สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นทั่วโลก สร้างจากการปรับตัวปากท้อง วิถีชีวิตของแต่ละถิ่นที่ ความงามของเรือนพื้นถิ่นจึงมาจากการโน้มเข้าหาธรรมชาติอย่างเรียบง่าย ไร้จริต และแตะต้องได้ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีการศึกษาถึงคุณค่าของสถาปัตยกรรมเหล่านี้เพื่อนำมาปรับใช้กับบริบทปัจจุบัน แม้แต่ในเมืองใหญ่ก็ยังมีสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเมือง (Urban Vernacular Architecture) ซึ่งปรับตัวจากสภาพเมืองที่มีความหนาแน่นกว่าชนบท การปรับตัวเข้าหาธรรมชาติของแต่ละถิ่นที่จึงมีความน่าสนใจ เนื่องจากแต่ละแห่งมีสภาพแวดล้อมที่น่าค้นหาแตกต่างกันไป

เมืองใหญ่ของญี่ปุ่นในยุค 70’s เป็นไปด้วยความวุ่นวาย อันเป็นเรื่องธรรมดาของเมืองที่มีความหนาแน่นสูง สภาพบ้านเรือนที่เราคุ้นตาในย่านพักอาศัยของญี่ปุ่นนั้นไม่ต่างจากที่เห็นได้จากแอนิเมชันที่คนไทยคุ้นเคย บ้านแต่ละหลังปลูกใกล้ชิดกัน ขนาดไม่ใหญ่โตมีสวนหย่อมขนาดเล็กในบ้าน พอให้มีธรรมชาติอยู่ในขอบเขตรั้วของตัวเอง การจัดแปลนบ้านเป็นไปอย่างกระชับ ทุกพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ยิ่งเมื่อพิจารณาดูสภาพแวดล้อมภายในแล้วเรือนญี่ปุ่นมีลักษณะปิดเข้าหาสภาพแวดล้อมภายในเพื่อต้องการความเป็นส่วนตัวสูงตามแบบบุคลิกคนญี่ปุ่น

เขตสุมิโยชิ เมืองโอซาก้าในยุค 70’s มีลักษณะดังที่กล่าวมา มีพื้นที่น้อยมาก เรียกได้ว่าแคบจนผิดวิสัยในสายตาชาวไทยเลยก็ว่าได้ การจะสร้างบ้านสักหลังในบริบทแบบนั้น ดูจะเป็นเรื่องที่ต้องคิดแก้ปัญหามากกว่าปกติ แต่สำหรับสถาปนิกผู้เติบโตมากับยายในบ้านแถวในเมืองโอซาก้าอย่างอันโดะ ทาดาโอะ (Tadao Ando) ปัญหานี้ดูจะมีทางออกด้วยการออกแบบบ้านคอนกรีตเปลือยทรงกล่องที่ดูธรรมดา

Azuma House เขตสุมิโยชิ จังหวัดโอซาก้า

บนผืนที่ดินที่มีขนาดแคบยาว ดูจะทำอะไรไม่ได้มากกว่าห้องแถวแบบที่เราสามารถพบได้ดาษดื่น เช่นอันโดะใช้การตีความธรรมชาติกับสถาปัตยกรรมและออกแบบบ้านหลังนี้ในปี ค.ศ. 1975 ในสภาพที่เป็นชุมชนหนาแน่น บ้านโดยรอบมีขนาดเล็ก มีความสูงโดยทั่วไปคือ 2 ชั้น บ้านแต่ละหลังแม้จะปลูกเรียงชิดกันแต่ก็ป้องกันความเป็นส่วนตัวด้วยบานหน้าต่างกระจกฝ้าแบบต่างๆ อนุญาตให้แสงธรรมชาติเข้ามาภายในพร้อมพรางสายตาจากคนภายนอกแต่ในอุดมคติของอันโดะ บ้านคือการเชื่อมผู้คนเข้าหาธรรมชาติในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เขาได้เลือกออกแบบตามสภาพที่ดินที่แคบลึก ด้วยการแบ่งแปลนบ้านเป็น 3 ส่วนในพื้นที่ 2 ชั้น ส่วนหน้าและหลังมีการใช้สอยส่วนกลางเป็นคอร์ตกลางบ้านที่เปิดโล่งด้านบนปิดล้อมด้วยผนังคอนกรีตเปลือย ส่วนหน้าสุดหลังผนังคอนกรีตทึบ มีเพียงประตูบานเปิดเดี่ยวที่เชื้อเชิญเข้าไปยังด้านใน หลังประตูบ้านคือห้องรับแขกซึ่งถ้าผ่านห้องนี้ไปจะพบกับคอร์ตที่เปิดสู่ท้องฟ้า คว้านให้กล่องคอนกรีตนี้มีชีวิตจากปรากฏการณ์ธรรมชาติทั้งแสงแดด ฝนตก หิมะ คอร์ตกลางบ้านนี้เป็นส่วนเชื่อมทุกส่วนใช้สอยภายในเข้าไว้ด้วยกัน ห้องในสุดของชั้นล่างเป็นห้องรับประทานอาหารและห้องน้ำ จากนั้นต้องเดินออกมายังคอร์ตเพื่อจะขึ้นบันไดไปยังห้องนอนชั้นบน

คอร์ตที่ไร้หลังคาคลุม สร้างความคลุมเครือว่าลานน้อยกลางบ้านนี้คือภายนอกหรือภายใน สถาปัตยกรรมที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ แม้จะเปียกฝน เดินฝ่าแสงแดด ความหนาวเย็น เมื่อเดินจากห้องนอนมาเข้าห้องน้ำ แม้ว่าจะดูลำบากในสายตาคนทั่วไป แต่สำหรับงานของอันโดะแล้ว การให้สถาปัตยกรรมน้อมเข้าหาธรรมชาติเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในแง่การใช้งาน เป็นการให้มนุษย์น้อมรับธรรมชาติอย่างไม่ประนีประนอม

เดินจากซอยที่มีความส่วนตัวสูง มาสู่ในย่านที่ถนนใหญ่ดูจอแจตามแบบฉบับชุมชนเมืองของโอซาก้า ผมพบคำตอบบางอย่าง ความสงบส่วนตัว เป็นของมีราคาสำหรับคนญี่ปุ่น อันโดะจึงเลือกใช้วิธีที่ดูเด็ดขาดเข้มงวด แต่มันคือคำตอบที่ทำให้ผมต้องเดินทางมาดูงานนี้ให้เข้าใจบรรยากาศจริง 

หากอยากมาเยือนบ้านที่จัดได้ว่าเป็น 1 ในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมของยุค 70’s แห่งนี้ขอให้เข้ามาชมภายนอกโดยระมัดระวังเรื่องความเป็นส่วนตัวของชุมชนแห่งนี้ด้วย 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ