อาหารญี่ปุ่นในชีวิตประจำวัน ที่ดัดแปลงมาจากต่างประเทศ
สารบัญ
อาหารญี่ปุ่นในชีวิตประจำวัน หลายอย่างเป็นที่รู้จักกันดีในระดับสากล แต่หากสืบย้อนที่มาที่ไปแล้ว ความเป็นสากลนี่แหล่ะที่ทำให้เกิดอาหารประเภทนั้นๆ ขึ้นได้
คนญี่ปุ่นยอมรับว่าตนไม่ได้ประดิษฐ์อาหารบางอย่างมาแต่ดั้งเดิม จะแยกประเภทและตั้งชื่อให้เลย โดยอาหารญี่ปุ่นที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกเรียกว่า โยโชคุ (洋食) ก่อนที่จะถูกดัดแปลงปรับให้เข้ากับรสนิยมผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นในท้ายที่สุด บทความนี้ขอพูดรวมๆ ถึงอาหารที่เราเห็นกันในชีวิตประจำวันที่ดัดแปลงมาจาก ‘ต่างประเทศ’ ไม่ได้จำกัดเฉพาะตะวันตกอย่างเดียวนะครับ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
คัตสึ ( かつ: คะ-สึ)
บรรดาคัตสึทั้งหลายแหล่ (…ชุบแป้งทอด) เช่น ทงคัตสึหมูชุบแป้งทอด ว่ากันว่าถูกดัดแปลงมาจากอาหารชนิดหนึ่งของชาวเยอรมันที่เรียกว่า “schnitzel” ในปลายศวรรษที่ 19 มีร้านอาหารเล็กๆ แห่งหนึ่งในย่านกินซ่า (Ginza) ที่ชื่อว่า “Rengatei” (煉瓦亭) เป็นคนคิดค้นเจ้าแรก จนได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบัน
ข้าวห่อไข่ ( オムライス: โอ-มุ-ไร-สุ)
ใครที่ชอบไปเมดคาเฟ่อาจจะได้กินบ่อยๆ เพราะเป็นเมนูพื้นฐานของร้าน (ที่ขนาดใหญ่มาก ฮ่าๆๆ) ว่ากันว่าข้าวห่อไข่เกิดขึ้นในศวรรษที่ 20 ที่ย่านกินซ่า (Ginza) เป็นการพยายามดัดแปลงอาหารตะวันตกมารวมกับข้าว ปิดท้ายด้วยการบีบซอสมะเขือเทศ ข้าวห่อไข่เป็นอาหารกินง่ายที่เด็กญี่ปุ่นชื่นชอบ จึงมักถูกบรรจุอยู่ใน “เมนูเด็ก” เสมอ ^^
เกี๊ยวซ่า (餃子: เกียว-ซะ)
อาหารของทานเล่นยอดนิยมของญี่ปุ่น (และคนไทยด้วย) คนไทยที่ไปเที่ยวโอซาก้ามักจะได้ยินคำบอกเล่ากันต่อๆ ว่าให้ลิ้มลองเกี๊ยวซ่าของโอซาก้า เพราะมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์มาก แต่เดิมเกี๊ยวซ่ามีรากเหง้ามาจากประเทศจีน ซึ่งมีประวัติยาวนานนับพันปีเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม คำว่า “Gyoza” น่าจะเป็นที่เข้าใจในทางสากลมากกว่าคำเรียกแบบจีนที่เรียกว่า Jiaozi
แกงกะหรี่ (カレー: คา-เร)
ข้อนี้น่าจะพอเดากันได้ แกงกะหรี่มาจากประเทศอังกฤษทางเรือในศตวรรษที่ 19 อาจฟังดูแปลกที่แกงกะหรี่มาจากอังกฤษ คาดว่าเพราะกองเรือของอังกฤษยุคนั้นมีคน “อินเดีย” อยู่ด้วยซึ่งกินแกงกะหรี่กันเป็นปกติอยู่แล้ว (ยุคล่าอาณานิคม) จึงเกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอาหารกัน และสังเกตว่าการกินแกงกะหรี่มักใช้ “ช้อน” ในการกินไม่ใช่ตะเกียบ (อาหารญี่ปุ่นดั้งเดิมมักใช้ตะเกียบกิน ดูอย่างวิธีกินซุปมิโซะได้) และเมื่อมารวมกับข้าวก็เลยกลายเป็น “ข้าวแกงกะหรี่” (カレーライス: คา-เร-ไร-สุ)
เนื้อต้มมันฝรั่ง (肉じゃが : นิ-คุ-จะ-กะ)
อาหารง่ายๆ ที่ทำกินกันที่บ้านในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะฤดูหนาวของญี่ปุ่น (แม้แต่คนญี่ปุ่นบางคนก็คิดว่าคืออาหารญี่ปุ่นแท้ๆ) ก็มีรากเหง้าเดิมมาจากปลายศวรรษที่ 19 ที่มีการติดต่อปฎิสัมพันธ์กับกองเรืออังกฤษ
ราเมน (ラーメン: รา-เมน)
ข้อนี้คงเดากันได้ ราเมนดั้งเดิมมาจากประเทศจีน ซึ่งเข้ามาติดต่อกับท่าเรือในญี่ปุ่นเมื่อปี 1859 (ว่ากันว่าคือที่เมืองโยโกฮามะ) จึงเกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอาหาร มีร้านอาหารจีนกำเนิดขึ้นจนกลายเป็น China Town อาหารจีนเหล่านี้ก็ประกอบด้วยบรรดา “เส้น” ทั้งหลายแหล่ แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยถูกปากคนญี่ปุ่นนัก คนญี่ปุ่นจึงได้ ‘ดัดแปลง’ ทั้งเส้น ซุป และกรรมวิธีการปรุง วิวัฒนาการมาเรื่อยๆ พัฒนาจนกลายเป็นราเมนแบบที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน ^^
เทมปุระ (天ぷら: เทม-ปุ-ระ)
ข้อนี้อาจจะพลิกโผใครหลายคน เพราะเหมือนอาหารญี่ปุ่นมาก จริงๆ แล้วเทมปุระมาจากมิชชันนารีโปรตุเกสเมื่อปลายศตวรรษที่ 16 โน่นครับ อาหารนี้ดั้งเดิมในภาษาโปรตุเกสเรียกว่า “Peixinhos da horta” เทมปุระได้ความนิยมมากจนกลายเป็นหนึ่งใน อาหารญี่ปุ่นในชีวิตประจำวัน ของญี่ปุ่นไปแล้ว เชื่อว่าแม้แต่คนญี่ปุ่นเองบางคนก็คิดว่าเทมปุระคืออาหารญี่ปุ่นดั้งเดิม และในระดับสากล(ไม่รวมโปรตุเกส) เมื่อเอ่ยถึง “เทมปุระ” ก็คิดว่าเป็นอาหารญี่ปุ่นจริงๆ 555
แฮมเบิร์ก ( ハンバーグ: ฮัม-บา-กุ )
ต้นตำรับว่ากันว่าถือกำเนิดขึ้นที่เมือง Hamburg ประเทศเยอรมัน ต่อมาเข้ามายังญี่ปุ่นในสมัยยุคเมจิที่เมืองโยโกฮาม่า ซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญติดต่อกับต่างชาติในยุคก่อน สังเกตได้ว่าวิธีการกินแฮมเบิร์กจะใช้มีดกับส้อมในการกินแบบตะวันตก แฮมเบิร์กเริ่มได้รับความนิยมจริงๆ ในญี่ปุ่นประมาณช่วงยุค 1960 เพราะเป็น “ทางเลือกที่ถูกกว่า” ของการกินสเต๊ก (ซึ่งมักมีราคาแพง)
โคร็อกเกะ ( コロッケ : โค-ร็อก-เกะ)
มาจากคำว่า Croquette มันบดชุบแป้งทอด มีขายทั่วไปตามซูเปอร์มาร์เก็ตแบบ “พร้อมกิน” ได้เลย ราคาไม่แพง เหมือนของทานเล่นคู่กับอาหารหลัก ฮ่าๆ (UFM ฟูจิซุปเปอร์ที่สุขุมวิท 33/1 ก็มีวางขายนะ) โคร็อกเกะนี่ไม่ได้มีอิทธิพลแค่ในญี่ปุ่นนะครับ แต่แพร่หลายไปหลายประเทศทั่วโลกมานานมากแล้ว แต่ชื่อก็จะแตกต่างกันไป ส่วนผสมของแต่ละประเทศก็จะถูกดัดแปลงนิดดัดแปลงหน่อยเพื่อให้ถูกปากชาติของตน อย่างตอนนี้ผมอยู่อังกฤษ โคร็อกเกะที่นี่ก็จะมีวางขายทั่วไปตามซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างเทสโก้ แต่จะมาในรูปแบบแช่เย็นหรือแช่แข็ง ไม่ใช่พร้อมทานแบบญี่ปุ่น
ปัจจุบันโยโชคุเป็นอาหารที่หากินได้ทั่วไปในญี่ปุ่นแล้ว กลมกลืนอยู่ในชีวิตประจำวันจนอาจไม่ได้คิดว่านี่เรากำลังกินอาหารที่ดัดแปลงมาจากต่างประเทศอยู่นะ (อารมณ์เหมือนเรากินก๋วยเตี๊ยว ก็ไม่ได้คิดว่ากำลังกิน ‘อาหารจีน’ อยู่ ประมาณนั้น ^^) เชนร้านแนว family restaurant อย่าง Denny’s ก็มีโยโชคุให้เลือกเยอะมากมาย
โยโชคุระดับพรีเมียม ก็มีให้เลือกเยอะโดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างโตเกียว ร้าน Shiseido Parlor ใจกลางย่านกินซ่าก็เป็นหนึ่งในนั้น มีทั้งอาหารและขนมของหวานให้เลือกมากมาย
คนญี่ปุ่นนั้นเก่งในการเปิดรับสิ่งใหม่และปรับให้เหมาะสมจนกลายเป็น “แบบของตน” (Emulate) โยโชคุหรืออาหารดัดแปลงเหล่านี้ สะท้อนแนวคิดนี้ได้เป็นอย่างดี ^^