สารบัญ

 

 

อาหารที่ใช้วัตถุดิบประจำฤดูกาลหรืออาหารที่อยากให้ผู้อื่นลองชิมนั้น เพียงแค่เพิ่มความใส่ใจลงไปอีกเล็กน้อย ด้วยการจัดวางลงบนภาชนะที่ชื่นชอบ ก็จะสื่อความรู้สึกถึงผู้ที่ได้ลิ้มรสอาหาร ทำให้ทุกคนที่รับประทานรู้สึกกลมเกลียวกัน และทำให้เกิดพลัง

ช่วงเวลาในการรับประทานอาหารอย่างสบายๆ เป็นช่วงเวลาที่มีค่าเป็นอย่างมากสำหรับเพื่อนพ้องที่สนิทสนมกันหรือคู่สนทนาที่รู้สึกอยากจะพูดคุยทำความรู้จักกัน เราได้พบกับช่างปั้นที่มีความสุขกับการปั้นภาชนะเพื่อช่วงเวลาสำคัญนั้น

โรงปั้นเครื่องปั้นดินเผาริวตะกะมะ (Ryuta-gama) ตั้งอยู่ท่ามกลางทิวทัศน์อันเงียบสงบ แวดล้อมด้วยต้นไม้สีเขียว ผ่อนคลายไปกับเสียงน้ำไหลจากลำธาร แค่เพียงยืนอยู่ที่โรงปั้นแห่งนี้ ก็รู้สึกต้องสำรวม ตื่นเต้นพอประมาณ และสัมผัสได้ถึงช่วงเวลาที่ผ่านไปอย่างเชื่องช้า

ครั้งนี้เราได้มาพบกับคุณทะกิ นะคะซะโตะ (Taki Nakazato) แห่งโรงปั้นเครื่องปั้นดินเผาริวตะกะมะ (Ryuta-gama) ที่เมืองคะรัทสึ จังหวัดซะกะ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องเครื่องปั้นดินเผาที่คุณทะกิปั้น ซึ่งแต่ละคำที่คุณทะกิกล่าวออกมา ล้วนสัมผัสได้ถึงความรักที่เขามีต่องานปั้น

 

 

Q. พายไม้ที่ถืออยู่ตอนปั้นบนแท่นหมุนอยู่นี่คืออะไรครับ

อันนี้ทั่วไปเรียกว่ากิวเบะระ (Gyu-bera) ครับ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้กันที่เมืองอะริตะ แต่ที่นั่นจะเรียกว่า นุเบะเบะระ (Nube-bera) ครับ

 

Q. ตอนปั้นนี่จะใช้แบบนี้ทั้งหมดเลยหรือครับ

ไม่ใช่ทั้งหมดครับ ก็จะใช้อันนี้ แล้วก็ถ้าเป็นพวกถ้วยชาก็จะใช้แบบสี่เหลี่ยมซึ่งก็ต้องสั่งทำครับ ถ่ายรูปไหมครับ

 

Q. ตอนที่เริ่มทำงานปั้น งานแรกที่ได้ลองทำคืออะไรครับ

ที่หัดปั้นตอนแรกก็จะเป็นจานใบเล็ก แล้วก็หัดปั้นไปเรื่อยๆ ครับ จากนั้นก็จะปั้นถ้วยชา แต่อันนี้เป็นแนวทางแบบของผมนะครับ

 

 

Q. ผลงานซีรีส์ที่เป็นรอยบากแบบโมเดิร์นนั้นปั้นตอนไหนเหรอครับ

รอยบากเหรอครับ น่าจะ 5-6 ปีที่แล้วนะครับ รอยบากนั่นทำตอนอิโดะคุงอยู่ใช่ไหม (คุณทะกิถามสต๊าฟด้วยสำเนียงแบบคะรัทสึ) อิโดะคุงไม่อยู่มา 5 ปีแล้วหรือเปล่านะ (ลูกศิษย์ตอบว่า 7 ปีแล้วครับ) น่าจะ 5-6 ปีแล้วนะครับ พออายุมากแล้วก็จำวันเวลาไม่ค่อยได้แล้วครับ

 

Q. พอดูผลงานแล้ว จากงานเครื่องปั้นดินเผาทำให้ผมสัมผัสได้ถึงเสน่ห์ของภาชนะที่ทำให้จินตนาการไปถึงอาหาร แล้วผมก็คิดไปว่าคนปั้นก็น่าจะคิดไปถึงอาหารด้วย ได้คิดไปถึงการใช้งานด้วยไหมครับ

อืม ผมเป็นพวกชอบกิน ชอบดื่มน่ะครับ เลยทำให้ผมเข้ามาทำงานปั้นภาชนะ บางคนปั้นงานขึ้นมาเพื่อเอาไว้ให้ชื่นชม แต่ตัวผมแล้วไม่ใช่ชื่นชมอย่างเดียว ต้องใช้ได้จริงด้วย ผมคิดว่าเครื่องปั้นดินเผานี่ยิ่งใช้ก็จะยิ่งเงางาม ยิ่งดูลึกล้ำนะครับ ผมอยากให้นำไปใช้จริงครับ

 

Q. คุณทะกิทำอาหารหรือเปล่าครับ 

ช่วงนี้ก็ทำอาหารบ้างนิดหน่อยครับ ถ้ามีเพื่อนหรือแขกมาหาก็จะไปร้านขายปลา ซื้อปลามาแล่บ้าง นิดหน่อยครับ ประเภทอาหารก็ไม่ได้มีเยอะเท่าไหร่ครับแต่ก็ชอบทำ

 

Q. ผมเห็นที่ห้องแสดงงานมีถ้วยเหล้าจัดแสดงอยู่เยอะ ชอบดื่มเหล้าเหรอครับ

ดื่มเยอะเกินไปครับ บางครั้งก็ทำให้เกิดเรื่องพลาดๆ (หัวเราะ)

 

ห้องแสดงงานที่มีงานกระจกสีและโคมไฟที่ออกแบบสไตล์สแกนดิเนเวียจากนักเขียนที่คบหาสนิทสนมกับทางบ้านนะคะซะโตะ


Q. ทราบว่าคุณพ่อของคุณทะกิเองก็เป็นช่างปั้นใช่ไหมครับ ด้วยเหตุนี้เลยทำให้เข้าสู่โลกของการปั้นด้วยหรือเปล่าครับ

ผมไม่ได้คิดเรื่องจะสืบทอดเลยจนขึ้นม.ปลาย ครับ ก็มีที่รู้สึกต่อต้านพ่อแม่ ไม่เอาเรื่องเรียนเลยครับ สมัยม.ปลาย นี่เอาแต่ไปแล่นเรือยอร์ช แล้วพอช่วงมหาวิทยาลัยก็ได้ถูกชวนให้เข้าไปด้วยโควต้าจากการแล่นเรือยอร์ชนี่แหละครับ ก็เลยไม่ต้องเรียนหนังสือ ใช้เส้นเรือยอร์ชเข้าไป

ตอนอยู่มหาวิทยาลัยก็เป็นชีวิตที่แต่ละวันก็ต้องอยู่ค่ายฝึกแล่นเรือยอร์ช ต้องทำอาหารเอง พอกัปตันสั่งว่าให้เริ่มกินได้ ทุกคนจะกินกันอย่างรวดเร็ว เรียกว่ากินอย่างตะกละตะกลามเลยครับ ใช้เวลา 3 นาที 5 นาทีก็กินข้าวเสร็จแล้วครับ เป็นเรื่องที่ทำให้ผมตกใจมากเลยครับ

คือตอนผมอยู่ม.ปลาย คุณพ่อจะชวนแขกมาทุกวันเลยครับ แล้วที่บ้านก็มีลูกศิษย์เยอะอยู่แล้วด้วย ทุกวันก็เลยเป็นวงเหล้า ซึ่งมันทำให้เด็กม.ปลาย อย่างผมรู้สึกแย่มากเลยครับ ทุกวันก็จะมีซาชิมิ ก็จะเป็นปลา
อะจิ ปลาอิวะชิ ส่วนปลาไทหรือปลาฮิระเมะนี่ไม่ค่อยมีออกมาเลยครับ ผมรู้สึกแย่มาก แย่จริงๆ จนทนไม่ไหว คิดเลยว่าจะไม่มีทางทำอะไรแบบนั้นเด็ดขาด พอได้เข้ามหาวิทยาลัย ได้กินอาหารของค่ายที่เหมือนอาหารสุนัขแล้ว นานๆ พอกลับบ้านไปแต่ละครั้งก็จะเจอวงเหล้าที่คุ้นเคย เลยทำให้รู้สึกว่าอาหารแบบนั้นอร่อยมากครับ จากนั้นก็เลยคิดว่าน่าจะลองทำเครื่องปั้นดินเผาดูครับ อยากจะกินอาหารอร่อยๆ อาหารตามฤดูกาลด้วยกันกับทุกคน อย่างมีความสุขครับ  
 

ตอนนั้นเรื่องเรือยอร์ชนี่ รู้สึกจะอ่านจากหนังสือพิมพ์หรืออะไรสักอย่างนี่แหละครับ แล้วก็คิดว่าน่าจะดีเลยเข้าชมรมเรือยอร์ช จบเลยครับ

 

Q. ในเรื่องงานให้ความสำคัญกับอะไรที่สุดครับ

ผมคิดว่าต้องใช้ง่ายครับ ถ้าไม่ใช่ภาชนะที่ใช้ง่ายๆ แล้ว ใครก็ไม่หยิบไปใช้ครับ ผมจะใส่ใจเรื่องผิวสัมผัสตอนหยิบจับ หรือตอนนำอาหารมาจัดวาง ต้องคิดก่อนว่าเมื่อเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้แล้วมีคุณสมบัติการใช้งานที่ดีหรือไม่ เช่น ถ้วยคะตะกุจิ (ถ้วยมีพวยสำหรับเท) หรือขวดใส่ซอสโชยุ พอเทเสร็จแล้วต้องหยุดได้เลย ไม่ย้อย

 

Q. ตอนสร้างผลงานใหม่ๆ เริ่มคิดจากอะไรก่อนครับ เช่น ถ้าเป็นจากผู้ใช้งานก็อาจคิดว่า อาหารแบบนี้ อยากเอาไปวางบนภาชนะแบบนี้ คือมีที่คิดจากอาหารก่อนบ้างไหมครับ

อืม ตอนที่ทานอาหารอยู่ก็มีที่คิดว่า ถ้าใส่ในภาชนะใบใหญ่กว่านี้ก็คงจะดี มีที่ไปที่ร้านด้วย ผมจะสนใจดูผลงานของคนอื่น แล้วคิดว่าแบบนี้ก็ดีนะ

 

Q. หมายถึงในด้านการใช้งาน แบบนี้น่าจะใช้ได้ง่ายกว่าแบบนี้เหรอครับ

ใช่ครับ ถ้าไม่ได้ใช้จริงๆ ก็จะไม่เข้าใจ

 

Q. ใช่เลยครับ ช่วงนี้ผมก็รู้สึกครับ 

ที่บ้านผมมีจานชามเยอะนะครับ แต่ก็มีพวกที่ใช้บ่อยกับที่ไม่ได้ใช้เลย ตอนนั้นคิดว่าอันนี้น่าจะใช้ง่ายแต่ก็ไม่ได้ใช้สักที ตอนภรรยาทำอาหารก็ไม่ยอมใช้ครับ (หัวเราะ) (ลูกศิษย์และสต๊าฟหัวเราะ)

 

 

Q. ถ้าพูดถึงคะรัทสึแล้ว การเผาแบบคะรัทสึยะกิ (Karatsu-yaki) มีจุดเด่นที่ลักษณะการไหลของงานเคลือบใช่ไหมครับ

อืม ว่ากันแบบนั้นนะครับ แต่งานของผมที่มีกลิ่นอายของคะรัทสึนี่หาได้น้อยมากครับ ก็จะเป็นงานรอยบาก งานขูดครับ

 

” ผมรู้สึกว่าภาชนะที่อยากใช้ ก็อยากจะปั้นเองครับ “

 

Q. มีเหตุผลอะไรไหมครับ

ผมชอบเครื่องปั้นดินเผาคะรัทสึแบบเก่าในสมัยโมะโมะยะมะครับ แต่ในชีวิตประจำวันจะให้ใช้แต่แบบนั้นตลอดเวลาก็รู้สึกหนักเกินไปครับ บางทีอะไรที่เป็นกลิ่นอายแบบญี่ปุ่น อาหารที่ทานตอนพิธีดื่มชา (Cha-kaiseki) ก็เหมาะกับงานแบบลายคะรัทสึ (E-Karatsu) ดีนะครับ แต่ผมรู้สึกว่าภาชนะที่อยากใช้ก็อยากจะปั้นเอง คือในชีวิตประจำวันก็อยากให้เบาๆ ลงอีกหน่อย คิดว่าสไตล์โมเดิร์นที่ใช้ง่ายหน่อยก็จะดีครับ ผมชอบกาแฟ ชอบไวน์ ชอบชีสนะครับ แต่ก็คงไม่อยากเอาชีสวางบนจานลายคะรัทสึหรอกครับ (หัวเราะ)

 

 

Q. ช่วงที่เริ่มทำงานปั้นกับตอนนี้ มีอะไรเปลี่ยนแปลงไหมครับ มีวิธีการมองสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาไหมครับ

มีครับ แถวรอบๆ ปากภาชนะหรือความหนาของปากครับ ซึ่งก่อนหน้านั้นผมคิดว่าปั้นให้หนาๆ หน่อยดีกว่า คุณพ่อก็สอนมาแบบนั้นด้วย แต่พอเข้าร่วมสัมมนาเรื่องแก้วแล้วก็เริ่มคิดว่า รสชาติจะแตกต่างกันไปตามรูปทรงหรือความหนาของปากภาชนะ ช่วงนี้ผมก็เลยจะทำให้แถวๆ ขอบปากบางลงหน่อยครับ

 

Q. คำถามสุดท้ายนะครับ สำหรับคุณทะกิแล้ว มีอะไรใหม่ๆ ที่สนใจทำบ้างไหมครับ

ช่วงนี้ผมสนิทกับเพื่อนที่สอนเรื่องชาจีน แล้วได้รับอิทธิพลมาครับ หลายเรื่องน่าสนใจมากครับ ชาจีนก็มีความน่าสนใจอย่างลึกซึ้งอยู่ ก็เลยกำลังทำกาน้ำชาที่เอาไว้ใส่ชาจีนอยู่ครับ เพื่อนเล่าทั้งประวัติศาสตร์ เล่ารายละเอียดให้ฟังอีกมากมายแต่จำไม่ค่อยได้เลยครับ (หัวเราะ)

 

เครื่องกรองแบบกดที่ใช้งานมานาน เมื่อนำโคลนใส่เข้าไป ความชื้นถูกบีบออกจากผ้าแล้วคายน้ำออกมาทำให้นำดินกลับไปใช้ได้อีก

 

> ทะกิ นะคะซะโตะ (Taki Nakazato) <

นักปั้น แห่งโรงปั้นดินเผาริวตะกะมะ (Ryuta-gama) เกิดในปี ค.ศ.1965 ที่เมืองคะรัทสึ จังหวัดซะกะ

เริ่มทำงานเครื่องปั้นดินเผากับบิดาทะคะชิ นะคะซะโตะ (Takashi Nakazato) จัดแสดงผลงานที่ห้างอิเซตัน ชินจุกุในปี ค.ศ.1995 จากนั้นได้จัดแสดงงานตามที่ต่างๆ ชื่อริวตะกะมะ (Ryuta-gama) ได้มาจากชื่อบุตรชายคนที่ 5 คือทะคะชิ ( ) นะคะซะโตะ แห่งทะโร่เอะม่อนรุ่นที่ 12 ที่ชื่อมุอันกับ “ทะ” ที่มาจากทะโร่เอะม่อนรุ่นที่ 12  ลักษณะเด่นของชิ้นงาน คือเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ผสานความโมเดิร์นไว้ รูปทรงที่เรียบง่ายและปราณีตทำให้ดึงดูดความสนใจจากกลุ่มแฟนๆ อย่างกว้างขวาง

 

ขอขอบคุณ
เว็บไซต์เผยแพร่อุตสาหกรรมญี่ปุ่น
http://realjapanproject.com/

 

 

 

 

 

 

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ