อ่านหนังสือส่งท้ายปี” กิจกรรมสุดเรียบง่ายที่อาจทำให้ผู้คนนึกภาพของเหล่าคนเหงาที่นั่งปัดฝุ่นจับเจ่าอยู่กับบ้าน ท่ามกลางบรรยากาศการเฉลิมฉลองของผู้คน จริงๆ แล้วมันก็ถูกเกินครึ่งอยู่บ้าง แต่หากคุณอยากลองพักผ่อนร่างกายอย่างแท้จริง ทำกิจกรรมเล็กๆ อบอุ่นที่ได้ใช้เวลากับตัวเองและครอบครัว เราอยากชวนคุณมาดื่มโกโก้ร้อน เปิดเพลงโปรดคลอเบาๆ แล้วมาอ่านหนังสือส่งท้ายปีไปด้วยกัน กับลิสต์ วรรณกรรมญี่ปุ่น 5 เรื่อง ที่อาจเปลี่ยนวันเหงาๆ ของคุณ ให้มีรอยยิ้มขึ้นมาบ้างก็ได้นะ

01 ให้มันเป็นความลับต่อไป

“ชีวิตคนเรา แค่เรื่องที่อยากทำก็แทบไม่มีเวลาพอแล้ว ไม่มีเวลาทำเรื่องที่ตัวเองไม่อยากทำหรอก”

แนะนำ วรรณกรรมญี่ปุ่น - ให้มันเป็นความลับต่อไป

ด้วยพล็อตเรื่องที่แปลกใหม่ ทำให้เราเลือกซื้อหนังสือเล่มนี้กลับบ้าน เรื่องราวความลับของเด็กมัธยมปลายทั้ง 5 ที่มีพลังพิเศษมองเห็นเครื่องหมายแทนอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่น ไม่ว่าจะพลังที่สามารถเห็นจังหวะการเต้นของหัวใจ ใครที่กำลังยิ้มแต่ภายในกลับไม่เป็นอย่างที่เห็น แม้กระทั่งพลังที่สามารถมองเห็นว่าใครกำลังรู้สึกดีกับใครได้อีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าพลังเหล่านี้นำพาทั้ง 5 คนมาเกี่ยวข้องและก่อเกิดเป็นความสัมพันธ์อลวนที่มีทั้งเสียงหัวเราะ และคราบน้ำตา

ช่วงเวลาชีวิตของผู้คน เรามักขบคิดถึงความแตกต่างระหว่างตนเองและคนอื่น เผลอใส่ใจกับค่านิยมที่สังคมสร้างขึ้น จนลืมมองสิ่งที่ใจตัวเองต้องการ แต่อย่าได้กังวลไป เพราะกาลเวลาและมิตรภาพจากผู้คนจะช่วยให้เราค้นหาตัวตนเจอในสักวัน

ข้อมูลหนังสือ
แปลจากหนังสือ: か「」く「」し「」ご「」と「
ผู้เขียน: Yoru Sumino
ผู้แปล: ฉัตรขวัญ อดิศัย
สำนักพิมพ์: แพรวสำนักพิมพ์

 

02 อาซาฮินะ ชายหนุ่มแห่งคิจิโจจิ

“ในเมืองที่มีผู้คนเทียบเท่าจำนวนดวงดาว การค้นหาคนพิเศษจากในนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับปาฎิหาริย์”

วรรณกรรมญี่ปุ่น น่าอ่าน - อาซาฮินะ ชายหนุ่มแห่งคิจิโจจิ

ผลงานเรื่องสั้นของ “เออิจิ นาคาตะ” หรืออีกนามปากกาที่คุ้นเคยกันดีคือ “โอตสึ อิจิ” ผลงานของโอตสึโดยส่วนมากเป็นแนวสืบสวน ใช้ภาษาเรียบง่าย แต่สามารถพาเราดำดิ่งไปกับความพิศวงของเรื่องราวเกินคาดเดา โดยครั้งนี้มาในรูปแบบเรื่องรักสั้นๆ 5 เรื่อง 5 สไตล์ ที่ยังคงเข้าถึงง่าย ซึ่งแน่นอนว่าเราโดนความเรียบง่ายของเรื่องหลอกเข้าเต็มๆ  เพราะถึงแม้จะเรียกว่าเป็นนิยายรัก แต่ก็ยังมีกลิ่นอายการสืบสวนสไตล์โอตสึ ในเรื่องความสัมพันธ์ของตัวละครที่ดูเรียบเป็นเส้นตรง ครุมเครือ แต่ก็ยังสามารถทำให้เราแอบใจเต้นได้ เพราะความรักในบางครั้ง อาจไม่ต้องการสตอรี่เรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ หากแต่เป็นเรื่องราวดีๆ ที่เกิดจากความใส่ใจเล็กๆ ที่ผู้คนมีให้กันในแต่ละวัน เป็นการอ่านหนังสือส่งท้ายปีที่น่าอบอุ่นสุดๆ เลยล่ะ

ข้อมูลหนังสือ
แปลจากหนังสือ: 吉祥寺の朝日奈くん
ผู้เขียน: Eiichi Nakata
ผู้แปล: ปิยะวรรณ ทรัพย์สำรวม
สำนักพิมพ์: ซันเดย์อาฟเตอร์นูน (Sunday Afternoon)

 

03 โดรายากิขนมนี้ทำด้วยใจ

“ฉันเตรียมของหวานให้คนที่กล้ำกลืนน้ำตาทั้งหลายเอาไว้กินกัน การทำแบบนั้นทำให้ฉันมีชีวิตอยู่ต่อมาได้”

นิยายแปลญี่ปุ่น - โดรายากิขนมนี้ทำด้วยใจ

ทุกคนต่างมีเรื่องราวในอดีต ที่ถึงแม้อยากสลัดมันออกไปก็ยากที่จะทำได้ เหมือนกับเรื่องราวของเซ็นทาโร่ ผู้จัดการร้านโดรายากิ ที่ไม่เคยกินโดรายากิฝีมือตัวเองหมดเลยสักครั้ง และใช้ชีวิตวันต่อวันกับอดีตที่แสนมืดมน วันหนึ่งเขาได้รับ โยชิอิ โทคุเอะ หญิงชราผู้มีมือพิกลพิการเข้ามาช่วยทำไส้ถั่วแดง ในราคาค่าจ้างที่ถูกแสนถูก แต่ด้วยการพบกันครั้งนั้นทำให้เขาได้เรียนรู้วิธีการทำไส้ถั่วแดงแสนอร่อยจากโทคุเอะ พร้อมกับมิตรภาพต่างวัยที่ช่วยเติมเต็มแรงใจให้ทั้งสองสามารถก้าวผ่านอดีตไปได้

ในยามที่คุณเหนื่อยล้าเกินกว่าจะลงมือแก้ไขปัญหา ลองหยุดพักสักครู่ แล้วตั้งใจฟังสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะจากผู้คนรอบข้าง สัตว์ตัวน้อย หรือเสียงกระซิบจากพระจันทร์ยามค่ำคืน เมื่อคุณเริ่มรับฟัง หัวใจของคุณจะเปิดกว้างออก พร้อมกับทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ยอมรับมัน แล้วก้าวต่อไปอย่างเข้มเเข็ง 

ข้อมูลหนังสือ
แปลจากหนังสือ: Sweet Bean
ผู้เขียน: Durian Sukegawa
ผู้แปล: ธีราภา ธีรรัตนสถิต
สำนักพิมพ์: Maxx Publishing

 

04 คำถามในคืนหิมะตก

“มีคำถามสามข้อค่ะ คุณมีเเฟนรึเปล่าคะ? สูบบุหรี่รึเปล่าคะ? แล้วสุดท้ายคุณ..”

แนะนำวรรณกรรมญี่ปุ่น - คำถามในคืนหิมะตก

พลังแห่งความรักยังคงสร้างสิ่งมหัศจรรย์มากมาย รวมไปถึงการเปลี่ยนชีวิตของคนๆ หนึ่ง เหมือนกับเรื่องราวความรักของ คาเคฮาชิ เคตะ และโอโนะ จิงุสะ กับคำถาม 3 ข้อที่ผูกโยงสองคนแปลกหน้าให้มาใช้ชีวิตร่วมกัน แม้คำโปรยที่เด่นหราในปกหลังจะเขียนไว้ว่า “เรื่องราวความรักของหนุ่มสาววัยทำงานที่ผู้อ่านต้องประทับใจในตอนจบ” หากแต่เนื้อเรื่องเน้นหนักไปทางปมหลังของ คาเคาฮาชิ เคตะ ผู้ชายที่เติบโตมาในครอบครัวที่เขาเกลียดชัง ความเปลี่ยวเหงาที่เกิดจากปัญหาในครอบครัว หล่อหลอมให้เขาปิดกั้นสิ่งดีๆ ที่เข้ามาในชีวิต

ระหว่างอ่านเราเกิดความรู้สึกอึดอัดเล็กน้อย และสงสัยว่าตัวเอกจะสามารถข้ามผ่านความเกลียดชังที่ฉุดรั้งชีวิตของเขาไปได้อย่างไร ซึ่งในเรื่องก็จะมีตัวแปรต่างๆ ช่วยผลักดันให้เขาปล่อยวางจากความทรงจำในวัยเด็กไปได้ และแน่นอนคำถามสามข้อคือตัวแปรสำคัญที่แม้จะก่อเกิดจากปมหลังอันเลวร้ายของทั้งสองที่เชื่อมโยงทั้งคู่เข้าหากัน แต่ในท้ายที่สุดมนุษย์ทุกคนล้วนต้องการความรัก ไม่ว่าจะในรูปแบบไหน ความรักก็สามารถช่วยซ่อมแซมหัวใจที่เปราะบางของผู้คนได้เสมอ

ข้อมูลหนังสือ
แปลจากหนังสือ: Hikikomori No Otouto Datta
ผู้เขียน: Natsu Ashifune
ผู้แปล: ธีรัตต์ ธีรพิริยะ
สำนักพิมพ์: animag

 

05 ดอกไม้ไฟต้องมองจากด้านล่างหรือด้านข้าง

“ดอกไม้ไฟนี่ ถ้ามองจากด้านข้างจะกลมหรือแบนกันแน่”

วรรณกรรมญี่ปุ่น สนุก - ดอกไม้ไฟต้องมองจากด้านล่างหรือด้านข้าง

นิยายรักอุ่นๆ ชวนให้คิดถึงรักแรก กับเรื่องราวการเดินทางย้อนเวลาของโนริมิจิ เด็กหนุ่มมัธยมต้น ที่วันหนึ่งเขาและเพื่อนเกิดสงสัยขึ้นว่าดอกไม้ไฟนั้น หากมองจากด้านข้าง แท้จริงแล้วกลมหรือแบนกันแน่? จึงนัดกันไปดูดอกไม้ไฟจากด้านข้างของประภาคาร และในช่วงวันเดียวกันเขาก็ได้รับคำชวนให้ไปดูดอกไม้ไฟด้วยกันจาก นาซึนะ เด็กสาวที่เขาตกหลุมรัก และกำลังที่ตั้งใจจะหนีออกจากบ้าน แต่ก็ถูกขัดขวางไว้ซะก่อน 

เป็นเรื่องสั้นที่อ่านแล้วเห็นภาพไม่ต่างจากดูอนิเมะเลยล่ะ เพราะผู้เขียนตั้งใจเขียนให้เหมือนกับบทละคร สิ่งที่เราชอบมากๆ คงจะเป็นการเชื่อมโยงปริศนาการย้อนเวลาเข้ากับดอกไม้ไฟได้อย่างแนบเนียน และไม่ยากเกินที่จะทำความเข้าใจ ระหว่างอ่านทำให้เรานึกย้อนถึงวันวานในวัยเด็ก ไอติมแท่งเย็นๆ จักรยานคันเก่าที่ปั่นไปโรงเรียน หน้าร้อนที่ออกไปเล่นน้ำกับเพื่อนๆ นึกถึงเรื่องราวที่ถึงแม้อาจจะดูไร้สาระ และน่าอายไปบ้าง แต่เมื่อมองย้อนกลับไปก็รู้สึกอบอุ่นหัวใจทุกครั้งอย่างบอกไม่ถูก 

ข้อมูลหนังสือ
แปลจากหนังสือ: Fireworks, Should We See It from the Side or the Bottom?
ผู้เขียน: Shunji Iwai, Hitoshi Ohne
ผู้แปล: Pmc
สำนักพิมพ์: PHOENIX

วรรณกรรมญี่ปุ่น

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ