ถนนง่ายๆ ในซอยนี้…สังเกตเห็นอะไรมั้ย

 

เมื่อพูดถึงญี่ปุ่นในมิติของความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง “คนญี่ปุ่นมีระเบียบวินัย” อาจเป็นความคิดแรกที่ผุดขึ้นมา ยิ่งเมื่อดูจากจำนวนประชากรที่อาศัยกันหนาแน่นมากในเขตเมือง ยิ่งทำให้ทึ่งในผลลัพธ์ความเป็นระเบียบเรียบร้อยเช่นนี้ ทำไมพวกเขาทำได้? ทั้งๆที่ผู้คนหนาแน่นเบียดเสียดกันเหลือเกิน (และเป็นที่รู้กันดีว่า ที่ใดมีคนเยอะ ที่นั่นย่อมมีความวุ่นวายตามมา)

Mindset ระบบความคิดที่ฝังรากลึกภายในหัวคนญี่ปุ่นคือ “การไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น” ประโยคนี้ฟังดูเกลื่อนเนอะครับ ดูแสนธรรมดา เป็น Common Sense แต่ลองนึกภาพเมื่อทัศนคตินี้ได้ฝังรากลึกลงในระดับ ‘สังคม’ ผลลัพธ์ที่ได้กลับดูทรงพลังมาก และดูเหมือนสังคมญี่ปุ่นจะประสบความสำเร็จในการปลูกฝังความคิดนี้แก่ประชาชน

 

คุณป้ากำลังทำความสะอาดคราบระเบิดที่น้องหมาปล่อยออกมา

 

คนญี่ปุ่นจะไม่เดินไปกินไป โดยเฉพาะของกินที่มีโอกาสหกเลอะได้สูงอย่างเช่น ซอฟต์ครีม ฯลฯ คงจะดู
สุ่มเสี่ยงไม่น้อยถ้าเดินกินท่ามกลางถนนหนทางที่ผู้คนจอแจ การหาที่นั่งหรือยืนกินเป็นกิจลักษณะ เมื่อ
กินเสร็จค่อยไปต่อ เป็นทางเลือกที่เข้าท่ากว่ามาก (อาจมีเดินกินบ้างตามแหล่งวัยรุ่นๆ ^^)

 

น้องๆ 2 คน นั่งกินเสร็จแล้วค่อยไปต่อ

 

คนญี่ปุ่นก็ยังสูบบุหรี่จัดอยู่ (แม้ยุคนี้จะเบากว่าสมัยก่อนแล้วก็ตาม) ก็ไม่ได้สูบพร่ำเพรื่อ อย่างบนถนน
คนเยอะๆ หน้าทางออกสถานีที่คนแห่ใช้บริการ หรือบริเวณลานจอดรถใต้ดินที่อากาศไม่ถ่ายเท แต่มักไปสูบรวมกันตามจุดสูบบุหรี่ (Smoking Area) ที่มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป

 

 

สถานที่แออัดที่เราเจออยู่ทุกวันขณะโดยสารไปทำงาน คงหนีไม่พ้นภายในรถไฟ จะพบว่าภายในรถนั้น “เงียบ” มากๆ (เงียบจนเกร็ง) เมื่อนั้น “เสียงรบกวนที่ไม่จำเป็น” ก็เกิดขึ้นน้อยมากๆ (เช่น ทำไมเราต้องฟังคนข้างเม้าท์มอยกับเพื่อนในโทรศัพท์ตลอดทาง) ความเงียบยังเสริม “ความรู้สึกของความเป็นส่วนตัว” มากขึ้นแม้พื้นที่จะแออัดเท่าเดิม

 

รอสัญญาณไฟอย่างเคร่งครัด

 

รถต่อคิวเลี้ยวเข้าตึกยาวเหยียด

 

หรือผลลัพธ์ที่สะท้อนแนวคิดนี้ ยังปรากฎผ่านการออกแบบสภาพบ้านเมืองต่างๆ ถนนหนทางในซอยที่มักต้องตีเส้นไหล่ทางเสมอ เพื่อเป็นพื้นที่คนเดินหรืออย่างน้อยเมื่อคนกับรถสวนกัน ต่างฝ่ายยังพอรู้พื้นที่ของตน ทางเดินผู้พิการทางสายตาที่ครอบคลุมในตัวเมือง (ไม่ทอดทิ้งคนตาบอด) การออกแบบบ้านเมืองญี่ปุ่นจึงเป็นอะไรที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา คิดคำนึงถึงผู้อื่นชัดเจนมากๆ

 

ซอยเล็กๆแคบๆ ยังตีเส้นชัดเจน

 

ทางเดินผู้พิการทางสายตา (Tactile Paving) ครอบคลุมในโซนตัวเมือง

 

อีกหนึ่งความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งมีส่วนเสริมสร้างอุปนิสัยความเป็นระเบียบและรักส่วนรวมไม่น้อยคือ “ภัยธรรมชาติ” เมื่อทุกคนรู้ดีว่ามีความโหดเหี้ยมใต้ผืนดินที่ตนอาศัยอยู่ และรู้อยู่ลึกๆ ว่าตนไม่มีทางเอาชนะได้แม้จะมีเทคโนโลยีอันทันสมัยและการฝึกฝนเตรียมพร้อมมาเป็นอย่างดีก็ตาม เพราะมันพร้อม
จะปะทุขึ้นเมื่อไรก็ไม่รู้ ทางเดียวที่จะอยู่รอดได้ระยะยาวคือ การอยู่ในระบบระเบียบ ทำตามกฎกติกาที่สังคมวางไว้

อนึ่ง ในหลายกรณี การมีระเบียบวินัยอยู่ในกฎเกณฑ์ ช่วยให้ทุกอย่างรวดเร็วขึ้น! ไม่ว่าจะเป็นการต่อคิวต่างๆ พวกเขาตระหนักว่าถ้าแทรกคิวผู้อื่น (จนกลายเป็นเรื่องปกติ) วันหน้าตัวเราเองก็มีโอกาสถูกแทรกคิว ถูกโกงเวลา ดังนั้น การที่ทุกคนอยู่ในกฎกติกาก็เพื่อตัวเองด้วยในแง่หนึ่ง ^^

ด้วยสเกลจำนวนประชากรระดับญี่ปุ่นซึ่งมีกว่า 125 ล้านคนอัดแน่นอยู่ในพื้นที่แสนจำกัด เป็นไปได้ว่าหากไม่คิดถึงผู้อื่น ไม่แคร์ส่วนรวมแล้วละก็ อาจกลายเป็นสังคมที่ล้มเหลวจนไม่น่าอยู่แล้วก็ได้

 

 

อาจเข้าทำนอง “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” ^^

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ