สำหรับ KIJI เล่มนี้ เรายังอยู่กันต่อกันที่บ้านและสตูดิโอของเหล่าศิลปินไทย โดยศิลปินที่เราได้ไปสัมภาษณ์มาแต่ละคนไม่เพียงใช้อุปกรณ์เครื่องเขียนที่ผลิตในญี่ปุ่นเท่านั้น ทุกคนยังบังเอิญมีความคลั่งไคล้และโตมากับการ์ตูนญี่ปุ่นเหมือนกันอีกด้วย แต่ละคนมีคอลเลกชันหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นหรือมังงะ ที่เก็บสะสมอย่างดีมาตั้งแต่เด็กแบบสุดรักสุดหวง และเคยมีความฝันใฝ่ในวัยเด็กว่าโตมาอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง หรือถึงขั้นอยากเป็นนักวาดการ์ตูนของโชเน็งจัมป์ ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์การ์ตูนที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในญี่ปุ่นเคียงคู่กับนักวาดการ์ตูนในตำนานคนอื่นๆ เช่น อาจารย์โทะริยะมะ อะกิระ (Toriyama Akira) ที่มีผลงานการ์ตูนสุดฮิตที่ในปัจจุบันยังมีอะนิเมะฉายอยู่ในช่องฟรีทีวีอย่างดราก้อนบอล (Dragonball) หรือจะเป็นเอะอิชิโระ โอะดะ (Eiichiro Oda) ผู้เขียนการ์ตูนโจรสลัดสุดฮิตอย่างวันพีซ (One Piece) ที่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ด้วยการเป็นนักเขียนการ์ตูนอาชีพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จนเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นหลังอยากเป็นนักวาดการ์ตูนกันมากขึ้นและทำให้เหล่าศิลปินที่ได้ไปพบปะเริ่มวาดรูปและตกหลุมรักในศิลปะนั้นเอง

EP.02 Stationery Reviews | A Study of Made in Japan Stationery ⌈Vol.2⌋
เรายังเหลือรีวิวอุปกรณ์เครื่องเขียนจากอีก 3 ศิลปิน และ 5 ร้านเครื่องเขียนดี๊ดีในกรุงเทพฯ ที่เราอยากแนะนำให้ผู้อ่านทุกท่านลองไปเยี่ยมเยือนสักครั้งหากมีโอกาส

_
JUNG

The God is in the Detail

เรามาเริ่มต้นด้วยการพูดถึงผลงานหนังสือการ์ตูนเรื่องยาวเรื่องแรกของ “จัง” ใช่แล้ว เรื่องนั้นก็คือ “ใต้แสงธูป” ที่ถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กสาววัยรุ่นถังแตกที่ต้องไปเช่าห้องที่มีวิญญาณคนที่เคยฆ่าตัวตายแล้วยังไม่ได้ไปเกิดสิงสู่อยู่ จึงเกิดเป็นเรื่องราวโรแมนติกกึ่งเซอร์เรียลนิดๆ ที่ทำให้ผู้อ่านตั้งคำถามว่า “คน” กับ “ผี” จะอยู่ร่วมกันได้ไหม จนถูกกล่าวถึงอย่างมากและกลายเป็นการ์ตูนในดวงใจของใครหลายคนไปแล้ว แต่สำหรับคนที่ยังไม่รู้จัก “ใต้แสงธูป” หรือ “จัง” เราจะขอให้คุณจังพูดถึงคำจำกัดความสไตล์ผลงานของตัวเอง เธอบอกว่าชอบวาดภาพประกอบที่มีรายละเอียดมากๆ และวาดรูปสัตว์ต่างๆโดยได้รับอิทธิพลมาจากผลงานสไตล์ญี่ปุ่นโดยเฉพาะหนังสือการ์ตูนหรือมังงะและอะนิเมะยุควินเทจหน่อยๆ ที่คนส่วนใหญ่มักไม่รู้จักกันเท่าไร เราจึงขอให้คุณจังแนะนำการ์ตูนและอะนิเมะที่เธอชื่นชอบและอยากแนะนำให้ผู้อ่านของ KIJI ลองไปหาดูกันบ้าง ก็จะมี 999 Galaxy Express, Akira และ Tekkonkinkreet สาเหตุที่เธอชอบย้อนกลับไปดูมังงะและอะนิเมะเก่าๆ เป็นเพราะเนื้อหาสนุก ดูกี่ทีก็ไม่รู้สึกว่าเก่าลงตามยุคสมัย แต่ด้วยยุคสมัยและเทรนด์ของผู้เสพเปลี่ยนไป เธอจึงเสียดายที่เดี๋ยวนี้ไม่มีใครทำการ์ตูนดีๆแบบเมื่อก่อนแล้ว จะมีก็แต่เอาผลงานเก่าๆ มารีเมก ที่มักออกมาไม่ดีนัก

มาพูดถึงเครื่องเขียนญี่ปุ่นที่คุณจังใช้ประจำกันบ้าง ต้องขอบอกเลยว่าคุณจังเป็นศิลปินที่มีอุปกรณ์เครื่องเขียนญี่ปุ่นหลากหลายที่สุดและเยอะที่สุดในบรรดาศิลปินที่ KIJI ไปเยี่ยมเยือนและสัมภาษณ์ เราจึงถามถึงหลักเกณฑ์ในการเลือกซื้อเครื่องเขียน คุณจังมักเลือกซื้อเครื่องเขียนต่างๆ ตามนักเขียนการ์ตูนชาวญี่ปุ่นที่เธอชื่นชอบและติดตามผลงานเป็นประจำ ดูว่าพวกเขาใช้เครื่องเขียนอะไรบ้างและมีเครื่องเขียนชนิดไหนที่น่าจะเหมาะกับสไตล์ตัวเองบ้างไหม แล้วค่อยไปหาซื้อมาใช้ตาม

 

อันดับแรกที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่คุณจังใช้เป็นประจำคือ Pentel Graphgear 500 (0.3) ดินสอกดที่ต้องใช้ไส้ดินสอขนาด 0.3 มม. เท่านั้น ปกติศิลปินส่วนใหญ่จะใช้ดินสอกดหัวเล็กขนาดนี้ในการร่างภาพก่อนตัดเส้นลงสีเป็นขั้นตอนถัดไป เนื่องด้วยลายเส้นบางและเล็กกว่าดินสอกดเบอร์ 0.5 ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดทั้งในหมู่ศิลปินและคนทั่วไป แต่สำหรับคุณจังแล้วกลับมองว่า ด้วยเส้นที่เล็กลงจึงเหมาะกับการเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่นกัน ในผลงานหนังสือการ์ตูนเรื่องใต้แสงธูป เธอก็ใช้ดินสอกด Pentel Graphgear 500 (0.3) เพียงแท่งเดียววาดภาพทั้งเล่ม ลำดับต่อไปคือปากกาคอแร้ง Tachikawa T-25 ด้ามไม้จับถนัดมือ สามารถถอดเปลี่ยนหัวปากกาได้ เพื่อให้เหมาะสมกับผลงาน คุณจังชอบนำมาใช้ตัดเส้นผลงาน ไม่เพียงใช้ตัดเส้นและเก็บรายละเอียดงานวาดเท่านั้น หลายคนนิยมใช้สร้างสรรค์งาน Calligraphy ด้วยเช่นกัน ต่อไปก็ Holbein Artists’ Gouache เราได้เขียนถึงสีน้ำของ Holbein Artists’ ไปบ้างแล้วใน KIJI ฉบับก่อนความแตกต่างของสีน้ำกับสี Gouache คือ ตัวเนื้อสี ในส่วนของ Gouache จะมีเนื้อสีทึบแสงและคล้ายคลึงกับสีโปสเตอร์มากกว่าสีน้ำ เหมาะกับงานที่ต้องการให้มิติหนักหรือลึกกว่าสีน้ำ สามารถนำไปลงทับสีน้ำหรือสีชนิดอื่นๆเพื่อทำไฮไลต์หรือสร้างรายละเอียดก็ได้ สีจะไม่จมและไม่ถูกกลืนอย่างแน่นอน

ช่วงสิ้นปีนี้ ใครที่เป็นแฟนผลงานของคุณจังหรือปลื้มหนังสือใต้แสงธูปอาจมีเฮ เพราะคุณจังบอกกับ KIJI ว่าอยากจะออกเล่มสองให้พวกเราได้อ่านกันในช่วงสิ้นปีนี้ อดใจรอกันหน่อยนะ ถ้าอดใจรอเฉยๆไม่ไหวก็คอยติดตามผลงานอื่นๆ ทางเพจเฟซบุ๊ก @jungsnrk ไปก่อนได้เหมือนกันนะจ๊ะ

Holbein Artists’ Water Colors

_
O TERAWAT

The Sophisticated O

ในวงการแฟชั่นและนักวาดภาพประกอบของประเทศไทย คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์หรือโอ ที่เป็นทั้งกราฟิกดีไซเนอร์ นักวาดภาพประกอบ ศิลปิน แถมด้วยดีกรีเป็นทั้งผู้ร่วมก่อตั้งและอาร์ตไดเร็กเตอร์ของแบรนด์ PAINKILLER ที่เขาร่วมก่อตั้งกับพี่น้องอีก 2 คน จนมีชื่อเสียงในการทำเสื้อผ้า Menswear ด้วยคุณภาพวัสดุ การตัดเย็บ และลวดลายกราฟิกเท่ๆ แพตเทิร์นเสื้อผ้าแม้ดูเรียบง่าย แต่ก็ไม่น่าเบื่อดูมีเอกลักษณ์

ถ้าจะถามว่าอะไรชักนำให้ผู้ชายคนนี้ที่เรียนจบมัณฑนศิลป์หันมาทำงานด้านแฟชั่น คงต้องย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่เขาเริ่มรับงานและทำงานวาดภาพประกอบแล้วค่อยแทรกซึมไปทางมีเดียอื่นๆ จนถึงสายแฟชั่น คุณโอเริ่มจากเข้าประกวดการออกแบบลายพิมพ์บนเสื้อยืดและชนะรางวัล แต่ก่อนหน้าที่เขาจะเป็นคุณโออย่างที่เรารู้จักกันผ่านผลงานต่างๆ เช่นทุกวันนี้ เขาเริ่มต้นวาดรูปจากความชอบการ์ตูนญี่ปุ่น จนทุกวันนี้ต้องบินไปญี่ปุ่นทุกปี เพื่อซื้อการ์ตูนเก่าหายากมาสะสมกันเลยทีเดียว เราเลยถามว่าใครคือนักวาดการ์ตูนในดวงใจ คุณโอตอบแทบทันทีเลยว่า จุนจิ อิโต (Junji Ito) และเรื่องที่ชอบมากที่สุดคือ “โทะมิเอะ” (Tomie) เพราะความรู้สึกสยองแบบแปลกประหลาดที่ไม่ได้น่ากลัวแบบเละๆ อย่างการ์ตูนผีสยองขวัญทั่วไป อีกทั้งรู้สึกชื่นชมอาจารย์จุนจิ อิโตที่วาดตัวละครหญิงได้สวยมากและวาดผีได้น่าสยดสยองไม่แพ้กัน

ก่อนหน้าที่จะเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยเขาก็มุ่งแต่วาดการ์ตูน แต่หลังเริ่มเรียนคณะมัณฑนศิลป์แล้วได้วาดอย่างอื่น เสพงานศิลปะแขนงอื่นที่ไม่ใช่แค่การ์ตูนอีกต่อไป จึงเกิดการซึมซับและพัฒนาฝีมือขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันนี้ทุกอย่างหล่อหลอมรวมกันทำให้คุณโอสามารถทำงานได้หลากหลายแนว โดยเขายังไม่ได้ทิ้งลายเส้นการ์ตูนญี่ปุ่นดั้งเดิม ได้ยินอย่างนั้นแล้วเราก็อยากรู้เลยว่าผู้ชายคนนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากอะไรบ้าง  หนึ่งในนั้นคือการสร้างสรรค์ผลงานมาจากโจทย์ที่ลูกค้าสั่งงานมาและความเข้าใจในตัวลูกค้านั่นเอง

สำหรับผลงานส่วนใหญ่ของคุณโอคือการวาดภาพประกอบออกแบบลวดลายกราฟิก ซึ่งในบางครั้งก็ออกไปวาดรูปนอกสถานที่บ้าง คุณโอมักจะใช้ปากกา Copic ชนิดหัวพู่กัน เพราะปากกา Copic สามารถลงสีต่อกันให้เนียนตามที่ต้องการได้เลยโดยไม่ต้องรอสีหมาดหรือแห้ง แถมพกสะดวก ใช้ง่าย ไม่ต้องเตรียมน้ำล้างพู่กันและจานสีมากช่องในการสร้างสรรค์ผลงาน แต่คนที่ใช้ของแพงก็ไม่ควรดูถูกคนใช้อุปกรณ์ราคาย่อมเยา ศิลปินที่เก่งจริงคือคนที่สามารถใช้สื่อ อุปกรณ์ หรือมีเดียต่างๆสร้างสรรค์ผลงานออกมาตรงโจทย์ได้ดีที่สุด

คุณโอยังแนะเทคนิคอีกว่า ถ้าลงสีสะท้อนแสงของ Copic ก่อนและทับด้วยสีอื่นๆ อีกที จะได้เอฟเฟกต์เหมือนไฮไลต์ที่ดูเด่นและแปลกดี แต่ถ้าเป็นงานที่เน้นความเร็วเช่นการสเกตช์โดยนำไอเดียที่มีอยู่ในหัวมาเก็บไว้บนกระดาษกันลืม คุณโอก็จะใช้ปากกา ZIG ที่หัวเล็กกว่า Copic แบบหัวพู่กันและหัวจะหมาดกว่าอีกด้วย เวลาใช้จึงต้องเบามือกว่าตอนใช้ Copic คุณโอกล่าวว่า ปากกา ZIG เมื่ออยู่กับเขาอายุไขจะสั้นกว่า Copic ดังนั้นจึงซื้อปากกา ZIG แค่โทนสีเข้มอย่างเทา ดำ และน้ำตาลเป็นหลัก ส่วน Copic นั้นมีเป็นร้อยแท่งร้อยกว่าสีทีเดียว คุณโอแอบกระซิบอีกว่าแม้เขาจะมี Copic เยอะมาก แต่บางสีไม่เคยใช้เลยก็มี

ช่วงท้ายๆ ของการสัมภาษณ์นี้ คุณโอกล่าวว่าทุกอย่างมีลำดับขั้น ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ ความคิด และมุมมองต่างๆ เช่นพู่กันก็มีหลายระดับ อย่างพู่กันที่เขาว่าแพงมันก็ดีจริงๆ มันต่างกันจริงๆ ในขณะเดียวกันคนที่ใช้ของถูกก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานให้ดีได้เหมือนกัน แต่คนที่ใช้ของถูกก็ไม่ควรว่าหรือเขม่นคนที่ใช้ของแพง

สามารถติดตามคอลเลคชันล่าสุด S/S2017 ของแบรนด์ PAINKILLER ที่มีวางจำหน่ายอยู่ในขณะนี้ทางเพจเฟซบุ๊ก @PAINKILLERATELIER หรือติดตามผลงานของคุณโอเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊ก @oterawat

Copic & ZIG

_
RIETY

The Reflection of Beauty

หากมองจากในรูปแล้วคนส่วนใหญ่คงคิดว่าคุณปั๋นเป็นสาวน้อยน่ารัก ลุคสบายๆ อ่อนหวาน รักตัวการ์ตูนแมวน้ำ อุ๋ง อุ๋ง มาเมะโกมะที่แสนจะน่ารักและชอบวาดรูปหญิงสวยๆงามๆ แต่จริงๆแล้วเธอกลับเป็นหนึ่งในศิลปินและนักวาดภาพประกอบที่จริงจังและมีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดคนหนึ่งเลยก็ว่าได้ เธอมีความมุ่งมั่นและมีระเบียบวินัยสูงมาก ตอนเด็กเธอมีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักวาดการ์ตูนให้สำนักพิมพ์ญี่ปุ่นโชเน็งจัมป์ที่โด่งดังที่สุดในวงการการ์ตูนลูกผู้ชายเช่นเดียวกับเด็กๆ ทั้งชายและหญิงในวัยเดียวกัน แม้รู้ดีว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะเป็นนักวาดการ์ตูนของสำนักพิมพ์นี้ แต่เธอกลับเป็นเด็กคนหนึ่งที่ฝึกวาดรูปอย่างจริงจัง ถ้าจะถามว่าจริงจังขนาดไหน เธอเริ่มจากตื่นนอนตอนตี 4 เพื่อวาดรูปทุกเช้าก่อนไปโรงเรียน

ขณะอยู่ในห้องเรียนเธอก็เอาแต่วาดรูปทั้งวัน พอกลับบ้านเวลา 6 โมงเย็นถึง 4 ทุ่มเธอก็จะฝึกวาดรูปต่อ ตั้งแต่ 4 ทุ่มถึงเที่ยงคืนก็จะเป็นช่วงเวลาที่เธอเขียน Storyboard ใหม่และทบทวนว่าพรุ่งนี้จะวาดอะไรต่อดี พร้อมกับตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าในหนึ่งเทอมของโรงเรียนที่เธอจำเป็นต้องไปเข้าเรียนวันจันทร์ถึงวันศุกร์ทุกสัปดาห์ เธอต้องออกหนังสือการ์ตูนทำมือหรือโดจินชิ (Doujinshi) ที่คิดเรื่องราวเอง วาดเอง ลงแสงเงาและสีเอง ติดสกรีนโทนเอง ส่งโรงพิมพ์ให้พิมพ์เอง ให้ได้อย่างน้อย 3 เล่ม หลังจากวาดเสร็จก็จะนำไปวางขายตามงานการ์ตูนต่างๆ ที่มักจัดขึ้นช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ส่วนช่วงปิดเทอมที่แม้จะสั้นกว่าช่วงเปิดเทอม เธอก็ยังสามารถวาดรูปได้เต็มวัน เพราะไม่ต้องเดินทางไปโรงเรียน และตั้งเป้าหมายว่าจะต้องออกหนังสือให้ได้อย่างน้อย 3 เล่มเหมือนกัน

ถ้าเอาตารางการฝึกวาดรูปของคุณปั๋นให้เด็กที่อยากเป็นนักวาดการ์ตูนดู อาจต้องส่ายหน้าหรืออาจทำตามได้ไม่กี่วันก็เลิกล้มความตั้งใจที่อยากเป็นนักวาดการ์ตูนไปเลยก็ได้ แต่สำหรับคุณปั๋น นี่คือชีวิตวัยเด็กและวัยรุ่นของเธอ โชคดีที่คุณแม่เห็นความตั้งใจและเข้าใจสิ่งที่เธอทำในตอนนั้น คุณปั๋นเล่าว่าทุกครั้งที่คุณแม่ได้ยินใครมาว่าเธอว่าชอบวาดรูปเล่นไปวันๆ คุณแม่ก็จะบอกว่า ลูกฉันไม่ได้วาดรูปเล่นๆ นะคะ เขาวาดรูปจริงจังค่ะ ส่วนคุณพ่อก็คอยให้กำลังใจเธอเช่นกัน ในวันที่เธอไปขายหนังสือการ์ตูนที่วาดเองได้วันแรกและได้เงินครั้งแรกจากการวาดรูป คุณพ่อพูดกับเธอว่า ต่อไปนี้ลูกเป็น (นักเขียนการ์ตูน) มืออาชีพแล้วนะ เพราะลูกสามารถหาเงินจากมันได้แล้ว แม้ว่าปัจจุบันนี้เธอไม่ได้เป็นนักเขียนการ์ตูนให้โชเน็งจัมป์อย่างที่ตั้งใจเอาไว้ในสมัยเด็ก แต่เธอยังได้เป็นศิลปินฟรีแลนซ์ ได้ทำงานที่เธอรักและมีความสุข

เครื่องเขียนที่เราเห็นว่าน่าสนใจที่สุดจนต้องถามเธอว่า มันคืออะไรและใช้ทำอะไรถึงอยู่บนโต๊ะทำงานของเธอ เพื่อให้แน่ใจว่าเธอไม่ได้เผลอวางเครื่องสำอางไว้บนโต๊ะใช่ไหม ก็คือ สีฝุ่น Pan Pastel Artists’ Pastels ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์แบบตลับใสมองเผินๆ เหมือนตลับเครื่องสำอางไฮไลเตอร์หรือบลัชออนยังไงยังงั้นเลย วิธีใช้ก็คล้ายกันมากเลย โดยใช้ก้อนฟองน้ำที่หน้าตาเหมือนฟองน้ำแต่งหน้าอีกเช่นกัน มาเกลี่ยให้เนื้อสีฝุ่นเนียนเสมอกัน จนได้ระดับความเข้มและสีที่ต้องการ ข้อแตกต่างอย่างเดียวคงเป็นการใช้กับพื้นผิวบนกระดาษแทนใบหน้านั่นเอง ผลลัพธ์ของการลงสีฝุ่นคือจะได้สัมผัสของสีบนเนื้อกระดาษที่มีความละมุนละไมดุจหมอกยามเช้าที่แสนเย็นสบายอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งอุปกรณ์เครื่องเขียนอื่นๆ ไม่สามารถให้สัมผัสแบบนี้ได้ แม้เราจะมีสีฝุ่นของไทยขายตามท้องตลาดและร้านเครื่องเขียนทั่วไป แต่เนื้อสีกลับหยาบกว่าและไม่เนียนเสมอกันเท่าไรนัก คุณภาพยังไม่อาจทัดเทียมแบรนด์ของญี่ปุ่นได้ในขณะนี้

ตอนนี้เธอกำลังทำผลงานชุด Blood and Tone ซึ่งกำลังเป็นที่จับตามอง เพราะคอนเซปต์คือนำเลือดจริงๆ ของนางแบบแต่ละคนมาใช้แทนสีในการระบายภาพ ถ้าคุณสนใจแนวศิลปะที่มีเลือดเป็นองค์ประกอบ ก็สามารถติดตามผลงานอื่นๆ ของคุณปั๋น Riety เพิ่มเติมได้ทางเพจเฟซบุ๊ก @rietyrive

Holbein Acryla Gouache

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ