Depachika : เดปาจิกะ สวรรค์แห่งของกินที่ชั้นใต้ดินห้างญี่ปุ่น
เดปาจิกะ (Depachika) คือ โซนแหล่งรวมขายของกินอร่อยๆ ณ ชั้นใต้ดินของห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่น
โดยสื่อมวลชนชาวญี่ปุ่นได้สร้างคำเรียกนี้ขึ้นมา โดยเกิดจากการรวบคำระหว่าง
เดปา (デパ) = ห้าง
จิกะ (地下) = ชั้นใต้ดิน
หรืออธิบายให้เห็นภาพก็คือ แหล่งของกินที่ชั้นใต้ดินของห้างนั่นเอง โดยได้รับการคัดเลือกมาจากทางห้างสรรพสินค้าแล้วทั้งสิ้น การจัดวางหน้าร้านจะเป็นบล็อคๆ ตรงกลางคือทางเดิน ซึ่งแต่ละร้านจะจัดวางของกินในตู้กระจกใส สามารถมองเห็นได้ชัดเจน
ภาพ : .timeout
ภาพ : omiyadata
แต่ของกินในที่นี้ จะไม่ใช่ลักษณะเป็นร้านอาหาร หากแต่เป็นคอร์เนอร์เล็กๆ โดยของกินส่วนใหญ่มักเป็นของหวาน ขนมปัง เบเกอรี่ เบนโตะ ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจากจังหวัดต่างๆ คล้าย OTOP
ภาพ : mkii.jp
ภาพ : aumo.jp
โดยของหวานที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ มาโดยตลอด มีหลากหลายประเภทให้เลือกทั้งแบบตะวันตกและญี่ปุ่น เช่น เค้ก ช็อกโกแลต มาการอง ซอฟท์ครีม
ภาพ : 4travel.jp
ซึ่งผลิตภัณฑ์บางอย่างในเดปาจิกะมักเป็นของแบรนด์มีชื่อเสียง คุณภาพดีแต่ราคาก็แอบสูง สามารถซื้อเป็นของฝากของที่ระลึกได้ นักช็อปทั้งหลายควรแวะมาสำรวจด้วยประการทั้งปวง
ภาพ : aumo.jp
ด้วยความที่อยู่ชั้นใต้ดินและแต่ละร้านค้าตั้งอยู่ติดๆ กัน ทางเดินก็ไม่ได้กว้างขวางใหญ่โต อีกทั้งบางแห่งเพดานก็ไม่ได้สูงโปร่งนักไม่แปลกที่บริเวณนั้นจะหอมฟุ้งไปด้วยกลิ่นขนม
กลิ่นหอมอบอวลทั้งชั้น!
ที่เพียงลงบันไดเลื่อน หรือก้าวเท้าออกมาจากลิฟต์ ก็ได้กลิ่นหอมๆ ปะทะเข้าจมูกทันที เป็นอีกสัมผัสหนึ่งที่กระตุ้นให้คนอยากเดินและรู้สึกอยากจับจ่ายซื้อของได้ง่ายขึ้น พนักงานแต่ละร้านก็จะออกมายืนพูดต้อนรับเสียงดังฟังชัดตามแบบญี่ปุ่น ที่ยั่วน้ำลายมากคือหลายร้านมีให้ทดลองชิมฟรีด้วยนะ
เดปาจิกะ เป็นสถานที่ที่บางครั้งแค่เดินผ่านก็มีเพลิดเพลินแล้ว แม้ไม่ได้ตั้งใจซื้อ ก็อาจเสียเงินได้โดยไม่รู้ตัว!
ไม่ต้องแปลกใจไป หากรู้ตัวอีกทีก็หิ้วถุงของกินออกมาแล้ว
เดปาจิกะ (Depachika) อยู่ที่ไหนบ้าง?
ตามชื่อเลย ตั้งอยู่ชั้นใต้ดินตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำต่างๆ ในญี่ปุ่น คิดง่ายๆ ยิ่งห้างฯ หรูแค่ไหน เดปาจิกะก็ยิ่งหรูมากเท่านั้น โดยเวลาทำการเหมือนกันกับตัวห้างฯ ทั่วไปอยู่ระหว่าง 10:00-20:00 น.
ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ มีที่ไหนบ้าง?
แบรนด์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ เช่น Takashimaya, Isetan, Mitsukoshi, Daimaru
และที่กระจุกตัวอยู่ตามภูมิภาคเป็นหลัก เช่น Tokyu Department Store ภูมิภาคคันโต เช่น โตเกียว Meitetsu Department Store ภูมิภาคชูบุ เช่น นาโกย่า Kintetsu Department Store ภูมิภาคคันไซ เช่น โอซาก้า
ส่วนถ้าถามว่า แล้วทำไมต้องนำมารวมกันไว้ชั้นใต้ดิน เหตุผลหนึ่งก็เพราะ ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคที่จำเป็นสำหรับโซนอาหาร เช่น ด้านน้ำประปา แก๊ส ไฟฟ้า จะถูกกว่านำไปไว้ชั้นบนๆ
และห้างญี่ปุ่นมักมีทางเชื่อมกับสถานีรถไฟใต้ดินใหญ่ๆ ทำให้ผู้โดยสารจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสามารถเดินมาจับจ่ายซื้อของได้สะดวก รวมถึงสะดวกด้านการขนส่งนำของมาลงร้านด้วย
ภาพ : timeout.com
ไปจนถึงเหตุผลปลีกย่อยอื่นๆ อีกมากมาย กลายเป็นแนวคิดมาตรฐานการจัดวางผังของทางห้างญี่ปุ่นไปแล้ว ที่ต้องจัดพื้นที่ชั้นใต้ดินเป็นเดปาจิกะ
และเพราะได้รับความนิยมมาก เดปาจิกะในห้างสร้างใหม่ ปัจจุบันจึงมีแนวโน้มได้รับพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ตกแต่งหรูหราสวยงามขึ้น คัดเลือกร้านดีๆ ดังๆ มาลงมากขึ้น
ภาพ : .timeout.com
ทั้งนี้ เพื่อต่อสู้กับการค้าออนไลน์ที่เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ให้ออกมาซื้อของข้างนอกน้อยลง รวมถึงต่อสู้กับร้านค้าภายในสถานีรถไฟเองที่มักอยู่ใกล้ๆ กัน มีโซนขายของกินในลักษณะคล้ายคลึงกัน สุดท้ายผู้บริโภคอย่างเราได้ประโยชน์ สะดวกหาซื้อได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
ภาพ : timeout