Soft Culture ในชีวิตประจำวัน
SOFT CULTURE |
สังคมญี่ปุ่นมีความ Soft อ่อนโยนนุ่มนวล (และสุภาพ) หลายอย่าง..
หากใครได้เคยไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศตะวันตก คงจะคิดถึงการบริการ Service Mind ของญี่ปุ่น (รวมถึงเมืองไทยบ้านเรา) ไม่น้อย แต่วัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ อาจแค่ไม่ให้ความสำคัญกับความ Soft สักเท่าไร (บางแห่งเน้นหรูหรา)
ส่วนที่ญี่ปุ่น (และของเรา) ดูจะมีความ Soft ในตัวเองแบบธรรมชาติ โดยที่ไม่ต้องพยายามมากมายหรือปรุงแต่งใดๆ อาจเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเรา
คนญี่ปุ่นเวลาจับมือเช็กแฮนด์ อาจจะไม่ใช่แบบฝรั่งที่ต้องอกผายไหล่ผึ่ง จ้องเข้าไปที่ลูกนัยตาของอีกฝ่าย แต่อาจจับมือพร้อมกับโค้งศีรษะลงเล็กน้อย (โค้งมากน้อยขึ้นอยู่กับตำแหน่งหรือความอาวุโสด้วย)
แม้แต่ “น้ำเสียง” โดยเฉพาะระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ (บางประเภทบริการ) จะใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวล (ข้อนี้คล้ายกับเรา) รวมถึงภาษากายต่างๆ เช่น การถอนเงิน การชี้บอกทางที่ไม่ใช้นิ้วชี้แต่ใช้ทั้งมือเพราะดูสุภาพกว่า อย่างเวลาถ้าเราซื้อของแล้วพนักงานที่แคชเชียร์ถามจะรับถุงด้วยไหมครับ/คะ” ภาษาเสียงญี่ปุ่นอาจพูดว่า “Fukuro wa goyouyou deshouka?” (袋は、ご要用でしょうか?) ซึ่งให้เสียงที่ดู Soft นุ่มนวลสุภาพ (โดยเฉพาะถ้าคุณผู้หญิงพูด ^^)
แต่ถ้าเป็นที่อังกฤษมักพูดว่า “Would you like a bag?” ซึ่งคำว่า bag นี้โทนเสียงจะดังแหลมและลากยาวมีความเอื้อนกว่าท่อนอื่นหน่อย (ใครที่ไม่ชิน อาจดูเหมือนพนักงานเสียมารยาท ตะโกนเสียงดัง แต่จริงๆ แล้วเป็นธรรมชาติของภาษา ถือเป็นเรื่องปกติ ^^)
เวลา “อำลา” ลาจากกัน ชาวตะวันตกอาจแค่บาย แล้วปิดประตูจบแล้วจบเลย อาจดูจืดชืดไปหน่อยสำหรับบางคน ขณะที่ชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะในแง่งานบริการ มัก “ยืนส่งจนลับตา” หรือ พนักงานออกมายืน “โบกลาอำลา” ซึ่งนี่เป็นภาพที่พบเห็นได้ไม่ยากเลย
เมื่อพูดถึง Soft Culture สิ่งหนึ่งที่มักมาคู่กันคือ “มังงะ” ที่มีอิทธิพลสูงมากจนหลายคนเรียกว่า Soft Power “มังงะ” เป็นอีกหนึ่งช่องทางการเผยแพร่ Soft Culture ในญี่ปุ่นที่ได้ผลและทรงพลังมากๆ หากมองผิวเผินอาจเป็นเพียงการ์ตูนเพื่อความสนุก แต่พอเจาะลึกรายละเอียดหลายต่อหลายเรื่องจะเห็นถึงข้อคิดแง่คิดที่แอบแฝง รวมไปถึงเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่อิงองค์ความรู้จริง มีบทวิจัยรองรับหมด
ขอยกตัวอย่างจากมังงะสุดคลาสสิก เมื่อพูดถึง “ห้องกาลเวลา” ในเรื่องดราก้อนบอล เรารู้กันดีว่าเป็นห้องที่ใช้เก็บตัวฝึกซ้อมเพราะแรงโน้มถ่วงสูงกว่าโลก 10 เท่า เวลาในห้องจะเดินช้า 1 ปี ในห้องเท่ากับเวลาข้างนอก 1 วัน ในเรื่องดราก้อนบอลจะสื่อว่า ที่ใดก็ตามที่มีแรงโน้มถ่วงสูงกว่าโลก…เวลาจะเดินช้ากว่า ตรงจุดนี้ได้อิงกับหลักฟิสิกส์ ผู้เขียนไม่ได้จินตนาการเอาเองล้วนๆ แต่หลายอย่างพยายามอิงกับสาระข้อเท็จจริง (แม้จะไม่ทั้งหมด)
ภาพลักษณ์ของการ Soften เรื่องบางอย่างอาจดูน่าสงสัยว่าจะมีความน่าเชื่อถือมากแค่ไหน แต่จริงๆ แล้วมีการทำเรื่องที่ฟังดูเหมือนยาก (ซึ่งก็ยากจริง) อย่างเศรษฐกิจโลก การเงิน ตลาดหุ้น ฯลฯ ให้เข้าใจและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ผ่าน “อนิเมะ” (เป็นอีกหนึ่งในช่องทางการส่งออก Soft Culture เช่นกัน) ซึ่งในหลายกรณีอนิเมะอาจให้ความกระจ่างเข้าใจมากกว่าการอ่าน Text Book เสียอีก เพราะมีภาพ มีเรื่องราว และสมองผ่อนคลายกว่าเวลาอ่าน (คงไม่หลับกันนะ 555)
อุตสาหกรรมด้านมังงะหรืออนิเมะ มีส่วนช่วยต่อการศึกษาและการอ่านของญี่ปุ่นไม่น้อย ในที่นี้ไม่ใช่แค่ความรู้ในระดับห้องเรียน แต่เป็นความรู้รอบตัวเราและข้อคิดบทเรียนที่มอบให้…ซึ่งก็สำคัญไม่แพ้กับในห้องเรียน
อีกทั้งยังเป็นตัวส่งออกวัฒนธรรมญี่ปุ่นอันแนบเนียน ปฎิเสธไม่ได้ว่าผู้คนทั่วโลกหลายส่วนรู้จักญี่ปุ่นผ่านมังงะหรืออนิเมะ (ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยไปญี่ปุ่น) หลายคนรู้จักและคุ้นเคยสิ่งเหล่านี้ดี อาจเป็นหนึ่งเหตุผลที่นายกรัฐมนตรีชินโซะ อะเบะตัดสินใจเลือกใช้ข้อได้เปรียบนี้ โดยลงทุนเป็น Super Mario ในพิธีส่งมอบโอลิมปิกเมื่อปีที่แล้ว Soft Culture (และ Soft Power) ถูกใช้ในพิธีใหญ่ระดับนานาชาติอีกครั้ง
ความที่สังคมญี่ปุ่นมีความ Soft Culture ในตัวเองโดยธรรมชาติ ทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกถึงความสุภาพ เป็นมิตร สัมผัสได้ถึงความรอบคอบ ละเอียดอ่อน และพิถีพิถัน ความ Soft มันไม่ใช่การอ่อนข้อให้หรือเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอ แต่เป็นคุณสมบัติที่สื่อถึงการยื่นมิตรไมตรี มารยาทและความสุภาพอย่างหนึ่ง เป็นคุณค่า เสน่ห์ และความพินอบพิเทาอย่างหนึ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์วัฒนธรรมนี้ไว้จริงๆ.