ทำไมคนญี่ปุ่นถึงไม่เดินไป กินไป
“เมษายน” ถือเป็นเดือนพีคที่ชาวไทยหลายคนตั้งหน้าตั้งตารอคอยในการหนีร้อนไปเยือนญี่ปุ่นเพื่อเชยชมความงดงามของ “ซากุระ” ที่บานสะพรั่งทั่วทุกหนทุกแห่งในฤดูใบไม้ผลิ
บอกเลยว่าตามแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นจุดชมดอกซากุระ หรือ “ฮานามิ” (ใช่ ชื่อเดียวกับขนมที่คุณกินมาแต่เด็กนั่นแหละ) จะเนืองแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ที่ต่างมาจับจองพื้นที่ในการดื่มด่ำบรรยากาศ บ้างมองด้วยตาเปล่า บ้างก็มองผ่านกล้องถ่ายรูปพร้อมกับเซลฟี่รัวๆๆ
และเชื่อว่าหนึ่งในกิจกรรมที่ชวนให้มโนภาพ (แถมถ่ายรูปออกมาเลิศด้วยสิ) คือการ “เดินไป กินไป”
ด้วยแท่งซอฟต์ครีมในมือ ท่ามกลางดงหมู่มวลซากุระที่ปกคลุมไปทั่วบริเวณ ก็แหม! อากาศเย็นสบายแบบนี้ เลียซอฟต์ครีมรสนม ที่เสิร์ฟด้วยพร้อมชื่นชมอาหารตาระดับมิชลิน 3 ดาว จะมีอะไรฟินไปกว่านี้อีกล่ะ จริงมั้ย?
แต่! ต้องขอโทษด้วยที่คุณอาจไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เพราะคนญี่ปุ่นมัก “ไม่เดินไป กินไป” น่ะสิ!
Why?
“เหตุผล” ดูจะมีทั้งเชิงตรรกะและเชิงอารมณ์นามธรรม
อย่างแรกเลยคือเรื่องของ “ความสะอาด” แน่นอนครับว่าการเดินไป กินไป มีโอกาสที่ของกินของคุณ (โดยเฉพาะซอฟต์ครีม) จะหกลงพื้น สร้างความสกปรกแก่ “พื้นที่สาธารณะ” อีกทั้งยังเสี่ยงที่จะเผลอไปเดินชนคนอื่นจนของกินกระเด็นใส่หรือเลอะเทอะคนอื่นได้!
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “ความสะอาด” ในความหมายของคนญี่ปุ่น ไม่ใช่แค่เรื่องการรณรงค์ปากเปล่าหรือเป็นหน้าที่ของใครบางคนเท่านั้น แต่ลงลึกไปถึง “วัฒนธรรม” (แถมเป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่แข็งแกร่งมากด้วยสิ) ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เฉพาะแค่ในพื้นที่ชมซากุระ แต่แทบจะทุกสถานที่สาธารณะเลยก็ว่าได้!
เพราะเมื่อหกเลอะพื้นแล้ว คุณก็จะถูกคาดหวังว่าต้อง “รับผิดชอบ” ในการทำความสะอาดให้กลับมาเหมือนเดิม (ไม่ใช่โบ้ยว่าเป็นงานของเจ้าหน้าที่ทำความสะอาด) คนญี่ปุ่นมีคติที่ยึดมั่นอย่างแรงกล้าว่า จะพยายาม “ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น” และการไม่ “เดินไป กินไป” ก็ลดโอกาสที่จะสร้างความเดือดร้อนนั้นได้
ในมุมของ “ภาพลักษณ์” โดยเฉพาะคุณผู้หญิง (ที่สังคมบอกว่าต้องมีความเป็น “กุลสตรี”) การเดินไป กินไป ยกขวดน้ำซดดื่มหรือเผยลิ้นเลียซอฟต์ครีมแผลบๆ อย่างสบายใจเฉิบเป็นภาพที่ไม่ค่อยงามนัก การหาที่นั่งกินอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ภาพลักษณ์ที่เผยออกมาอาจดูสง่างามกว่า อิอิ
ในมุมของสุนทรียะหรือการลิ้มรสชาติ การเดินไป กินไปอาจทำให้โสตประสาทของคุณที่มีต่อการรับรู้รสชาตินั้นหยาบลง เพราะประสาทสัมผัสอื่นๆทำงานไปด้วย (นั่งกินเฉยๆก็ทำงานแหละ แต่น้อยกว่า) ข้อนี้อาจดูเวอร์วังไปหน่อย แต่จะว่าไปก็ดูสมเหตุสมผลอยู่นะ จากเหตุผลเหล่านี้ สรุปได้ว่า ควรหาที่กินเป็นหลักเป็นแหล่ง เมื่อกินเสร็จจึงค่อยไปต่อจะดีกว่า
ส่วนตัวผม เคยเจอประสบการณ์มากับตัว เมื่อครั้งไปเยือนญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในชีวิต ขณะจ่ายเงินเสร็จ ยื่นมือรับซอฟต์ครีมรสนม และกำลังออกจากร้านเพื่อเดินไป กินไปอย่างสบายอุรา ณ ทางเดินภายในวัด Asakusa อันเลื่องชื่อ
โอบะซัง หรือคุณป้าเจ้าของร้านตะโกนดังลั่นมาที่ผม และรีบเดินตามออกมา พลางพูดญี่ปุ่นรัวๆ (ตอนนั้นสกิลภาษาญี่ปุ่นของผมเท่ากับศูนย์) เมื่อรู้ว่าผมไม่เก็ท จึงพยายามสื่อสารเป็นภาษามือและภาษาอังกฤษแบบเป็นคำๆ พยายามอยู่นานจนผมพอเข้าใจว่า
“ให้ยืนกินเฉพาะบริเวณหน้าร้าน และขอความกรุณาอย่า ‘เดินไป กินไป’ เพราะไอติมอาจหยดลงพื้น หรือไปโดนคนอื่นเข้า สร้างความสกปรกและความเดือดร้อนได้”
ผมค่อนข้างงงเล็กน้อย แต่พอลองสังเกตไปรอบๆ ก็พบว่าไม่มีคนญี่ปุ่นที่เดินไป กินไปเลย ใครมาเป็นคู่ ก็ยืนกินเป็นคู่ ใครมาเป็นกลุ่ม ก็ยืนกินเป็นกลุ่ม
นับเป็นบทเรียนแรกที่แสนประทับใจ
และดูเหมือนจะไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่ภายในวัด แต่ที่อื่นๆก็เป็นเหมือนกันนะ
จะว่าไป ในทางปฎิบัติก็พบเห็นคนเดินไปกินไปอยู่บ้าง แต่มักเป็นย่านวัยรุ่นๆ เช่น ฮาราจูกุ (Harajuku) ที่แต่ละคนถือเครปเดินกินกันชิวๆ เลย แต่ใน “ภาพรวม” มักหาที่กินเป็นหลักแหล่งก่อน เมื่อกินเสร็จ จึง Let’s go ค่อยไปต่อกัน
รู้อย่างนี้แล้ว เมื่อไปเยือนญี่ปุ่นครั้งหน้า ก็อย่าลืมทำตามธรรมเนียมปฏิบัติของเขากันด้วยล่ะ ^^