นที่ได้รับการดูแลอย่างดีเหมือนกัน ในตอนที่ต้องปรับปรุงขยายสถานีเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการใช้รถไฟของประชาชน ทางการโอซาก้าตัดสินใจไม่ตัดไม้ใหญ่ที่ดูจะกีดขวางการก่อสร้างสถานีทิ้ง แต่เลือกใช้วิธีเจาะช่องให้ต้นไม้สามารถงอกงามคู่กับเมืองต่อไปได้ ร่มเงาของต้นการบูรอายุนับ 700 ปีทอดผ่านวิถีชีวิตปัจจุบันของชาวโอซาก้าได้อย่างไม่มีปัญหาขัดแย้ง ไม่ต้องตั้งคำถามให้มานั่งถกเถียงกันว่าจะเลือกอะไรดี ระหว่างการเติบโตของธรรมชาติกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

คิดเหมือนกันไหมคะ? ถ้าคนเรามีพื้นที่ในหัวใจให้อะไรสักอย่าง คำถามที่ว่า “เพราะอะไรจึงได้รักสิ่งนั้น” มันอาจจะไม่จำเป็นเลยจริงๆ สำหรับคนที่รักต้นไม้ ไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามว่าควรตัดต้นไม้แล้วสร้างตึกทับไปเลยดีไหม สำหรับคนรักต้นไม้ เรามีทางเลือกมากกว่าการตัดต้นไม้ทิ้งไปแน่นอน และในกรณีของการอนุรักษ์ต้นไม้ ฉันว่าการที่ต้นไม้สักต้นจะมีอายุยาวหรือสั้น คงจะไม่ใช่เรื่องของโชค แต่เป็นเรื่องของการเตรียมการและวางแผน

และดูจะเป็นการวางแผนที่เริ่มต้นจากรากฐานของความรักในสิ่งนั้น

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ