ว่าด้วยเรื่องการ “ทิ้ง”: วิถีของมินิมัลลิสต์ญี่ปุ่น
กำลังรู้สึกว่าทำไมที่บ้านมีข้าวของเยอะอย่างนี้ นี่มันบ้านฉันหรือที่อยู่อาศัยของเจ้าพวกข้าวของกันแน่! แล้วพลันสายตาก็ปะทะกับหนังสือแปลภาษาญี่ปุ่นเล่มหนึ่ง ชื่อ อะไรไม่จำเป็นก็ทิ้งไป (ぼくたちに、もうモノは必要ない。) เขียนโดย ซะซะกิ ฟุมิโอะ (Sasaki Fumio) แปลโดย นพัฒน์ หัทยานันท์
“ซื้อ ไม่ซื้อ ซื้อ ไม่ซื้อ” เป็นคำถามที่เกิดขึ้นในหัวพร้อมๆ กันตอนนั้น เพราะมีหนังสือหลายเล่มที่ยังไม่ได้อ่านกองอยู่ตามมุมต่างๆ ของบ้านเต็มไปหมด นี่ฉันเริ่มมีพฤติกรรมที่เรียกว่า “ซึนโดะคุ” แล้วหรือเปล่านะ (Tsundoku คำแสลงภาษาญี่ปุ่น หมายถึงการชอบซื้อหนังสือมาดองไว้แต่ไม่อ่าน)
แต่…พอเปิดอ่านคำนำของผู้เขียนที่เล่าว่าเขาเป็นชายโสดอายุ 35 ปี อาศัยอยู่ในโตเกียว ทำงานเป็นบรรณาธิการใน สำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง และใช้ชีวิตตามวิถีมินิมัลลิสต์ (Minimalist) ทั้งยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ minimalism.jp เท่านั้นแหละ ซื้อสิจะรออะไร!
อย่างที่เกริ่นตอนต้น ฉันกำลังพยายามจัดการกับสมบัติที่สะสมไว้มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่คือ “หนังสือ” เพราะอาการแพ้ฝุ่นที่กำเริบขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อไม่นานมานี้ ฉันเพิ่งสร้างกฎขำๆ (แต่ทำจริง) ขึ้นมาว่า “ถ้าซื้อหนังสือใหม่ 1 เล่ม ก็จะทิ้งหนังสือเก่า 1 เล่ม”
“ทิ้ง” เป็นคำที่ให้ความรู้สึกแง่ลบยังไงไม่รู้ เอาเป็นว่าฉันหมายถึงจะเอาหนังสือเล่มเก่าที่ไม่ปิ๊งแล้ว (ถ้าจะพูดตามสไตล์คนโด มะริเอะ (Kondo Marie) ผู้เขียนหนังสือ ชีวิตดีขึ้นทุกๆด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว เธอใช้คำว่า “เปล่งประกาย”) ไปให้คนรู้จักที่อยากอ่านหรือบริจาคให้ห้องสมุด ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ก็เขียนไว้ในหนังสือของซะซะกิ เขามีข้อปฏิบัติที่ว่า “ซื้อ 1 ชิ้น ต้องทิ้ง 1 อย่าง” แต่นอกจากหนังสือแล้ว ฉันยังรวมถึงเสื้อผ้า รองเท้า และกระเป๋าด้วยนะ (ฉันเริ่มสนใจเรื่องการคัดเลือก และทิ้งข้าวของตั้งแต่ตอนที่ได้อ่านหนังสือของคนโด เมื่อปี ค.ศ. 2015)
ในหนังสือ อะไรไม่จำเป็นก็ทิ้งไป พูดถึงความหมายของมินิมัลลิสต์ (ซะซะกิให้คำจำกัดความเข้าใจง่ายเอาไว้ว่า “คนที่รู้ว่าอะไรสำคัญกับตัวเองจริงๆ” หรือ “คนที่ลดปริมาณข้าวของลง เพื่อรักษาสิ่งที่สำคัญเอาไว้”) ทำไมเขาถึงเปลี่ยนชีวิตตัวเองจากแม็กซิมัลลิสต์ (Maximalist) มาเป็นมินิมัลลิสต์ นอกจากนี้ เขายังแนะนำเทคนิคต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทิ้งข้าวของ และเมื่อ “ทิ้ง” แล้วชีวิตเปลี่ยนไปเป็นแบบไหน เกี่ยวข้องกับความสุขในชีวิตอย่างไร
ที่น่าสนใจก็คือ ซะซะกิคิดว่า “ชาวญี่ปุ่นคนไหนก็เป็นมินิมัลลิสต์” และกระแสมินิมัลลิสต์ที่นิยมมากขึ้นในญี่ปุ่น ช่วง 5-6 ปีนี้ไม่ใช่เพียงเพราะผู้คนหลงใหลในไลฟ์สไตล์กันอย่างผิวเผิน แต่ที่มินิมัลลิสต์ถูกจริตกับคนญี่ปุ่น เป็นเพราะวัฒนธรรมที่ดูเรียบง่ายของญี่ปุ่นมีความคล้ายคลึงกับวิถีมินิมัลลิสต์มาแต่ไหนแต่ไร ยกตัวอย่างพิธีชงชา ในห้องชงชาจะว่างโล่งและไม่มีของที่ไม่จำเป็นวางอยู่ นอกจากนี้เขายังคิดว่ามีสาเหตุหลักๆ มาจาก “ข้อมูลและสัมภาระที่มีเยอะเกินไป ความก้าวหน้าของการบริการและเทคโนโลยีทำให้ไม่จำเป็นต้องมีข้าวของหลายชิ้น และการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น” บังคับให้ผู้คนต้องหันมาพิจารณาเรื่องข้าวของและพื้นที่กันใหม่
แต่การจะใช้ชีวิตแบบมินิมัลลิสต์ที่เรียบง่ายนั้นก็ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่เลย ลองคิดเล่นๆ ถึงค่านิยมเรื่องความสุขและความสำเร็จของคนทั่วไปสิคะ คนส่วนมากมักมีภาพฝันว่าต้องมีบ้านหลังใหญ่ มีรถยนต์ขับ มีเครื่องมือเครื่องใช้อำนวยความสะดวกครบครัน เสื้อผ้าที่สวมใส่ได้ในทุกวาระ ซึ่งตรงข้ามกับเหล่ามินิมัลลิสต์ พวกเขาเลือกที่จะอยู่อาศัยในพื้นที่ขนาดเล็ก (หรือเท่าที่จำเป็น) ซึ่งซะซะกิเองก็เป็นเช่นนั้น ปัจจุบันเขาทิ้งข้าวของที่ไม่จำเป็น แล้วย้ายไปอาศัยอยู่ในอพาร์ตเม้นต์ที่มีพื้นที่ใช้สอยน้อยลงซึ่งสอดคล้องกับรายได้ เมื่อเปลี่ยนไปเช่าห้องที่เล็กลง ก็ทำให้ค่าใช้จ่ายน้อยลง ทำความสะอาดง่ายขึ้น หรือไม่ต้องเสียเวลาเลือกเสื้อผ้า คือพอไม่ต้องกังวลกับเรื่องที่ไม่จำเป็น ก็รู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขมากขึ้น (เขาว่าอย่างนั้น)
ว่าแล้ววันอาทิตย์ที่ผ่านมาฉันก็เริ่มจัดห้องครัวใหม่ โดยทิ้งข้าวของที่ไม่จำเป็นเลย (แต่สุมเอาไว้เต็มตู้) อย่างพวกกล่องพลาสติกที่ได้มาจากการซื้ออาหารปรุงสำเร็จในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือขวดแก้วต่างๆ ตอนนี้พอเหลือเฉพาะข้าวของที่ฉันชื่นชอบหรือใช้บ่อยจริงๆ เวลาจะหยิบหม้อ กระทะ จาน ชาม มาใช้สอยก็สะดวกขึ้น เรียกว่าสบายใจขึ้นทันใจเลยละ
บางที…เราอาจต้อง “ทิ้ง” บางอย่างเพื่อให้ “ได้” อย่างอื่นมาแทนที่ นั่นแปลว่าถึงที่สุดแล้วการทิ้งก็ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการสูญเสียเสมอไป