Osaka Prefectural Sayamaike Museum : ศึกษาภูมิปัญญาชาวญี่ปุ่น ผ่านสถาปัตยกรรมเขื่อนที่เก่าแก่ที่สุดในโอซาก้า
Osaka Prefectural Sayamaike Museum
สิ่งที่ผมพบถึงความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมระหว่างอุษาคเนย์กับญี่ปุ่นคือการบันทึก ชาวญี่ปุ่นมีระบบการบันทึกที่ดีมาก ยิ่งเมื่อได้อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นนานขึ้น ก็ยิ่งได้เห็นถึงความแตกต่างนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่เป็นเรื่องแปลกอะไรที่เขาสามารถสืบค้นย้อนไปยังเรื่องราวในอดีตได้มากกว่าบ้านเราที่เป็นมุขปาฐะ* ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อเนื้อหาที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ทั้งหลายในญี่ปุ่นที่มีเรื่องราวจากอดีตให้ศึกษามากมาย ส่งผลต่อการเรียนรู้ของประชาชนชาวญี่ปุ่นที่มีวัฒนธรรมใส่ใจรายละเอียดอยู่แล้ว ให้มองสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างลึกซึ้ง
แม้แต่เรื่องที่ดูเป็นสิ่งสมัยใหม่อย่างเขื่อน ญี่ปุ่นเองก็มีการบริหารจัดการน้ำมานับพันปีแล้ว ณ เมืองโอซาก้า มีเขื่อน Sayamaike ที่คอยกักเก็บน้ำและบรรเทาอุทกภัยของเมืองนี้มากว่า 1,400 ปี โดยเป็นเขื่อนดินที่สร้างซ้อนทับกันหลายชั้น จนเป็นขอบคันดินสูงรอบชุมชน แต่จุดสำคัญสำหรับผู้เดินทางจาริกสถาปัตยกรรม ที่หลังเขื่อนดินมีก้อนคอนกรีตเปลือยขนาดใหญ่ที่เก็บรวบรวมความรู้เรื่องเขื่อนรออยู่ ผมเริ่มเดินทางจากสถานีรถไฟ Osakasayamashi Station ไปทางตะวันตกอีกราว 1 กิโลเมตร เดินตัดคันดินของเขื่อน Sayamaike เพื่อมาชม Osaka Prefectural Sayamaike Museum ออกแบบโดยแชมป์เปียนคอนกรีตเปลือยระดับโลก “อันโดะ ทาดาโอะ”
พิพิธภัณฑ์นี้เปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 เมื่อเดินลงจากคันดินไปสู่ทางเข้าพิพิธภัณฑ์ ลานคอนกรีตในฤดูร้อนชวนให้ผมชะงักไปจากแสงเงาที่ทำองศากับผืนผนังคอนกรีต แต่ส่วนที่จับใจเรียกได้ว่าจัดเต็มสำหรับทางเข้าคือการเดินอย่างละเลียดผ่านม่านน้ำตกซึ่งจะเปิดราว 10 นาที ม่านน้ำตกจะไหลผ่านผนังคอนกรีตเปลือยจากสระน้ำด้านบนสู่สระด้านล่าง เมื่อเดินผ่านทางเดินม่านน้ำนี้จะรู้สึกถึงการมุดเข้าไปยังเรื่องราวของน้ำทันที โดยยังไม่ต้องรู้ว่าภายในพิพิธภัณฑ์นี้จัดแสดงเรื่องอะไร ผ่านเส้นทางเดินนี้ไปจึงจะพบกับลานคอนกรีตทรงกลมที่ต้องหยุดความสนใจที่เสาคอนกรีตปักกลางลาน จนเมื่ออยู่กลางลานแล้วมองขึ้นไปด้านบนจึงทำให้รู้ว่ามันมีความพิเศษ เพราะเป็นเสารับหลังคายื่นทางเข้า ซึ่งพบได้ในหลายงานของเขาในช่วงเดียวกัน เมื่อมองดูงานของอันโดะอย่างรวดเร็ว จะพบกับความเรียบง่าย ดูตรงไปตรงมา แต่เมื่อมองถึงรายละเอียดจะพบกับความซับซ้อนซ่อนอยู่ในส่วนต่างๆ มากมาย
ในส่วนของความตรงไปตรงมานั้น ก้อนคอนกรีตขนาดใหญ่ 2 มวลที่แสดงออกมานั้น เป็นผลจากเนื้อหาภายใน แบบที่ศัพท์สถาปัตย์เรียกว่า “Interior Speaks Exterior”
ผ่านส่วนโถงต้อนรับไปแล้ว จะพบกับความมโหฬารของเขื่อนดินจำลองที่กว้าง 62 เมตร สูง 15.4 เมตร การชมเขื่อนดินจำลองมีทางเดินให้ชมได้ทั้ง 2 ชั้น เมื่อมองเข้าไปยังรายละเอียดจะพบว่ามันเต็มไปด้วยเรื่องราวของดินที่ทับถมกันมาหลายยุคสมัยจนเป็นเขื่อนนี้ นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคนิคฝังไฟในหุ่นจำลองช่วยให้เห็นการซ้อนทับของแต่ละยุคสมัยอันเต็มไปด้วยเรื่องราวของบันทึกอารยธรรมเก่าแก่ของญี่ปุ่นอย่างดี
ถัดจากการชมเขื่อนดินจำลอง จะพบกับเนื้อหาความเป็นมาของเขื่อน ซึ่งเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของทุกคนในชุมชน ส่วนที่ให้ความสำคัญคือพระที่เป็นผู้นำในชุมชน ดังเห็นได้จากการแสดงหุ่นไม้จำลองพระรูปสำคัญของชุมชนกับเขื่อน และนอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการสร้างเขื่อนทั้งที่ขุดค้นได้ หุ่นจำลองแสดงการทำงานของเครื่องมือต่างๆ หุ่นจำลองที่แสดงถึงโครงข่ายของแม่น้ำ และแหล่งน้ำกับเขื่อนนี้ซึ่งกว้างใหญ่ไปถึงส่วนที่เป็นสุสานรูปรูกุญแจซึ่งได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลกไปไม่นานมานี้ ผมมาชมนิทรรศการสุดท้ายที่การยกเอาประภาคารร้างมาใส่ไว้ในพิพิธภัณฑ์นี้ ขนาดมันสูงจนต้องออกแบบให้ส่วนนี้มีความสูงเพียงพอเพื่อรองรับเนื้อหานี้
เมื่อพ้นส่วนนิทรรศการทั้ง 2 ชั้น มายังชั้นที่ 3 เป็นร้านอาหารของพิพิธภัณฑ์ ส่วนนี้มีทั้งสวนบนหลังคา ความสูงของพื้นชั้นนี้เป็นระดับไล่เลี่ยกับขอบคันเขื่อน การเลือกที่ออกแบบให้สถาปัตยกรรมฝังตัวต่ำกว่าขอบเขื่อน ทำให้ภาพรวมของภูมิทัศน์เขื่อนโบราณนี้ไม่ถูกรบกวนจากของใหม่นัก
ณ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ สถาปัตยกรรมบอกเล่าเรื่องราวการดำรงอยู่ของความเก่า และการมาเยือนของความใหม่ที่มีลมหายใจร่วมกัน แม้จะอายุห่างกันนับพันปี
Info
Open Hours: อ.-อา. 10:00-17:00 น.
Holiday : วันจันทร์
Website : www.sayamaikehaku.osakasayama.osaka.jp/_opsm/eng/
*มุขปาฐะ หมายถึง การต่อปากกันมา, ข้อความที่ท่องจำกันมาด้วยปากเปล่า, การบอกเล่าต่อๆ กันมาด้วยปากเปล่า ไม่ได้เขียน หรือบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร