บอกลา…น้ำหยดลงหัว
เชื่อว่าฝันร้ายหนึ่งที่หลายคนต้องเคยเจอกับตัวคือ เดินๆ อยู่ริมฟุตปาธแล้วโดน “น้ำ” ที่ถูกต่อท่อจากอาคารตึกแถว…หยดลงหัว!! (ToT) ว่ากันตามตรง หยดน้ำนั้นเป็นน้ำที่ไม่ค่อยสะอาด คือน้ำเน่า น้ำค้าง ใครที่เซ็ตผมมาอาจถึงกับต้องจัดทรงใหม่ (ผมเคยโดน หยดลงปลายผมแล้วกระเด็นใส่แก้มต่อ ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คุณพระ)
ที่ญี่ปุ่น โดยเฉพาะเกียวโต หลีกเลี่ยงปัญหานี้ด้วยการทำ “ท่อปิดผนึก” ต่อยาวลงสู่ท่อระบายน้ำไปเลย และออกแบบให้ตำแหน่งท่อหลบมุมเนียนๆ ไม่เกะกะสายตาหรือทิวทัศน์สภาพแวดล้อมนั้นๆ วิธีนี้หมดสิ้นปัญหาน้ำเน่าหยดลงหัวได้แน่นอน
ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่อาจจะป้องกันได้ไม่เต็มที่ 100% นักเวลาฝนตกหนัก ลมพัดแรงๆ แต่มีความงดงาม สุนทรียะ และเสน่ห์ที่แอบแฝงอยู่ เรียกว่า “โซ่รางน้ำฝน” (鎖樋/Kusaritoi) พบได้ตามวัดและศาลเจ้าญี่ปุ่น (รวมถึงบ้านญี่ปุ่นดั้งเดิมบางแห่งด้วย)
ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นห่วงคล้องกันยาวลงมาจากหลังคา จังหวะที่น้ำไหลผ่านโซ่นี้ หากนั่งมองนานๆ…มีความเซนไม่น้อย!! ฮ่าๆๆ ผมหมายถึงแลดูสงบนิ่ง อ่อนช้อย และถ่อมตน อันที่จริง โซ่รางน้ำฝนนี้มีดีไซน์หลายแบบ ไม่ได้ตายตัวว่าต้องเป็นห่วงโซ่กลมๆ คล้องกันอย่างเดียว เช่น รูปทรงกระบอกผอม ทรงกลมอ้วน ฯลฯ ปัจจุบัน โซ่รางน้ำฝนยังถูกนำมาใช้เป็นของตกแต่งบ้านให้สวยงาม (รวมถึงนั่งมอง เพื่อฝึกความเซน ฮ่าๆ) ด้วย
ไม่ว่าโซ่รางน้ำฝนจะมีลักษณะแบบไหน ก็ล้วนป้องกันน้ำหยดลงศีรษะผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาได้ และยังป้องกันน้ำหยดสร้างความสกปรกลงพื้นทางเดินหรือป้องกันน้ำขังบริเวณพื้นที่นั้นๆอีกด้วย (ที่อาจเป็นเหตุให้เดินลื่นล้มได้)
อีกนัยหนึ่ง ยังบ่งบอกถึงการคิดคำนึงถึงส่วนรวม พยายามไม่สร้างปัญหาให้สาธารณะ
และน่าคิดมากเหลือเกินว่า ทำไมบ้านเราถึงปล่อยให้มันหยดแล้วหยดอีก ลงบนพื้นทางเดินสาธารณะและเสี่ยงต่อการหยดลงหัวใครต่อใครหลายคน…มาช้านาน?