SHUHEI OGAWA | Kimono Designer
สารบัญ
- Q. ช่วยเล่าความเป็นมาของแบรนด์กิโมโนให้ฟังหน่อยได้ไหม
- Q. อะไรคือแรงบันดาลใจให้อยากจะสร้างแบรนด์ off-on ขึ้นมา
- Q. กว่าจะได้มาจับงานที่ตัวเองเป็นคนดีไซน์คงผ่านอุปสรรคมาไม่น้อยเลยใช่ไหม
- Q. รู้สึกว่าตัวเองก้าวผ่านภาวะนั้นมาได้ตอนไหน
- Q. ที่ผ่านมา off-on เคยจัดอีเวนต์บ้างไหม ตอนนั้นจัดเกี่ยวกับอะไร
- Q. จัดงานอีเวนต์แบบไหนบ้าง
- Q. ช็อกโกแลต “TOWA” ได้แรงบันดาลใจมาจากไหน
- Q. งานในตอนนี้มีทิศทางเป็นอย่างไรบ้าง
- Q. ปัจจุบันมีช็อกโกแลตรสชาติและลวดลายแบบไหนออกวางจำหน่ายบ้าง
- Q. มีช่วงเวลาที่ยากลำบากขณะทำช็อกโกแลตวางจำหน่ายบ้างไหม
- Q. ในส่วนของแพ็กเกจมีความเป็นมาอย่างไรกว่าจะมาเป็นรูปร่างและสีที่ใช้ในปัจจุบัน
- Q. ช่วยบอกเล่าถึงก้าวต่อไปให้ฟังหน่อยได้ไหม
- Q. ร้านสาขาในเกียวโตที่กำลังจะเปิดอยากให้เป็นร้านแบบไหนครับ
- Q. สุดท้ายนี้ช่วยบอกเป้าหมายต่อไปของแบรนด์ได้ไหม
KIMONO DESIGNER |
เกียวโต เมืองที่ภาพฉากเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลทั้งสี่ เมืองที่มีวัฒนธรรมหยั่งรากลึกลงในประวัติศาสตร์อันยาวนานที่แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ ก็ยังเป็นเมืองที่มีลมหายใจเต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา และในเมืองนี้นี่เองที่ทำให้เราได้พบกับคุณ “ชูเฮ โอะงะวะ (Shuhei Ogawa)” ผู้มอบคุณค่าใหม่แห่งกิโมโน
โดยปกติแล้ว การสวมใส่กิโมโนเป็นเรื่องห่างไกลจากชีวิตประจำวัน แต่คุณชูเฮได้ดีไซน์กิโมโนที่ให้ความรู้สึกทันสมัยโดยที่ยังคงใช้เทคนิคดั้งเดิม อีกทั้งยังสร้าง “ที่” ที่สามารถทำให้สวมใส่กิโมโนเป็นแบบ ON / OFF และเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิมให้คงอยู่ต่อไป และหนึ่งในนั้นคือ ช็อกโกแลตที่มี
คอนเซปต์แปลกใหม่ว่า “ส่งมอบความรู้สึกผ่านลวดลายกิโมโน” คุณชูเฮจะมาเล่าเรื่องวิสัยทัศน์ในการสืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ซ่อนไว้ในการจับคู่ของ “กิโมโน” กับ “ช็อกโกแลต” ซึ่งถ้ามองผ่านๆ แล้วอาจเป็นการจับคู่ที่เหนือความคาดหมาย
“งานที่คนอื่นคิดอาจถ่ายทอดความรู้ได้ไม่ทั้งหมด
จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เริ่มดีไซน์งานด้วยตนเอง”
Q. ช่วยเล่าความเป็นมาของแบรนด์กิโมโนให้ฟังหน่อยได้ไหม
ชื่อแบรนด์คือ “和風音” (おふおん) อ่านว่า off-on ครับ ซึ่ง off หมายถึงชุดแบบลำลอง ส่วน on หมายถึงชุดแบบเป็นทางการ ซึ่งเรามีกิโมโนให้เลือกตั้งแต่แบบ off จนถึง on คอนเซปต์เริ่มมาจากเราอยากนำเสนอกิโมโนที่สามารถใส่ได้ทุกวันในสังคมปัจจุบันนี้ครับ ถ้าดูจากตัวอักษรคันจิแล้ว “和” จะหมายถึงวัฒนธรรมญี่ปุ่น ส่วน “風” คือความคิดที่อยากจะนำรสนิยมในปัจจุบันนี้มาใช้ และ “音” แสดงให้เห็นถึงความสมัยใหม่
Q. อะไรคือแรงบันดาลใจให้อยากจะสร้างแบรนด์ off-on ขึ้นมา
ผมมีโอกาสทำงานที่ร้านย้อมสีผ้า คือเป็นงานแรกที่ได้ทำในฐานะช่างฝีมือเลยครับ ตอนนั้นอายุแค่ 22 ปี ซึ่งก็ยังเด็กอยู่ แล้วก็ยังมีภาพของค่ายเพลงบริษัท Johnny’s ติดอยู่ด้วย ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ประจำที่แผนกขายครับ สำหรับตัวผมแล้ว ถ้าเป็นงานที่คนอื่นคิด เราจะไม่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดได้ทั้งหมด เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นดีไซน์เองน่าจะดีกว่า
Q. กว่าจะได้มาจับงานที่ตัวเองเป็นคนดีไซน์คงผ่านอุปสรรคมาไม่น้อยเลยใช่ไหม
ก็มีบ้างครับ ช่วงแรกๆ ที่ผมทำแบรนด์ตัวเองขึ้นมา ผมยังสังกัดสตูดิโองานอยู่ครับ ผมมักขอความคิดเห็นจากสตาฟฟ์รอบข้าง ถามลูกศิษย์รุ่นพี่ทั้งผู้หญิงและผู้ชายว่า “ผมอยากสร้างงานแบบนี้นะครับ” แล้วนำความคิดเห็นนั้นมาเริ่มปรับใช้ในงานดีไซน์ ลองผิดลองถูกดูครับ พอผ่านไปครึ่งปีก็แยกตัวออกมา ซึ่งตอนนั้นเรื่องการหมุนเงินก็ต้องทำเองทั้งหมด ลำบากอยู่ครับ ประมาณ 3 ปีที่ใช้บ้านตัวเองแทนออฟฟิศทำกิโมโน ทำเสร็จก็นำไปเปิดแสดงนิทรรศการ พอขายกิโมโนได้ก็เริ่มทำชุดใหม่ ทำวนอยู่แบบนี้ครับ แต่เพราะทำคนเดียวตั้งแต่ดีไซน์ไปจนถึงจัดแสดง เลยลำบากพอสมควรครับ
Q. รู้สึกว่าตัวเองก้าวผ่านภาวะนั้นมาได้ตอนไหน
น่าจะเป็นช่วงที่ทำแบรนด์มาแล้ว 4 ปีครับ คือในช่วงที่เราไปเปิดนิทรรศการเล็กๆ หรือเวียนไปฝากตามร้านต่างๆ งานเราก็ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการบอกเล่าปากต่อปาก เลยทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก
จนห้างสรรพสินค้าชั้นนำติดต่อมา ตั้งแต่ช่วงนั้นเป็นต้นมาก็มีงานเข้าเรื่อยๆ จนตอนนี้มีคิวงานล่วงหน้า 2-3 ปีเลยครับ
“เผยแพร่วัฒนธรรมญี่ปุ่นและเรื่องดีๆ ของกิโมโนให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น”
Q. ที่ผ่านมา off-on เคยจัดอีเวนต์บ้างไหม ตอนนั้นจัดเกี่ยวกับอะไร
พอทำงานไปเรื่อยๆ แล้วก็อยากเผยแพร่วัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านกิโมโนให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง คือไม่ใช่แค่ทำกิโมโนขายเพียงเท่านั้น แต่อยากให้ผู้ซื้อไปรู้สึกถึงความเพลิดเพลินในการสวมใส่กิโมโนด้วยครับ ผมให้ความสำคัญในการถ่ายทอดคุณค่าของไลฟ์สไตล์แบบนี้ด้วย
เมื่อประมาณ 3 ปีก่อน เราจัดงานถ่ายทอดวัฒนธรรมและเพลงที่ผสมผสานกับชุดยูกะตะ คือถ้ามีคนบอกว่าโอกาสในการสวมใส่กิโมโนมีน้อย ทางเราก็จะสร้างโอกาสนั้นขึ้นมาให้ โดยก่อนอื่นเราเริ่มจากการสร้างโอกาสให้ได้สัมผัสวัฒนธรรมญี่ปุ่นจากชุดยูกะตะก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ ทำให้รู้จักกับกิโมโนต่อไปครับ
Q. จัดงานอีเวนต์แบบไหนบ้าง
เคยจัดอีเวนต์อย่างเช่นงาน “Lunch with Yukata” หรือ “Music Concert with Yukata” หลังจากการแสดงเสร็จแล้วก็จะมีการเล่นเกมชิงของรางวัล คือใส่ความบันเทิงเข้าไปด้วยเพื่อให้แขกที่มาร่วมงานรู้สึกสนุกสนานกลับไป ซึ่งผมจะจำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะทางเราจะสร้างโอกาสหลากหลายอย่างเพื่อให้การสวมกิโมโนออกไปข้างนอกสนุกขึ้น
“ส่งมอบช็อกโกแลตพร้อมความหมายของลวดลายกิโมโน “
Q. ช็อกโกแลต “TOWA” ได้แรงบันดาลใจมาจากไหน
ผมคิดเรื่องนี้มาตั้งแต่ 9 ปีที่แล้วครับ ตอนที่มีโอกาสไปทำงานที่คะโงะชิมะ ผมเจอเจ้าของร้านกิโมโนซึ่งเป็นคนที่
รู้เรื่องลายกิโมโนอย่างละเอียด ได้สอนเรื่องความหมายของลวดลายแต่ละลาย ตอนนั้นผมจึงรู้สึกว่า ถ้าคนสวมกิโมโนรู้ความหมายของลวดลาย คงทำให้การสวมชุดสนุกมากขึ้น เช่น ลายคลื่นที่อยู่ที่ฟุริโซะเดะ (ปลายแขนกิโมโนแบบยาว) หมายความว่า “ความสุขกำลังเข้ามาหา” แต่คนส่วนใหญ่ที่สวมใส่อาจไม่รู้ถึงความหมาย ทางเราจึงลองวิธีการในการเผยแพร่เรื่องลวดลายของกิโมโนที่มีความหมายลึกซึ้งซ่อนอยู่
หนึ่งในวิธีที่ผมนำเสนอคือการเอาลายกิโมโนมาไว้บนช็อกโกแลตเพื่อบอกเล่าความรู้สึกส่งต่อไปยังผู้รับ ส่วนตัวแล้วผมก็ชอบช็อกโกแลตด้วยครับ (หัวเราะ) คิดว่าถ้าเป็นช็อกโกแลตก็น่าจะเข้าถึงผู้คนได้ทุกชนชาติ รับประทานแล้วอร่อย แต่ตอนนั้นผมอยากคิดเรื่องทำกิโมโนให้คงที่ก่อน จึงพับโครงการช็อกโกแลตไว้ยาวเลยครับ แล้วตอนหลังจึงได้เริ่มทำโปรเจ็กต์ ในโอกาสที่แบรนด์ครบรอบ 10 ปี ผมก็อยากทำผลิตภัณฑ์ตัวนี้ออกมาเป็นของที่ระลึกด้วยครับ
Q. งานในตอนนี้มีทิศทางเป็นอย่างไรบ้าง
ในเดือนมกราคมปี 2017 ที่ผ่านมา แบรนด์ของเราได้ออกบู๊ทหมุนเวียนที่ห้าง ISETAN, KYOTO ปรากฏว่าผลตอบรับที่ดีเกินคาดเลยครับ ตอนแรกก็กังวลอยู่เหมือนกัน แต่หลายคนก็ให้ความสนใจ มีเสียงตอบรับในทางที่ดีกับ
คอนเซปต์ของแบรนด์เราครับ แม้จะมีลูกค้าพูดกับเราว่า “เดี๋ยวขอไปดูร้านอื่นก่อนนะ” แต่ในที่สุด ลูกค้าประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ก็กลับมาซื้อกิโมโนของเรา เลยทำให้รู้ว่าความรู้สึกที่เราอยากสื่อผ่านกิโมโนนั้นส่งไปถึงลูกค้าแล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผมดีใจมากเลยครับ รวมถึงการออกร้านครั้งต่อมาที่ “Japan Grand Prix International Orchid Festival” เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็เป็นไปได้ด้วยดีครับ
“แพ็กเกจที่เต็มไปด้วยความละเอียดและความใส่ใจถูกดีไซน์ขึ้นจากดีไซเนอร์กิโมโนเท่านั้น”
Q. ปัจจุบันมีช็อกโกแลตรสชาติและลวดลายแบบไหนออกวางจำหน่ายบ้าง
ปัจจุบันมีทั้งหมด 12 รสชาติ เช่น รสส้มยุสุ รสชาโฮจิชะ รสเห็ด ฯลฯ ซึ่งทุกรสชาติมีจุดสำคัญอยู่ที่การแสดงถึงความเป็นญี่ปุ่นครับ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือลวดลายของกิโมโน หรือในเรื่องของรสชาติ ก็สัมผัสได้ถึงวัฒนธรรมญี่ปุ่นครับ
Q. มีช่วงเวลาที่ยากลำบากขณะทำช็อกโกแลตวางจำหน่ายบ้างไหม
ในเรื่องของอาหาร เราเริ่มจากความรู้เป็นศูนย์เลยจริงๆ ครับ แต่เราก็ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา จนในที่สุดก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาครับ ไม่ใช่แค่เรื่องลวดลายหรือคอนเซปต์เท่านั้นนะครับ เรามุ่งเน้นไปที่เรื่องรสชาติ คือรับประทานแล้วต้องอร่อยด้วย ก็เลยใช้เวลาประมาณ 1 ปีในการทดลองทำ ลองชิมวนไปวนมาจนตาลายเลยครับ
หลังจากที่รสชาติผ่านแล้ว ก็มาคิดกันต่อเรื่องการนำไปประกอบเข้ากับลวดลาย เพราะแม้จะเป็นเพียงแค่ช็อกโกแลตชิ้นเดียว เราก็ใส่ความรู้สึกเข้าไปเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าด้วย ซึ่งในโอกาสนี้ก็อยากให้ผู้รับประทานได้สัมผัสถึงความงดงามของศิลปหัตถกรรมญี่ปุ่น การห่อบรรจุภัณฑ์จึงใช้ผ้ากิโมโนย้อมมือห่อให้ดูคล้ายกับฟุโระชิกิ โดยสื่อความหมายว่าได้ห่อหุ้มความจริงใจมามอบให้ ผมจึงหวังว่าการเริ่มต้นจากช็อกโกแลตจะทำให้ความเข้าใจเรื่องลวดลายกิโมโนขยายออกไปเป็นวงกว้าง และทำให้ผู้คนสนใจกิโมโนเพิ่มมากขึ้น
Q. ในส่วนของแพ็กเกจมีความเป็นมาอย่างไรกว่าจะมาเป็นรูปร่างและสีที่ใช้ในปัจจุบัน
โลโก้ของเราใช้ลวดลายที่เรียกว่า Shippo Monyo เป็นลายวงกลมที่ซ้อนกันไป ซึ่งหมายถึงการมีลูกหลานมากมายหรือการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกัน เหตุผลที่ใช้ลายนี้เพราะกว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ สิ่งสำคัญเลยคือเราได้รับการสนับสนุนจากหลายๆ คน เราอยากขอบคุณด้วยลวดลายที่สื่อถึงการเชื่อมโยงถึงกันและกัน จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง จึงออกมาเป็นลวดลายนี้ครับ
อีกอย่างหนึ่ง ความหมายของชื่อของแบรนด์ “TOWA” คือ “TO” มาจาก “KYOTO” และ “WA” มาจากวัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิมที่ทางเราอยากสืบสานต่อไป นอกจากนี้ “TOWA” ยังมีอีกความหมายหนึ่งคือ
“ตลอดกาล” ซึ่งเราคิดว่าอยากจะให้วัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิมคงไว้ตลอดกาล
สีของแพ็กเกจก็เป็นสีเฉพาะตัวของญี่ปุ่น เช่น สีส้มเหลืองยะมะบุกิ (Yamabuki Iro) สีม่วงฟุจิ (Fuji Iro) สีแดงชุ (Shu Iro) และสีฟ้ามิสุ (Mizu Iro) ที่มีที่มาจากฤดูกาลทั้ง 4 ของญี่ปุ่น และการดำเนินโปรเจ็กต์นี้ เราได้โปรดิวเซอร์ อาร์ตไดเร็กเตอร์ และก็อบปี้ไรเตอร์มืออาชีพมาร่วมงาน ซึ่งการเชื่อมต่อกันในครั้งนี้ก็เหมือนกับลาย Shippo Monyo เลยครับ
Q. ช่วยบอกเล่าถึงก้าวต่อไปให้ฟังหน่อยได้ไหม
ก่อนอื่นเลยก็อยากให้คอนเซ็ปต์ของ “TOWA” เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกก่อนครับ ก็เลยคิดว่าอยากจะนำผลงานออกสู่ต่างประเทศด้วยครับ ซึ่งในการออกสู่ต่างประเทศนั้นก็รวมไปถึงความหมายที่ว่า ชาวญี่ปุ่นเองจะได้มองเราต่างจากเดิม โดยเป้าหมายต่อไปคือการไปออกร้านที่งาน “Salon Du Chocolate” ที่ปารีสครับ เราอยากจะสร้างจุดเริ่มต้นการส่งมอบไปทั่วโลกด้วยการนำกิโมโนที่เป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิมอันเลอค่ามาตกแต่งที่ช็อกโกแลต
“ความคิดในการเปิดร้านที่เกียวโตคือการส่งมอบคุณค่า ‘ของจริง’ “
Q. ร้านสาขาในเกียวโตที่กำลังจะเปิดอยากให้เป็นร้านแบบไหนครับ
ไม่อยากให้เป็นแค่ร้านช็อกโกแลตเฉยๆ ครับ คิดว่าอยากทำให้เป็นสถานที่ที่ได้รับรู้ถึงคุณค่าที่ “แท้จริง” ครับ
โดยชั้น 1 จะเป็นร้านค็อฟฟี่ช็อปที่มีช็อกโกแลตวางจำหน่าย ส่วนชั้น 2 จะจัดให้มีโซนได้ลองย้อมผ้าฟุโระชิกิ และมีบริการเช่าชุดกิโมโนด้วยครับ ถ้ามีบริการถ่ายรูปด้วยก็คงจะดีนะครับ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าในประเทศหรือต่างประเทศ เรามีความคิดแรงกล้าว่าอยากให้ได้สัมผัสกิโมโน “ของจริง” ไม่ใช่ชุดกิโมโนราคาถูกลงมาที่เปิดให้เช่าสวมใส่
ส่วนที่เลือกเปิดในย่านซันโจ ซึ่งเป็นย่านสำคัญของเกียวโต เพราะอยากทำให้เป็นฐานกำลังสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมญี่ปุ่น อาคารของร้านจะอยู่ลึกเข้าไปเล็กน้อย ด้านในมีสวน ผมตั้งใจว่าจะออกแบบให้ร้านดูสวยแปลกตาอยู่ตลอดเวลาครับ
“อยากดำเนินกิจกรรมต่างๆ ไปพร้อมกับการผสานระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมกับสมัยใหม่ “
Q. สุดท้ายนี้ช่วยบอกเป้าหมายต่อไปของแบรนด์ได้ไหม
ผมคิดว่าวัฒนธรรมโบราณหรือวัฒนธรรมดั้งเดิม จะมีช่วงที่วิวัฒนาการหยุดชะงัก ไม่แน่ใจว่าสาเหตุเป็นเพราะเกิดการหยุดเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น กิโมโนก็รูปทรงแบบนี้ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ที่จริงแล้วกิโมโนสะดวกมาก เป็นการออกแบบที่สุดยอดจริงๆ ครับ อาจจะไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์สมัยนี้ แต่ถ้าได้ลองสัมผัสเพียงนิดเดียว วิถีก็น่าจะเปลี่ยนไป
ปัจจุบันนี้ ยังมีแนวคิดที่ว่าการสวมชุดกิโมโนเป็นเรื่องยุ่งยากอยู่ ยังไปไม่ถึงจุดที่รู้สึกว่า “ลองใส่ดู” แต่ถ้าสามารถไปถึงจุด “ลองใส่ดู” สักครั้งแล้ว ก็อาจจะเกิดความประทับใจที่แตกต่างจากเดิม อาจทำให้สวมใส่บ่อยครั้งขึ้น ดังนั้นพวกเราเองก็มีความสุขไปกับงานปูเส้นทางให้ไปสู่จุดนั้น คิดว่าต้องค่อยๆ สั่งสมไปเรื่อยๆ อยากดำเนินกิจกรรมต่างๆ ไปพร้อมกับคิดหาหนทางในการผมสมผสานวัฒนธรรมดั้งเดิมกับสมัยใหม่เข้าไว้ด้วยกันให้ได้ครับ
Shuhei Ogawa ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่เปี่ยมด้วยพลังแห่งวงการกิโมโน
_
เกิดในปี ค.ศ. 1982 ที่เมืองเกียวโต อดีตพนักงานขาย เซลส์แมน เคยทำงานแผนกช่างที่ร้านย้อมผ้า หลังจากนั้นได้ก่อตั้งแบรนด์กิโมโน “off-on” ที่ออกแบบเองขึ้น ทั้งยังเป็นดีไซเนอร์กิโมโนคนแรกที่ได้เข้าร่วมงาน Kansai Collection เป็นผู้ที่รักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของกิโมโน และมีบทบาทในการดำเนินกิจกรรมที่จะส่งต่อไปยังรุ่นต่อไป และในปี 2017 ได้ก่อตั้งแบรนด์ขนม “TOWA” ขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจากลวดลายของกิโมโน