การดูหนังในญี่ปุ่นเป็นประสบการณ์ที่ดีอย่างหนึ่ง และเป็นโอกาสอันดีในการเรียนรู้วัฒนธรรมไปในตัว เราไปสำรวจ “ภาพรวม” การดูหนังที่โรงหนังในญี่ปุ่นกันครับ

ตัวโรงภาพยนตร์

มีอยู่หลายค่ายหลายแบรนด์ด้วยกัน เช่น 109 Cinema, AEON Cinema, Movix แต่ “TOHO” น่าจะเป็นเครือใหญ่ อาจเทียบได้กับ Major Cineplex บ้านเรา

 

TOHO Cinemas เป็นเชนโรงหนังใหญ่ในญี่ปุ่น

 

การตกแต่งอยู่ในระดับที่โอเคพอใช้ได้ ความอลังการหรูหราอาจยังไม่มากนัก บางแห่งเพดานสูงมีความโปร่ง มีโซนขายของที่ระลึกของหนังต่างๆ ที่ฉายอยู่ช่วงนั้นด้วยนะ (โดยเฉพาะหนังใหญ่จะมีเยอะ) 

 

แฟนหนังซื้อของได้สะดวก โรงหนังก็มีช่องทางรายได้เพิ่ม
The Store ในรูปก็คือร้านขายของที่ระลึกจากในหนังนั่นเอง

 

ตัวโรงมีขนาดกลางๆ ผมว่าบ้านเราส่วนใหญ่น่าจะใหญ่กว่า แต่ของญี่ปุ่นจะเจ๋งในเรื่อง “ความกว้างระหว่างเบาะหน้า” ที่มาตรฐานกว้างกว่าบ้านเรา ยืดขาได้สบาย (และไม่ค่อยเผลอไปเตะโดนเบาะหน้า) บางโรงจะมี layout เก้าอี้เดี่ยวสำหรับคนมาดูคนเดียว โรงหนังทุกโรงจะสำรองที่นั่งสำหรับผู้ใช้รถเข็น Wheelchair User เสมอ ในจอเวลาเลือกที่นั่งจะมีรูปรถเข็นโชว์ตำแหน่งให้เห็นด้วย

 

อยากให้บ้านเรามีแบบนี้บ้างจัง!
รวมถึงแถวคิวเวลาซื้อก็มีสำหรับ Wheelchair User

 

ในภาพรวมคุณภาพของโรงหนังและการตกแต่งผมว่าบ้านเราอลังการกว่า ของบ้านเราถือว่าอยู่ในระดับ World-Class แล้วนะครับ และมักไม่ได้มาแค่โรงหนัง แต่พ่วงทำเป็น Entertainment Complex รวมความบันเทิงทุกอย่างไว้ในสถานที่ที่เดียวกัน ^^

 

หลายโรงในญีปุ่น ไม่ได้ตกแต่งหรูหรานัก เน้นง่ายๆ พอใช้ได้

 

ป็อปคอร์น เครื่องดื่ม และของทานเล่นมีขายอยู่ทั่วไปก่อนเข้าโรง

 

ใครดูหนังโดยไม่มีของกินไม่ได้บ้าง?!!
ถ้ากินอะไรก่อนเข้าโรง อย่าลืมแยกทิ้งด้วยนะ ^^

 

ก่อนเข้าโรงนั้น เจ้าหน้าที่จะไม่มาตรวจกระเป๋าสัมภาระของเราเลย ตรวจเพียงแค่ตั๋วหนังเท่านั้น

 

รู้มั๊ยเรื่องอะไรเอ่ย? ^^

 

โฆษณาและตัวอย่างภาพยนตร์ต่างๆ ก่อนเริ่มฉายหนังถือเป็นเรื่องปกติทั่วโลก (และเป็นช่องทางรายได้ของโรง) เพียงแต่ที่ญี่ปุ่นไม่ได้นานเท่าที่ไทย ประมาณ 10 นาทีได้

อีกเรื่องนึงคือหนังต่างประเทศมักเข้าฉายในญี่ปุ่นช้ากว่าชาวโลกมาก (บางเรื่อง 2-3 เดือนได้เลย!) แต่บางเรื่องใหญ่ๆ ที่เข้าพร้อมกันก็มีอยู่บ้างนะ ทั้งนี้เพราะตลาดภาพยนตร์ในประเทศญี่ปุ่นเองก็มีความแข็งแกร่งมากอยู่แล้ว อย่างขณะที่ผมเขียนอยู่นี้ Detective Conan: Zero the Enforcer (อนิเมะ) เป็นเบอร์ 1 ตามมาด้วย Avengers: Infinity War (ทั้งๆ ที่อเวนเจอร์เป็นที่ 1 ทันทีในแทบทุกประเทศที่เข้าฉาย)

 

ราคา

อันที่จริงค่อนข้างยากที่จะบอกให้ครบได้ทุกรายละเอียด ไหนจะความหรูของโรงที่ต่างกัน, 3D/2D, วันเวลา,อายุ ฯลฯ (ราคาโรงหนังบ้านเราก็มีให้เลือกเยอะ) แต่โดยภาพรวมแล้วก็ประมาณนี้ครับคือ

ราคาปกติ 一般(General) = 1,800 เยน

ราคานักศึกษา 大学生(University student) = 1,500 เยน

ราคาตั้งแต่เด็กประถม – ม.ต้น – ม.ปลาย 小学生・中学生・高校生・ (Elementary – Junior – Senior) = 1,000 เยน

ราคาผู้สูงวัย 60 ปีขึ้นไป シニア (Elderly) = 1,100 เยน

ทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน = 1,100 เยน

เฉพาะผู้หญิงทุกวันพุธ (Ladies Day) = 1,100 เยน

มีระบบการจองหนังล่วงหน้า 2-3 เดือน ราคาจะถูกกว่าตอนหนังเข้าฉายแล้ว (แต่ต้องไปเลือกวันเวลาที่นั่งอีกทีตอนหนังฉายแล้ว)

 

ขณะต่อคิวซื้อตั๋วกับพนักงาน

 

เราสามารถซื้อตั๋วหนังได้ที่เครื่องจำหน่ายตั๋วหรือจะซื้อกับพนักงานในช่องก็ได้ (สามารถจองผ่านเน็ตได้ด้วยนะ) ดูหนังในญี่ปุ่นเราต้องเลือกกำหนดที่นั่งแบบบ้านเรา (ที่อเมริกาไม่มีระบุที่นั่งตายตัวนะครับ) ที่กล่าวมาคือเป็นแบบ 2D, ถ้าเป็น 3D ราคาเพิ่มขึ้นประมาณ 400 เยน (ราคาอาจผันผวนไปตามแล้วแต่โรงได้)

 

วัฒนธรรม

แน่นอนว่าการปิดเสียงโทรศัพท์มือถือเป็นระเบียบปฏิบัติเบสิคอยู่แล้ว แต่จะรวมไปถึงการงดใช้กดเล่นมือถือด้วย เพราะ ‘แสง’ จากมือถือส่องรำคาญตาคนอื่นได้ (ถ้าจำเป็นแค่หยิบขึ้นมาเช็คดู จะพยายามเอามืออังจอมือถือไว้ให้รบกวนน้อยที่สุด) นั่นรวมถึงงดการคุยกระซิบกับเพื่อนที่นั่งข้างๆ (แม้หนังจะยังไม่เริ่ม)…โดยรวมบรรยากาศค่อนข้างเงียบ

จุดหนึ่งที่แตกต่างชัดเจนจากการดูหนังในสังคมตะวันตกคือ “อารมณ์ร่วม” คนญี่ปุ่นดูค่อนข้างจะสงวนท่าทีหน่อย คือถ้าฮาก็ขำ น่ากลัวก็มีกรี๊ดบ้างประปราย เพียงแต่จะไม่เสียงดังเปิดเผยชัดเจนนัก ฮ่าๆๆ (ข้อนี้ผมชอบอารมณ์ร่วมแบบเป็นธรรมชาติเปิดเผยออกมามากกว่า)

 

End Credit ช่วงเวลาแห่งการย่อยสิ่งที่ได้ชมที่มาภาพ – bit.ly/2wwIrkz

 

อีกหนึ่งวัฒนธรรมที่หลายคนอาจไม่รู้คือ “การดู End Credit จนจบ” เมื่อหนังทุกเรื่องจบแล้ว ก็จะขึ้นจอดำเป็น End Credit รายชื่อนักแสดงและผู้สร้างหนังต่างๆ วัฒนธรรมของคนที่นี่คือ จะยังคงนั่งต่อจนกว่า End Credit จะจบ เป็นการแสดงออกเพื่อเป็นการ “ให้เกียรติ” แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในการสร้างหนังเรื่องนี้ ช่วงนี้ไฟในโรงจะยังมืดอยู่ (และเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราจะได้ ‘ย่อย’ เรื่องราวจากหนังที่เพิ่งดูจบไปหมาดๆ ด้วยนะ ^^)

เมื่อทุกอย่างจบ(ของจริง) ไฟในโรงสว่าง ขาออกจะมีพนักงานพร้อมถาดใส่ของกินเหลือยืนประจำอยู่ ผู้ชมอย่างเราก็ต้องให้ความร่วมมือในการถือถังป็อปคอร์นและเครื่องดื่มออกมาคืนด้วยเสมอนะ

 

อย่าลืมให้ความร่วมมือนะ ช่วยๆ กัน ^^
มีแยกขยะก่อนทิ้งด้วยนะ

 

การดูหนังโรงถือเป็นประสบการณ์ที่จะได้เรียนรู้วัฒนธรรมและความแตกต่างของแต่ละชาติ การดูหนังในญี่ปุ่นก็มีเอกลักษณ์ความแตกต่างที่น่าสนใจไม่น้อย

 

 

ใครมีโอกาสไปเที่ยวญี่ปุ่น ลองบรรจุการดูหนังที่โรงภาพยนตร์ญี่ปุ่นลงไปในแผนการเที่ยวของคุณดูสิครับ เชื่อว่าคงจะเป็นประสบการณ์ที่ดีไม่น้อยแน่นอน 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ