พอถึงช่วงฤดูร้อนของประเทศญี่ปุ่นราวๆ เดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม หนึ่งในกิจกรรมที่ฉันนึกถึงคือการเดินป่าปีนเขา

ประเทศญี่ปุ่นเป็นอีกแห่งหนึ่งในโลกที่ขึ้นชื่อว่าผู้คนนิยมเดินป่าปีนเขากันมาก เช่นเดียวกับเยอรมนี อิตาลี และอังกฤษ เวลาฉันเดินทางไปในต่างจังหวัดที่ญี่ปุ่นช่วงฤดูร้อนทีไร ก็มักจะได้เห็น “ยามะเกิร์ล-ยามะบอย” สวมใส่เสื้อผ้าสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งทั้งยังมีกระเป๋าเป้ ไม้เท้าเดินป่า กระดิ่งห้อยกระเป๋า ชวนให้สงสัยว่าพวกเขากำลังออกเดินทางไปเที่ยวภูเขาหรือป่าที่ไหนกัน

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2016 เพิ่งถูกกำหนดให้เป็นวันแห่งภูเขา (Yama no Hi) ซึ่งถือเป็นวันหยุดราชการ เพื่อให้คนญี่ปุ่นระลึกถึงคุณประโยชน์จากภูเขา

คนญี่ปุ่นขึ้นไปบนยอดเขาสูงเสียดฟ้ากันทำไม พวกเขานิยมการปีนเขากันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ฉันเริ่มสงสัยมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากมีโอกาสไปเดินขึ้นภูเขาในจังหวัดนากาโน่เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2016 ที่แสนจะคึกคักมากับเขาด้วย

 

 

เมื่อมองย้อนกลับไปตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สันนิษฐานกันว่าคนญี่ปุ่นปีนเขามากันตั้งแต่สมัยโจมง (Jomon period, ประมาณ 14,000 ถึง 300 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เพราะบริเวณตีนเขาของเทือกเขายัตสึกะทาเกะ (Yatsugatake Mountains) ในจังหวัดนากาโน่และยามานาชิมีการค้นพบรอยเท้าของมนุษย์ยุคโจมงเป็นจำนวนมาก บริเวณนั้นมีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยแหล่งอาหาร มีกวาง และหมูป่า ซึ่งอนุมานได้ว่าผู้คนไม่ขาดแคลนอาหาร แล้วทำไมบนยอดเขาสูงมากกว่าสองพันเมตรจากระดับน้ำทะเลที่ไม่ค่อยมีพืชพรรณหรือไม่สามารถทำการล่าสัตว์ จึงมีรอยเท้าของมนุษย์ยุคโบราณอยู่ด้วย

หลักฐานนี้ทำให้เรารู้ว่าเหล่ามนุษย์ยุคโจมงเดินขึ้นภูเขาเพราะมีจุดมุ่งหมายอื่นนอกเหนือจากการล่าสัตว์หรือหาอาหาร ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่าพวกเขาไปเดินเล่นชมทัศนียภาพบนที่สูงเพื่อความรื่นรมย์เหมือนกับเราๆ ในยุคปัจจุบัน

ถัดมาในสมัยนารา (Nara period, ค.ศ.710-794) ในยุคที่บ้านเมืองมีกฎหมายและย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เฮโจเคียว (จังหวัดนาราในปัจจุบัน) สมัยนั้นมีงานวรรณกรรมสำคัญชื่อ “มันโยชู” (Man’yoshu) เป็นการรวบรวมบทกวีไว้ราวสี่พันห้าร้อยบทที่แต่งโดยสามัญชนไปจนถึงจักรพรรดิ บทกวีที่บอกเล่าถึงการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นยุคนั้น ซึ่งปรากฏเนื้อหาเกี่ยวกับการพักผ่อนด้วยการเดินชมนกชมไม้และการปีนเขาอยู่ด้วย

ส่วนการปีนเขาในรูปแบบที่ไปเป็นกลุ่มหรืออาจเรียกได้ว่าใกล้เคียงกับการท่องเที่ยวแบบทัวร์ในปัจจุบันนั้นแพร่หลายขึ้นในสมัยเอโดะ (Edo period, ค.ศ.1603-1868) ทั้งนี้มีความสัมพันธ์กับความเชื่อทางศาสนา โดยคนที่มีความเชื่อหรือนับถือสิ่งเดียวกันจะมารวมตัวกันเพื่อออกเดินทาง เช่น ผู้ที่นับถือและเคารพในความศักดิ์สิทธิ์ของภูเขาไฟฟูจิ การรวมกลุ่มก็คล้ายกับการไปทัวร์ตรงที่จะมีหัวหน้ากลุ่มเป็นผู้ประสานงาน เก็บเงิน คิดเส้นทางและหาที่พัก

พออ่านเรื่องราวในแต่ละยุคสมัยคร่าวๆ ฉันก็พอจะเห็นภาพนิดๆ แล้วล่ะว่าการเดินป่าปีนเขาเป็นกิจกรรมที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นมานาน และนับจากปี 2016 เป็นต้นมา ที่ฉันเดินทางไปผจญภัยเล็กๆ บนภูเขาที่ญี่ปุ่นทุกครั้งฉันจะได้พบกับคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กอนุบาลตัวเล็กกับคุณพ่อ กลุ่มนักเรียนที่มาเดินเรียงแถวพร้อมครูบาอาจารย์ ไปจนถึงเหล่าคุณลุงคุณป้าที่ต่างไม่ย่อท้อกับการเดินบนพื้นดินขรุขระระเกะระกะด้วยก้อนหินเพื่อไต่ระดับขึ้นสู่ความสูงชันภาพของผู้คนเหล่านั้นเป็นทั้งแรงบันดาลใจและแรงผลักให้ฉันลุกขึ้นมาขยับตัวออกกำลัง โยกซ้ายขวาในแต่ละวันระหว่างรอฤดูกาลผันผ่าน เพื่อรอช่วงเวลาที่จะได้ไปเดินเล่นบนที่สูง ทิวทัศน์เจริญตาเจริญใจในปีถัดๆ ไป

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ