ขอขอบคุณภาพจาก  http://bit.ly/2vxZsFI

 

สงสัยมั้ย? บรรดารถไฟชิงคันเซ็งที่มาจอดเทียบชานชาลาของสถานีรถไฟโตเกียว (Tokyo Station) กลับแล่นออกไปพร้อมให้บริการต่อด้วยสภาพภายในห้องโดยสารที่สะอาดมาก ทั้งๆ ที่ต่างมาหยุดพักด้วยเวลาอันแสนสั้น รถไฟชิงคันเซ็งนั้นต้องทำเวลา รวมถึงการจราจรของตัวรถไฟเองในสถานีโตเกียวที่พลุกพล่าน เข้า – ออกกันถี่มากๆ เฉลี่ยแล้วหยุดพักเต็มที่แค่ 12 นาทีเท่านั้นก่อนจะเดินทางให้บริการต่อ และต้องหักลบ 5 นาทีสำหรับเวลาให้ผู้โดยสารเดินออก รวมๆ แล้วจึงเหลือเวลาเพียงแค่ 7 นาทีเท่านั้นสำหรับการทำความสะอาด

เบื้องหลังความสะอาดกริบนี้คือ ‘TESSEI’ ซึ่งเป็นบริษัทดูแลงานด้านบริการและทำความสะอาดของ JR East ปัจจุบันมีพนักงานเกือบ 1,000 คน ทั้ง full-time และ part-time (น่าสนใจมากคืออายุเฉลี่ยของพนักงานอยู่ที่ 52 ปี และกว่าครึ่งเป็นผู้หญิง หลายคนจึงเรียกขานอย่างน่ารักว่าเหล่าโอบ้าซังหรือคุณยาย ฮ่าๆ) พวกเขาเหล่านี้นี่แหละที่เป็นคนคอยทำความสะอาดภายในชิงคันเซ็งของสถานีโตเกียวให้พวกเราได้นั่งและเป็นที่มาของวลีที่ฝรั่งเรียกว่า ‘The 7-Minute Miracle’

 

สู้ๆนะคร้าบคุณยาย ^^

 

เวลาที่แสนสั้นกระชับ (และชวนกดดัน) หลักๆ ถูกแบ่งเป็นดังนี้

0:00〜1:30

  • ก่อนอื่นเลย ตรวจสอบว่ามีผู้โดยสารใดทำของลืมตกหายมั้ย
  • เช็ดตะแกรงชั้นวางกระเป๋าสัมภาระด้านบนเหนือที่นั่ง
  • เก็บขยะที่พบใส่ถุงพลาสติกใบใหญ่ – ชิงคันเซ็งเป็นการโดยสารระยะทางไกลหลายชั่วโมง ผู้โดยสารก็มักหาอะไรดื่มกินไประหว่างทาง ‘ขยะ’ จึงอาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

1:30〜4:30

  • ทำความสะอาดถาดที่พับ (ที่อยู่ติดกับที่นั่งข้างหน้าเวลาเรากินข้าว)
  • เปลี่ยนผ้ากันเปื้อนรองหัวที่นั่งเสียใหม่
  • ปัดกวาดเศษขยะ คราบสกปรก ลงพื้นให้หมด (ยังไม่เก็บ)

4:30〜6:30

  • ปรับหมุนที่นั่งให้หันหน้าเข้าหัวขบวนรถ (ที่นั่งสามารถปรับหมุนให้หันเข้าหากันได้)
  • ปรับองศาที่นั่งให้ตรง
  • เก็บ + เช็ดถู เศษสิ่งสกปรกที่ปัดลงพื้นไปแล้วในคราเดียว
  • และ…ไม่ลืมทำความสะอาดพื้น ^^

 

ทำความสะอาดด่วนจี๋ – ขอขอบคุณภาพจาก  http://bit.ly/2vxZsFI

 

ในความเป็นจริงแล้ว หวังให้เสร็จภายใน 6 นาทีนิดๆ ขาดตกบกพร่องอะไรจะได้ตามไปเคลียร์ได้ และบางครั้งผู้โดยสารเยอะมาก กว่าจะเดินออกหมด…7 นาทีที่ว่านั้น ถือว่าหรูแล้ว (การทำงานจริง ถึงกับต้องวิ่งไปมา ฮ่าๆ)

 

เมื่อผู้โดยสารลงหมด ก็รีบเข้าไปทันที

 

หนึ่งในภาพที่สวยงาม (และชวนถ่ายภาพสำหรับ นทท.) คือการต่อคิวกันอย่างเป็นระเบียบ เมื่อรถไฟกำลังแล่นผ่านเข้าจอดชานชาลา ทุกคนจะโค้งคำนับอย่างสวยงาม และเมื่อทำความสะอาดเสร็จ จะยังไม่สลายโต๋แยกย้ายทันที แต่ธรรมเนียมคือจะออกมายืนบริเวณแต่ละทางออกของรถไฟ แล้วค่อยโค้งคำนับปิดท้ายพร้อมกันอีกที ^^ และหลายคนยังช่วยกันเก็บแยกขยะบริเวณชั้นชานลาแม้ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงด้วยซ้ำ  (แถมยังเก็บเร็วด้วย! )

 

ยืนรอรถไฟเทียบชานชาลาอย่างเป็นระเบียบ

 

หนึ่งในการ ‘ปรับทัศนคติ’ ที่มีต่ออาชีพที่ประสบความสำเร็จคือ พนักงานทุกคนยึดถือแนวคิด ‘Omotenashi’ (ภาษาญี่ปุ่นเขียนว่า おもてなし) อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘การบริการด้วยใจ’ ที่ตั้งใจทำหน้าที่ตนอย่างเต็มที่ หวังให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุดโดยไม่ยึดถือผลตอบแทนเป็นที่ตั้งแรก พวกเรามาสร้างความสะอาดให้ห้องโดยสารชิงคันเซ็ง ผู้โดยสารก็ประทับใจระหว่างทาง (ปฎิเสธไม่ได้ว่าความสะอาดเป็นตัวแปรหนึ่งที่สำคัญมากต่อทุกเรื่อง!)

 

เหล่า TESSEI ที่ Tokyo Station…บริการด้วยใจ
เก็บขยะบนชั้นชานชาลา (เร็วไม่แพ้กัน ฮ่าๆ)

 

ทุกสิ่งย่อมมีที่มาที่ไป และนี่คือเบื้องหลังความคลีนของชิงคันเซ็ง ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ใช่เบื้องหลังซะทีเดียว แต่เปิดเผยกันโต้งๆ เพราะเราสามารถพบเจอเหล่า TESSEI ได้ง่ายๆ ทุกวันที่สถานีรถไฟโตเกียว (และอาจเข้าไปทักทายได้ด้วย ^^)

 

พบเจอพวกเขา TESSEI ได้ที่สถานีโตเกียวนะ

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ