Pocket Park เคล็ดลับพื้นที่สีเขียวทั่วกรุงโตเกียว
เวลาเดินเตร็ดเตร่ไปตามซอกซอยใน โตเกียว เรามักจะพบกับพื้นที่สีเขียวเล็กๆ มีต้นไม้ ม้านั่ง ดอกไม้ บ้างก็มีสนามเด็กเล่น ฯลฯ ที่ตรงนั้นเรียกว่า Pocket Park (ポケットパーク : โพเกตโตะ พาคุ) หรือสวนสาธารณะขนาดเล็ก โดยเป็นที่ดินธรรมดาและอาจมีพื้นที่แค่ 1 บล็อคเล็กๆ (เวลาดูจาก Google Maps ถ้าไม่สังเกตให้ดีนี่แทบมองไม่เห็น)
ภาพ: bit.ly/2mf2ijQ
ภาพ: bit.ly/2lxTQvX
เห็นเล็กๆ แบบนี้ แต่ Pocket Park นี่แหละที่เป็นเคล็ดลับตัวเพิ่ม “พื้นที่สีเขียว” ชั้นดีแก่เมือง ช่วยสร้างระบบนิเวศน์ให้แก่ย่านนั้น ไม่ให้มีแต่ถนนรถราวิ่ง หรือตึกคอนกรีตแออัด ต้นไม้ภายในสวนจะช่วยดูดซับมลพิษอากาศ แถมยังลดอุณหภูมิบริเวณนั้นได้ อีกทั้งยังเสริมภูมิทัศน์บริเวณพื้นที่นั้นให้สวยงาม บางแห่งมีใบไม้เปลี่ยนสีตามฤดูกาลด้วย
นอกจากการเป็นพื้นสีเขียว ยังเป็นเสมือนลานกิจกรรมให้แก่ครอบครัว ในย่านที่อยู่อาศัยมักมีสนามเด็กเล่นอยู่ในสวนด้วย เรามักจะเห็นครอบครัวญี่ปุ่นพาเด็กเล็กมาวิ่งเล่นกัน และบางแห่งก็เป็นศูนย์กลางย่อมๆ ของชุมชนนั้นเลย อย่างเคสแผ่นดินไหวของญี่ปุ่น Pocket Park ก็ทำหน้าที่เป็น “จุดนัดพบ” ให้คนอพยพหนีมารวมกันได้ด้วย
สีสันตามฤดูกาล ภาพ: bit.ly/2meOOoe
สนามเด็กเล่นในตัว ภาพ: bit.ly/2nBEas2
ใน โตเกียว มี Pocket Park กระจายตัวอยู่หลายแห่ง เช่น Kotoku Park ในย่านอุเอโนะ, Takecho Park ใจกลางย่านที่อยู่อาศัย Okachimachi, Kashiwagi Park ที่ย่านธุรกิจชินจูกุ, Hachiyama Park ที่ชิบูย่า,
Minami-Ikebukuro Park ในพื้นที่ย่านอิเคะบุคุโระ (สวยมาก) และ Sakurazaka Park ย่านรปปงงิ ฯลฯ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ย่านที่อาศัยเท่านั้น แม้แต่ Ginza ย่านช็อปปิ้งสุดหรู (ซึ่งที่ดินแพงมาก) ก็มี Sukiyabashi Park ตั้งอยู่ติดกับตัวสถานีแทรกอยู่เช่นเดียวกัน เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่าง อันที่จริงแต่ละย่านมี Pocket Park มากกว่า 1 แห่งแน่นอน นี่ยังไม่นับสวนสาธารณะใหญ่ๆ อย่าง Ueno Park หรือ Yoyogi Park
Takecho Park ช่วงฤดูหนาว ภาพ: bit.ly/2nacjio
Sakurazaka Park ภาพ: bit.ly/2lwUucX
Minami-Ikebukuro Park ภาพ: bit.ly/2mf2ijQ
Pocket Park เปรียบเสมือนปอดเล็กๆ ให้คนเมือง ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ตึกอาคารเบียดเสียดแต่ก็ยังเหลือพื้นที่สวนสาธารณะเล็กๆ โล่งๆ ให้ผู้คนได้มีพื้นที่สูดอากาศ ทำกิจกรรม สวนเล็กๆ กลายเป็นหน้าเป็นตาบ้านเมือง โตเกียว และเมืองใหญ่ๆ ของญี่ปุ่นไปแล้ว ในที่ดินแสนจำกัดยังจัดการให้มีสวนสาธารณะใจกลางเมืองได้ ก็เป็นเรื่องที่เก็บไปคิด
นอกจากนี้ โครงการอสังหาฯ จากภาคเอกชนหลายแห่ง มีการเผื่อพื้นที่สีเขียวไว้รอบตัวอาคารและเปิดให้สาธารณชนเข้าได้ด้วย เช่น สวนญี่ปุ่นดั้งเดิม Mori Garden (ของตึก Roppongi Hills), สวน Our Parks ข้างหลังตึก Toranomon Hills และบริเวณ Shinjuku Center Building ที่จะเห็นสีเขียวตามแนวถนนใหญ่เลยคล้ายรั้วไปในตัว
Mori Garden ภาพ: bit.ly/2nBEas2
OUR PARKS หลังตึก Toranomon Hills
เวลาเราพูดถึง “เมืองแห่งอนาคต” เรามักนึกถึงภาพเมืองอวกาศตึกสูงเสียดฟ้าแบบตามหนังไซไฟ แต่ในความเป็นจริง มันอาจเป็นการ “หวนคืนสู่ธรรมชาติ” น้อมนำธรรมชาติให้อยู่คู่กันได้อย่างลงตัวกับเทคโนโลยียุคสมัยใหม่ ดังที่โตเกียวและเมืองอื่นๆ ญี่ปุ่นกำลังพยายามทำกันอยู่ก็เป็นได้