วัดระดับหรือไม่ ?

คอลัมน์คราวที่แล้วผมได้เขียนถึงความยากลำบากในการตรวจสอบทักษะความสามารถในการใช้ภาษาไทยของคนญี่ปุ่น เหตุผลหลักๆ มีอยู่สองประการ
1) มีน้อยคนนักที่เข้าใจ/เรียนภาษาไทยในญี่ปุ่น
2) ไม่ค่อยมีข้อสอบไหนที่วัดระดับความสามารถในการใช้ภาษาไทยได้และถึงจะมี ข้อสอบเหล่านั้นไม่ได้แพร่หลาย และไม่ได้เป็นที่รู้จักกันในสังคมญี่ปุ่น การที่ตัดสินว่าคนไหนมีทักษะ/ไม่มีทักษะนั้นจึงมักจะกลายเป็นสิ่งที่ต้องพึ่งพาอาศัยการประกาศตนของผู้ที่ใช้ภาษาไทยผู้นั้น หรือไม่ก็ต้องเชื่อถือในความสัมพันธ์ที่เคยมีกับผู้ใช้ภาษาไทย (โดยเฉพาะในกรณีของงานที่เกี่ยวข้องกับการแปลหรือการเป็นล่าม)

 

ที่มาภาพ : https://goo.gl/wdj4e1

 

สำหรับข้อที่ 1) ตอนนี้ผมไม่มีอะไรจะต้องเล่านะครับบ่นไปก็เท่านั้น
ส่วนข้อที่ 2) นั้นผมจะขอขยายความหมายเล็กน้อย ณ ที่นี่ 
เท่าที่ผมทราบ ณ ปัจจุบันนี้มีข้อสอบที่คนญี่ปุ่นสมัครและวัดระดับความสามารถของภาษาไทยได้นั้นทั้งหมด 3 ประการ

ประการแรก คือข้อสอบสำหรับการขอใบอนุญาตเพื่อประกอบวิชาชีพมัคคุเทศก์และล่าม (ไกด์นักท่องเที่ยวต่างชาติ) ซึ่งผมเคยเขียนถึงในคอลัมน์ใน KIJI แล้ว ใบอนุญาตใบนี้จะรับรองโดยกระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่น ถือได้ว่าเป็นข้อสอบที่เป็น “ทางการ” มากที่สุด แต่สำหรับข้อสอบเพื่อขอใบอนุญาตนี้ ผู้เข้าสอบจะต้องสอบวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญด้านการเป็นมัคคุเทศก์อีกด้วย อย่างภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นและวิชาที่เกี่ยวข้องกับความรู้ทั่วๆ ไป ส่วนข้อสอบของภาษาไทยนั้นเป็นเพียงตัวเลือกหนึ่งในข้อสอบวิชาภาษาต่างประเทศซึ่งผู้เข้าสอบต้องเลือกวิชาที่ตนสอบและขอใบอนุญาตจากภาษาอังกฤษ จีน เกาหลี ไทย ฯลฯ (และบางครั้งเกิดการกังขาที่มีต่อผู้ที่ได้ใบอนุญาตนี้อย่างที่ผมได้เขียนไป)

ประการที่สอง ได้แก่การสอบวัดระดับความสามารถภาษาไทยที่จัดโดยสมาคมวัดระดับความสามารถภาษาไทยของญี่ปุ่น ข้อสอบนี้ถือได้เป็นข้อสอบที่ถูกแพร่หลายกว้างขวางมากที่สุดในบรรดาผู้สนใจศึกษาภาษาไทยของญี่ปุ่น
ผู้สมัครสามารถเลือกได้ว่าตนจะสอบระดับไหนจากระดับที่ 5 (ต่ำสุด) ถึงระดับที่ 1 (สูงสุด) ทางสมาคมกำหนดไว้ว่า
ผู้ที่สอบผ่านระดับที่ 1 นั้นนับได้ว่ามีความสามารถภาษาไทยพอที่จะทำงานเป็นนักแปลหรือล่ามได้ (หรือเท่ากับเด็กม. 1 ของไทย) แต่ผมเคยเจอบางคนที่ตั้งคำถามกับข้อสอบนี้ว่ามาตรฐานหรือคุณภาพของข้อสอบนี้ไม่ได้ถึงกับระดับดีเยี่ยมและน่าเชื่อถือมาก ด้วยเหตุผลที่ว่าจัดโดยองค์กรเอกชน ฯลฯ

 

ที่มาภาพ : https://goo.gl/kpi1Qj

 

ประการที่สาม คือการทดสอบสมรรถภาพภาษาไทยสำหรับผู้พูดภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศ (CUTFL) ซึ่งจัดโดยสถาบันภาษาไทยสิรินธรแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยข้อสอบนี้ถูกแบ่งออกเป็นข้อสอบการอ่าน การฟัง การเขียนและการพูด ผู้สมัครเลือกได้ว่าจะสอบข้อไหนบ้างตามใจชอบ แต่สำหรับการทดสอบที่จัดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเลือกข้อสอบการพูดไม่ได้ ข้อดีและความสำคัญของการทดสอบนี้ระดับความสามารถของภาษาไทยที่จะออกมาเป็นผลการสอบนั้นนำไปเทียบกับระดับความสามารถของภาษาในระบบอื่นๆของโลกได้อย่าง CEFR (Common European Framework of Reference for Languages) แสดงว่าผู้ที่ได้สอบจะคาดคะเนความสามารถภาษาไทยของตนได้ตามมาตรฐานสากล แต่ดูเหมือนว่าการทดสอบนี้ยังมีคนสมัครน้อยถ้าเปรียบเทียบกับข้อสอบอื่นๆ

แสดงว่าข้อสอบทุกอันจะมีลักษณะพิเศษและข้อดีข้อเสียของมัน ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการสอบวัดระดับความสามารถของภาษานั้นควรจะเป็นเพียง “มาตรฐาน” ที่ใครคนใดคนหนึ่งได้กำหนดเท่านั้น ไม่ควรจะเป็นตัวบ่งชี้ที่เด็ดขาดว่าใครได้/ไม่ได้ระดับไหน ถูกรับรองว่ามีความสามารถแค่ไหน/อย่างไร แต่เป็น “เป้าหมาย” ของผู้เรียนภาษานั้นๆ จะดีกว่า (โดยเฉพาะข้อสอบที่เกี่ยวข้องกับภาษาที่มีผู้เรียนน้อย อย่างภาษาไทย) ใครอยากสมัครสอบอันไหนก็จะสมัครไปเลย แต่แม้มันจะเป็นเป้าหมายก็ตาม น่าจะมี “ความแข่งขัน” ระหว่างข้อสอบและ “ความต่อเนื่อง” ของการจัดทำสอบในแต่ละปี จะได้มีการพัฒนาคุณภาพและความน่าเชื่อถือของข้อสอบ ตอนนี้การวัดระดับความสามารถของภาษาไทยในญี่ปุ่นยังอยู่ในช่วงแรกเริ่มของมัน

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ