ตื่นตีห้าครึ่ง ออกจากบ้านหกโมง ถึงที่ทํางานเกือบเก้าโมง หงุดหงิดกับการจราจร การเมือง และการไม่คำนึงถึงผู้อื่นของคนในสังคมเมืองหลวง ทํางานถึงเที่ยง ออกไปกินข้าวพร้อมสูดหายใจเอา PM 2.5 เข้าปอด เรียกแท็กซี่ไปร้านโปรดกับเพื่อนแท็กซี่ปฏิเสธเพราะจะต้องไปเติมแก๊ส เรียกตุ๊กๆ ก็โดนโก่งราคา มื้อเที่ยงอันแสนหงุดหงิด นี่เพิ่งผ่านไปแค่ครึ่งวันแต่ช่างยาวนานเหมือนครึ่งชีวิต ตกเย็นขับรถกลับบ้าน สองชั่วโมงกว่าที่นั่งอยู่ในรถที่ขยับไปทีละนิด ถึงบ้านสามทุ่ม หมดพลังชีวิต พร้อมกับสภาพจิตใจที่ยับเยิน

 

 

ลองจําลองเหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นเรื่องปกติของชีวิตคนกรุงเทพฯ มาให้อ่าน เพื่อที่จะบอกว่าในความเป็นจริงของชีวิตคนกรุงเทพฯ หนึ่งคนนั้น นอกจากชาไข่มุกแล้วแทบทุกอย่างคือความลําบากใจและอึดอัดใจ กลายเป็นความเครียดสะสม และนี่เป็นเหตุผลสําคัญที่ว่าถ้าเราจะต้องทํางานออกแบบเพื่อสื่อสารกับคนเครียดเหล่านี้ งานออกแบบสําหรับพวกเขาควรจะต้องเน้นไปในทางทะนุถนอมและเยียวยาจิตใจ และแน่นอนที่สุดก็คือควรจะดูผ่อนคลาย ไม่เครียด

 

 

และในฐานะที่เป็นนักออกแบบ สิ่งหนึ่งที่พยายามทํามาตลอดในงานออกแบบเมื่อต้องการสื่อสารกับคนกรุงเทพฯ ก็คือ การให้รางวัลกับคนกรุงที่แสนจะเหนื่อยหน่ายในชีวิตประจําวันเหล่านี้ด้วยความคิดง่ายๆ นั่นก็คือเราจะไม่ซ้ำเติมคนกรุงเทพฯ ด้วยความเครียดของงานออกแบบ งานออกแบบทุกชิ้นควรเป็นงานออกแบบที่ดูสบายตา สบายใจ และมีวิธีส่งสารที่ไม่ยัดเยียดสาระมากมายจนเกินไป

 

 

เช่นเดียวกันกับงานออกแบบของญี่ปุ่นเพื่อชีวิตคนญี่ปุ่น แม้จะเป็นประเทศที่มีคุณภาพชีวิตดีและมีระบบขนส่งมวลชนที่ดีมาก แต่ความเครียดของประชากรนั้นก็ถือว่าติดอันดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียวและนี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่งานออกแบบของประเทศนี้ส่วนมากจะดูผ่อนคลาย หรือถ้าสังเกตดีๆ แม้แต่รายการทีวีช่วงไพรม์ไทม์ของญี่ปุ่นก็จะมีแต่รายการที่เน้นสนุก เสียงหัวเราะ ถึงขั้นไร้สาระกันเลยทีเดียว

 

 

ถ้าลองมองลึกลงไปในรายละเอียด เราจะพบว่างานออกแบบ(ที่ดี)ของญี่ปุ่นส่วนมากจะเต็มไปด้วยการใช้พื้นที่ว่าง หรือเต็มไปด้วยอากาศ รอยยิ้มความเป็นกันเอง และที่สําคัญที่สุดก็คืออารมณ์โดยรวมของงานออกแบบมักจะดูผ่อนคลาย เบา สบาย

 

 

สิ่งเหล่านี้สําหรับการเป็นนักออกแบบ เราเรียกว่าความเข้าใจถึงจิตใจของคนดู และการให้รางวัลคนดู

โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่มีความเครียดในการดําเนินชีวิตประจําวันสูงมากเช่นนี้ งานออกแบบยิ่งต้องทํางานอย่างหนักเพื่อสร้างความผ่อนคลาย นั่นคือต้องให้คนดูรู้สึกผ่อนคลายทั้งการสัมผัสด้วยสายตาและการสัมผัสด้วยความรู้สึกในการรับรู้ และเมื่อเกิดความรู้สึกดีๆ ต่องานออกแบบนั้นๆ นานวันเข้าคนดูก็จะรู้สึกดีกับแบรนด์หรือองค์กรนั้นๆ ไปเองในที่สุด

 

 

ถ้าจะเปรียบงานออกแบบในแนวผ่อนคลายเป็นคน ก็เหมือนคนที่ไม่เรื่องมาก ไม่เครียด หรือถ้ามีอารมณ์ขันนิดๆ ก็จะดีมาก เรียบง่ายแต่มีรสนิยม เป็นเพื่อนที่ดี เพียงเท่านี้คนกรุงเทพฯ ก็คงจะพร้อมจะรับเพื่อนใหม่ที่นิสัยดีคนนี้เข้ามาในใจได้ไม่ง่ายและเมื่อยอมรับในการเป็นเพื่อนแล้วการที่เพื่อนคนนี้จะพูดอะไรออกมา คนกรุงเทพฯ ก็คงพร้อมที่จะเงี่ยหูฟัง ด้วยความผ่อนคลายสบายใจอย่างแน่นอน :-.)

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ