sawàtdii chaaw KIJI thúk thân

phɔɔ ca ʔàan ʔɔ̀ɔk máy khráp?

 

สวัสดีชาว KIJI ทุกท่าน พอจะอ่านประโยคที่เขียนไปข้างต้นออกไหมครับ ใช่ว่าสมองของผมเพี้ยนไปเพราะโดนพิษร้อนแห่งความอลหม่านของสงกรานต์แต่อย่างใด (ช่วงนั้นผมอยู่โตเกียวท่ามกลางมวลฝนเย็นเฉียบที่ตกลงมาประปรายอยู่เนืองๆ)

เดือนเมษายนถือเป็นช่วงปีใหม่สำหรับการศึกษา (และยังเป็นปีงบประมาณใหม่) ของคนญี่ปุ่น โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยทั้งหลายก็ได้เปิดภาคการศึกษาใหม่ นักเรียนนักศึกษาที่มีเปลวไฟแห่งความหวังลุกโชติช่วงอยู่ในใจ พากันเข้ามานั่งในห้องเรียน กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ (อันนี้ครูคิดไปเองป่าวไม่รู้)

นักศึกษาใหม่ๆ ของภาคภาษาไทยก็เช่นกัน พอผมถามถึงความสนใจของแต่ละคน อะไรทำให้พวกเขาหันไปสนใจภาษาไทย บางคนบอกว่าเรียนภาษาไทยและอยากไปทำงานที่เมืองไทยในอนาคต หรือเคยไปเที่ยวเมืองไทยและรู้สึกชอบ ฯลฯ เหตุผลหลักๆ ก็มีประมาณเท่านี้ ไม่มีอะไรที่ดูสูงส่งหรือตั้งธงชูให้สูงอย่างสง่าผ่าเผย แต่ผมว่าแบบนี้ก็ฟังดูบริสุทธิ์ดีเหมือนกัน และยังมีหลายคนที่ให้เหตุผลว่า “หนูอยากอ่านอักษรไทยให้ออกอะครับ/ค่ะ ‘จารย์” หรือ “มันเป็นความสามารถที่ดูเท่ๆ ยังไงไม่รู้ฮะ”

เออ อันนี้ผมเข้าใจนะ สำหรับคนญี่ปุ่น อักษรไทยมักมีเสน่ห์บางอย่างที่ดึงดูดใจ เคยได้ยินหลายคนพูดถึงตัวอักษรไทยว่า “น่ารัก” “สวย” หรือไม่ก็ “เท่” และการที่จะรู้ตัวอักษรไทยนั้นกลายเป็น “ความท้าทาย” ลำดับต้นๆ ในการเรียนภาษาไทย แต่ทว่า นักศึกษาเหล่านั้นจำเป็นต้องก้าวข้ามอุปสรรคอีกขั้นตอนหนึ่ง ก่อนที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายดังกล่าวและหลงใหลกับเสน่ห์ของอักษรไทย คือ สัทอักษร หรือ “อักษรแทนเสียง” หรือ ตัวอักษรที่แลดูคล้ายคลึงกับอักษรโรมันและอักษรกรีกที่ผมยกมาข้างต้นของคอลัมน์นี้

“อักษรแทนเสียง” ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแทนหน่วยเสียงต่างๆ ในภาษาใดภาษาหนึ่ง ผู้ศึกษาจะได้รู้ว่า การออกเสียงที่ถูกต้องจะเป็นเช่นไร ที่จริงแล้ว มีตัวอักษรแทนเสียงที่ใช้เป็นมาตรฐานสากลในวงการภาษาศาสตร์ เรียกว่า “สัทอักษรสากล” หรือเรียกว่า IPA (ย่อมาจาก International Phonetic Alphabet) เวลาอธิบายหน่วยเสียงต่างๆ ในภาษาไทย เราสามารถใช้สัทอักษร IPA นี้ได้เพื่อแทนเสียงของภาษาไทยและตัวอักษรไทย แต่กรณีของการเรียนการสอนภาษาไทยสำหรับคนต่างชาติ นักศึกษาและครูบาอาจารย์มักใช้อักษรแทนเสียงที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเฉพาะสำหรับภาษาไทย โดยดร. Mary Rosamond Haas นักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกัน (ค.ศ. 1910-1996) ซึ่งตรงกับตัวอักษรที่ผมได้พิมพ์นั่นเอง

คนญี่ปุ่นที่สนใจเรียนภาษาไทย จำเป็นต้องท่องจำอักษรแทนเสียงภาษาไทย พร้อมกับตัวอักษรไทย ทำให้เห็นว่าเสียงก. (kɔɔ) ต่างจากค. (khɔɔ) อย่างไร เสียงอู (uu) เสียงอือ (ʉʉ) เสียงเออ (əə) มีความแตกต่างเช่นไร หรือคำว่า ไม่ (mây) ไหม (mǎy) ใหม่ (mày) มีวรรณยุกต์ต่างกันเยี่ยงไร ท่านผู้อ่านชาวไทยอาจจะฉงนงุนงงก็ได้ เรื่องอะไรกันที่ต้องทำให้ซับซ้อนยุ่งยากขนาดนี้? แต่สำหรับผู้พูดภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นภาษาที่มีเสียงสระเพียง 5 เสียง เสียงพยัญชนะเพียง 14 เสียง (นับตามความเข้าใจทั่วๆ ไป) อักษรแทนเสียงนั้นถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการเรียนการสอนภาษาไทยอย่างเป็นระบบระเบียบ จะได้ไม่สสับสับสนกับภาษาแม่ของตน รู้ว่าภาษาและตัวอักษรที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ มีรูปลักษณ์อย่างไร ถึงแม้จะเป็นหนทางอันยาวไกลก็ตาม กว่าจะบรรลุ “ความเท่” ที่มากับการที่ได้อ่านอักษรไทยออก ตามที่ตัวเองคาดหวังไว้

แต่พอมาถึงขั้นตอนการเรียนรู้อักษรไทยจริงๆ จังๆ นักศึกษาบางคนกลับรู้สึกท้อใจกับการท่องจำตัวอักษรไทยมากหน้าหลายตา มาอ้อนวอนว่า “ ‘จารย์ฮะ จะใช้อักษรแทนเสียงตลอดไม่ได้หรา ”

mây dây dèt khàat khráp! (ไม่ได้เด็ดขาดครับ!) 

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ