Sayonara Tax : ภาษีขาออกนอกประเทศญี่ปุ่นมีผลต่อนักท่องเที่ยวชาวไทยอย่างไร
เป็นข่าวฮือฮาไม่น้อยกับ “Sayonara Tax” (คำทางการคือ International Tourist Tax) ที่มีผลไปแล้วเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2019 ที่ผ่านมา
Sayonara = ลาก่อน ,อำลา
Tax = ภาษี
นี่คือภาษีขาออกนอกประเทศ
ภาษีตัวนี้บอกเราว่า ชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติที่ออกนอกประเทศญี่ปุ่นไม่ว่าทางเครื่องบินหรือทางเรือ จะโดนภาษีตัวนี้ 1,000 เยน (ประมาณ 330 บาท) โดยจะถูกนำไปรวมกับค่าตั๋วเครื่องบิน หรือเรือในขาออกเที่ยวนั้นๆพูดง่ายๆ ใครริจะออกนอกประเทศญี่ปุ่นโดนหมดนะ ส่วนวิธีการเสียภาษี ภาษีตัวนี้จะถูกรวมอยู่ในตั๋วเครื่องบินเรียบร้อยแล้ว (มาจากไทยไม่เสีย เสียครั้งเดียว 1,000 เยน เฉพาะตอนออกจากญี่ปุ่น) หรือถ้าคุณมากับบริษัททัวร์ ทัวร์นั้นอาจเรียกเก็บจากคุณก็ได้ เพื่อนำไปจ่ายให้สายการบินทีหลัง
แต่ก็มี “ข้อยกเว้น” หลักๆ ให้กับ
01 เด็กอายุไม่เกิน 2 ปี
02 ผู้โดยสารที่มาต่อเครื่องในญี่ปุ่นภายใน 24 ชั่วโมง
และรายละเอียดอื่นปลีกย่อย เช่น ผู้โดยสารที่ลงจอดในญี่ปุ่นอันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่เลวร้ายหรือเหตุการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (อาจขอลงจอดฉุกเฉิน) ,บุคลากรของกองทัพสหรัฐอเมริกาและองค์การสหประชาชาติ ,นักการฑูตและกงสุลที่ประจำอยู่ในญี่ปุ่น ,แขกบ้านแขกเมืองของทางการญี่ปุ่น เป็นต้น
รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าจะมีรายได้จากภาษีใหม่ตัวนี้ประมาณ 43,000 ล้านเยนต่อปี ภายในปี 2020 ที่จะมีการจัดงานโตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิก
โดยทางการให้เหตุผลที่ออกภาษีใหม่นี้ว่า เพื่อนำรายได้ตรงนี้ไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวให้ดียิ่งขึ้น ให้พร้อมต่อการรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นทุกปี อาทิ อัพเกรดเทคโนโลยีระบบรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพเวลานักท่องเที่ยวผ่านขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง อย่างการนำประตูอัตโนมัติและระบบจดจำใบหน้ามาใช้ ส่งผลให้เข้าเมืองได้เร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้นในอนาคต หรือบริหารจัดการแหล่งข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวทั่วญี่ปุ่นให้นักท่องเที่ยวเข้าถึง รับรู้ได้กว้างขึ้น
ด่านตรวจคนเข้าเมืองอนาคตอาจใช้คนน้อยลง ใช้หุ่นยนต์เทคโนโลยีมากขึ้น
โดยเมื่อปี 2016 ยอดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนของนักท่องเที่ยวต่างชาติในญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณ 54,000 บาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นมาตลอด ดังนั้น ค่าใช้จ่ายประมาณ 330 บาท (1,000 เยน) ที่เพิ่มขึ้นจาก Sayonara Tax คิดเป็นเพียงราว 0.55% ของยอดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน อาจเป็นสัดส่วนที่ไม่เยอะเกินนักสำหรับใครหลายคน (ประมาณข้าวหนึ่งมื้อในญี่ปุ่น) แลกมากับการผ่านเข้าประเทศอย่างปลอดภัยและสะดวกรวดเร็วขึ้นในอนาคต เราคงได้แต่รอดูกันต่อไปว่า ภาษีตัวนี้จะถูกนำไปพัฒนาปรับปรุงได้ตามที่ทางการญี่ปุ่นกล่าวไว้หรือเปล่า