Pattarasiri Apichit หญิงสาวผู้หลงใหลความเป็น ‘บ้านบ้าน’
สารบัญ
- “เล็ก บ้านบ้าน”
- Q. อะไรคือแรงบันดาลใจให้เลือกเรียนสถาปัตย์และอินทีเรียดีไซน์
- Q. ทำไมถึงหันมาทำงานสายนิตยสารได้
- Q. เริ่มทำหนังสืออะไรเป็นเล่มแรก
- Q. ตอนอยู่นิตยสารบ้านและสวนรับผิดชอบเนื้อหาส่วนไหนบ้าง
- Q. พอย้ายมาทำหนังสือ ลักษณะงานแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
- Q. Living Vintage กับ ‘บ้าน บ้าน’ แตกต่างกันอย่างไร
- Q. ช่วยเล่าคอนเซปต์ของเล่ม ‘บ้าน บ้าน’ ให้ฟังหน่อยได้ไหม
- Q. มีวิธีเลือกคนหรือสถานที่เพื่อนำมาเขียนลงหนังสืออย่างไร
- Q. มีวิธีครีเอทหนังสือ ‘บ้าน บ้าน’ แต่ละเล่มอย่างไรให้ดูหลากหลาย แม้จะเป็น ‘บ้าน บ้าน’ เหมือนกัน
- Q. ทำไมต้องเป็นคำว่า ‘บ้าน บ้าน’
- Q. มีเล่ม ‘บ้าน บ้าน’ ที่เขียนจากสถานที่ในเมืองนอกด้วย
- Q. คอนเซปต์ ‘บ้านบ้านไปญี่ปุ่น’ เป็นอย่างไร
- Q. ชนบทที่เลือกเดินทางลำบากไหม
- Q. ในมุมมองของคนที่เรียนอินทีเรียดีไซน์คิดว่าญี่ปุ่นกับไทยคือส่วนไหนของบ้าน
- Q. ตอนที่ไปญี่ปุ่นครั้งแรกกับครั้งล่าสุด มีความรู้สึกแตกต่างกันอย่างไร
- Q. มี passion ในชีวิตอย่างไรบ้าง
- Q. นอกจากสนใจงานฝีมือแล้ว ได้ลงมือทำเองด้วยหรือเปล่า
- Q. นอกจากเล่ม ‘บ้านบ้านไปญี่ปุ่น’ แล้วยังมีผลงานเกี่ยวกับญี่ปุ่นอีกไหม
- Q. ‘Tokyo Craft Beer โตเกียวคราฟท์เบียร์’ มีคอนเซปต์อย่างไร
- Q. มีวิธีเลือกร้านเบียร์เขียนลงเล่ม ‘Tokyo Craft Beer โตเกียวคราฟท์เบียร์’ อย่างไร
- Q. ตอนนี้มีผลงานอะไรให้ติดตามบ้าง
“เล็ก บ้านบ้าน”
‘เล็ก ภัทรสิริ อภิชิต’ ผู้อยู่เบื้องหลังหนังสือที่พาใครหลายคนไปสัมผัสกับความเรียบง่ายธรรมดาแต่งดงามอย่างหนังสือ ‘บ้านบ้าน’ มีอีกหลายมุมที่รอให้คุณไปรู้จักและสัมผัสเรื่องราวของเธอ หากพร้อมแล้วเราไปคุยกับเธอในบ้านไม้หลังเล็กน่ารักแบบ ‘บ้านบ้าน’ กันดีไหมคะ
Q. อะไรคือแรงบันดาลใจให้เลือกเรียนสถาปัตย์และอินทีเรียดีไซน์
อาจเป็นเพราะตอนเด็กๆ ที่บ้านมีนิตยสารบ้านและสวนเยอะค่ะ เราชอบดูแบบแปลนบ้าน ชอบจินตนาการตาม แล้วก็ลองหัดเขียนแปลนเองโดยไม่มีความรู้ เขียนตามภาพที่เราวาดไว้ในความคิดว่าอยากให้บ้านเราเป็นยังไง ตั้งใจไว้ตั้งแต่เรียนมัธยมต้นว่าอยากเรียนด้านนี้
Q. ทำไมถึงหันมาทำงานสายนิตยสารได้
เรียนจบมาเราไม่ได้ทำงานด้านอินทีเรียเลยแต่อยากทำวินโดว์ดิสเพลย์ (window display) ทำอยู่ 2 ปี ก็ลาออก คิดจะเบนเข็มมาทำเสื้อผ้า เพราะสนใจแฟชั่นดีไซน์ ออกมาได้ไม่ถึงเดือนพี่สาวก็ชวนไปสมัครงานที่บริษัทอมรินทร์ค่ะ พอดีนิตยสารบ้านและสวนเปิดรับสมัครตำแหน่งมัณฑนากร
Q. เริ่มทำหนังสืออะไรเป็นเล่มแรก
เริ่มแรกเข้ามาอยู่ในกอง บ.ก.ของนิตยสารบ้านและสวนค่ะ จากที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเขียนหนังสือได้เพราะตอนเด็กๆไม่ชอบเรียนวิชาภาษาไทย (หัวเราะ) ชอบวาดรูปมากกว่า พอได้เข้ามาทำนิตยสารกลับพบว่ามันเป็นงานที่เหมาะกับเรามากเพราะได้ใช้ทักษะหลายอย่างที่เรามีอยู่แล้ว ได้วาดรูป ได้ทำสไตลิง (styling) ได้ถ่ายทอดทัศนคติ ขณะเดียวกันก็ช่วยพัฒนาส่วนที่เป็นข้อเสียของเรา ทำให้เราได้รู้จักผู้คนมากมาย จากที่ไม่กล้าพูดกล้าคุยกับคนแปลกหน้าก็ต้องทำได้ไปเห็นสถานที่น่าสนใจมากมาย ทำนิตยสารประมาณ 5-6 ปี เวลาผ่านไปเร็วมาก พอดีช่วงนั้นทางส่วนสำนักพิมพ์บ้านและส่วน (ทำหนังสือปกแข็ง) มีตำแหน่งว่างเราก็เลยขอย้ายไป ความแตกต่างระหว่างงานนิตยสารกับงานหนังสืออยู่ตรงที่ตอนทำนิตยสารเราเป็นส่วนหนึ่งของทีม แต่ทำหนังสือเป็นเล่มๆเราต้องดูแลทุกอย่างทั้งเล่ม ทั้งเนื้อหา ทั้งหน้าตาหนังสือเลย์เอาต์มู้ดแอนด์โทน ก็เลยยิ่งสนุกมากขึ้นไปอีก
Q. ตอนอยู่นิตยสารบ้านและสวนรับผิดชอบเนื้อหาส่วนไหนบ้าง
เขียนเรื่องคอลัมน์บ้านการออกแบบดีไซน์ไอเดียไลฟ์สไตล์ และD.I.Y. ซึ่งทุกคอลัมน์ที่ได้รับมอบหมายให้ทำเป็นเรื่องที่เราชอบและสนใจทั้งนั้นค่ะ
Q. พอย้ายมาทำหนังสือ ลักษณะงานแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
ทำหนังสือเราเป็นทั้งบรรณาธิการและนักเขียน บางทีก็วาดภาพประกอบเองและทำอาร์ตเวิร์กด้วย ช่วงแรกๆเน้นไปที่หนังสือแต่งบ้าน เราพยายามทำในแบบที่เราชอบ ไม่อยากยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ หัวหน้าเองก็เปิดโอกาสด้วย หนังสือเล่มหนึ่งที่ทำชื่อ ‘Living Vintage’ ก็เป็นหนังสือที่คนชอบกันมากและขายดีมากเล่มหนึ่ง ที่เราทำพอทำหนังสือชุดนั้นมาระยะหนึ่งก็เริ่มมีไอเดียทำชุด ‘บ้านบ้าน’ ตามมาค่ะ
Q. Living Vintage กับ ‘บ้าน บ้าน’ แตกต่างกันอย่างไร
แตกต่างกันมากค่ะ เราทำ Living Vintage ด้วยความตั้งใจให้เป็นหนังสือที่สวย น่าเก็บสะสม มองว่าแรงบันดาลใจจากการแต่งบ้านนั้นเกิดได้จากหลายๆสิ่งรอบตัว และทำด้วยความเชื่อว่า บ้านจะสวย ต้องเกิดจากเจ้าของบ้านที่รสนิยมดี หลังจาก Living Vintage ชุดนี้ก็มีออกมาอีก 5 เล่ม แต่ละเล่มมีดีไซน์ต่างกันไปตามธีม เช่น Urban Living, Living Nature หรือ Living with wood อะไรประมาณนี้ ซึ่งตอนทำชุดนี้ เราสนุกมาก ได้ใส่พลัง ใส่ความชอบของเราไปเยอะมาก จนรู้สึกอิ่มก็เริ่มมาทำโปรเจ็กต์ ‘บ้าน บ้าน’ เพราะอยากทำหนังสือที่ไม่อยากเน้นความหวือหวาของดีไซน์ อยากให้ดูเรียบง่าย ธรรมดาๆ แต่เด่นตรงเนื้อหาที่แตกต่าง
Q. ช่วยเล่าคอนเซปต์ของเล่ม ‘บ้าน บ้าน’ ให้ฟังหน่อยได้ไหม
เราอยู่กับงานหนังสือ ที่ต้องคิด ต้องวางแผนอยู่ตลอด จนวันหนึ่งรู้สึกว่าสมองมันล้า ทำให้อยากเปลี่ยนมาทำงานที่ใช้หัวใจมากกว่าสมอง ‘บ้าน บ้าน’ จึงเป็นหนังสือที่เราบอกกับตัวเองว่า จะเลือกนำเสนอเฉพาะสิ่งที่เราชอบเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นคน สิ่งของ สถานที่
จริงๆแล้วเราเป็นคนที่สนใจความธรรมดา ความเป็นพื้นถิ่น เวลามีโอกาสไปต่างจังหวัดแล้วเห็นผู้คนหรือสถานที่ที่มันธรรมดา จะรู้สึกว่าเสมอว่ามันงาม ‘บ้านบ้าน’ ก็ชอบพูดถึงเรื่องพวกนี้ เรื่องที่บางทีหนังสือเล่มอื่นอาจมองข้ามหรือไม่สนใจ
Q. มีวิธีเลือกคนหรือสถานที่เพื่อนำมาเขียนลงหนังสืออย่างไร
เอาความชอบของตัวเองเป็นหลักเลยค่ะ ไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์ที่แน่นอน อันไหนที่เรารู้สึกว่าชอบเราก็จะทำหรือจะไปสถานที่นั้นๆค่ะ
เราทำงานนิตยสารมา ทำให้ติดนิสัยคิดถึงงานอยู่ตลอด งานจะอยู่ในหัวเราทุกที่ไม่ว่าจะไปไหน จะกินข้าว ดูหนัง พบเพื่อน หรือดูนิทรรศการ การพบเจอผู้คนก็เหมือนเป็นการเก็บข้อมูลทำงานไปด้วย ตอนเลือกว่าจะไปสัมภาษณ์ใครหรือจะพูดเรื่องไหนในหนังสือ ก็จะเอาข้อมูลที่เราหามา ประมวลกับความรู้สึกของตัวเอง ช่วงที่คิดว่าจะเลือกใครหรือเรื่องอะไร เลยค่อนข้างใช้เวลา
Q. มีวิธีครีเอทหนังสือ ‘บ้าน บ้าน’ แต่ละเล่มอย่างไรให้ดูหลากหลาย แม้จะเป็น ‘บ้าน บ้าน’ เหมือนกัน
ส่วนหนึ่งดูจากความสนใจของตัวเอง ณ ขณะนั้นด้วยค่ะว่าเรารู้จักอะไร เห็นใคร และสนใจเรื่องอะไร พอสนใจก็จะจับกลุ่มเรื่องที่เราสนใจมาตั้งเป็นหัวข้อในแต่ละเล่ม
Q. ทำไมต้องเป็นคำว่า ‘บ้าน บ้าน’
ตอนนั้นจำไม่ได้แล้วว่าคิดอะไรไป (หัวเราะ) ก่อนหน้านี้เราทำหนังสือปกแข็งสวยๆ จะตั้งชื่อหนังสือเป็นภาษาอังกฤษหมดเลย เพราะบางครั้งภาษาอังกฤษก็สื่อสารได้ง่าย สั้น และตรงกว่า และเหมาะกับหนังสือแบบนั้น แต่พอถึงจุดหนึ่งก็ไม่อยากใช้ภาษาอังกฤษอีกแล้ว อยากตั้งชื่อหนังสือเป็นภาษาไทย ที่ธรรมดาๆ ตอนนั้นแอบยากเหมือนกันนะคะ เพราะตอนที่นำเสนอคำว่า ‘บ้าน บ้าน’ ไปเนี่ย ผู้บริหารและหัวหน้างานเรา เขาก็ยังไม่เข้าใจว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร เราต้องนำเสนอไปพร้อมกับดีไซน์ของหนังสือ ทำม็อกอัพให้เขาดู ให้เขารู้ว่าแม้จะเป็นคำว่า ‘บ้าน บ้าน’ แต่หนังสือมันก็ออกมาน่ารักได้
Q. มีเล่ม ‘บ้าน บ้าน’ ที่เขียนจากสถานที่ในเมืองนอกด้วย
มีค่ะ มีเล่มเดียวที่ไปต่างประเทศ ชื่อเล่มว่า ‘บ้าน บ้าน ไปญี่ปุ่น’ ที่เลือกเพราะเราสนใจด้วยและคิดว่าคนอ่านน่าจะสนใจเหมือนกัน
Q. คอนเซปต์ ‘บ้านบ้านไปญี่ปุ่น’ เป็นอย่างไร
อยากโฟกัสไปที่คนทำงานศิลปะ งานฝีมือ และคนที่ใช้ชีวิตกับธรรมชาติ เลยพยายามเลือกคนที่อยู่ชนบท เลือกสถานที่ห่างไกลออกไป เพราะหนังสือเราไปทิศทางนั้นอยู่แล้ว เราสนใจเรื่องแบบนี้และคิดว่าเรื่องในเมืองใหญ่ถูกนำเสนอมาเยอะแล้ว ถ้าต้องลงพื้นที่ในชนบทประเทศอื่นอาจจะยากนะคะ แต่ที่ญี่ปุ่นเดินทางสะดวกไม่เป็นอุปสรรคกับการทำงาน
Q. ชนบทที่เลือกเดินทางลำบากไหม
ทุกที่เดินทางไปถึงได้สะดวกนะคะ อาจจะมีบางทีที่ลำบากนิดหน่อย แต่ก็ยังถือว่าไม่ยากมาก
Q. ในมุมมองของคนที่เรียนอินทีเรียดีไซน์คิดว่าญี่ปุ่นกับไทยคือส่วนไหนของบ้าน
อืม…คำถามนี้แอบยาก (หัวเราะ) ถ้าพูดถึงญี่ปุ่นอาจจะเป็น ‘ห้องครัว’ ก็ได้ค่ะ เราค่อนข้างสนใจเรื่องแบบนี้ พอเราแต่งงาน มีบ้าน ลาออกจากงานประจำ ทำให้มีเวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น ได้ทำงานบ้าน เรื่องที่เราสนใจในญี่ปุ่น จึงเป็นเรื่องวิถีชีวิตของคนธรรมดา ได้ทำอาหารหรือได้ใช้ภูมิปัญญาเก่าๆมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งเราสนใจในมุมนั้น ชอบความเป็นแม่บ้านก็เลยจะนึกถึงห้องครัวค่ะ
ส่วนประเทศไทยคิดว่าคงเป็น ‘ระเบียงบ้าน’ ค่ะ เพราะตัวเองชอบบ้านไทยๆ สมัยเรียนคณะสถาปัตย์ก็จะชอบวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ชอบเวลาอาจารย์พาไปดูบ้านในชนบทบ้านไม้ และชอบเวลานั่งกับพื้นระเบียงบ้านไทยด้วยค่ะ
Q. ตอนที่ไปญี่ปุ่นครั้งแรกกับครั้งล่าสุด มีความรู้สึกแตกต่างกันอย่างไร
ความจริงเพิ่งไปมาแค่ 3 ครั้งเองค่ะ ไปครั้งแรกตอนทำหนังสือเล่ม ‘บ้าน บ้าน ไปญี่ปุ่น’ ตอนนั้นรู้สึกว่าเป็นการไปต่างประเทศที่ไม่ต้องปรับตัวมาก ทุกอย่างสะดวก ง่าย และรู้สึกถูกใจไปหมด คงเป็นเพราะว่าไปทำงานด้วย ได้คลุกคลีกับคนท้องถิ่น ได้ไปรู้จักพบเจอคนในแบบที่เราชอบ คนที่เขาทำงานฝีมือ ศิลปะ เลยรู้สึกว่าดีทุกอย่างค่ะ
Q. มี passion ในชีวิตอย่างไรบ้าง
เป็นเป็นคนมี passion เยอะมาก มีเยอะจนต้องพยายามลดๆบ้าง (หัวเราะ) อาจเป็นเพราะเราโตมาในสิ่งแวดล้อมที่มีคุณแม่ทำเสื้อผ้า คุณพ่อทำร้านอาหาร กลายเป็นว่าเราชอบเสพความสุนทรีย์ ทุกวันนี้ก็มีอะไรอยากทำอยากเรียนรู้เยอะแยะไปหมด แต่เป้าหมายหลักในวัยนี้คืออยากให้ชีวิตมีความสมดุล มีความสุนทรีย์อยู่บนความเรียบง่าย เชื่อว่าทุกคนมีสิ่งนี้อยู่นะคะ เพียงแต่เราอาจใช้ชีวิตรีบเร่งจนมองข้ามความงามใกล้ๆตัวไป
Q. นอกจากสนใจงานฝีมือแล้ว ได้ลงมือทำเองด้วยหรือเปล่า
จริงๆชอบงานฝีมือหลายๆชนิด แต่ตอนนี้งานที่เลือกทำคืองานเสื้อผ้า สมัยเด็กมีโอกาสช่วยคุณแม่แต่ก็ยังไม่เคยฝึกทำจริงจังนะคะ เพราะเป็นคนค่อนข้างใจร้อน งานตัดเย็บเสื้อผ้าต้องอาศัยความใจเย็น ตอนนี้ใจเย็นมากขึ้น รู้สึกสนใจการทำแพทเทิร์น มันคล้ายๆกับการเขียนแบบ เหมือนได้สร้างสิ่งที่เราไว้ในหัวขึ้นมา แล้วคอยลุ้นว่ามันจะออกมาเป็นยังไง
เราชอบการทำงานฝีมือ ไม่ใช่แค่ชอบผลงานที่สำเร็จออกมา แต่ช่วงระยะเวลาที่เราลงมือ อย่างตอนเย็บเสื้อ จะต้องมีสมาธิกับงานตรงหน้ามากๆ สมองจะโฟกัสเฉพาะฝีเข็มปัจจุบัน ห้ามวอกแวก การทำงานฝีมือเลยทำให้เราได้จดจ่อ ใจนิ่ง ต่างจากงานหลักอย่างการทำงานหนังสือที่เราต้องใช้ความคิด จินตนาการ ฟุ้งฝันและวางแผนตลอดเวลา การทำงานฝีมือไปควบคู่กับการทำหนังสือก็ช่วยทำให้เรามีสมดุลมากขึ้น บางครั้ง ก่อนลงมือเขียนหรือทำงานหนังสือ ก็อาจจะทำขนมปัง หรือตัดเย็บเสื้อสักตัว เพื่อเรียกสมาธิ
Q. นอกจากเล่ม ‘บ้านบ้านไปญี่ปุ่น’ แล้วยังมีผลงานเกี่ยวกับญี่ปุ่นอีกไหม
มีหนังสืออีกเล่มค่ะปกติเป็นคนไม่ดื่มเบียร์ พอได้สัมผัสวัฒนธรรมการดื่มเบียร์ของคนญี่ปุ่น ทำให้ประทับใจ (หัวเราะ) หลังจากทำเล่ม ‘บ้านบ้านไปญี่ปุ่น’ ก็เลยชวนน้องในทีมไปทำเล่ม ‘Tokyo Craft Beer โตเกียวคราฟท์เบียร์’ ในทริปถัดมาค่ะ
Q. ‘Tokyo Craft Beer โตเกียวคราฟท์เบียร์’ มีคอนเซปต์อย่างไร
หนังสือเล่มนี้เกิดจากความสนใจสามอย่างรวมกัน คือ โตเกียว งานคราฟท์ และเบียร์ เราอยากแนะนำให้คนไทยได้รู้จักโตเกียวในแบบคนท้องถิ่น ได้รู้จักเบียร์แบบที่ไม่ใช่เบียร์เจ้าใหญ่ๆ และอยากพาไปรู้จักกับคนที่ทำคราฟท์เบียร์ ซึ่งเรามองว่าเป็นงานฝีมือประเภทหนึ่ง เนื้อหาส่วนมากเป็นการแนะนำร้าน และส่วนท้ายของหนังสือจะให้ความรู้เรื่องคราฟต์เบียร์เล็กน้อย เพื่อให้คนอ่านพอเข้าใจว่าคราฟต์เบียร์แตกต่างจากเบียร์ทั่วไปอย่างไร
Q. มีวิธีเลือกร้านเบียร์เขียนลงเล่ม ‘Tokyo Craft Beer โตเกียวคราฟท์เบียร์’ อย่างไร
เลือกจากความชอบค่ะ (หัวเราะ) ร้านคราฟต์เบียร์ในโตเกียวมีเยอะมาก มีร้านที่รวบรวมเบียร์จากหลายที่ทั้งในญี่ปุ่นและจากทั่วโลก แต่เราสนใจร้านเล็กๆที่เขาทำเบียร์เอง อยากพาไปร้านที่คนท้องถิ่นเขาชอบไปกัน ส่วนใหญ่จึงเลือกร้านที่เขาทำเบียร์อยู่ที่ร้านเลย แต่ก็มีแนะนำร้านน่าสนใจที่ไม่ได้ทำคราฟต์เบียร์เองที่ร้านด้วยอยากนำเสนอให้หลากหลายค่ะ
Q. ตอนนี้มีผลงานอะไรให้ติดตามบ้าง
ตอนนี้มีผลงานหนังสือที่ทำกับคุณแม่และพี่ๆ ชื่อว่า “ช่างแม่ สอนตัดเสื้อ” เป็นหนังสือสอนตัดเย็บเสื้อผ้าสำหรับมือใหม่ที่อยากเป็นแรงบันดาลใจให้คนหันมาตัดเย็บเสื้อผ้าง่ายๆไว้ใส่เองค่ะ สำหรับผู้ที่รักงานตัดเย็บเสื้อผ้า ขอฝากหนังสือเล่มนี้ไว้ในอ้อมใจด้วยนะคะ