“ทำไมเด็กญี่ปุ่นถึงได้น่ารักกันนักนะ!” เสียงในหัวมักดังแบบนี้ทุกทีเวลาไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วบังเอิญได้เจอเด็กๆ ตามท้องถนน สวนสาธารณะ หรือในร้านอาหาร เด็กเล็กๆ ที่ฉันได้เจอแต่ละคนคือแก้มยุ้ยแดงเรื่อเหมือนลูกมะเขือเทศ และอาจเพราะคุณพ่อคุณแม่เป็นคนรุ่นใหม่ในวัยหนุ่มสาว ฉันเลยมักเห็นเด็กๆ ในชุดเสื้อผ้าที่ออกแบบตัดเย็บมาอย่างน่ารักน่าเอ็นดู บางคนสวมหมวกเก๋ไก๋ บางคนใส่รองเท้าผ้าใบคู่จิ๋วสีตัดกับเสื้อและกางเกง พอได้เดินเล่นนอกบ้านก็เริงร่าท้าลม บ้างหัวเราะยิงฟัน บ้างอมยิ้มหวานหยด เห็นแล้วน่าฟัดน่ากอดเป็นที่สุด

“แต่กอดไม่ได้ไง” บางทีก็ขำตัวเองกับประโยคที่ตามมาในหัว สิ่งที่ฉันพอทำได้คือขออนุญาตถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก แต่แม้จะเป็นแค่การถ่ายรูปก็เถอะนะ ถ้าว่ากันตามมารยาทของชาวญี่ปุ่นแล้ว เราก็ทำประเจิดประเจ้อหรือกดชัตเตอร์สุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพเด็กหรือคนในวัยไหนก็ตาม ในญี่ปุ่นเขาให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิส่วนบุคคลมากทีเดียว ถ้าไม่ได้ขออนุญาตก่อนแล้วไปถ่ายภาพเจาะจงที่ใครเข้า ก็ถือว่าผิดมารยาทและดีไม่ดีผิดกฎหมายด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่ทำให้ผู้ที่ถูกถ่ายภาพรู้สึกอึดอัดใจ

พูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ จะขออนุญาตยังไงดี? นั่นน่ะสิ ฟังดูลำบากซะแล้ว แต่เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งพารานอยด์ไป ในความเป็นจริงไม่ได้ยากขนาดนั้นเลยค่ะ เพราะภาษาใบ้ช่วยได้ ยิ่งกับการถ่ายภาพด้วยแล้ว การถือกล้องอยู่กับมือก็ถือเป็นภาษาสากลที่ทุกคนรู้กันดีว่ามีเจตนาจะขอเก็บภาพ วิธีง่ายๆ ที่ฉันใช้เป็นประจำถ้าจะขอถ่ายภาพเด็กๆ แบบเห็นหน้าชัดๆ จะเริ่มจากส่งยิ้มหรือค้อมศีรษะเล็กน้อยให้คุณพ่อคุณแม่ (หรือคุณครู) ทราบ จากนั้นก็ชี้ที่กล้องหรือยกกล้องขึ้น ถ้าผู้ปกครองเห็นว่าโอเคก็จะกดชัตเตอร์ทันที (เตรียมตัวและเตรียมมุมไว้สักนิดจะทำให้ขั้นตอนนี้รวดเร็ว) ในการถ่ายเด็กๆ ที่บังเอิญเจอกัน จากประสบการณ์คิดว่าถ่ายไว้ประมาณ 2-3 ช็อต ก็น่าจะพอแล้ว จะได้ไม่ทำให้เด็กกลัวหรือตกใจ และไม่เป็นการรบกวนเวลาของครอบครัวจนเกินไปด้วย

ส่วนกรณีของภาพมุมกว้างในที่สาธารณะ อันนี้จะง่ายขึ้นมาหน่อย เพราะสำหรับชาวญี่ปุ่นถือว่าพอรับได้ แต่ยังไงก็ต้องระวังเรื่องการถ่ายภาพในที่สาธารณะแล้วเห็นใบหน้าของคนในภาพอยู่เหมือนกัน อย่างฉันเคยไปถ่ายภาพประกอบคอลัมน์ในร้านอาหาร เจ้าของร้านก็จะบอกชัดเจนเลยว่าถ่ายภาพได้แต่ขอให้ไม่เห็นใบหน้าลูกค้าในร้านนะ เราในฐานะช่างภาพพอทราบข้อจำกัดก็จะหาวิธีเลี่ยงและจัดการให้ได้ภาพมาโดยไม่ต้องรบกวนใครจนเกินไป ฉันคิดว่าการรู้กรอบหรือข้อจำกัดแบบนี้แต่เนิ่นๆ ก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน เพราะจะทำให้เราวางแผนการทำงานได้ง่าย รู้ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ และภายใต้ข้อจำกัดนี้เราจะได้เตรียมคิดหาวิธีที่สวยงามในการทำงานไว้รองรับด้วย

และแน่นอนการถ่ายภาพแบบไม่ให้เห็นหน้าที่ง่ายที่สุดก็คือการถ่ายจากข้างหลัง แต่ลองนึกดูเล่นๆ นะคะ ถ้าเราถ่ายภาพคนที่ญี่ปุ่นทีไรก็เห็นแต่ด้านหลัง มันจะไหวไหมนะ? เป็นไปได้สูงที่ภาพจะน่าเบื่อและดูซ้ำซาก ในความเป็นจริงฉันเลยจะไม่ถ่ายภาพจากด้านหลังอย่างเดียว แต่จะขออนุญาตถ่ายตรงๆ บ้าง ถ่ายจากด้านข้างบ้าง ข้างหลังบ้าง คละกันไป (โดยเฉพาะในกรณีที่นำเสนอภาพเป็นชุด) และภาพที่ถ่ายจากข้างหลังที่ฉันคิดว่าดูเหมาะจะถ่ายจากข้างหลังเป็นที่สุดก็คือ “ภาพของคนที่กำลังเดินไปข้างหน้า”

 

ถ่ายรูปข้างหลังเด็กชาวญี่ปุ่น

 

อย่างในภาพที่เห็นนี้ เป็นช็อตที่ฉันถ่ายเก็บไว้ตอนเหลือบไปเจอเด็กๆ ประถมฯ กำลังเดินกลับบ้านกันหลังเลิกเรียน เด็กนักเรียนในชุดไปรเวทเดินเรียงแถวในช่องทางเดินกันเรียบร้อยแต่ก็ดูอิสระอยู่ในที ทุกคนสวมหมวกสีเหลืองสดใสชวนสะดุดตาที่ทำให้มั่นใจว่าคนขับรถราจะมองเห็นได้จากระยะไกล ฉันผละจากร้านชาเจ้าอร่อยแห่งจังหวัดฟุกุโอกะออกมาสังเกตการณ์หน้าร้าน พลางยกกล้องขึ้นถ่ายภาพ การถ่ายภาพมุมกว้างจากข้างหลังนั้นห่างไกลจากคำว่าเสียมารยาทมากทีเดียว นั่นทำให้ฉันสบายใจและถ่ายภาพได้อย่างไร้กังวล กระเป๋าเป้ หมวก กระติกน้ำ และภาพด้านหลังจากเหล่าคนตัวเล็กที่เดินมุ่งไปข้างหน้านั้นเพียงพอแล้วสำหรับภาพนี้ ให้ความหมายของภาพครบถ้วนโดยไม่จำเป็นต้องเห็นหน้าของเด็กๆ เลย

การถ่ายภาพคนที่กำลังเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเป็นมุกที่ฉันใช้เป็นประจำเวลาถ่ายภาพคนจากข้างหลัง แม้จะโฟกัสยากนิดนึง โดยเฉพาะถ้าถ่ายคนขี่จักรยานหรือสิ่งที่เคลื่อนที่เร็วๆ แต่เหนือสิ่งอื่นใดการถ่ายภาพใครสักคนจากข้างหลังก็ให้ความรู้สึกปลอดภัยและสบายใจมากทีเดียว ระหว่างเขาและเราจะมีระยะห่างที่ทำให้ไม่มีใครต้องอึดอัด (นั่นหมายถึงถ่ายช็อตสองช็อตนะ ไม่ใช่เดินสะกดรอยตามไปถ่ายตู้มๆ) และนี่จึงทำให้เสน่ห์ของการถ่ายภาพจากระยะไกลนิดนึงและอยู่นอกสายตาหน่อยๆ ยังคงพอมีอยู่บ้าง

จะว่าไปแล้ว ณ ขณะที่ถ่ายภาพเด็กๆ เดินไปข้างหน้า ฉันแอบรู้สึกฟินเล็กๆ นะ เพราะการได้เห็นกลุ่มเด็กๆ ที่เราเรียกกันว่า “คนรุ่นหลัง” เดินนำหน้าเราไปแบบนี้มันชวนให้ฉันได้คิดทบทวนอะไรบางอย่างเหมือนกัน เพราะคนรุ่นหลังไม่ใช่แค่คนข้างหลัง แต่จริงๆ แล้วพวกเขาคือกลุ่มคนที่จะเดินนำอยู่ข้างหน้าและขับเคลื่อนโลกใบนี้ต่อไป

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ