“ปก” ปิดความลับ
เวลาซื้อหนังสือจากร้านหนังสือในญี่ปุ่นสิ่งหนึ่งที่พนักงานถูกเทรนด์ให้สอบถามลูกค้าเสมอคือ
จะให้ “ห่อปก” ด้วยไหม?
ซึ่งปกในที่นี้ไม่ได้หมายถึงกระดาษใสที่เราคุ้นเคยดีในบ้านเรา แต่เป็นกระดาษ(บางๆ) ที่มักมีสัญลักษณ์หรือดีไซน์ที่สื่อถึงแบรนด์ร้านหนังสือนั้นๆ
หลายคนอาจสงสัยว่า เอ…แล้วจะให้ห่อปกที่โชว์แบรนด์ร้านหนังสือทำไม ไม่เห็นอยากได้เลย แต่หน้าที่จริงๆ ของมันแล้วคือการ “ปกปิด” ไม่ให้คนอื่นรู้ว่าหนังสือเล่มนี้คือหนังสืออะไร ประเภทไหน เพราะคนญี่ปุ่นช่างคิดมากและหวงแหนความเป็นส่วนตัวสูงเหลือเกิน พวกเขาชอบคิดว่าตัวเองกำลังถูกเพ่งเล็งจ้องมองอยู่ตลอดเวลา…คุณพระ
ว่ากันตามตรง ปฎิเสธไม่ได้ว่าหนังสือที่เราอ่านก็สะท้อนภาพลักษณ์บางอย่างออกมา ไม่ใช่หนังสือทุกประเภทที่คนเราอยากจะเปิดเผยต่อสาธารณะชน ซึ่งมีคุณค่าและทัศนคติทางสังคมกำกับไว้อยู่ หากพ้นเขตแดนนี้ไปแล้ว อาจเข้าสู่พื้นที่ด้านลบโดยปริยาย
คุณผู้หญิงวัยสาวบางคนอาจมีความเขินอายไม่น้อยหากคนอื่นรู้ว่าตนกำลังอ่านหนังสือประเภท…
1. 10 วิธีบริหารเสน่ห์ ดึงดูดชายหนุ่ม: อาจโดนมองว่าเธอคงไม่มีเสน่ห์ ถึงยังโสดจนจะขึ้นคาน หรือไม่ก็เธอนี่ช่างว้อนตัวผู้ชายเหลือเกิน
2. เริ่มต้นทำอาหารแบบง่าย: อาจโดนมองว่าผู้หญิงคนนี้ทำอาหารไม่เป็น ทั้งๆ ที่ควรมีทักษะพื้นฐานด้านนี้
3. 7 เคล็ดลับลดความอ้วน: อาจโดนมองว่า แล้วทำไมถึงปล่อยให้ตัวเองอ้วนเผละจนมาถึงจุดนี้ได้?
ในขณะเดียวกัน ฝ่ายชายวัยทำงานก็อาจรู้สึกเสียเซลฟ์ได้ หากคนอื่นรู้ว่าตนกำลังอ่านหนังสือประเภท
1. 10 กลยุทธ์ขยายเครือข่าย: อาจโดนมองว่าเป็นพวกขายตรงตามตื๊อ
2. ทุกเรื่องที่ชายควรรู้ ก่อนลงมือจีบสาว: อาจโดนมองว่าผู้ชายคนนี้ซื่อบื้อ จีบสาวไม่เป็นถึงขนาดต้องซื้อหนังสือ
3. ภาษาอังกฤษเบื้องต้น ใครๆ ก็พูดได้: อาจโดนมองว่ายุคนี้แล้ว ภาษาอังกฤษคุณยังได้แค่พื้นฐานอยู่อีกเหรอ
ไม่ว่าจะอ่านหนังสืออะไรก็สามารถถูกมองเป็นแง่ลบได้เสมอ (อนิจจาเสียจริงมนุษย์เรา) อย่างไรก็ตาม ไม่มีหนังสือใดหรอกที่พอเราหยิบมาอ่านแล้วจะถือว่าผิด เพียงแต่มันถูกกำกับด้วยภาพลักษณ์ทางสังคมๆหนึ่ง ที่มีทัศนคติมุมมองที่ให้คุณค่ากับบางอย่างและขณะเดียวกันก็ต่อต้านเรื่องบางเรื่องด้วย
ปกปิดความลับนี้จึงถูกคิดค้นมาเพื่อเป็นกำแพงไม่ให้ใครมารับรู้และ “ตัดสิน” ตัวเราเร็วเกินไป
จงเตือนสติตัวเราอยู่เสมอ “อย่าตัดสินหนังสือจากเพียงแค่ปกของมัน”…คนเราเองก็เช่นกันนะครับ