Mitake EP01 : ตามรอยคุณหญิงกีรติและนพพรไปปิกนิกบนภูเขามิตาเกะที่ชานเมืองโตเกียว
สารบัญ
เคยมีคนบอกว่าการเดินทางคือการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ตำราเล่มไหนก็มิอาจบรรยายอารมณ์ความรู้สึกนั้นไว้ได้ทั้งหมด ต้องออกไปค้นหาด้วยตนเอง ไม่ว่าสถานที่แห่งนั้นจะอยู่ไกลเพียงใด ขอเพียงมีความมุ่งมั่น สักวันจะต้องไปถึง…
ฉันพยักหน้าให้กับนิยาม (ที่จำมา) จากประโยคเปิดบทอันสวยหรู แน่นอนว่าความคิดนั้นบันทึกไว้เพียงเสี้ยวในสมอง สำหรับฉันแล้ว ยังมีอีก 2 สิ่งสำคัญที่ต้องตามหานั่นคือ ‘ความกระแดะ’ และ ‘เงิน’ ที่มากพอจะผลักดันให้การเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกนี้สำเร็จผล ความกระแดะในบริบทนี้คือคำนิยามที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อใช้กับตัวเองเท่านั้น มันคือความอยากพาตัวเองก้าวไปข้างหน้าให้มากขึ้นจากวิถีที่เคยกิน นอน และเที่ยว แค่ภายในประเทศ คำถามที่ผุดขึ้นในสมองต่อมาคือ ไปไหนดีล่ะ เออ…ที่แผงหนังสือไกด์บุ๊กน่าจะมีคำตอบ
ฉันเดินมาหยุดอยู่หน้าเชลฟ์แผนกไกด์บุ๊กในร้านคิโนะฯ และแช่ตัวอยู่นาน ยืน ย่อ ก้ม หมอบพื้นอยู่หลายจังหวะเพื่อมองหาหนังสือดีๆ สักเล่มที่พอจะตอบโจทย์ความอยากไปต่างแดนครั้งนี้ แต่ก็ไม่เจอเล่มไหนที่ถูกใจสักที…หรือประโยคเปิดบทมันจะเป็นเรื่องจริง?
แผนหาหนังสือนำทางล้มระเนระนาด เลยเดินย้ายฝั่งไปเลือกนิยายติดมือสักเล่มก่อนกลับ หยิบหนังสือเล่มแล้วเล่มเล่าออกมาอ่านเรื่องย่อแล้วเก็บเข้าที่อยู่หลายครั้ง จนกระทั่งนิยายสีชมพูเล่มหนึ่งดึงดูดดวงตากลมโตให้กะพริบถี่รัวก่อนกวาดตาอ่านทุกตัวอักษรบนปก ‘ข้างหลังภาพ’ ของศรีบูรพา
คุณพระ นี่แหละไกด์บุ๊กของทริปนี้ พลิกดูปกหลังเห็นราคาร้อยเดียว โอเค…จ่ายตังค์!
ความกระแดะพร้อมแล้ว เมื่อลองคำนวณเงินในบัญชีก็(คง)พร้อมเช่นกัน หลังจากนั้นไม่กี่วันในเว็บไซต์จองตั๋วเครื่องบินก็บันทึกชื่อสนามบินนะริตะและวันเวลาเดินทางในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเสร็จสรรพ…โตเกียวขา จะบินไปหาแล้วนะ
หลังกล้อง ข้างหลังภาพ |
01 SHINJUKU STATION
80 ปีล่วงเลยผ่าน ผู้คนยังพลุกพล่าน
ข้างหลังภาพเป็นนวนิยายรัก ในเรื่องตอนหนึ่งกล่าวถึงการเดินทางด้วยรถไฟไปปิกนิกกันที่ ‘‘มิตาเกะ (Mitake : 御岳山)’’ ของคุณหญิงกีรติและนพพร และตอนนี้ฉันยืนอยู่บนชานชาลาชินจุกุที่ว่านั้นจากในเนื้อเรื่องซึ่งถูกเขียนไว้เมื่อ 80 ปีก่อน ผู้คนยังพลุกพล่านไม่แปรเปลี่ยน ทำให้อดคิดถึงโตเกียวในอดีตไม่ได้…ใครก็ได้เอากระเป๋าโดราเอมอนมาให้ที จะกลับบ้าน (โนบิตะ) ไปนั่งไทม์แมชชีน~!
–
02 JR CHUO LINE (RAPID)
แผนที่ และการเดินทางสุดงวยงง
ประโยคเกริ่นนำด้านบนดูโรแมนติก (เป็นบ้า) แต่การเอาตัวเองมาถึงที่นี่ได้ดูจะบ้าขั้นกว่า ที่บอกว่าขั้นกว่าเพราะทริปนี้ลากเพื่อนมาด้วยคนหนึ่ง แต่มีเหตุให้แยกจากกันแล้วต้องปล่อยมันให้ไปเดินเฉิดฉายในเมืองแถมยังต้องเอา Pocket WiFi ให้อีก ส่วนตัวเองนั้นก็มายืนเบลอๆ อยู่หลังเส้นเหลืองรอรถไฟมารับออกไปยังชานเมืองในสภาพไร้อินเทอร์เน็ต มีเพียงรูปแคปหน้าจอวิธีเดินทางจาก Google Map เท่านั้น แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือ ‘หลงทาง’ พอนึกย้อนกลับไปถึงวินาทีแรกที่ก้าวเท้าออกจากห้องพักก็ต้องพ่นลมหายใจเบาๆ
ในรีวิวท่องเที่ยวบอกว่าหากหลงทางที่ญี่ปุ่น แค่ดูเส้นทางรถไฟเป็นแล้วจะไปไหนก็ได้ เฮลโหล นี่คือญี่ปุ่น (อยากกางแผนที่รถไฟทั้งเมืองให้ดูมาก) ขึ้นผิดตั้งแต่สถานีแรกจากที่พักแถวอาซากุสะเลย
เวลาแห่งความสุขก็ไหลไปเรื่อยๆ ได้จ่ายค่าทดลองนั่งรถไฟไปไหนก็ไม่รู้ แถมยังได้ใช้สกิลภาษาอังกฤษขั้นกากกับผู้ที่โดนดักถามทางด้วยใบหน้าเหมือนตอนนั่งสอบไฟนอลสมัยเรียน ที่ไม่มีอะไรในหัวเลยแต่อยากตอบถูกมากๆ จนนั่งมาถึงสถานีชินจุกุได้ในที่สุด
แอบสงสารคนที่โดนดักถามอยู่เหมือนกันที่ต้องเสียเวลากับคนหลงทางหน้ามึนๆ แต่นั่นก็ทำให้ได้สัมผัสกับคำว่า ‘ภาษาใจ’ เขาเต็มใจตอบไหมไม่อาจหยั่งรู้ แต่รู้ว่าทุกครั้งที่เขาพยายามบอกทางเรา มันมี ‘ความตั้งใจ’ อยู่ในการแสดงออก นิ้วที่กดแอปเช็กเส้นทางให้ นิ้วที่ลากไปบนป้ายแผนที่ขนาดใหญ่เพื่อบอกทาง เท้าที่พาเดินไปซื้อตั๋วถึงตู้ ภาษาอังกฤษที่พยายามสื่อสารให้เราเข้าใจมากที่สุด หรือภาษาญี่ปุ่นที่พูดออกมาจากใจ (เพราะสกิลอังกฤษกากพอกัน)
แต่ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหน ก็ทำให้สัมผัสได้ว่าพวกเขาเหล่านั้นอยากส่งนังคนนี้ให้ถึงที่หมาย พีคสุดของการบอกทางวันนี้ ขอยกให้คุณป้าท่านหนึ่งที่รัวเจแปนนิสอย่างกับก๊อกรั่ว พร้อมชี้ไม้ชี้มือไปที่หมายเลขชานชาลา ฉันก็ได้แต่ตอบรับ “ไฮ่ ไฮ่” ซึ่งจับใจความได้ไม่ทั้งหมด รู้แค่ป้าบอกว่าให้เปลี่ยนขบวนรถด้วย…อ้าว?! ที่อ่านในรีวิวมันไม่ได้บอกไว้ (บรรลัยละ)
คุณป้าส่งมนุษย์หน้ามึนขึ้นรถไฟได้สำเร็จ ตอนนี้ฉันอยู่ในรถไฟ JR สาย Chuo Line (Rapid) ความพิเศษของขบวนนี้คือมันไม่ได้จอดทุกสถานีที่เสียงหวูดแล่นผ่านเพื่อพาเราไปถึงจุดหมาย แต่เมื่อนั่งไปได้สักพักก็เริ่มตะขิดตะขวงใจ พอลองเทียบกับแผนที่ในโทรศัพท์มือถือแล้ว รถไฟจอดครบทุกสถานีเลยจ้า…ขึ้นผิดคันสินะ… โอเค กรุณาตัดคำว่า Rapid ออกไปค่ะ
ในรถไฟคนไม่เบียดเสียดกันอย่างที่คิดเพราะมันวิ่งออกนอกเมือง ไร้เสียงพูดคุย เงียบเป็นเป่าสาก ได้ยินแต่เสียงประกาศตามสาย แล้ววินาทีเสียวสันหลังก็มาถึงคือต้องเปลี่ยนขบวนรถ สายตาก็ล็อกเป้าหมายไปยังเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่นั่งเล่นเกมมือถืออยู่ทันที ก่อนถามด้วยมุกเดิมๆ ที่ใช้มาตลอด “ไปมิตาเกะ ต้องขึ้นคันไหนคะ” พร้อมยิ้มแห้งๆ
หลังจากสปีกอังกฤษผสมญี่ปุ่นกันอยู่นาน เขาคงประเมินแล้วว่านังนี่ต้องหลงแน่ๆ จับมันส่งขึ้นรถไฟเลยง่ายกว่า เพียงไม่นานรถไฟขบวนใหม่ก็เทียบชานชาลา เราโบกมือให้กันหลังสัญญาณปิดประตูรถดังขึ้น ตอนนี้รถไฟกำลังมุ่งหน้าไปตามเส้นทางที่ควรจะเป็นแล้ว เมื่อไกลห่างจากตัวเมือง อาคาร บรรยากาศ ความเงียบสงบ เทียบไม่ได้เลยกับสังคมที่เพิ่งจากมา…บ้านเมืองค่อยๆ เผยมนตร์เสน่ห์ทีละนิด ปูทางไปสู่จุดหมายของวันนี้…
บันทึกเมื่อวันที่ ๒๕ ธ.ค. ๕๙ | เวลา ๐๙.๑๘ น.
ณ รถไฟสาย Chuo Line
03 MT. MITAKE
ผู้เฒ่า ผู้แก่ และเพื่อนร่วมทาง
รถไฟพามาถึงที่หมาย ผู้คนไม่ได้หลั่งไหลมาที่นี่กันมากนักในวันหยุดสุดสัปดาห์ เพราะความตื่นเต้นที่พาตัวเองมาที่นี่ได้แบบงงๆ จึงมัวแต่เก็บภาพจนหันมาอีกทีก็ไม่เจอใครบนสถานีแล้ว เลยต้องรีบวิ่งไปขึ้นรถบัสที่จอดอยู่
รถบัสพาผู้เดินทางไปยังภูเขาลูกที่เป็นจุดหมายเดียวกัน ภาพบ้านเมืองยังปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดสองข้างทางจนกระทั่งภาพภูเขาตระหง่านค่อยๆ ปรากฏต่อหน้า…ถึงแล้ว~
แต่ยังติดเรื่องที่ว่าจะจ่ายตังค์ค่ารถยังไง เพราะคุณตาคนขับพูดผ่านไมค์แบบรัวเร็วในลำคอ (ฟังไม่ทัน) เลยอาศัยดูจอแสดงค่าเงินแล้วควักเหรียญหยอดลงไปพร้อมตั๋วในช่องที่เขาบอก ความจริงแล้วเขาให้หยอดแค่เหรียญ วินาทีนั้นฉันรีบจ้ำลงรถ แต่ทำไมรู้สึกว่าคุณตาพ่นลมหายใจแบบเอือมระอาในระดับความดังต่ำสุดเพื่อไม่ให้เราอายกันนะ
มิตาเกะมีพื้นที่ค่อนข้างกว้าง เดินสวยๆ ไม่ได้เพราะมีแต่ทางลาดชันทั้งนั้น วิธีขึ้นเขามีทั้งแบบเคเบิลคาร์ กระเช้าเก้าอี้น้อย และเดินตามเส้นทางในป่า เมื่อเดินไปอีกนิดก็เจอตู้กดตั๋ว หน้าตู้มีคุณลุงสองคนคุยกันอย่างออกรส คงเห็นเรายืนเอ๋อเลยเดินมาบอกว่าแต่ละแบบเป็นอย่างไรก่อนเดินจากไป แต่ฉันฟังไม่รู้เรื่องไง เลยกดตามลุงแล้ววิ่งตามไปรอรถ คุณลุงยังแสดงความเป็นมิตรหันมาถามและขอดูตั๋ว ฉันก็เลยยื่นให้ คุณลุงยิ้มแล้วบอกว่าเราซื้อเหมือนกัน แหงละ…ก็ซื้อตามลุงไง
ทั้งคุณลุงและฉันคุยกันจนเคเบิลคาร์มารับพวกเราไปยังจุดชมทิวทัศน์ รู้สึกดีอย่างไรก็ไม่รู้ที่ได้คุยกับคนแปลกหน้าอย่างไม่เคอะเขิน เพราะเราชอบธรรมชาติเหมือนกันรึเปล่า หรือเพราะเขาเห็นเรามาคนเดียว แต่ไม่ว่ายังไงก็หุบยิ้มไม่ได้เลยจริงๆ
เคเบิลคาร์ค่อยๆ พาคณะสังเกตเขาขึ้นไปด้านบน อากาศค่อยๆ เย็นลง เมื่อรถจอดแล้วเดินออกไปด้านนอก ภาพแรกที่เผยต่อสายตาคือลานโล่งที่มองออกไปเห็นกรุงโตเกียว โตเกียวทาวเวอร์ และโตเกียวสกายทรีอยู่ไกลลิบๆ อ่า~ หนาว! ไม่ไกลกันนักมีกระเช้าเก้าอี้น้อยที่พาเราขึ้นไปยังความสูงอีกระดับ เมื่อถึงจุดที่ต้องเดินเท้าด้วยตัวเองแล้ว เป้าหมายแรกก็คือ “ศาลเจ้ามุซะชิมิตาเกะ” (Musashi Mitake Shrine)
สองข้างทางเริ่มเป็นป่าเขา ตัวเราค่อยๆ ถูกดูดกลืนไปกับธรรมชาติทีละนิดๆ ห่างออกไปสักระยะที่หัวใจเริ่มเต้นตึกๆ (เหนื่อย) ภาพหลังคาบ้านก็เริ่มปรากฏทีละหลังๆ ป้ายบอกทางส่วนใหญ่เป็นตัวคันจิ (เหงื่อแตกทันทีเพราะใส่พานมอบคืนอาจารย์ไปหมดแล้ว) จำได้แค่ตัว ‘คะมิ’ ที่แปลว่าพระเจ้า เลยเดาว่าศาลเจ้าคงเป็นทางนั้นแหละ แต่เพื่อความชัวร์เลยวิ่งไปถามคุณตาที่เจอกันระหว่างทาง
ถนนหนทางแถวนี้ค่อนข้างแคบ รถวิ่งได้พอดีคัน คุณตารู้โดยอัตโนมัติว่าเราจะไปไหนจึงชี้บอกทางอย่างใจดี แม่เจ้า! มีแต่ทางลาดขึ้นลง (หากสภาพเสื้อผ้า หน้า ผม รองเท้า และร่างกายไม่พร้อม ไม่แนะนำให้ไปเสี่ยงโง่ๆ แบบนี้ค่ะ) เรียกได้ว่าเดิน 5 ก้าว พัก 5 นาที
นอกจากอาคารบ้านเรือนที่ดึงดูดใจแล้ว ผู้คนที่มาเยือนก็ดึงดูดตาไม่แพ้กันคนเฒ่าทั้งนั้นเลยนี่หว่า สัดส่วนของหนุ่มสาวนับว่ายังน้อยกว่ามาก คนต่างชาติอย่าได้พูดถึง แค่ 1% ก็นับว่ามากแล้ว ระหว่างที่เห็นบรรดาผู้สูงอายุเดินชมธรรมชาติกันอย่างเพลินอุรา สิ่งหนึ่งที่ประทับตราตรึงใจคือตลอดทางเดินจะได้ยินเสียงทักทาย “คนนิจิวะ” พร้อมใบหน้ายิ้มแย้ม เขาทักเราก่อนบ้าง เราทักเขาก่อนบ้าง
เมื่อทักทายกลับก็จะมีคำถามต่อว่า “โด๊ะโกะ คะระ คิตะ โหน~? (มาจากไหน)” พอตอบว่ามาจากไทยทีไร แอบหวั่นใจว่าเขาจะหาว่าเรามาจากไต้หวันอยู่เรื่อย แต่ก็ปล่อยให้เขาเดาไปเพราะสิ่งที่ได้ยินต่อจากนั้นกลับทำให้หัวใจลิงโลดกว่า “คิ โอ๊ะ สึเกะเตะ เนะ (เดินระวังๆ ด้วยนะ)” ไม่ก็ “กัมบั๊ตเต๊ะ! (พยายามเข้าล่ะ!)”
หลังจากลากสังขารตัวเองมาถึงจุดหนึ่งแล้วจึงเห็นบ่อน้ำน้อยๆ อยู่ไกลๆ สองเท้าวิ่งดิ่งไปหาเพื่อล้างมือ บ้วนปากอย่างรวดเร็ว น้ำเย็นเจี๊ยบแทบซึมเข้าถึงกระดูกนิ้วมือ หลังจากเอาน้ำแตะๆ หน้าให้ชื่นใจแล้ว จึงรีบวิ่งขึ้นบันไดที่นำไปสู่ประตูศาลเจ้าอย่างรวดเร็ว ตึก ตึก ตึก ทั้งเสียงวิ่งและเสียงหัวใจเต้นราวกับรัวกลองกีฬาสี (ผายมือรับลมตีแสกหน้า) ถึงสักที!
อาคารสีแดงหลังโตตั้งตระหง่านตัดกับสีของต้นไม้และท้องฟ้า มือหนึ่งควานหาเหรียญ 5 เยนที่เตรียมมาโยนลงในกล่องไม้เบื้องหน้า ตบมือ 2 แปะ และอธิษฐาน ขอให้หนูได้มีโอกาสกลับมาที่มิตาเกะอีกนะคะ…
นี่คือการมาศาลเจ้าครั้งแรก (สุดทรหด) ส่วนตัวแล้วไม่รู้ว่าอาคารไม้สีน้ำตาลแสนธรรมดาที่เรียงเป็นแถวแต่กลมกลืนกันเรียกว่าอย่างไร ไม่รู้ว่าอาคารไม้หลังเล็กน่ารักที่ตั้งแยกออกไปมีเทพอะไรสถิตอยู่ ไม่รู้ว่าควรปฏิบัติตัวแบบไหน จึงทำได้แค่เดินผ่านแล้วก็โค้งอย่างนอบน้อม โค้งแล้วแชะเก็บรูปเรื่อยไปจนถึงจุดขายเครื่องราง
เมื่อเลือกซื้อเครื่องรางแล้วฉันมองหามุมนั่งพิมพ์บันทึกในโทรศัพท์มือถือ ครั้นนิ้วกดตัวอักษรสุดท้ายเสร็จ โทรศัพท์ก็ถูกเก็บลงกระเป๋า สองเท้าจึงเริ่มออกเดินทางไปยังเป้าหมายต่อไปของทริปนี้…“ร็อกการ์เดน (Rock Garden)”
ป.ล. ตอนเลือกเครื่องราง เจอคุณป้าคนหนึ่งชวนคุยเรื่องเครื่องรางอย่างเมามันส์ พอบอกว่ามาคนเดียว คุณป้าดูสตั๊นไป 10 วินาที แล้วรีบซื้อเครื่องรางป้องกันอันตรายให้ 1 อันทันที
บันทึกเมื่อวันที่ ๒๕ ธ.ค. ๕๙ | เวลา ๑๑.๐๗ น.
ณ มุมหนึ่งของศาลเจ้ามุซะชิมิตาเกะ
(To be continuous… วาร์ปไป EP.2 จิ้มเลย >> อรั๊ย)
MT. MITAKE MAP
พกไว้ (อาจ) ไม่หลง
ไดอารี่นี้คือบันทึกการเดินทางแบบเมาๆ เพราะไปตามเสียงหัวใจเรียกร้องล้วนๆ ดังนั้น ใครที่ไม่อยากเมาตาม ขอให้โหลดแผนที่นี้ติดตัวเอาไว้ระหว่างท่องไปในป่านะ หากไปช่วงหน้าร้อนอาจจะได้เจอคนญี่ปุ่นเยอะหน่อย แต่ถ้าไปช่วงใบไม้เปลี่ยนสี ขอบอกว่าแหล่มเลย…เพราะอาจจะได้พบอะไรที่มากกว่าบันทึกเน่าๆ นี้แน่นอน
–
Note: มิตาเกะน่ารู้
สถานีมิตาเกะ l Mitake Station
สถานีนี้เปิดใช้บริการเมื่อปี ค.ศ. 1929 หรือราว 88 ปีก่อน และเปลี่ยนผู้ดูแลจากการรถไฟแห่งญี่ปุ่นมาเป็นของ East Japan Railway Company (JR East) ในปี ค.ศ. 1987
ต้นไม้แห่งเทพ l Keyaki Tree
ต้นไม้ที่คาดว่าน่าจะมีอายุราว 1,200 ปี อยู่บริเวณทางเข้าก่อนถึงศาลเจ้ามุซะชิมิตาเกะ สูง 23 เมตร ความยาวโดยรอบ 8.2 เมตร
ศาลเจ้ามุซะชิมิตาเกะ l Musashi Mitake Shrine
ศาลเจ้าเก่าแก่ที่สถิตของเทพโอกุชิ มะงะมิ (Oguchi Magami) สร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิซุจิง (Emperor Sujin) หรือราว 90 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในศาลเจ้ายังมีห้องเก็บชุดเกราะโบราณ ซึ่งเป็นสมบัติของชาติไว้ด้วย
สวนหิน l Rock Garden
แนวหินตามธรรมชาติที่ถูกปกคลุมไปด้วยมอสต์สีเขียว เรียงตัวทอดยาวกว่า 1.5 กิโลเมตร ไปสู่น้ำตกอะยะฮิโระ และเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาเดินชมความสวยงาม
น้ำตกอะยะฮิโระ l Ayahiro Waterfall
ในอดีตใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของศาลเจ้ามุซะชิมิตาเกะ มีอีกชื่อหนึ่งว่า ‘น้ำตกแห่งการชำระล้างและฝึกจิต’ โดยปล่อยให้น้ำบริสุทธิ์ที่อยู่สูงจากเหนือหัวไหลลงชำระกาย