‘Boso Gibier Fair’

พอดีว่าเหลือบไปเห็นรายละเอียดของงานเทศกาล ‘Boso Gibier Fair’ ของจังหวัดชิบะ (Chiba) ในปีนี้เข้า ก็เลยอยากจะเล่าสู่กันฟัง ถึงคอนเซ็ปต์ของอีกหนึ่งงานเทศกาลญี่ปุ่นที่น่าจะแปลกหูคนไทย ทั้งยังเป็นการเปิดโลกแปลกๆ อีกใบในญี่ปุ่นที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน

จากชื่อเทศกาลข้างต้น คำว่า ‘Gibier’ เป็นคำที่มาจากภาษาฝรั่งเศส อ่านว่า ‘จิบิเย่’ มันคือเมนูพื้นเมืองของประเทศฝรั่งเศสที่จะนำเอาเนื้อสัตว์ป่าที่ได้จากการล่ามาทำเป็นอาหาร ซึ่งคนญี่ปุ่นก็หยิบเอาคำนี้มาใช้ดื้อๆ แบบนั้นในความหมายเดียวกันเลย ส่วนคำว่า ‘Boso’ เป็นชื่อเรียกบริเวณคาบสมุทรที่ตั้งอยู่ในจังหวัดชิบะทางทิศตะวันออกของอ่าวโตเกียว และเมื่อนำมารวมกับคำว่า ‘Fair’ มันจึงแปลว่า “เทศกาลกินเนื้อสัตว์ป่าที่ได้จากการล่าในแถบคาบสมุทรโบโซ” ประมาณนี้

ซึ่งความน่าสนใจของงานเทศกาลนี้ คือการเป็นหนึ่งในเทศกาลกินสัตว์ป่าช่วยชาติของประเทศญี่ปุ่น

 

 

หลายคนอาจสงสัย คนญี่ปุ่นไม่มีอะไรให้กินกันแล้วหรือไร ทำไมต้องไปรุกรานสัตว์ป่าด้วยเล่า ใจเย็นๆ เรื่องนี้มีที่มาที่ไปแน่นอน สืบเนื่องมาจากการที่สัตว์ป่าในญี่ปุ่นสร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่องกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในแถบเมืองละแวกป่าเขา อันเนื่องมาจากการอพยพย้ายถิ่นจนมาแอบกินพืชผลของชาวบ้านเสียหาย ทั้งยังมีชาวบ้านและชาวเมืองได้รับอันตรายจากพวกสัตว์ป่าเหล่านั้นด้วย ใครที่ดูข่าวญี่ปุ่นบ่อยๆ น่าจะเคยได้เห็นข่าวที่มีหมูป่าออกมาวิ่งพล่านอยู่บนถนนในญี่ปุ่นกันมาบ้าง ซึ่งกว่าจะจับได้แต่ละทีก็ต้องมีการเกณฑ์เจ้าหน้าที่มาช่วยกันอย่างอุตลุด แน่นอนว่ามันเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุด้วย

ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นปัญหาเล็กๆ ระดับท้องถิ่น ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้มีแค่ในจังหวัดชิบะ แต่ปัญหาแบบเดียวกันนี้ได้เกิดขึ้นในหลายๆ ภูมิภาคของญี่ปุ่น ซึ่งสภาพความเสียหายโดยรวมของประเทศที่ทางรัฐบาลญี่ปุ่นประเมินออกมานั้น มีมูลค่าความเสียหายถึงกว่า 23,000 ล้านเยน เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงไม่อาจนิ่งนอนใจได้อีกต่อไป ซึ่งวิธีแก้ปัญหาที่ได้สรุปออกมาก็คือ การรณรงค์ให้คนญี่ปุ่นช่วยกันเข้าป่าล่าสัตว์และกินเนื้อสัตว์ป่าเพื่อช่วยชาติกันหน่อยเถอะ โดยสัตว์ป่าที่อนุญาตให้ล่าได้ในที่นี้ ก็จะมีตั้งแต่หมูป่า กวางป่า กระต่ายป่า ไก่ฟ้า (หรือคิจิ) นกเป็ดน้ำ นากหญ้า (หรือที่เรียกว่าหนูยักษ์) อีเห็นเครือ ไปยันอีกา!

ซึ่งญี่ปุ่นก็ไม่ได้จะรณรงค์กันแบบขำๆ แต่ยังทำกันจริงจังเป็นวาระแห่งชาติมาโดยตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ถึงขั้นมีการตั้งสมาคมส่งเสริมการกินเนื้อสัตว์ป่ากันเป็นกิจจะในปี 2014 พร้อมออกมาตรฐานการเข้าป่าล่าสัตว์อย่างถูกวิธี เพราะใช่ว่าอยู่ๆ จะถือปืนเดินดุ่มๆ เข้าไปล่าได้เลย แต่ผู้ที่จะเข้าไปล่าได้จะต้องไปทำใบอนุญาตในการล่าสัตว์ป่าให้เรียบร้อยเสียก่อน รวมไปถึงใบอนุญาตสำหรับการพกพาอาวุธปืนที่ใช้ในการล่าด้วย และแม้จะมีใบอนุญาตทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็ใช่ว่าจะเข้าไปล่าเท่าไหร่ก็ได้ตามอำเภอใจ แต่การล่านั้นจำเป็นที่จะต้องใส่ใจถึงระบบนิเวศน์ในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย เพื่อให้สัตว์ป่ากับผืนป่าสมดุลกันโดยมีองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยกันดูแลและเฝ้าระวังในส่วนนี้ ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ล่าเองก็ต้องช่วยกันทำนุบำรุงผืนป่าแห่งนั้นให้กลับมามีระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์มากพอสำหรับการอยู่อาศัยของสัตว์ป่า

 

 

ในส่วนของขั้นตอนการจัดจำหน่ายและการนำเนื้อสัตว์ป่าเหล่านั้นไปทำเป็นอาหาร ทางรัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ยังมีความใส่ใจที่จะเข้าไปกำกับดูแลเพื่อที่จะได้นำเอาเนื้อสัตว์เหล่านั้นไปทำอาหารได้อย่างถูกวิธีและมีสุขอนามัย ด้วยการเผยแพร่ขั้นตอนการทำอาหารของเนื้อสัตว์แต่ละชนิดที่มีการอนุญาตให้ล่าผ่านทางสื่อต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่การแล่ การปรุง ไปจนกระทั่งการเก็บรักษา นั่นหมายความว่ากิจกรรมเข้าป่าล่าสัตว์เพื่อที่จะนำมากินเป็นอาหารนี้ จำเป็นที่จะต้องอาศัยการร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง

สำหรับ Boso Gibier Fair ที่จัดขึ้นในแต่ละปีของจังหวัดชิบะ ก็จะมีอาหารจากสัตว์ป่ามากมายทั้งเมนูแบบญี่ปุ่นและเมนูแบบตะวันตกมาให้ได้ชิมกัน ด้วยการรังสรรค์ของร้านอาหารที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำเมนูจากสัตว์ป่า ขณะที่ร้านอาหารที่จะเข้าร่วมในงานนี้ ก็มีไม่ต่ำกว่า 50 ร้าน และก็ไม่ได้มีแค่ที่จังหวัดชิบะเท่านั้น หากแต่ในอีกหลายๆ ภูมิภาคของญี่ปุ่นก็มีเทศกาลทำนองนี้อยู่ด้วยเช่นกัน อาทิ เทศกาล Beer Terrace กับการนำเบียร์ท้องถิ่นมาจับคู่กับจิบิเย่ที่ศาลเจ้าซุมิโยะชิ (Sumiyoshi) จังหวัดเฮียวโงะ (Hyogo) หรือจะเป็นเทศกาล Mie Gibier ที่จังหวัดมิเอะนี่ก็น่าสนใจ

สำหรับใครที่อยากลองของแปลก และอยากที่จะรู้ว่าคนญี่ปุ่นจะปรุงสัตว์ป่าออกมาเป็นเมนูแบบไหนกันบ้าง เชิญแวะไปสัมผัสเองตามเทศกาลจิบิเย่ของแต่ละจังหวัดได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเข้าป่าไปล่าเอง

ส่วนใครที่มีโอกาสได้ไปลอง อย่าลืมแวะมารีวิวด้วยละกันว่าจิบิเย่ของคนญี่ปุ่นนั้น จะสู้หมูป่าผัดเผ็ดของบ้านเราได้ไหม.

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ