ภาพหนึ่งภาพ แทนคำพูดนับพันคำคำนี้เป็นจริงเสมอและดูเหมือนสังคมญี่ปุ่นจะนำแนวคิดนี้มาใช้ในชีวิตประจำวันหลากหลายสถานการณ์ เพราะไม่ว่าจะเดินไปทางไหน ก็มักถูกอิทธิพลของรูปภาพประกอบถาโถมใส่เราตลอดไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

 

ระวังประตูหนีบมือนะ 555+ (ทำซะน่ารักเชียว)

 

ในหลายกรณี การอธิบายด้วยภาพมีประสิทธิภาพมากกว่าตัวหนังสือ ในแง่ประสาทวิทยา สมองมนุษย์เราก็จินตนาการ+จำ+รื้อฟื้นความทรงจำ อะไรที่เป็นภาพได้ง่ายและชัดเจนกว่าตัวอักษรมาก (สังเกตเวลาท่องศัพท์ภาษาอังกฤษ ตอนพยายามเฟ้นนึกให้ออก ในหัวจะแสดงออกมาเป็นภาพ ^^)

 

ห้ามนั่งบนบันได (เป็นจุดที่ผู้คนเดินผ่านพลุกพล่าน)

 

ถังขยะที่กำหนดให้แยกทิ้งตามประเภทขยะ ก็มีรูปภาพติดอยู่ แทบไม่ต้องอ่านทำความเข้าใจอะไรเลย เห็นภาพปุ๊ป ชั่วเสี้ยววินาทีสมองเราก็ประมวลผลปั๊ป และลงมือทิ้งให้ถูกได้ง่ายๆ

 

เห็นปุ๊ปรู้ปั๊ป ทิ้งลงถังได้ถูกต้อง

 

บนถนนหนทาง ป้าย “U-turn” หรือ กลับรถ ก็มักมาเป็นรูปภาพตัวยูกลับหัวเสมอ รูปภาพประกอบยังถูกนำมาประยุกต์ใช้ในงานไซต์งานก่อสร้างมากมาย ทั้งเตือนล่วงหน้าว่าข้างหน้ามีการก่อสร้างปิดการจราจร ทั้งแสดงออกถึงการขออภัยในความไม่สะดวก

 

ป้ายเตือนล่วงหน้า และ ขออภัยในความไม่สะดวก

หากมีแค่ป้ายหยุด หรือ เตือนให้ระวัง คงไม่ดึงดูดมากพอ (ในเขตโรงเรียน)
ทางแยกในซอยเล็ก มีรูปเท้าให้คนหยุดดูรถก่อนเดินข้ามด้วย

 

และสิ่งหนึ่งที่ตัวหนังสืออาจมอบให้ได้ไม่กินใจเท่าก็คืออารมณ์ความรู้สึกรูปภาพที่แสดงออกมาแฝงความรู้สึกบางอย่างเข้ามาด้วยเสมอ (ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของผู้ออกแบบ) เช่น ต้องการสื่อถึงการขอโทษ สื่อถึงภัยอันตรายให้เราโปรดระวัง สื่อถึงการสร้างความมั่นใจให้ผู้เดินผ่าน

 

“กรุณารอสักครู่นะครับ” คุณพระ โค้งขออภัยซะสุภาพแบบนี้ใครจะโกรธลง! ฮ่าๆๆๆ
ถอดหมวกขอโทษ…

 

รูปภาพยังทำลายอุปสรรคทางด้านภาษา การอธิบายถึงวิธีการใช้งานเป็นสิ่งจำเป็น แต่หลายครั้งผู้คนก็ไม่อ่านกัน รูปภาพประกอบจึงถูกนำมาใช้ในกรณีนี้ด้วย หรืออย่างเมนูอาหารในญี่ปุ่นมักมีรูปภาพขนาดใหญ่ประกอบด้วยเสมอ พร้อมกับคำอธิบายเพิ่มเติมด้านล่าง (ร้านที่ไม่มีรูปภาพเมนู ก็มักมีตัวอย่างของกินจำลองเป็น 3D วางโชว์หราอยู่หน้าร้านเลย) นักท่องเที่ยวหรือใครที่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นเลยก็หายห่วง

 

ไม่รู้จะเช็ดฝาที่นั่งยังไง…มองภาพโลด
ร้าน Sukiya ของโปรดผมเลย ^^ – ขอขอบคุณภาพจาก http://bit.ly/2tvI4oL

 

อีกตัวอย่างใกล้ตัว โพสใน Newsfeed ของ Facebook ที่เราอ่านกันทุกวันนี้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ารูปภาพเป็นตัวสร้างความน่าดึงดูดให้คนหยุดดูและเลือกที่จะอ่านตัวหนังสือต่อ ยิ่งสร้างสรรค์ภาพให้ดึงดูดตาสวยงามและสื่อถึงหัวข้อบทความ (ที่คุณอาจสนใจเป็นทุนเดิม) ผู้อ่านก็หยุดดูและกดอ่านรายละเอียดมากขึ้นได้

อธิบายด้วยภาพอาจมีประโยชน์กว่าที่คุณคิดและใช้งานได้จริงในหลากหลายบริบท ไม่ได้เจาะจงเฉพาะเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่เรื่องซีเรียสใหญ่ๆ ก็ประยุกต์ใช้ได้เช่นกันนะ ^^

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ