มูลนิธิฮาคูโฮโด เปิดตัวโครงการผลิตสื่อ-สาระบันเทิง Edutainment
นำร่องในไทย เชื่อมโยงสังคมยุคใหม่ผ่านวิสัยทัศน์แห่งอนาคต

นายจุน ชูมะ กรรมการบริหารมูลนิธิฮาคูโฮโด (Hakuhodo Foundation) เปิดเผยว่า มูลนิธิฮาคูโฮโดก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2513 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการศึกษาภาษาญี่ปุ่นสำหรับเยาวชนและการศึกษาสำหรับผู้พิการ รวมไปถึงการมีส่วนสนับสนุนในการพัฒนาผู้คนให้มีความสมบูรณ์ทั้งทางกาย ใจ และสังคม เราจึงได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ เช่น รางวัลฮาคูโฮ ทุนวิจัยเพื่อการพัฒนาการศึกษาของเยาวชน และทุนการศึกษาสำหรับการฝึกอบรมครู และในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมาเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีของมูลนิธิฮาคูโฮโด ทางมูลนิธิได้เปิดตัวโครงการการศึกษาภาษาญี่ปุ่น (Japanese Language Program) ซึ่งมุ่งเน้นสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาภาษาญี่ปุ่นให้กับเยาวชนในต่างประเทศ

“เราเลือกประเทศไทยเป็นประเทศแรกสำหรับโครงการ Japanese Language Program เนื่องจากในประเทศไทยมีเยาวชนให้ความสนใจเรียนภาษาญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากทั้งในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา อีกเหตุผลหนึ่งคือความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ที่มีมาอย่างยาวนาน ดังนั้นถ้าให้เลือกว่าจะเริ่มที่ไหนก็ต้องเริ่มที่ประเทศไทยก่อน” นายชูมะ กล่าว

นายชูมะยังกล่าวว่า จากการดำเนินโครงการ Japanese Language Program ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ทำให้เราได้รับรู้ถึงปัญหาในการสอนภาษาญี่ปุ่นให้กับเด็กไทย โดยเราพบว่าในแต่ละโรงเรียนจะมีปัญหาที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในกรุงเทพฯ หรือในต่างจังหวัด แต่ปัญหาหลัก ๆ คือเด็กนักเรียนที่เรียนภาษาญี่ปุ่นมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้และใช้ภาษาญี่ปุ่นสื่อสารจริงกับครูผู้สอนชาวญี่ปุ่นน้อยมาก “เพราะการเรียนภาษาไม่ใช่เป็นแค่การสอนภาษา” แต่ต้องเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศที่เราเรียนภาษานั้น ๆ ด้วย นี่จึงเป็นที่มาของการเปิดตัว “โครงการผลิตสื่อ-สาระบันเทิง Edutainment” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นสื่อการเรียนการสอนที่ครูในประเทศไทยสามารถนำไปใช้ให้นักเรียนเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นในบริบทที่เป็นธรรมชาติและสมจริง โดยจัดทำเป็นวิดีโอสั้น 3 รูปแบบ คือ

รูปแบบที่ 1 เป็นการผลิตวิดีโอสื่อการสอนที่สอดคล้องกับเนื้อหาในบทเรียนของ “หนังสือเรียนภาษาญี่ปุ่น: อะกิโกะโตะโทะโมะดะจิ” ฉบับปรับปรุงใหม่ซึ่งเป็นหนังสือเรียนภาษาญี่ปุ่นสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแผนการเรียนภาษาญี่ปุ่นของไทย

รูปแบบที่ 2 เป็นวิดีโอในแนวคิด “เรียนรู้และลองทำดู!” (Let’s Learn and Try) ซึ่งเป็นการแนะนำวัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านวิดีโอสั้น ๆ สำหรับชุดแรก เราได้ผลิตวิดีโอออกมาแล้ว 2 ตอน คือ “โอโคโนมิยากิ” (พิซซ่าสไตล์ญี่ปุ่น) และ “การป้องกันภัยพิบัติ”

รูปแบบที่ 3 เป็นวิดีโอที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการสอนภาษาญี่ปุ่น ชุด “เทคนิคการสอนภาษาญี่ปุ่น (Tsunagu)” (ในภาษาไทยแปลว่า การเชื่อมโยงถึงกัน) ซึ่งสามารถชมบรรยากาศ และเรียนรู้แนวความคิดการสอนจริงในชั้นเรียนจากคุณครูที่เคยเข้าร่วมการฝึกอบรม

นายชูมะ กล่าวปิดท้ายว่า ในอนาคตอาจจะมีการผลิตสื่อ-สาระบันเทิง Edutainment ขยายต่อจาก 3 รูปแบบที่กล่าวมา โดยคาดหวังว่าภายหลังจากการเปิดตัวโครงการดังกล่าว จะทำให้ทางมูลนิธิได้รับกระแสการตอบรับ แนวทางหรือประเด็นความท้าทายของการเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งจะได้นำผลตอบรับเหล่านั้นมาพัฒนาสื่ออื่น ๆ ที่จะใช้ในอนาคตอีกด้วย

นอกจากนั้น นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (ผอ.สวก.) รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา เป็นผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้กล่าวขอบคุณมูลนิธิฮาคูโฮโดที่สนับสนุนการศึกษาภาษาญี่ปุ่นในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมครูสอนภาษาญี่ปุ่น, พัฒนาทักษะทางภาษา และเรียนรู้วัฒนธรรม รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นสำหรับเยาวชนและผลิตสื่อ Edutainment ที่มีประโยชน์ในการเรียนการสอน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นให้กับนักเรียน สอดคล้องตามนโยบาย “เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา” (Anytime Anywhere) ของกระทรวงศึกษาธิการ ทางสพฐ. เองก็กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของนักเรียน

ปิดท้ายกันที่ ครูธีรัช ลอมศรี ครูวิทยฐานะชำนาญการ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ได้กล่าวว่า สื่อการสอนมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้น สนุกสนาน จดจำได้นานขึ้น ช่วยกระตุ้นความอยากรู้ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ ที่สำคัญช่วยพัฒนาทักษะการใช้ภาษาหลาย ๆ ด้าน ทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน นักเรียนจะได้เรียนรู้ภาษาในบริบทที่หลากหลายทำให้กระบวนการเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่น ทำให้นักเรียนเห็นภาพชัดเจนได้มากกว่าการที่ฟังเพียงครูบรรยาย ทำให้การสอนวัฒนธรรมของเจ้าของภาษาเป็นเรื่องสนุกง่ายต่อการเข้าใจ และสำหรับครูก็เป็นการง่ายต่อการเตรียมการสอนอีกด้วย

“สื่อ-สาระบันเทิง Edutainment ของมูลนิธิฮาคูโฮโดเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าอย่างมาก เพราะผสมผสานความรู้ด้านภาษา วัฒนธรรมกับความบันเทิง ทำให้การเรียนภาษาญี่ปุ่นไม่ใช่แค่เรื่องเครียดหรือยากเกินไป นักเรียนสามารถเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่น รวมถึงวัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านการดูวิดีโอ ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนมีความเข้าใจเนื้อหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลตอบรับจากนักเรียนส่วนใหญ่ค่อนข้างดี นักเรียนรู้สึกสนุกกับการเรียนภาษาญี่ปุ่นและวัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านสื่อวิดีโอ จึงทำให้การเรียนรู้ไม่น่าเบื่อและเข้าใจง่ายขึ้น นักเรียนหลายคนบอกว่า เข้าใจในเนื้อหา และทำตามได้ไม่ยาก รู้สึกสนุกกับการสอนที่น่าสนใจแบบใหม่ของครู ได้ลงมือทำไปพร้อม ๆ กับวิดีโอ ช่วยให้พวกเขามีความสุขในการเรียนภาษาญี่ปุ่นมากขึ้น” ครูธีรัช กล่าวปิดท้าย

สื่อ-สาระบันเทิง Edutainment ทั้ง 3 รูปแบบ จะพร้อมเผยแพร่สู่สาธารณะตั้งแต่วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป สำหรับผู้ที่สนใจ ท่านสามารถเข้าชมและเรียนรู้สื่อเหล่านี้ได้โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ของมูลนิธิฮาคูโฮโดและทำการลงทะเบียนที่ https://hakuhodo-jplang.org/th/edutainment/

นอกจากนี้ ท่านยังสามารถรับชมวิดีโอประกอบ “หนังสือเรียนภาษาญี่ปุ่น: อะกิโกะโตะโทะโมะดะจิ” ฉบับปรับปรุงใหม่ได้ทางเว็บไซต์ของ The Japan Foundation, Bangkok อีกด้วย

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมูลนิธิฮาคูโฮโดและโครงการ Japanese Language Program ได้ที่ https://hakuhodo-jplang.org/th/about-us

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ