ปัจจุบันมีร้านชาบูและร้านยากินิกุ (ปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่น) อยู่แทบทุกหนทุกแห่ง ทำให้หลายๆ คนคงรู้จักและเคยรับประทานเนื้อชนิดต่างๆ กันมากขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนึ่งในเนื้อสุดพรีเมียมที่เต็มไปด้วยคุณภาพและรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์อย่าง “วากิว” หรือเนื้อวัวจากประเทศญี่ปุ่นนั้นกำลังเป็นที่นิยมในคนไทย ซึ่งวันนี้คุณสามารถสัมผัสประสบการณ์ใหม่ของการรับประทานวากิวผ่าน “Art Beef Gallery” ที่ไม่เพียงแค่ดื่มด่ำไปกับสี กลิ่น และรสชาติอันหอมหวาน แต่ยังสามารถเพลิดเพลินไปกับสุนทรียภาพในการชื่นชมงานจิตรกรรมย้อนยุคตั้งแต่สมัยเอโดะได้อีกด้วย

ชุดของขวัญเนื้อ Art Beef Gallery ในแพ็กเกจหรูหราสง่างามภาพ: scontent.fbkk22-4.fna.fbcdn.net

โดยครั้งนี้ร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดัง เฮียวตันยะ (HYOTANYA) ที่ขึ้นชื่อเรื่องชาบูแบบดั้งเดิม ได้คิดค้นชุดของขวัญในรูปแบบพิเศษที่ผสานวัฒนธรรมการกินวากิวเข้ากับงานศิลปะในคอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจอย่าง “ฮิโตเทมะ (Hitotema)หมายถึงการเพิ่มความใส่ใจและความพยายามเพื่อยกระดับคุณค่าของผลงานให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งของขวัญชิ้นนี้จะมีลูกเล่นหรือทีเด็ดอะไรนั้นมาดูไปพร้อมๆ กันเลย

อย่างแรกคุณจะได้สนุกไปกับการ “เปิด” กล่องของขวัญสุดพิเศษ จากนั้น “ลิ้มรส” เนื้อโอมิ (Omi Beef) 1 ใน 3 สุดยอดเนื้อวากิวของญี่ปุ่นแสนอร่อย และท้ายที่สุดสามารถนำกล่องบรรจุภัณฑ์มา “ตกแต่ง” เป็นของประดับได้อีกด้วย

ต่อมาคือทางร้านได้สร้างเว็บไซต์ที่แสดงข้อมูลและแนะนำรายละเอียเล็กๆ น้อยๆ แต่น่าสนใจของโอมิวากิวให้คุณได้เข้าชม ซึ่งในเว็บไซต์จะมีข้อมูลเกี่ยวกับฟาร์มวัว การขยายพันธุ์ และการขนส่งเนื้อโอมิ ตลอดจนความมุ่งมั่นในการคัดสรรและวิธีการปรุงรสเนื้อโอมิให้ลูกค้าได้รับประทานอย่างเอร็ดอร่อย

Art Beef Gallery ที่เมื่อรับประทานหมดก็นำมาใช้ตกแต่งบ้านได้อีก

จุดเด่นที่ขาดไม่ได้คือดีไซน์อันสวยงามของผลิตภัณฑ์ที่แสดงให้เห็นถึงภาพวาดโบราณในสมัยเอโดะที่เรียกกันว่าอุกิโยะ (Ukiyo-e)” อย่างในภาพด้านบนเป็นภาพวาดที่ชื่อว่า “ฟูจิสีแดง (Red Fuji)” หนึ่งในผลงานของศิลปินชื่อดัง คัตสึชิกะ โฮกูไซ (Hokusai Katsushika) ที่ทางร้านนำเนื้อโอมิสีแดงสดริ้วลายสวยงามมาแทนที่ตัวภูเขาไฟฟูจิของภาพต้นแบบ นอกจากนี้ยังมีภาพวาดอุกิโยะอีกหลายภาพที่สวยงามไม่แพ้ภาพฟูจิสีแดง

Art Beef Gallery กับภาพวาด “ฟูจิสีแดง (Red Fuji)” หนึ่งในผลงานของศิลปินชื่อดัง คัตสึชิกะ โฮกูไซ (Hokusai Katsushika)

แต่ไม่ใช่แค่นั้น เมื่อคุณรับประทานเนื้อจนหมด ด้านหลังจะมีแผ่นรองที่ทำให้เหมือนเป็นภาพต้นแบบ ซึ่งคุณสามารถนำภาพนี้ไว้ใช้แขวนตกแต่งผนังเพื่อความสวยงามภายในบ้าน ทำให้ไม่เป็นการเพิ่มปริมาณขยะอีกด้วย

Art Beef Gallery ประกอบไปด้วยเนื้อโอมิเกรด A5 ที่คัดคุณภาพอย่างดี

นอกจากนี้ที่จะไม่เอ่ยถึงไม่ได้เลยก็คือเนื้อโอมิเกรด A5 ที่คัดคุณภาพอย่างดี ซึ่งทางร้านใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่การขยายพันธุ์วัว และเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ตลอดจนการขนส่งก่อนที่จะมาถึงมือของลูกค้า โดยเนื้อโอมินี้จะมีให้เลือก 2 แบบ คือเนื้อโอมิไม่ติดมัน และเนื้อโอมิลายหินอ่อน

จุดเด่นของเนื้อโอมิคือลวดลายที่สวยงามดั่งลายหินอ่อน เพราะเนื้อจะแทรกด้วยไขมันชั้นเลิศ พร้อมกับรสชาตินุ่มลึก และกลิ่นหอมที่กลมกล่อมพร้อมจะกระจายในปากทุกคำที่คุณได้ลิ้มลอง

ภาพ: hitotema.shop

แต่รสชาติที่อร่อยกลมกล่อมนั้นขึ้นอยู่กับการปรุงรสด้วยเช่นกัน ทางร้านตระหนักถึงข้อนี้ดี ดังนั้นในเว็บไซต์จึงแนะนำวิธีการปรุงรสที่จะช่วยให้เราสามารถสัมผัสรสชาติความอร่อยที่แท้จริงของเนื้อ เริ่มแรกในกรณีที่เก็บเนื้อแช่ไว้ในช่องแข็งให้นำออกมาแช่ที่ช่องเย็นธรรมดาเพื่อละลายน้ำแข็ง เป็นเวลา 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นค่อยนำออกมาพักไว้ในอุณหภูมิห้อง

ภาพ: hitotema.shop

ในขั้นตอนการปรุงอาหารให้โรยด้วยเกลือและพริกไทยเล็กน้อย จากนั้นนำไปย่างด้วยไฟอ่อน เนื่องจากเนื้อโอมิสุกได้ง่ายกว่าเนื้อทั่วๆ ไป ควรระวังความร้อนที่มากเกินไปจะทำให้ไขมันในเนื้อละลาย ซึ่งจะทำให้เนื้อเหนียว และจะดีกว่าหากใช้เตาอินฟาเรดที่ช่วยควบคุมความร้อนได้ง่ายกว่า

สุดท้ายคือเครื่องปรุงรสและเครื่องเคียงต่างๆ ที่เชฟแนะนำให้กินคู่กัน ได้แก่ เกลือ ซอสพอนสึ ซุปดาชิ ส้มซึดาจิ วาซาบิ และหัวไชเท้าขูด

บอกได้เลยว่านี่ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการรวมวัฒนธรรมอาหารและศิลปะเข้าด้วยกันอย่างลงตัว จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทรงคุณค่า ไม่ว่าคุณจะซื้อเพื่อรับประทานกันภายในครอบครัวหรือมอบเป็นของขวัญให้กับคนที่คุณรัก ก็สามารถสร้างความสุข ความสนุกสนาน และความเพลิดเพลินให้กับทุกคนที่ได้รับ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอาร์ต บีฟ แกลเลอรี่อย่างแท้จริง โดยสินค้าตัวนี้ผลิตจำนวนจำกัดเพียงแค่ 1,000 ชิ้นเท่านั้น

Info
Art Beef Gallery (富嶽三十六景 凱風快晴)
Release Date: 19 มิ.ย. ค.ศ. 2021
Price: 13,000 เยน (รวมภาษี)
Website: www.hiotema.shop

 

ติดตามข่าวสารญี่ปุ่นอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่

ที่มา: www.prtimes.jp/

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ