Anti-Aging?

วันก่อนนักศึกษาหลายคนแห่กันส่งรูปเซลฟี่ของตัวเองที่ทำหน้าตลกๆ มายัง Line ของผม ผมก็เลยคิดจะรับคำท้าของพวกเขาบ้าง พยายามทำหน้าตลกๆ โหดๆ หน่อย ถ่ายเซลฟี่และส่งรูปกลับพร้อมอัปฯ รูปนั้นบนเฟซบุ๊กของตัวเองมีคนมากดไลค์พอสมควร

ไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะดูตลกจริงหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามผมชอบทำหน้าตลกๆ แปลกๆ ใส่คนอื่นหรือถ่ายเซลฟี่ให้คนอื่นดูและมักมีคนบอกว่า “คุณมีผิวหน้าที่ยืดหยุ่นมากนะ”

บางครั้งผมรู้สึกว่ามันคงเพราะผมพูดภาษาไทยด้วยหรือเปล่า?

นี่ใช่ว่าสติผมเริ่มฟั่นเฟือนนะครับ (เพราะไม่มีสติแต่แรก) แต่จำได้ว่าน่าจะเป็นช่วงที่ผมเรียนอยู่ปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัย มีรุ่นพี่คนหนึ่งมาเชิญชวนเหล่ารุ่นน้องให้เข้าร่วมการทดลองเพื่อนำไปใช้ในการเขียนวิทยานิพนธ์ของเขา

รุ่นพี่คนนั้นกำลังทำการทดลองเพื่อเปรียบเทียบความเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อรอบปากระหว่างคนญี่ปุ่นที่เรียนภาษาไทยกับคนไทยซึ่งพูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ ผมและเพื่อนๆ ชั้นเดียวกัน (เอกภาษาไทย) จึงรับปาก ติดขั้วไฟฟ้ารอบปากและจุดอื่นๆ บนใบหน้าและลองอ่านออกเสียงคำภาษาไทยต่างๆ ที่มีสระที่ต่างกันด้วยความตั้งใจและความรอบคอบ

ผลการทดลองก็ออกมา ปรากฏว่ากลุ่มคนญี่ปุ่นที่เรียนภาษาไทยนั้นถึงแม้ตั้งใจอย่างดีแต่กล้ามเนื้อรอบปากแทบจะไม่ได้เคลื่อนไหวในการออกเสียงคำที่มีสระต่างๆ ส่วนกลุ่มคนไทยนั้นมีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อรอบปากเป็นอย่างมากและกล้ามเนื้อที่จะใช้ก็ต่างกันในการออกเสียงสระแต่ละเสียง

 

 

หลังได้เข้าร่วมการทดลองครั้งนั้นผมเริ่มใส่ใจในเรื่องการขยับปากและกล้ามเนื้อรอบปากเวลาออกเสียงภาษาไทย และไม่นานผมได้มีโอกาสที่จะต้องอ่านออกเสียงประโยคภาษาไทยจำนวนหลายสิบหน้าเพื่อท่องจำประโยคเหล่านั้นให้หมดเพราะผมต้องไปกำกับละครเวทีภาษาไทยที่จะแสดงในเทศกาลมหาวิทยาลัย

และแล้วเช้าวันหนึ่งพอผมตื่นขึ้นมารู้สึกเจ็บๆ ปวดๆ รอบปาก และปากกระตุกสั่นเล็กๆ น้อยๆ ขยับปากพูดอะไรก็ไม่ค่อยได้ ทีแรกผมงงว่าเป็นอะไรไป แต่พอลองคิดดูอีกรอบก็เห็นว่าน่าจะเป็นอาการ “ปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อรอบปาก” เนื่องจากผมได้อ่านออกเสียงประโยคภาษาไทยนับครั้งไม่ถ้วนในช่วงเวลาอันสั้น

หลังจากนั้นผมรู้สึกว่าตัวเองได้เรียนรู้เคล็ดลับบางอย่างในการออกเสียงภาษาไทย เป็นไปได้ว่ากล้ามเนื้อรอบปากเริ่มขยับและเคลื่อนไหวมากขึ้นซึ่งแทบไม่เคยใช้ตอนที่ผมพูดภาษาญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียว

เพื่อนๆ รอบตัวผมที่สนใจเมืองไทยมักชมและอิจฉากันว่าคนไทยมักดู “อ่อนวัย” ข้อสังเกตข้อนี้ผมเห็นด้วย แต่สงสัยมาตลอดเหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไร? (เรื่องความกดดันความเครียดทางสังคมของญี่ปุ่นนี่ไม่ต้องพูดถึง)

ไม่แน่แต่อาจจะเป็นเพราะคนไทยพูดภาษาไทยและมันทำให้กล้ามเนื้อและผิวหน้ามีความยืดหยุ่นและความนุ่มนิ่ม?

หรือผมต้องประชาสัมพันธ์ด้วยว่าการเรียนภาษาไทยช่วยการ Anti-Aging จะได้มีคนสนใจเรียนภาษาไทยมากขึ้น…?

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ