นิตยสารยุคหลังสงคราม ที่เชื่อในการมีชีวิตที่งดงาม
ทำความรู้จักกับไดอารี่-เพื่อชีวิตดีๆ ทุกวัน
ยังจำร้านหนังสือ Shibuya Publishing & Booksellers ในโตเกียวที่ฉันเคยเล่าถึงไว้คราวก่อนนู้นได้ไหม ว่าเป็นร้านหนังสือเล็กๆ บรรยากาศน่ารัก ที่คัดเลือกหนังสือน่าอ่านมาไว้เต็มร้าน นอกจากจะมีหนังสือใหม่ ที่นี่ยังมีมุมเล็กด้านในอุทิศให้หนังสือเก่า ที่มุมนี้เอง ฉันได้เจอหนังสือที่ไม่นึกว่าจะเจอ มันคือนิตยสารฉบับเก่าแก่ที่มีเนื้อหาแนะนำเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวันซึ่งฉันเคยรู้จักจากหนังสือ The secret sense of Japanese magazine design ของสำนักพิมพ์ PIE Books นิตยสารเล่มนั้นชื่อ Kurashi no Techo ที่แปลแบบสรุปความได้ประมาณว่า “ไดอารี่เพื่อชีวิตดีๆ ทุกวัน” ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1948 หรือเพียงสามปีหลังจากประเทศญี่ปุ่นตกเป็นผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง
สิ่งที่ทำให้ฉันสนใจหนังสือยุคหลังสงครามโลกเล่มนี้ คือ เนื้อหาที่ว่าด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การทำอาหาร การประดิษฐ์ของใช้ในบ้าน การแต่งหน้า แต่งตัว ไปจนถึงการเลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ออกจะคล้ายกับหนังสือคุณแม่บ้านที่เราคุ้นเคย แต่ไม่เหมือนเสียทีเดียว เพราะ Kurashi no Techo มีความโดดเด่นด้วยวิธีการนำเสนอ
ในฐานะคนทำคอลัมน์ในนิตยสารมาก่อน เห็นแวบเดียวฉันก็รู้ว่า แต่ละคอลัมน์ แต่ละหน้าต้องได้รับการออกแบบมาแล้วอย่างดี ไม่ว่าจะการถ่ายภาพ สไตลิ่ง และการจัดวางองค์ประกอบบนหน้ากระดาษ ทั้งสวยงามและสื่อสารชัดเจน ทำให้เรื่องที่ออกจะธรรมดาและน่าเบื่ออย่างงานบ้าน ดูน่าสนใจและน่าติดตาม จนสุดจะเชื่อได้ว่านี่คือนิตยสารที่มีอยู่จริงเมื่อเกือบ 70 ปีที่ผ่านมา
การสร้างสรรค์นิตยสารหัวนี้ให้กลายเป็นต้นแบบและอยู่เหนือกาลเวลา ต้องยกความดีความชอบให้กับยะซุจิ ฮะนะโมะริ (Yasuji Hanamori) ผู้ก่อตั้ง บรรณาธิการ และผู้กำกับศิลป์ ซึ่งรับผิดชอบหน้าที่หลายอย่างตั้งแต่ถ่ายภาพ ทำเลย์เอาต์ ไปจนถึงวาดภาพประกอบ แต่สิ่งที่สำคัญและน่าสนใจกว่าแค่ว่าเขาทำอะไรคือ เขาทำมันอย่างไรและทำเพื่ออะไร
สิ่งหนึ่งที่นิตยสารเล่มนี้แตกต่างจากเล่มอื่นคือ เป็นนิตยสารที่ไม่มีโฆษณาเลย (เคยมีหน้าโฆษณาเพียงครั้งเดียวบนปกหลังของฉบับที่ 3) เนื่องจากเกรงว่าเจ้าของสินค้าที่ซื้อโฆษณาอาจเข้ามาแทรกแซงเนื้อหาได้ โดยเฉพาะคอลัมน์ยอดนิยมที่นำเสนอการทดสอบผลิตภัณฑ์ ซึ่งนำสินค้าในท้องตลาดมาทดสอบคุณสมบัติ จนได้บทสรุปถึงข้อดี-ข้อเสีย ทีมงานมุ่งให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อ่านในการเลือกซื้อสินค้าอย่างแท้จริง คอลัมน์นี้นอกจากถูกใจคนอ่าน ยังมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพของสินค้าที่ผลิตในประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ช่วยเตือนสติผู้บริโภค ไม่ให้หลงไปกับกระแสบริโภคนิยมที่บรรณาธิการเล็งเห็นว่ากำลังก่อตัวขึ้นอย่างบ้าคลั่ง
ลองจินตนาการถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศญี่ปุ่นหลังแพ้สงคราม แทนที่จะมัวท้อแท้สิ้นหวัง เฝ้ารอความช่วยเหลือจากภาครัฐหรือนโยบายทางการเมือง ชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งกลับลุกขึ้นมาปลุกประเทศ คุณฮะนะโมะริกับนิตยสารของเขาคือหนึ่งในนั้น เขานำความงาม ความสุนทรีย์ ความมีรสนิยม มาปลุกชาวญี่ปุ่นให้ลุกขึ้นใหม่ มิใช่เพื่อความฟุ้งเฟ้อ หรือแสร้งเสพสุขเพื่อลืมทุกข์ แต่ทุกเรื่องราวที่ทีมงานนิตยสารสร้างสรรค์ขึ้นมานั้น มุ่งหวังเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของครอบครัวชาวญี่ปุ่น ให้สามารถกลับมามีชีวิตที่งดงามได้อีกครั้งด้วยตัวเอง
ยะซุจิ ฮะนะโมะริ ทำหน้าที่บรรณาธิการตั้งแต่เริ่มต้นจนเสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1978 นิตยสาร Kurashi no Techo ยังคงตีพิมพ์มาจนถึงปัจจุบัน ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบให้กับนิตยสารที่ว่าด้วยแง่งามของสิ่งเล็กๆ ประจำวัน และการใช้ชีวิตเนิบช้าที่เกิดตามมาในรุ่นหลังหลายต่อหลายเล่ม