Cityboy escapes from the city

ความกระหายหิวและความโดดเดี่ยว

ใช่ว่าผมเพ้อฝันพูดถึงเรื่องความรักโลภหลงใหลอันโรแมนติก แต่พูดถึงเรื่องภาษาไทยต่างหาก

ผมได้ย้ายที่ทำงานไปแล้ว จากโตเกียว ไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรัฐในจังหวัดคะโงะชิมะ จังหวัดคะโงะชิมะอยู่ใต้สุดของเกาะคิวชู พูดอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของประเทศ หากไม่นับจังหวัดโอกินาว่า เป็นจังหวัดล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ผมเดินไปทำงานทุกเช้า ชำเลืองมองภูเขาไฟซากุระจิมะ เป็นภูเขาไฟที่มีพลัง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด และยังมีเกาะมากมายที่มีวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ นานา รวมถึงเกาะยะกุชิมะ เกาะมรดกโลก ขึ้นชื่อเรื่องต้นสนโบราณที่มีอายุหลายพันปี

 

 

จังหวัดนี้มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ด้วย เนื่องจากมีบุคคลหลายคนที่เกิดและเติบโตในคะโงะชิมะ มีบทบาทโดดเด่นในการปฏิรูปประเทศยุคเมจิ (Meiji Restoration) ส่งเสริมให้ประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคสมัยใหม่

อาหารก็อร่อย ผู้คนรอบๆ ก็ใจดีมีน้ำใจ อะไรจะต้องมาพร่ำบ่น?

คือ ไม่มีโอกาสที่จะใช้ภาษาไทยเลยยย!

ชาวไทยที่มาเที่ยวจังหวัดคะโงะชิมะ มีราว 300 คนต่อเดือน ปีละ 3,600 คน ราว 0.4% ของชาวไทยที่มาเยือนญี่ปุ่นทั้งหมด ชาวไทยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดคะโงะชิมะ มีเพียง 83 คน (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2560) เป็น 0.16% ของชาวไทยที่อาศัยอยู่ญี่ปุ่นทั้งหมด! ผมมาที่นี่สามเดือนแล้ว แต่ยังไม่เคยได้ยินเสียงภาษาไทยตามถนนเลย ทั้งที่เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นแทบทุกวันที่โตเกียว เมื่อผมเจอร้านอาหารไทยที่มีเจ้าของชาวไทยเข้า ก็รู้สึกเหมือนได้ดื่มน้ำทิพย์จากสรวงสวรรค์ (มากไปหรือเปล่าเธอ)

 

 

ที่มหาวิทยาลัยผมสอนอยู่ก็เช่นกัน ผมไม่ได้ใช้ภาษาไทยเลย วิชาภาษาไทย วิชาไทยศึกษาก็ไม่มี ที่ผมสอนอยู่ก็วิชาที่เกี่ยวเนื่องกับความหลากหลายด้านวัฒนธรรม หรือการจัด Study Tour ที่พา น.ศ. ไปสิงคโปร์ ฯลฯ ในด้านภาษา หลักสูตรเน้นไปที่เรื่องความสามารถของภาษาอังกฤษของ น.ศ. เพียงอย่างเดียว การที่ผมใช้ภาษาไทยได้ในระดับหนึ่งนั้น แทบไม่มีคุณค่า ณ ที่แห่งนี้ อาจารย์ท่านอื่นๆ ที่ทำวิจัยเรื่องของต่างประเทศก็เช่นกัน สมัยนี้ มหาวิทยาลัยรัฐของญี่ปุ่นแทบทั้งหมด (ยกเว้นมหาลัยที่ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่) ไปในทิศทางเดียวกันหรือมีแนวโน้มใกล้เคียงกัน (ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าวิตกกังวลมาก แต่ผมขอไม่ขยายประเด็นนี้ ณ ที่นี้)

แน่นอน ผมก็ยังอ่านหนังสือภาษาไทย แปลหนังสืออยู่เช่นเดิม แต่การ input เพียงอย่างเดียว รู้สึกว่าไม่พอ หรือขาดอะไรบางอย่างไป ต้องมีโอกาส output หรือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยบ้าง ผมจึงต้องหันไปโพสต์ข้อความไร้สาระในเฟซบุ๊ก ไปเปิดบัญชีใหม่ใน twitter เพื่อหาพ้องพวก (ก็คือ คนญี่ปุ่นสนใจเรียนหรือใช้ภาษาไทย ผมอาจจะเขียนถึงประเด็นนี้ในคอลัมน์คราวหน้า) และแน่นอน คอลัมน์ใน KIJI นี้ก็เป็นโอกาสอันมีค่าสำหรับผม

นี่แหละ คือการใช้ชีวิตที่นอกเมือง แม้ในบรรดาจังหวัดอื่นๆ ก็มีบางแห่งที่มีความต้องการด้านภาษาไทยค่อนข้างสูงอย่างซากะและฮอกไกโด แต่เข้าใจว่าปรากฏการณ์เหล่านี้ถือเป็นกรณีพิเศษมากๆ ในขณะเดียวกัน ถ้าถูกถามว่าอยากกลับโตเกียวไหม ก็คงตอบว่า ไม่ค่อยอยากกลับ เพราะช่วงที่ผมได้ย้ายไปที่จังหวัดคะโงะชิมะนั้น พอดีกับช่วงที่ผมเริ่มรู้สึกเหนื่อยหน่าย หรือถึงกับขยะแขยงชีวิตและผู้คนของเมืองหลวงทั้งที่ตัวเองเกิดและเติบโตในโตเกียวมาตลอด 30 ปี

ถึงกระนั้นก็ตาม ที่โตเกียวนั้นมีการงานที่ใช้ภาษาไทยมากมาย ได้พบปะชาวไทยหลายๆ คน ยังมีโอกาสที่จะสอนภาษาไทยให้แก่ผู้คนที่ต้องการศึกษา หาใช่ผมเปรียบเทียบโตเกียว/เมืองใหญ่กับคะโงะชิมะ/ต่างจังหวัด (จริงๆ ควรจะตั้งคำถามกับคำว่า “ต่างจังหวัด” ด้วย) ว่าที่ไหนเหนือ/ที่ไหนด้อย สิ่งเหล่านี้ก็แล้วแต่ใครจะมองจากจุดไหนเท่านั้น

แต่ถึงจะโลกาภิวัตน์ลามไปถึงแทบทุกจุดของโลก ถึงจะ The World is Flat แค่ไหน ชีวิตของผมที่เปี่ยมไปด้วยภาษาไทย ล้วนเกิดจาก “ความเป็นเมืองใหญ่/หลวง” ของโตเกียวที่ยังหลงเหลืออยู่นั่นแหละ

อดีตเด็กเมืองหนีรอดจากเมือง ไปยังต่างจังหวัดพบเงาตัวเองในต่างมุม

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ